“จะไปค่ายเหรอ ค่ายอะไรน่ะ” คำถามจากเพื่อนที่ได้รับรู้ว่าฉันจะไปค่าย
บางครั้งฉันถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า “คิดอย่างไรกับค่าย” “ค่ายให้อะไรกับเราบ้าง” “เราให้อะไรกับค่ายกับชาวบ้านที่เป็นหัวข้อหลัก”
หลายคนมีถ้อยประโยคที่ตอบคำถามแตกต่างกันและไม่มีคำตอบไหนที่ผิด และคำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านเหมือนครั้งที่ผ่าน ๆ มา คำตอบอยู่ที่เพื่อนร่วมค่ายทุกคนต่างหาก
ออกจากความเคยชินของชีวิต
การตัดสินใจมาค่ายของเพื่อนร่วมค่ายหลาย ๆ คน อาจจะต่างเหตุผลไปบ้าง นั่นก็ถือว่ากล้าแค่ไหนแล้วที่ “ออกจากความเคยชินของชีวิต” มาเรียนรู้อีกมุมชีวิตทั้งของตัวเองและของคนอื่น เป็นบทเรียนที่ไม่ต้องมีหลักสูตรเป็นทางการ นอกจากหัวใจและความรู้สึก
….ฉันเอง ก็เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่อยู่กับความเคยชินของชีวิต จนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าความเคยชินของชีวิตแต่ละคนต่างกัน บางคนมีหอพัก ห้องเรียน ร้านอาหาร กลุ่มเพื่อน ร้านหนังสือเช่า ห้องเพื่อน บ้าน หอพัก เป็นความเคยชินของชีวิต บางครั้งมันอาจไม่น่าเบื่ออะไรมากนักเพราะเรามีความสุขอยู่กับมัน และอยู่กับมันอย่างมีความสุข
คุณออกจากความเคยชินของชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อไรกัน
ค่ายกับชีวิตและชีวิตความเป็นค่าย
เราถึงค่ายกันในเช้าวันที่ 21 จัดการกิจวัตรของตัวเอง ทำความรู้จักชุมชน และเริ่มทำงานการตามหน้าที่ 3 โครงสร้างนั่นก็คือ ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายโครงงาน
ทุกคนดูเหมือนจะตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรม ให้เป็นไปตามเป้าหมายของค่ายนั่นก็คือ “ศึกษาและสร้างสรรค์กระบวนการสิทธิชุมชน” การลงไปเรียนรู้ชุมชมด้วยตัวเองของเพื่อนชาวค่ายแต่ละคน เป็นทางเลือกที่ดีในการศึกษาเรียนรู้ชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยเวลาที่น้อย ทำให้เรียนรู้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
โต๊ะหลง และ โต๊ะปุย แม่เฒ่าวัยเกือบร้อยปีของหมู่บ้านบางลาเล่าว่า การตัดผ่านของถนน ทำให้ความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านก็จริง มีไฟฟ้า มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่มันก็ทำให้วัฒนธรรมอย่างหนังตะลุง รองแงง ค่อย ๆ หายไป มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มหรือไม่ คงแล้วแต่คำตอบของแต่ละคน วัฒนธรรมหรือประเพณีทางศาสนายังคงอยู่อย่างพิธีการ “ขริบ” ปลายอวัยวะเพศชาย เพื่อชำระร่างกายให้สะอาดก่อนการละหมาด ซึ่งแต่ก่อนจะจัดแยกบ้าน ปัจจุบันทำพิธีรวมกันหลาย ๆ คน แล้วจัดเลี้ยงตามอัธยาศัย
