จากกิจกรรมในโรงเรียนสู่โครงการสานศิลป์ฯ
ดนตรีพื้นเมือง เป็นสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาของอีสาน โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่น อย่างเช่น อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และมีศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น มวยโบราณ กลองเส็ง รำหางนกยูงหัวเรือ ฟ้อนภูไท ซึ่งศิลปะดังกล่าวกำลังจะเลือนหายไปเนื่องจากไม่มีผู้สืบสานศิลปะการแสดงดังกล่าว ดังนั้นทาง กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อสืบสานให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของดีอำเภอสว่างแดนดินดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
“ทางกลุ่มมีดนตรีพื้นเมือง มีการแสดงนาฎศิลป์พื้นเมือง ภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดมุ่งหมายก็เพื่ออนุรักษ์และก็สร้างสรรค์ นำสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาหลอมรวมใช้ในการแสดง” อาจารย์มงคล สินธนันชัย กล่าว
เมื่อมีโครงการสานศิลป์ฯ เกิดขึ้น กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน จึงได้เขียนโครงการเพื่อขอรับทุนโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเกิดแกนนำเยาวชนเพื่อสร้างเครือข่าย ระหว่างนักเรียนในโรงเรียนละต่างโรงเรียนภายในจังหวัด โดยการใช้ดนตรีพื้นเมือง เป็นสื่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์หรือการทำกิจกรรมร่วมกัน และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเยาวชนจากสิ่งยั่วยุ ที่สำคัญคือกระบวนการดังกล่าวมุ่งสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น หวงแหนและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดกับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ
กิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการจึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ที่กระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน มากว่า 7 ปี โดยใช้เครือข่ายระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียน ถ่ายทอดความรู้ทางด้านศิลปะพื้นบ้านให้แก่กัน และจากความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามารู้จักโครงการสานศิลป์ด้วย
กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน เป็นส่วนหนึ่งของ โรงเรียนสว่างแดนดิน ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและเน้นเรื่องของการแสดงพื้นบ้านเป็นหลัก ทำให้โครงการที่ส่งไปให้กับสานศิลป์ในตอนแรก ยังไม่สอดคล้องกับประเด็นเรื่องสุขภาวะชุมชนที่เป็นเป้าหมายของโครงการ ทางกลุ่มคีตศิลป์ฯ จึงได้ปรับวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับโครงการสานศิลป์ฯ มากขึ้น เช่น ประเด็นเรื่องสุขภาวะชุมชน การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน เพื่อให้ได้รับการอนุมัติโครงการ
สมาชิกหลักของกลุ่มประกอบด้วย
- อาจารย์มงคล สินธนันชัย อาจารย์โรงเรียนสว่างแดนดิน สอนวิชาศิลปะดนตรี เป็นที่ปรึกษาโครงการ
- อาจารย์พรทิพย์ สินธนันชัย อาจารย์โรงเรียนสว่างแดนดิน สอนวิชานาฎศิลป์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ
- น.ส. นงนุช เพชรหึง (มาม่า) อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสว่างแดนดิน
- น.ส. วรัญญา เจริญเหล่า (เค้ก) อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสว่างแดนดิน
- น.ส. เพลงไพลิน สินธนันชัย (ซอ) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสว่างแดนดิน
- นายอภิสิทธิ์ แสงโรชา (บอม) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสว่างแดนดิน
