เด็กและเยาวชนในสภาพสังคมปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหา ปัจจัยเสี่ยงและสิ่งยั่วยุต่าง ๆ มากมาย จาก “ข้อมูลเด็กไทยบนทางสามแพร่ง: บทสังเคราะห์กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด ในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด” โดย ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ สรุปให้เห็นภาพปรากฎการณ์เด็ก 3 กลุ่ม ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างบนเส้นทางชีวิต 3 ทาง ได้แก่ เด็กเสี่ยง ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสีเทา เป็นกลุ่มที่มีปัญหาครอบครัว ใช้ชีวิตบนพื้นที่เสี่ยง หลงสื่อ ตามเพื่อน ลืมบ้าน เด็กเสีย เป็นกลุ่มเด็กที่มีชีวิตผิดพลาด หลงไปอยู่บนเส้นทางสีดำ ใช้ชีวิตบนพื้นที่ร้ายและแหล่งอบายมุข มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ติดเหล้า ติดเซ็กส์ ติดยา ค้าบริการทางเพศ และ เด็กใส เป็นเด็กที่เติบโตบนเส้นทางสีขาว มีพื้นที่สร้างสรรค์และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนาชีวิต เป็นกลุ่มเด็กที่ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีกิจกรรมดี รักอาสา ใฝ่เรียนรู้ ชอบสร้างสรรค์

ทั้งนี้ปัจจัยและเงื่อนไขที่เป็นแรงขับให้เด็กก้าวสู่เส้นทางที่แตกต่างกันนั้น พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว สื่อ และ การศึกษา

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยเติบโตในท่ามกลางพื้นที่เสี่ยง หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ พื้นที่ครอบครัว ที่มีแต่ความแตกแยก ความรุนแรง พื้นที่โรงเรียน ที่แวดล้อมด้วยสภาพหอพักที่ไร้ระเบียบ ร้านเหล้า ร้านเกม และเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น แอบเสพยา หนีเรียน พื้นที่สื่อ หรือบนไซเบอร์สเปซ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง กลับเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยภาพเสมือนที่มอมเมาเด็กและเยาวชน และมากกว่านั้น พื้นที่ในชุมชน รวมถึง  พื้นที่ทางสังคมที่ล้อมรอบตัวเด็ก ก็เต็มไปด้วยอบายมุขมากมาย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดและตกเป็นเหยื่อ ที่นับวันยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ขาดที่ปรึกษา  ทิศทางชีวิตจึงหันเหไปในเส้นทางที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เปิดรับกับทุกสื่อที่ตอบสนองความต้องการของวัย โดยขาดคำแนะนำว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ต่าง ๆ ข้างต้นสามารถสร้างให้เป็นพื้นที่ที่ดี มีคุณค่า มีความหมาย สำหรับเด็กและเยาวชนได้ หากพื้นที่ครอบครัวเต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และส่งเสริมให้โอกาส พื้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงใจเด็ก พื้นที่รอบนอกโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้เสริมทักษะ พื้นที่ชุมชนส่งเสริมความรักท้องถิ่น พื้นที่ทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกที่ดี มีจิตอาสา มีสำนึกสาธารณะต่อบ้านเมือง รวมถึงพื้นที่สื่อที่เปิดโลกการเรียนรู้ไร้พรมแดน ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก ทั้งในแง่ความปลอดภัย เอื้ออาทร ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ดี เห็นคุณค่าของตนเอง และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

เด็กและเยาวชนล้วนแต่ต้องการพื้นที่ที่ให้โอกาส การขยายพื้นที่ดีเพื่อเด็กและเยาวชนให้มีมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือการทำให้พื้นที่ที่มีอยู่กลายเป็นพื้นที่คุณภาพ เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างคุณภาพของเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

งานศิลปะกับการสร้างพื้นที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน

เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ต้องการแสดงออก เป็นวัยที่มีพลัง มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ที่สามารถใช้ในการสรรค์สร้างงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะ ดังที่เราเห็นจากกลุ่มเยาวชนจำนวนมากที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางศิลปะต่าง ๆ เช่น การตั้งวงเล่นดนตรี การร้องเพลง การแต่งเพลง การเขียนเพลง การทำดนตรี การเต้นรำ การทำหนังสั้น ทำหนังสือทำมือ การทำเว็บไซต์ การเล่นละคร การวาดภาพระบายสี กลุ่มกราฟฟิตี้ (สีพ่นกำแพง) รวมไปถึงกิจกรรมค่ายศิลปะ ตลอดจนการแสดงพื้นบ้านต่างๆ หรือศิลปะสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ ฯลฯ ถ้าหากเด็กและเยาวชนได้รับเวลาและได้รับโอกาสในการสร้างสรรค์งานที่ตัวเองรัก จะเป็นพลังผลักดันที่ทรงพลัง ที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง และได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้มีสติ มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ จนแข็งแรงพอที่จะปฎิเสธอบายมุขต่าง ๆ และจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อความคิดและเส้นทางการใช้ชีวิตก็คือ จิตสำนึกในการรักชุมชนตนเอง รักบ้านเกิดตนเอง รักประเทศตนเอง จิตสำนึก รักหวงแหนในเอกลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะลักษณะเด่นของชุมชนตนเอง จะทำให้เยาวชนในชุมชนนั้น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยการนำเอารากเหง้าและเอกลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น มาถ่ายทอดผ่านทางงานศิลปะที่เขาถนัดและรักที่จะทำ