นิสาว (นิความหมายคือพี่ผู้หญิง) บอกเล่าว่าเธอเป็นชาวสวนยางพารา ไม่กรีดยางตอนกลางวัน ออกกรีดยางกันช่วงตี 2 จนรุ่งเช้า จะได้น้ำยางดี ไม่กรีดยางตอนฤดูฝนอย่างนี้ เพราะจะทำให้น้ำยางเสีย กว่าจะได้มาเป็นน้ำยาง ก็ต้องปลูกและบำรุงต้นมันมากว่า 6-7 ปี ทั้งใส่ปุ๋ย คอยตัดกิ่งก้านที่มันแตกออกมาระหว่างต้นให้เป็นระเบียบ เพราะเมื่อยางหมดแล้วก็จะได้ตัดต้นไปขายได้ ปีนี้ยางราคาดีพอมีกำไร พวกเราจึงหยิกแกมหยอกว่านิสาวมีลูกสาวหรือลูกชายบ้างไหม เธอยิ้มทำทีว่ารู้ทันความหมายที่เราถามออกไป
ปัญหาที่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่ “หมู่บ้างบางลา” กำลังเผชิญอยู่นั้น พ่อผู้ใหญ่ บอกว่าเป็นการสร้างท่าเทียบเรือยอร์ชของนายทุน ซึ่งจะทำลายสภาพป่าชายเลนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกำแพงกั้น “สึนามิ” ให้กับชาวบ้านอีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์อ่อน แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านรวมถึงทำลายป่าชุมชนอีกหนึ่งป่าชุมชมของประเทศไทย และจะต้องถูกทำลายอีกสักกี่ป่าเพียงแค่ราคาเงิน
เย็นวันนั้นเรานอนในหมู่บ้านบางลา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มนอนพักคนละหลัง และจะเป็นเวลาที่ทุกคนได้เริ่มทำความรู้จักกัน ทั้งการพูดคุยกัน การมองเห็นพฤติกรรมของแต่ละคนทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจมอง และโดยการมองนี่แหละเป็นการทำความรู้จักโดยไม่ได้ตั้งใจทีเดียว เพราะบางครั้งเพียงแค่การได้เห็น บางครั้งเราก็ตัดสินใจไปแล้วว่า “เขาหรือเธอเป็นคนอย่างไร” ทั้งที่ภาพที่เห็นกับสิ่งที่เป็นอาจกลายเป็นคนละเรื่องกัน
ชีวิตรวมหมู่ในค่ายเราเลือกได้ว่าจะให้ใครมองอย่างไร จะเป็นคนที่นำพารอยยิ้มมาสู่ชาวค่ายอย่างสันทนาการ เป็นคนขรึมๆ เป็นคนร่าเริง อ่อนหวาน ก็แล้วแต่ว่า เราจะให้ใครรู้จักเราแบบไหนและเราจะเปิดใจรู้จักใครแค่ไหนเช่นกัน
“อาหารค่าย” ไม่ว่าจะค่ายไหนๆ มันก็เป็นอาหารค่าย ที่ทำให้เพื่อนร่วมค่ายรู้จักกิน กินเพื่ออิ่ม บางครั้งรสชาติ กับความอิ่มมันก็คนละเรื่องกัน เพราะมันเป็นอาหารที่เราเลือกกินได้ในบางมื้อที่เรามาค่าย แต่จะมีสักกี่คนที่ “เขาเลือกไม่ได้” ทั้งรสชาติอาหารและความอิ่ม แต่เราได้ทั้งความอิ่มและรสชาติอาหารที่ได้จากการคุยกับเพื่อนร่วมค่าย แค่นี้อาหารก็อร่อยขึ้นโดยไม่ต้องปรุงแล้ว ค่ายจบไปแล้วหลายคนยังคิดถึงอาหารค่ายก็มี คุณว่างั้นไหม
แต่งเติมค่ายด้วยสีแม่ที่ 4
ชื่อละ 5 บาท
“คนนี้ชื่ออะไร………. ติ๊กต๊อก………………”
“……………………….” คนถูกถาม ชี้มือคล้ายพิธีกรปัญญา นัยย์ตากลอกไปมา