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกในกลุ่มที่ร่วมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีกจำนวน 60 คน ซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการแสดงในแต่ละชุด ทั้งเล่นดนตรี รำ และมวย รวมทั้งคนที่ทำหน้าที่แต่งหน้า ออกแบบเสื้อผ้า ทำฉาก ตั้งเวที กลุ่มศีตศิลป์ฮอยสว่าง จึงเป็นกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมาก เพราะสมาชิกทั้งหมดมาจากนักเรียนที่อยู่ใน ชมรมคีตศิลป์ ของโรงเรียน
เยาวชนใน กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน นอกจากจะต้องมีความสนใจแล้วจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับการเรียนควบคู่กับการทำกิจกรรม หากใครเข้ามาในกลุ่มแล้วผลการเรียนไม่ดีก็จะให้พักกิจกรรมไว้
กิจกรรมที่จะให้รุ่นพี่แนะนำหรือติวรุ่นน้องเกี่ยวกับการเรียนในวิชาต่าง ๆ เนื่องจากสมาชิกกลุ่มมีหลายรุ่น ทั้งที่จบไปแล้วแต่ก็กลับมาช่วยงานของกลุ่ม ซึ่งแต่ละคนก็เรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องศิลปะอย่างเดียว เช่น เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และอื่น ๆ ที่ช่วยดูแลน้อง กระตุ้นให้รุ่นน้องเอาอย่างรุ่นพี่ที่เคยทำกิจกรรมผ่านโครงการของกลุ่มแล้วประสบความสำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายเยาวชนระดับโรงเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้วก็กลับมาช่วยน้อง ๆ ถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดการสืบต่อไม่ให้หายไป กระบวนการทำงานของกลุ่มเน้นให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง ในแต่ละระดับก็จะมีผู้นำดูแลเพื่อน ดูแลน้อง เพื่อสร้างศักยภาพผู้นำให้กับสมาชิกในกลุ่ม
จากชมรมคีตศิลป์สู่โครงการสานศิลป์ฯ
จุดเริ่มต้นของผู้ที่สนใจหรือมีความรักในศิลปะการแสดงพื้นบ้าน จึงเกิดขึ้นจากกิจกรรมของชมรมคีตศิลป์ โดยใช้กระบวนการคัดเลือกเด็กนักเรียนของโรงเรียนเข้าชั้น ม.1 และ ม.4 ผ่านโครงการรับเด็กนักเรียนโควตา ความสามารถพิเศษ ในเรื่องศิลปะการแสดงท้องถิ่น ทั้งดนตรี การรำและการร้อง จากนั้นก็จะเสริมทักษะให้เด็กเหล่านี้ โดยให้เด็กเหล่านี้เข้ามาร่วมในกิจกรรม
“ให้เด็กสมัครเข้ากิจกรรม ช่วงพักกลางวันก็ให้เขามาเรียนรู้ โดยใช้วิธีการสอน ให้รุ่นพี่ดูแลน้อง โดยสมาชิกจะมีจำนวนใหญ่มาก เราก็รวมระหว่างดนตรี กับ นาฎศิลป์ ที่เรียกว่า คีตศิลป์ โดยมีครูสองคนดูแล มีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยและรุ่นพี่ในโรงเรียน ทั้งศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน สนับสนุนให้เข้าโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในสาขาที่เขาสนใจ” อาจารย์พรทิพย์ สินธนันชัย กล่าว
ดังนั้นนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มคีตศิลป์ฯ จึงมีหลายระดับ ที่มีความชำนาญในศิลปะการแสดงพื้นบ้านแตกต่างกัน ตั้งแต่ยังไม่เก่งจนพัฒนาตัวเองสู่ปานกลาง ถึงระดับเก่งมากตามประสบการณ์ในการแสดงของแต่ละคน
ในส่วนของ โครงการฮีตศิลป์ ฮอยสว่างฯ สร้างภูมิคุ้มกัน ได้คัดเลือกเอานักเรียนที่มีความสามารถในด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านในระดับที่เก่งมาก เพราะสามารถสื่อศิลปะการแสดงที่ลึกซึ้งและเข้าใจได้มากกว่าคนที่ยังไม่มีประสบการณ์หรือยังไม่เก่ง
“งานประเพณี กิจกรรมที่ทำกับชุมชน งานลอยกระทง เข้าพรรษา ก็เอาเด็กไปฝึกหัดไปแสดง โดยมีรุ่นพี่เป็นสตาฟฟ์ให้ กลุ่มที่เก่งก็ส่งไปประกวดแข่งขัน เด็กไม่เก่งถ้าเอาไปสานศิลป์ฯ เขาจะถ่ายทอดไม่เป็น งานแสดงออกมาจะไม่ดี” อาจารย์พรทิพย์ สินธนันชัย กล่าวต่อ