โครงการสานศิลป์…รักษ์ถิ่นเกิด (Activists of Art)

โครงการจะให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้นำเสนอโครงการ การจัดทำโครงการศิลปะ หรือ กิจกรรมทางด้านศิลปะ ในทุกสาขา ทุกรูปแบบ จากจินตนาการของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นศิลปะเพื่อชุมชนตัวเอง  โดยเริ่มจากให้มีการค้นหาความโดดเด่นทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นของตนเอง ให้มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่น ทั้งจากการพูดคุยสนทนา การสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ และจากการค้นคว้าหนังสือตำราต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลสำหรับการสร้างงานศิลปะหรือกิจกรรมด้านศิลปะ ให้มีการสร้างงานศิลปะหรือทำกิจกรรมด้านศิลปะต่าง ๆ และให้มีการนำเสนอผลงาน เน้นการสร้างกลไกให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในรูปแบบของที่ปรึกษา ผู้สนับสนุน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชน

การสร้างความภาคภูมิใจ สร้างคุณค่าให้กับงานศิลปะวัฒนธรรมในท้องถิ่น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว อยากเรียนรู้ และภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะในชุมชนตนเองอย่างยั่งยืน  โดยถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโลกชุมชนในจิตนาการของเด็ก ๆ ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจและความรักในชุมชนของตนเอง เมื่อพื้นที่ดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะเต็มไปด้วยเด็กใส และเด็กเสี่ยง – เด็กเสีย ก็จะลดน้อยลง

สานศิลป์…รักษ์ถิ่นเกิด มีแนวความคิดในการสร้างพื้นที่ดี ๆ ให้กับเด็กและเยาวชน ให้ได้รับโอกาสในการสร้างสรรค์งานที่ตนเองรัก และเกิดการพัฒนาทักษะ การออกแบบ การดำเนินงาน และบริหารจัดการโครงการ  โดยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มจัดทำโครงการและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน ทำให้รู้ถึงคุณค่าในตัวเอง ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีสติ มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ ที่แข็งแรงพอที่จะปฏิเสธอบายมุขต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่ตกไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

การใช้การสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก สอดคล้องกับวัยของเด็กและเยาวชนที่ต้องการแสดงออก มีพลัง มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการ  ประกอบกับใช้การสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์งานที่ตนเองรัก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจ รู้ถึงคุณค่าของตัวเองและชุมชนบ้านเกิด ทำให้ชุมชนและสังคมให้การยอมรับ 

เป็นการนำมิติวัฒนธรรม สังคม ค่านิยม สู่การพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน ให้เกิดสุขภาวะทางสังคม และปัญญา (Social & Spiritual Health)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิดพื้นที่ทางเลือก พื้นที่ดี ๆ ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์งานศิลปะที่ตนเองรัก เกิดการพัฒนาทักษะ การออกแบบ ดำเนินงาน บริหารจัดการโครงการ ทำให้รู้ถึงคุณค่าในตัวเอง ได้รับการยอมรับจากสังคม มีสติมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจที่แข็งแรงในการปฎิเสธอบายมุขต่าง ๆ ได้
  2. เพื่อให้เด็กและเยาวชน รับรู้ ตระหนัก ภาคภูมิใจ และรักหวงแหนในคุณค่าของเอกลักษณ์ชุมชนตนเอง  และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างกลุ่มเด็กและเยาวชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่น

