“หากชีวิตคือการดิ้นรน คนหนึ่งคนต้องเดินก้าวไป
ให้เรียนรู้เส้นทางแห่งใจ แล้วก็ไปให้ถึงที่นั่น
เพราะชีวิตคือการต่อสู้ ให้เรียนรู้ด้วยใจตั้งมั่น
เส้นทางไกลแค่ไหนช่างมัน คนช่างฝันเท่านั้นทำได้”

เหอะ ๆ ๆ อย่าพยายามขมวดคิ้วจนเห็นตีนกา หรือทำหน้าฉงนจนสงสัย ว่าเอ๊ะ..คำนี้ ความหมายอะไร มาจากไหน ใครตอบได้ช่วยกูที อันว่าที่จริงแล้วประโยคนี้ผู้เขียนเองดึงมาจากส่วนหนึ่งของเพลงๆ หนึ่งที่ใช้ประกอบในภาพยนตร์เรื่อง“15 ค่ำ เดือน 11” ของ เก้ง นนทรีย์ นิมิตบุตร เอ๊ย! เก้ง จิระ มะลิกุล ต่างหาก (ขอโทษพี่..สับสนนิดนึง..ดังเหมือนกัน) เพลงนี้ประพันธ์ขึ้นโดย เสกสรรค์ สุขพิมาย บางคนไม่รู้จักอาจจะสงสัย ไอ้คนชื่อ เสกสรรค์ ในหมู่บ้านมีถมไป อ๋อ..บอกให้ง่าย ๆ เสก โลโซ นั่นไง ใครก็รู้ (ลิเกอีกแว้ววววว)

15 ค่ำ เดือน 11 โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะไม่มีใครให้ความสำคัญกับคำนี้ เพราะจะนึกถึงแต่เพียงว่า เป็นวันออกพรรษาและเป็นวันเทศกาลบุญบั้งไฟพญานาค ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนองคายทุก ๆ ปี จนมีภาพยนตร์กระแสแห่งปี ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาจนโด่งดังไปทั้งประเทศ แล้วไอ้คนหนองคายบางคนที่ชอบเพลงโลโซอย่างผู้เขียน มีหรือจะพลาด จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้อะไรมากมาย แค่ดูในโรง 2 รอบ และวีซีดี อีก 7-8 รอบเท่านั้นเอง หนังเรื่องนี้ทำไมถึงดูได้ขนาดนั้นเหรอ ผมจะไม่เล่าให้ฟัง แต่จะเขียนให้อ่าน ก็เพราะมันเป็นหนังที่ครบเครื่องทั้งในเรื่องของภาพที่สวยงาม บทที่ดีใช้ได้ (หรือบางคนว่าไม่ดี ก็ไม่ว่ากัน) แต่ที่สำคัญ ทำให้คนหนองคายรักหนังเรื่องนี้ได้พอสมควร และอีกอย่าง หนังเรื่องนี้ทำให้ช่องข่าวทีวีบางช่อง ดันตกเป็นข่าวเองซะงั้น เอ๊ะ..นี่ผมยังไม่ได้ลอดผ้าพาทุกท่านเข้าไปชมเลยนะเนี่ย ประเด็นก็บานปลายซะแล้ว เรื่องประเด็นหนักๆ อย่างนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ คุณม้าก้านกล้วย ใน คอลัมน์ตีตั๋ว ไปละกัน (ยังไม่วายที่จะเหน็บ) ส่วนผมจะนำเสนอในส่วนของผมให้ทุกท่านได้รู้แล้วกัน ว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรที่น่าสนใจในอีกมุมมองนึง

แค่เริ่มต้นมาฉากแรกก็กรี๊ดแล้ว คนอะไรมุดน้ำเพื่อไปทำอะไรซักอย่างภายใต้แม่น้ำโขงที่ลึกหลายสิบเมตร ทั้ง ๆ ที่น้ำไม่ได้หยุดนิ่งเหมือนคูคลอง หนองบึง หรือซัดเข้าฝั่งเหมือนน้ำทะเล แต่นี่..กลับไหลเป็นทางยาวออกสู่อ่าวไทย โอ้..พระเจ้าจอร์จ ทำไปได้ แต่ก็ชอบ เพราะครั้งหนึ่งผมก็อยากทำได้อย่างนั้น อยากรู้ว่าข้างใต้แม่น้ำโขงมันจะมีอะไรน่าพิศมัยรึเปล่า แต่ไม่เอาดีกว่า น้ำนี่ขุ่นขลักอย่างกับน้ำกาแฟผสมนม หรือว่าคนจีนชอบกินกาแฟมากมายจนชงเผื่อให้คนอื่นด้วย แล้วไหลลงมาตามแม่น้ำฮวงโหจนถึงแม่น้ำโขง อ๊ะ..ก็ไม่แน่ จินตนาการเข้าไว้ อย่าใช้แต่ความรู้ที่สั่งสมมา จนปิดกั้นจินตนาการของตัวเองไว้ จริงมั้ยครับ