กระบวนการทำงานของกลุ่มคีตศิลป์ฯ จึงแบ่งเด็กและเยาวชนในกลุ่มตามความสามารถ เพื่อจัดพื้นที่ให้กับพวกเขาแสดงความสามารถ เช่น แข่งขัน แสดงโชว์ ร่วมงานประเพณี กิจกรรม โรงเรียนชุมชน หน่วยงานราชการระดับอำเภอ จังหวัด เกษียณอายุราชการ ต้อนรับคณะกรรมการ ประเมินโรงเรียน งานกีฬา โดยเฉพาะงานของจังหวัดสกลนคร ที่ต้องการแสดงถึงอัตลักษณ์และความน่าสนใจของจังหวัดก็จะให้ทางกลุ่มไปทำกิจกรรมเสมอ
กระบวนการทำงานของกลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน
กิจกรรมของกลุ่มเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการของสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งครู และนักเรียนในโรงเรียนที่ชมรมคีตศิลป์สว่างแดนดิน โดยเชื่อมโยงกิจกรรมของชมรมเข้ากับโครงการ เมื่อได้รับการอนุมัติโครงการก็นำโครงการนั้นมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของกิจกรรมกับเป้าหมายของโครงการที่สอดคล้องกัน
“ประชุมกลุ่ม ทั้งนักเรียนครูเกี่ยวกับโครงการ และหาปัญหาของชุมชน เพื่อเชื่อมโยงปัญหากับกระบวนการของโครงการ ที่ใช้ศิลปะพื้นบ้านเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา เพื่อกำหนดรูปแบบของกิจกรรม” อาจารย์พรทิพย์ สินธนันชัย กล่าว
หลังจากทำความเข้าใจในตัวโครงการสานศิลป์ฯ และกิจกรรมแล้ว ก็จะคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม
นางสาวนงนุช เพชรหึง เล่าให้ว่า “เข้าค่ายแบ่งกลุ่มจะมีทั้งเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายจะเป็นในส่วนของดนตรี ผู้หญิงก็จะเป็นนาฎศิลป์ เป็นการแสดงที่เกี่ยวกับผู้หญิง ในการซ้อมก็จะแยกกันซ้อม มีรุ่นพี่ มีครูเป็นคนฝึก และที่ปรึกษา ดนตรีซ้อมห้องดนตรี นาฎศิลป์ซ้อมห้องนาฎศิลป์”
กระบวนการของ โครงการฮีตศิลป์ ฮอยสว่างฯ ดำเนินการควบคู่ไปกับกิจกรรมของโรงเรียนใน ชมรมคีตศิลป์สว่างแดนดิน โดยฝึกฝนและสร้างศักยภาพให้กับเด็กที่เป็นสมาชิกของชมรมทั้งที่มีพื้นฐานและไม่มีพื้นฐานในศิลปะพื้นบ้าน และให้เด็กเลือกเข้ากลุ่มประเภทศิลปะตามที่เด็กสนใจ เมื่อคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถและเก่งในด้านการแสดงแล้ว ก็จะนำมาเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อมที่ โรงเรียนสว่างแดนดิน โดยใช้เวลาประมาณ 3 วันก่อนการแสดง เนื่องจากว่าเด็กแต่ละคนที่อยู่ในชมรมได้ฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำแล้ว หลังเลิกเรียนและในช่วงที่ต้องเข้ากิจกรรมชมรม การเก็บตัวที่โรงเรียนจึงเป็นกระบวนการเตรียมความพร้องก่อนการแสดงจริงเท่านั้น
“การเข้าค่ายของกลุ่มคีตศิลป์ ปีนี้มี 2 ครั้ง ครั้งแรกค่ายใหญ่ มีประมาณ 100 กว่าคน ค่ายที่ 2 ประมาณเดือนธันวาคมช่วงก่อนปีใหม่ เฉพาะกลุ่มที่จะไปประกวดแข่งขัน การเข้าค่ายแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 2 คืน 3 วัน โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนสว่างแดนดิน กิจกรรมเข้าค่ายเหมือนการเตรียมพร้อมในแต่ละปีว่าปีนี้มีการแข่งขันอะไรบ้าง และจะใช้ชุดการแสดงอะไร เพื่อการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพในการแสดง” ปคุณา แสงจันทร์ กล่าว
อาจารย์ สินธนันชัย ยังได้เล่าถึงกระบวนการพัฒนาทักษะการแสดงของเด็กว่า “ก่อนที่จะคิดการแสดง ก็จะต้องมีการลงพื้นที่ ให้เด็กลงไปศึกษาชุมชน ในลักษณะของโครงงาน โดยเด็กกลุ่มนี้จะผ่านวิชาการทำงานในรายวิชาของครู สอนเรื่องการค้นหาข้อมูลของชุมชน ของดีในชุมชน ประดิษฐ์ท่ารำ และดนตรีว่าเลือกดนตรียังไงให้สอดคล้องเหมาะสม เด็กต้องลงชุมชนหลายครั้ง ครั้งแรกได้ข้อมูลดิบ ครั้งที่สองสามก็จะได้ข้อมูลในเชิงลึก สามารถนำสิ่งที่ศึกษาหรือเจอในชุมชนมาทำเป็นวัสดุอุปกรณ์ของการแสดง ทำฉาก เสื้อผ้า ออกแบบท่ารำ ซึ่งมันจะเอื้อประโยชน์ต่อกัน เขาได้คะแนนการทำโครงงาน และได้นำมาใช้ในการปฏิบัติจริงในการแข่งขัน การประกวด ดังนั้นครูมีหน้าที่ฝึกให้เด็กคิดเป็นทำเป็นเสียก่อน ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากและครูมาเกลาให้สมบูรณ์มากขึ้น”