“5 บาท!” เวลาของเขาหมดแล้วและต้องจ่ายเงิน 5 บาท เข้ากองทุนสมทบอุปกรณ์เครื่องเขียนให้น้อง ค่ายนี้ทำให้ชื่อของแต่ละคนมีค่าถึง 5 บาททีเดียว ฉันเองก็โดนไป 5 บาทที่จำชื่อหญิงสาวผมยาว ดูท่าทางยิ้มยากในช่วงแรกที่รู้จักอย่างน้องรุ่ง…ไปได้
เขาหาว่าหนู แถะแดะ
“เขาหาว่าหนู แถะแดะ แถะแด้ เขาหาว่าหนูแถะแดะ”
ลานปูน บ่ายหลังฝนตกที่บ้านบางลา ขณะรอการขนย้ายของไปค่ายเกาะนาคา เพื่อนร่วมค่ายคงจำกันได้ดี ว่ามีใครบ้างที่เต้นท่า “เขาหาว่าหนู” และได้อมยิ้มไปกินกันฟรี ๆ หลายอัน จนตอนนี้อมยิ้มเมื่อวันนั้นยังคงเหลืออยู่
The Killer นักฆ่าหน้าตาย
เกมนี้ขอยอมรับและนับถือจากใจจริง… ในการใช้สลายพฤติกรรม หลังจากทุกคนได้รับกระดาษการแต่งตั้งยศและสถานภาพของตัวเอง ทั้งตำรวจ โจร และประชาชนธรรมอย่างฉัน กลิ่นความฮา…. ฮา…. จากการเข่นฆ่าของเหล่ามหาโจรก็เริ่มขึ้น
“หนูถูกฆ่าตาย ขณะเล่นกับเด็ก ๆ ข้าง ๆ รถค่ะ โหดร้ายมาก ๆ” ผึ้งว่าอย่างนั้น
“หนูถูกฆ่าตายบนรถค่ะ เขาหลอกว่าจะพาไปกินขนม” อีกรายให้การ
“พี่…ตายยัง?” คำถามนี้ทำให้ฉันเองสะดุ้งเฮือก ในความรู้สึกบอกว่ายังไม่อยากตาย ทั้งที่มันเป็นเพียงเกมฉันเองก็ยังไม่อยากตาย
“พี่ยังไม่อยากตาย” เธอคนนั้นก็เอากระดาษแสดงยศของเธอให้ดู
“พี่หนูเป็น….นี่ อย่าบอกใครนะ” เฮ้อ…ค่อยยังชั่วหน่อย นึกว่าจะตายก่อนวัยอันควรซะแล้ว… แต่คนเรามักจะหนีความตายไปไม่พ้น ฉันตายในเช้าวันฝนพรำ ขณะยกถ้วยพริกน้ำปลาไปที่โรงอาหาร เหตุการณ์เข้ากับเพลงของพั้นเลย “เสียแรงที่รัก เสียแรงที่ไว้ใจ ไม่คิดว่าจะทำได้ลงคอ” เธอคนนั้นเดินเคียงคู่มาแล้วก็ถามว่า “พี่ตายยัง หนูเป็นโจรนะ” เพียงสั้น ๆ แค่นั้น และคนที่เป็นสวัสดิการทำอาหารวันนั้นก็ล้มตายกันเป็นเบื่อ “เธอร้ายจริงๆ”
ค่ายเปลี่ยนชีวิตและชีวิตเปลี่ยนค่าย
บ่ายฝนโปรยวันที่ 23 เพื่อนชาวค่ายเปลี่ยนค่ายไปยังเกาะนาคา ซึ่งเป็นที่ทุกคนใฝ่ฝันว่าจะได้เห็นทะเล เล่นน้ำทะเล กินอาหารทะเล เป็นชาวเล เรือลำแรกพร้อมสัมภาระแล่นออกไปแล้ว ฉันเป็น 1 ชีวิตในเรือลำนั้น เรือแล่นนานพอสมควร เกาะข้างหน้าคือ “เกาะนาคา”
“คลื่นแรงมาก น้ำลด เอาเรือเข้าไม่ได้ครับ อาจจะล่มได้ เลยต้องลอยลำไปก่อน”
คลื่นลูกโต ๆ ซัดเรือไปเหนือยอดคลื่นลูกแล้วลูกเล่า กระเป๋าบนหลังคาเรือกลิ้งคลุก ๆ ไปตามแรงโยนของคลื่น กระเป๋าใครหนอ ไม่นานนักก็ลองตั้งลำเข้าไปใหม่ มันได้ผลมันเข้าไปได้ แต่ว่าไปเกยตื้นอยู่ใกล้ชายหาด ต้องเอาเรือเล็กมาทอยสัมภาระ จากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก จากเรือเล็กลงขึ้นฝั่ง จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมกระเป๋าทุกคนถึงไปกองแหมะอยู่บนชายหาดแทนที่จะเป็นในอาคาร
ทุกคนมาถึงค่ายปลอดภัยดี ไม่มีอาการเมาเรือ (เฉพาะคนที่ถาม) จัดสัมภาระเข้าที่พัก ครั้งนี้พวกเรานอนรวมกันในบ้านหลังเดียว แบ่งออกเป็น 2 ห้อง ชายหญิง บางส่วนนอนเต้นท์ฟังเสียงคลื่นกล่อมฝันดี