58 กลุ่มเยาวชนในโครงการสานศิลป์…รักษ์ถิ่นเกิด

ภาคเหนือ

  1. โครงการสืบสานงานคีตศิลป์ถิ่นล้านนา เครือข่ายเยาวชนรักษ์ถิ่นเชียงของ กลุ่มสานสายลายเมือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
  2. โครงการอนุรักษ์กลองสะบัดชัย ร่วมสานสายใย หัวใจล้านนา ชมรมดอกหญ้าอาสา พณิชยการเชียงราย อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
  3. โครงการฟื้นชีวิตคีตศิลป์พื้นบ้าน สืบสานวงดนตรี “ตอ-ยอ ฮอร์น” กลุ่มเยาวชนสืบสานดนตรีพื้นบ้าน ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  4. โครงการถักทอเส้นด้าย สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าปากะญอ กลุ่มเด็กและเยาวชนแม่นาจางเหนือ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
  5. โครงการนิทานชนเผ่าปกาญอ กลุ่มเด็กและเยาวชนแม่นาจางเหนือ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
  6. โครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ สืบสานตำนานมวยไทย กลุ่มเยาวชนศูนย์กีฬาหาดเค็ด 149 อ.ภูเพียง จ.น่าน
  7. โครงการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมบ้านเฮา กลุ่มเยาวชนบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน อ.เมือง จ.น่าน
  8. โครงการสืบสานงานศิลป์รักษ์ถิ่นชากังราว กลุ่มกล้วยไข่หวาน ม.ราชภัฏกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
  9. โครงการสานศิลป์บ้านกกกะบก กลุ่มเยาวชนบ้านกกกะบก อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
  10. โครงการแค้มป์ศิลป์ดอกบัว กลุ่มเยาวชนดอกบัว ป.5/3 อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
  11. โครงการสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปะสัมพันธ์คนสองวัย กลุ่มฟองใต้สร้างสรรค์รักท้องถิ่น อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
  12. โครงการหัตถกรรมตุ๊กตาไม้มะขาม กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาค้อ ตำบลนางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
  13. โครงการแค้มป์ศิลป์…เยาวชนรักษ์เขาค้อ กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาค้อ ตำบลเขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
  14. โครงการสืบสานเสียงศิลป์ กลุ่มเยาวชนภูผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

  1. โครงการค่ายสร้างสรรค์งานศิลป์ เพื่อบ้านน้ำพุถิ่นเกิด กลุ่มเยาวชนคนล่าฝัน บ้านน้ำพุปางวัว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
  2. โครงการสานต่อเจตนา สานศรัทธารักบ้านเกิด กลุ่มเยาวชนลำเชียงทาพัฒนาชุมชน จ.ชัยภูมิ
  3. โครงการศึกษาเรียนรู้ศิลปหัตถกรรม เครื่องจักรสานอุปกรณ์จับปลาในแถบลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มอิสระเถียงนาประชาคม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  4. โครงการสานศิลป์เยาวชนรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม โรงเรียนสามผงวิทยาคม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
  5. โครงการสืบสานดนตรีพื้นบ้านพิธีกรรมแซงซะนาม ชนเผ่าไทยโส้ ต.โพนจาน กลุ่มเยาวชนชนเผ่าไทยโส้ตำบลโพนจาน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม
  6. โครงการสานฝันอนุรักษ์ดนตรีไทย กลุ่มเยาวชนรักดี รักดนตรีไทย อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์
  7. โครงการดนตรี-กวี-ศิลป์ รักถิ่นบ้านเกิด กลุ่ม YVSA กรุงเทพมหานคร และ เยาวชนบ้านโคกเขา จ.บุรีรัมย์
  8. โครงการเยาวชนสืบสานมรดกอีสาน กลุ่มเยาวชนบ้านกุดระหวี่ จ.ยโสธร
  9. โครงการดนตรีหรรษาพาหนูเพลิน รื่นเริงวรรณกรรมอีสานสานสัมพันธ์สู่ชุมชน กลุ่มรักพื้นบ้านถิ่นฐานเรา โรงเรียนบ้านหนองบอน อ.กุดชุม จ.ยโสธร
  10. โครงการศิลปะเพื่อท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ต้นน้ำเหือง อ.ท่าลี่ จ.เลย
  11. โครงการสืบสานงานศิลป์เพื่อสื่อสารและสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบป่าภูผาน้อย เครือข่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ป่าภูผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
  12. โครงการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเพื่อพัฒนาศิลปะท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนจิตอาสา หน่อไม้หวาน อ.เมือง จ.เลย
  13. โครงการเสน่ห์เสียงพิณ ถิ่นหนองอารี กลุ่มเยาวชนหนองอารี โรงเรียนหนองอารีพิทยา อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
  14. โครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ใส่ใจพานบายศรี กลุ่ม SISAT – Smart Together อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
  15. โครงการกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ “ยุวชนรักษ์ถิ่น” ชุมชนส่องเหนือ กลุ่มเยาวชนรักษ์ถิ่นชุมชนส่องเหนือ จ.มหาสารคาม
  16. โครงการกลองยาวฮักถิ่น โรงเรียนทางเลือกอาศรมไทบ้านดอนแดง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  17. โครงการดนตรีเพื่อบ้าน กลุ่มเยาวชนปลวกแกบ บ้านหนองคู-ศรีวิไล อ.เมือง จ.มหาสารคาม
  18. โครงการปุกฮัก ปุกศิลป์ ฮักถิ่นบ้านเกิด โรงเรียนปุกฮัก (โรงเรียนสร้างรัก) อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  19. โครงการสวนศิลป์เพื่อการเรียนรู้หัตถกรรมและพันธุ์ผักพื้นบ้าน กลุ่มเยาวชนศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  20. โครงการประสานเพลงบ้านน้อยหัวงัว กลุ่มกู อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
  21. โครงการสืบสานกลองยาวชาววาปีปทุม กลุ่มเยาวชนนาโนนโพธิ์ อ.วาปีประทุม จ.มหาสารคาม
  22. โครงการเรียนรู้สืบสานศิลปะในบุญผะเหวด กลุ่มเยาวชนต้นกล้าชาวนารุ่นใหม่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
  23. โครงการคบเด็กสร้างเรื่อง กลุ่มเยาวชนคนสังเคราะห์แสง (Chlorophyll) อ.เมือง จ.สุรินทร์
  24. โครงการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสืบสานงานหัตถศิลป์และภูมิปัญญาของชุมชน กลุ่มแมลงทับปีกสวยร่ำรวยฝัน โรงเรียนบ้านนิคมพัฒนา อ.เมือง จ.อุดรธานี
  25. โครงการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากกก กลุ่มเยาวชนโรงเรียนบ้านปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
  26. โครงการศิลปะอิสานโบราณ แห่ปราสาทผึ้งบ้านกลาง กลุ่มลูกเทวดา-1 (บ้านกลางใหญ่) อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
  27. โครงการ “บั้งไฟดอก” ดอกไม้ไฟโบราณอีสานบ้านเฮา กลุ่มลูกเทวดา-2 (บ้านกลางใหญ่) อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
  28. โครงการเยาวชนฅนรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญา ชาวประชามีสุข กลุ่มเยาวชนฅนไทบ้าน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
  29. โครงการโปงลางสานศิลป์…รักถิ่นเกิด กลุ่มเยาวชนเกษตรศิลป์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
  30. โครงการฮีตศิลป์ ฮอยสว่างฯ สร้างภูมิคุ้มกัน กลุ่มเยาวชนฮีตศิลป์สว่างแดนดินฯ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ภาคใต้