กระบวนการก่อนที่จะเริ่มฝึกซ้อมเพื่อเตรียมสู่การแสดงจริงนั้น ตัวแทนสมาชิกกลุ่มได้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการสานศิลป์ฯ ในช่วงของการ Workshop ที่กรุงเทพฯ ทำให้พวกเขาได้รับรู้ที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการสานศิลป์ นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขาได้รับรู้วัฒนธรรมของเพื่อนในจังหวัดต่าง ๆ และได้แลกเปลี่ยนศิลปะการแสดงกับเพื่อนหลากหลายแขนง จากนั้นจึงกลับมาเตรียมตัวเพื่อฝึกซ้อมในพื้นที่และเชื่อมโยงกิจกรรมของกลุ่มเข้ากับกิจกรรมของชุมชน
กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน เลือกงานประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ ปราสาทขอม ที่บ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นเวทีของการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่พวกเขาฝึกซ้อมกันมายาวนานเป็นพื้นที่แรกในการแสดง ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับอำเภอและเป็นประเพณีตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ของอีสานที่จัดในช่วงเดือนสาม (มีนาคม-เมษายน) ของทุกปี
งานดังกล่าวมีรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงาน โดยกลุ่มได้จัดชุดการแสดง “ของดีเมืองสกลนคร” ขึ้นแสดง ประกอบด้วย การตีกลองเส็ง การรำหางนกยูงหัวเรือ การแสดงโปงลาง รำมวยโบราณ ฟ้อนภูไท สาวสว่างรำเพลิน รำเฉลิมพระเกียรติ์ โดยในงานครั้งนี้นอกจากการแสดงศิลปะพื้นบ้านบนเวทีแล้ว ทางกลุ่มยังได้ยังได้มีการออกบูธจัดนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมของ โครงการฮีตศิลป์ฮอยสว่าง สร้างสุขภาวะ เพื่อแนะนำกิจกรรมให้กับผู้สนใจในกิจกรรมนี้
งานประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ ได้รับการตอบรับจากผู้คนในอำเภอ เข้ามาร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นงานใหญ่ระดับอำเภอ และให้ความสนใจที่จะชมการแสดงของกลุ่มคีตศิลป์ฯ ที่นำศิลปะพื้นบ้านและของดีของ จ.สกลนคร มาแสดงและถ่ายทอดผ่านการแสดงแต่ละชุดบนเวทีอย่างคับคั่ง ทำให้ทางกลุ่มมีกำลังใจที่จะแสดงและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเสมอ
นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์กลุ่มในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
“เรามีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ใช้เว็ปไซต์ เรามีลูกศิษย์หลายคนที่เป็นครู เขาก็สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงต่อกับของเรา ก็รู้ความเคลื่อนไหว กิจกรรมที่เราทำ การไปแสดง ออกไปประกวดในที่ต่าง ๆ ก็เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว บางครั้งก็ออกทีวี อย่างเช่น ช่องอีสานทีวี แต่ส่วนใหญ่ใช้เว็ปไซต์เป็นหลัก”
กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน ยังได้เชื่อมโยงทักษะความสามารถทางด้านการแสดงไปยังกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ใน จ.สกลนคร โดยสร้างกระบวนการเป็นวิทยากรให้กับเด็กที่เก่งเพื่อให้สามารถเป็นวิทยากร ให้กับโรงเรียนประถมศึกษาอื่น ๆ ที่สนใจเมื่อโรงเรียนเหล่านี้ได้แนวทางจากกลุ่มนำไปสร้างและฝึกเด็กของพวกเขา เมื่อเด็กเหล่านี้เก่ง พวกเขาก็ส่งต่อมาให้ทางชมรมคีตศิลป์ต่อ เพราะเด็กในตำบลอื่น ๆ อำเภออื่น ๆ บางครั้งก็อยากมาเรียนที่โรงเรียนสว่างแดนดิน เด็กนอกเขต เขาก็ส่งเด็กมาให้ทางโรงเรียนสว่างแดนดิน ทางโรงเรียนก็ได้เด็กที่มีความสามารถและเป็นกำลังสำคัญให้กับชมรมคีตศิลป์ในอนาคต