เช้าวันรุ่งขึ้นแยกย้ายกันทำกิจกรรม ทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายโครงงานมีปัญหาที่อุปกรณ์บางส่วนใช้ไม่ได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนไปโดยปริยาย อีกส่วนทำกิจกรรมเด็กนักเรียนซึ่งมี 20 คน ทำไมถึงมีเด็กน้อยอย่างนี้นะหรือ ทั้งที่เกาะออกจะใหญ่โต
พ่อผู้ใหญ่บอกด้วยเสียงเรียบว่า “อีกหน่อยคงจะไม่มีเกาะนาคาแล้ว” มีพวกนายทุนมากว้านซื้อที่ดินบนเกาะ ทั้งทำรีสอร์ท ทำสัมปทานหอยมุข ชาวบ้านบางส่วนขายที่ดินไปอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เหลือชาวบ้านอยู่ที่เกาะนี้ประมาณ 40 คนเท่านั้น และกลุ่มที่มีการคัดค้านการขายที่ดินมีเพียง 4 คน ที่ยืนยันจะไม่ยอมขายที่ดิน และอีกหน่อยคงจะไม่มีเกาะนาคาอีกแล้ว
ความศิวิไลซ์ กำลังจะมา ปลากำลังจะหมดด้วยนโยบายแบ่งเขตทะเลหรือ Sea Food Bank ชีวิตชาวเลกำลังถูกทุนกินชีวิต ไปทีละคน ทีละคน
เปิดใจปิดค่าย
เทียนถูกจุดขึ้น ปักเว้นห่างเป็นระยะ ๆ คืนนี้ฟ้าเปิดมากกว่าทุกคืนดาวเต็มฟ้าทีเดียว กีต้าร์เคล้าเสียงเพลงค่ายไปกันดีทีเดียว หัวใจเพื่อนชาวค่ายถูกเปิดออก ทีละดวง ทีละดวง
“ความจริงเกือบจะไม่ได้มาค่ายแล้วด้วยซ้ำค่ะ เพราะไม่สบาย แต่ขอหมอมา ร.พ.เข้าเมื่อไรก็ได้ แต่ค่ายไม่มาไม่ได้ค่ะเพราะรับปากกับเพื่อนไว้แล้ว อีกอย่างก็คือค่ายแบบนี้คงไม่หวนกลับมา” ใจดวงหนึ่งเปิดความจริงที่มาค่าย
“การที่เขามีความเป็นอยู่แบบนี้ เราไปตัดสินเขาไม่ได้ว่าเขายากจน เขาไม่มีความสุข เราเป็นเพียงผู้ผ่านมา เราต้องทำความเข้าใจพวกเขา” ใจอีกดวงที่เผยความจริงถึงการทำความรู้จักและเข้าใจ
“เข้าใจแล้วว่าทำไม พี่ชายถึงกลับบ้านดึก ๆ” หัวใจที่เข้าใจพี่ชายของเธอ กลั่นหยาดน้ำใสๆ ที่หยดออกมาจากดวงตา
อีกหนึ่งค่ายจบลงไปแล้วและแน่นอนว่าค่ายกับชีวิตจริงมันต่างกัน ถึงแม้ค่ายนี้จะไม่มี “เธอ” นั่งข้าง ๆ ร้องเพลงผิงดาวไปด้วยกัน แต่ฉันก็เชื่อว่า “ฉันกับเธอ” “เราผิงดาว” ร่วมกัน
“คืนนี้ถ้าเธอหนาว ร่วมผิงดาวบนฟ้า จากรักจากศรัทธาของเรา”
รษฎา ปณาลี
พฤษภาคม 2549
ความทรงจำเก่า ๆ ยังคงงดงามเสมอเลย…
คิดถึงเพื่อน ๆ จัง
อ่านแล้วสนุก ประทับใจ คิดถึงทุก ๆ คนขึ้นมาจับใจเลยค่ะ พี่สุนี่เก่งจัง คิดถึงนะคะ
แหม จำชื่อหนูได้เพราะเงิน 5 บาทเลยนะเนี่ย ต้องขอขอบใจไอ้อาร์ทฝ่ายระดมทุน หุ ๆ ๆ ๆ (ที่จริงหนูไม่ได้ยิ้มยากนะพี่แค่มันเขินน่ะ) อิ อิ
ท่าทางป้าจะแก่แล้วนะ ร่ายซะยาวเลย แต่ก็เพลินดีนะ
อีกหนึ่งความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับ
ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าสวย ๆ เช่นนี้
ไปละ อิอิอิ
ซึ้งจางเลยพี่สุ……..