  1. โครงการค่ายรักษ์ภาษามลายู ชมรมภาษามลายู ม.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
  2. โครงการศิลป์ สาน สัญจร ภาพสะท้อนความสุข สู่ชุมชน กลุ่มมาลัยดาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
  3. โครงการเรื่องเล่าจากชุมชน “ฉบับเยาวชน” นิตยสาร Go South Thailand จ.กระบี่
  4. โครงการมหกรรมวิชาการ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น (รองเง็ง) กลุ่มเยาวชนบ้านกาฮง อ.เมือง จ.ปัตตานี
  5. โครงการวันลดาวิชาการ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่น (ตารีกีปัต) กลุ่มเยาวชนโรงเรียนบ้านลดา อ.เมือง จ.ปัตตานี
  6. โครงการอนาชีดถิ่นบ้านเรา กลุ่มเยาวชนโรงเรียนชุมชนบ้านสะนิง ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี
  7. โครงการยิ้มเติมฝัน สานใจสานเสื่อ กลุ่มยิ้ม ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
  8. โครงการมอตองแดเจาะ ระบำกรีดยาง วิถีวัฒนธรรม วิถีท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนบ้านบ่อหินรักถิ่นเกิด โรงเรียนบ้านบ่อหิน อ.ธารโต จ.ยะลา
  9. โครงการศิลปะวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ห่างไกลยาเสพติด กลุ่มเยาวชนบุหงาศานติ อ.รามัน จ.ยะลา
  10. โครงการบทเพลงละคร สะท้อนตัวตน กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลน บ้านแหลมหิน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
  11. โครงการศิลปะจากป่าชายเลน กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลน บ้านทองหลาง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

ภาคกลางและภาคตะวันออก

  1. โครงการสืบสาน-ลานศิลป์ ลำภูบางกระสอบ กลุ่มต้นเยาวชนต้นกล้าลำพู อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
  2. โครงการดนตรีสืบสานวัฒนธรรม ลอยกระทงบางลำพู ชมรมเกสรลำพู กรุงเทพมหานคร
  3. โครงการค่ายกาลครั้งหนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง ชมรมวรรณศิลป์ ม.บูรพา จ.ชลบุรี