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกิจกรรมเข้ากับชุมชน และหน่วยงานราชการ ระดับจังหวัด อำเภอ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือกิจกรรมประเพณีของชุมชน เพราะกลุ่มคีตศิลป์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น รวมทั้งนักเรียนในกลุ่มก็เป็นลูกหลานของชาวบ้านในท้องถิ่น ทำให้กิจกรรมที่ทางกลุ่มดำเนินการมีความเชื่อมโยงกับชุมชนเป็นต้นทุนเดิม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประเพณีวัฒนธรรมในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและข้อมูลของดีของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มคีตศิลป์ฯ ก็ได้ใช้ศิลปะการแสดงที่ต้องเองได้คิดค้น ต่อยอด เพื่อนำมาใช้ถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้น
“งานช่วยเหลือ สนับสนุนชุมชนบ่อยมาก ตั้งแต่ประเพณีประจำเดือน ตามฮีตตามคอง งานประเพณีกีฬา บุญแจกข้าว ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ไปหมดทั้งวง ช่วยงานชุมชนมากกว่า เพราะสมาชิกกลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน ก็เป็นลูกหลานของชาวบ้านในชุมชน” อ.มงคล สินธนัญชัย กล่าว
การเรียนรู้ของกลุ่มและชุมชน
การดำเนินกิจกรรมของ กลุ่มคีตศิลป์สว่างแดนดิน ภายใต้ชุดโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ที่ใช้เรื่องของภูมิปัญญาและศิลปะการแสดงของ อ.สว่างแดนดิน นอกจากจะเกิดประโยชน์กับชุมชนในแง่การได้รู้รากเหง้าที่มาของตัวเอง การได้รู้จักศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าที่กำลังจะสูญหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมก็คือ การหล่อหลอมความคิด ความเชื่อในเรื่องของศิลปะ ในเชิงของความงดงามและการสร้างสรรค์ ทั้งประโยชน์ในเชิงร่างกายที่ได้จัดวางท่าทาง มือ เท้า วงแขน การขยับตัวร่ายรำ ผ่านการฟ้อนภูไท การรำมวยโบราณ การตีกลอง ทำให้พวกเขามีบุคลิกภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง เคลื่อนไหวนร่างกายอย่างกระฉับกระเฉงและมีจังหวะมากขึ้น ในขณะเดียวกันในแง่ของจิตใจก็ถูกหล่อหลอมให้มีความเยือกเย็น สุขุม และความกล้าที่จะแสดงออกในความสามารถที่ตัวเองมี โดยเฉพาะศิลปะการแสดงที่เป็นจิตวิญญาณของคนอีสาน
ในขณะเดียวกันกระบวนการของโครงการสานศิลป์ฯ ก็ทำให้พวกเขาได้พัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ฝึกความพร้อมและการประสานระหว่างกันในการแสดง รวมถึงปลูกฝังจิตสาธารณะในการทำกิจกรรมระดับชุมชนและจังหวัด การรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีวินัยในการฝึกซ้อม ที่สำคัญก็คือ ความรู้สึกหวงแหนและรักในประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองก็ถูกหล่อหลอมผ่านการฝึกซ้อมการแสดง ที่ช่วยตอกย้ำรากเหง้าและตัวตนของพวกเขาในการเป็นลูกหลานชาวอีสาน เกิดความภาคภูมิใจ หวงแหนศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
“ศิลปะคือความงดงาม สิ่งที่มีมานานตั้งแต่อดีต ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา สิ่งที่ได้คือ กล้าแสดงออก มีจิตสาธารณะ ต้องเสียสละ รู้จักให้ มีวินัย รักษ์ถิ่นเกิดของตัวเอง ภูมิใจมากในความเป็นอีสาน เมื่อก่อนจะอายไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าจะบอกใครว่าเป็นคนอีสาน แต่ความจริงความเป็นคนอีสานมันซึมลึกในสายเลือด ผ่านคำพูดคำจา คำตลก ผญา การรำที่เป็นภาษาและการแสดงออกของคนอีสาน” นางสาวเพลงไพลิน สินธนันชัย สรุปทิ้งท้าย
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