เข้าเรื่องต่อดีกว่า ในตัวหนังนั้น ช่วงแรก ๆ จะนำเสนอถึงประเพณีการจัดงานวันออกพรรษา รวมไปถึงเทศกาลบุญบั้งไฟพญานาคอันเลื่องชื่อ ระบือนาม สยามประเทศ ซึ่งสื่อได้ถึงความเป็นชาวหนองคายโดยแท้จริง จนผมเองได้ดูในโรงภาพยนต์ครั้งแรกแล้ว ถึงกับอุทานด้วยเสียงหลงว่า “คิดฮอดบ้านอีหลี” บรรยากาศนี้ใช่เลย สมกับเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 7 ของโลกจริง ๆ (โปรโมทนิดนึง ททท.ไม่ได้จ้างมานะ อันนี้เรื่องจริง) และยังนำเสนอถึงความขัดแย้งทางความเชื่อ 3 ความเชื่อ คือ ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และฝีมือมนุษย์ คุณเอ๊ยยยย….ยิ่งขัดแย้ง ยิ่งดัง คนยิ่งแห่มาเยอะขึ้นทุกปี จนริมน้ำโขงไม่พอที่จะนั่ง วอนขอผู้ว่าจังหวัดหนองคายช่วยยกสแตนด์ที่นั่งของสนามราชมังคลา มาไว้ริมตลิ่งทีเถอะ เยอะมาก อันว่าเมืองน่าอยู่ จะไม่น่าอยู่ก็วันนี้แหละ รถราที่เคยวิ่งสะดวกสบาย สไตล์ชิวชิว (แปลว่าเรื่อย ๆ) วันนี้วันเดียว จักรยานยังวิ่งลำบากเลย

ในหนังก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้คนหลั่งไหลกันมาชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในหนึ่งปีนั้นมากมายขนาดไหน ทั้งมาด้วยความศรัทธาและเพื่อพิสูจน์ความจริงผู้กำกับเรื่องนี้เล่าผ่านตัวละคร 2 ตัวหลัก ๆ คือ หลวงพ่อ ผู้มีความศรัทธาอย่างแรงกล้า กับ บักคาน หนุ่มน้อยที่กำลังสับสนระหว่างความเชื่อกับโลกความจริง (แต่พระเอกอย่างบักคานในเรื่อง เว่าอีสานบ่ค่อยเหมือนเลยเนอะ ดูแล้ว อึดอ๊าดดดด อึดอัด อยากเว่าแทน) จนสุดท้ายตอนจบ บักคานก็ได้รู้ความจริงจากความเชื่อแห่งศรัทธานั่นเอง สมกับสโลแกนของหนังที่ว่า “เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ” จริง ๆ เรื่องนี้ถือว่าจบได้สวยมาก ๆ เพราะยังคงไว้ซึ่งความเชื่อและความศรัทธาไว้เช่นเดิม ดูไป อมยิ้มไป อิ่มใจไป ดูจบครั้งแรกผมตีเข่าดังพั่บในใจทันที ฮ่วย!… แบบนี้แหละบ้านข้อยชัด ๆ

สรุปแล้วบทความนี้ เข้าข้างบ้านเกิดเมืองนอนตนเองไปหน่อย สำหรับผู้อ่านแล้วโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยเด้อ…. ใครยังไม่ได้ดูก็ขอแนะนำให้ไปดูได้เลยครับ แล้วคุณจะค้นพบบางสิ่งบางอย่างของชีวิตว่า

“ขอเพียงแค่ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึงที่จุดหมาย โอ้เย!
โปรดจงมั่นใจ ที่ทำลงไปนั้นถูกแล้ว
อย่าฟังคำคน อย่าสนใจใคร อย่าเปลี่ยนแนว
คนแน่แน่ว เท่านั้น ผู้ชนะ”

หนึ่ง น้ำโขง