อ่านแล้วจาร้องไห้…..ฮือ..ฮือ
เขียนได้ดี ไม่เสียแรงที่อนุญาตให้ปลีกวิเวก หลาย ๆ ครั้ง ครั้งละนาน ๆ
แต่ให้รู้ด้วยว่าการที่เราพยายามกระชากสายตาตัวเอง ออกจากความสนใจ ในตัวใครสักคนหนึ่ง มันทำยากมาก
แต่ที่ทำได้ เพราะ เราก็คนหนึ่ง ที่ชอบ ปลีกตนเอง เพื่อหาที่ว่างของเวลาและปราศจากสิ่งรบกวน แล้วนั่งลงย่อยเรื่องราวต่าง ๆ แต่ละนาที มาสู่หยดหมึก
ก่อนจะปิดมันลง ด้วยรอยยิ้มที่มุมปาก
ดีใจที่ สุ ไปร่วมค่ายได้ เรื่องนี้พี่ยังไม่ได้บอก ทั้ง ๆ ที่อยากบอก ที่สุด
ขอบคุณทุก “ความรู้สึก” ที่ฝากไว้ค่ะ…
พี่ไนล์ สุก็ดีใจค่ะที่ ได้มีโอกาสไปค่าย
เขียนได้น่าร้องไห้มากคับพี่สุ ขอบคุณสำหรับที่ชาร์ทโทรศัพท์นะคับ คราวหน้าจะไม่ลืม
ปล. คราวหน้าถ้าได้เป็นโจรอีกจะเก็บให้หมดเลย 55555555555555555555555555555
ทำยังงัยดี…คิดถึงเพื่อนจัง กลิ่นอายความสุขครั้งเก่าได้หวนย้อนคืน แต่เวลามิอาจย้อนคืนมาได้…เสียดายความคิดและความรู้สึกต่าง ๆ ที่พลาดพลั้ง…เสียดายโอกาสหลายอย่างที่ไม่ได้กระทำบางเรื่อง…เสียดายเพื่อน ๆ หลายคนที่ต้องแยกจาก…และยังมิอาจจะเสียดายอีกหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมา
……โอกาศดี..แบบนี้ ไม่ได้หาได้ง่าย ๆ นะ น้อง ๆ รุ่นหลังเมื่อมีโอกาสตักตวงความคิดความหวังของตนให้เป็นจริง….จงรีบกระทำเสียแต่ครานี้….ก่อนจะมีคำว่าเสียดาย
แต่มีอย่างหนึ่งที่เต็มใจเสมอที่ไม่เคยเสียดาย…คือความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมค่ายต่าง ๆ ความห่วงใย พร้อมประสบการณ์ที่ล้นเหลือ ที่หาที่ใดเปรียบได้ยาก…ระลึกถึงคราใด ก็แอบยิ้มกับตัวเองทุกทีไป
หลายครั้งอยากให้เพื่อนกลับมารวมกันและร่วมกันสรรสร้างกาลเวลเวลาที่ดีร่วมกันอีกครั้ง และอีกครั้ง
แต่ก็นั่นแหล่ะ ที่ใดมีความสุข ก็มิอาจขวางกั้นความทุกข์เข้ามาเยียมเยือนได้
และนี่คือห้วงเวลาหนึ่งของ “อดีตคนค่ายเสื่อมโทรม”
“””ใช่มั้ย กาหลง….
แล้วนำเพลง และเกมส์ไปใช่บ้างหรือป่าวละ
ยังคิดถึงอยู่นะครับ
จำเอาไว้ แล้วเราจะพบกันอีกครั้ง