ศิลปะกับนักขับเคลื่อน
กลุ่มมาลัยดาว ถือเป็นกลุ่มคนทำงานทางด้านศิลปะที่เกิดขึ้นจาก “พี่เณศ” ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ พี่ใหญ่ของกลุ่มที่คิดจัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเพื่อทำงานศิลปะกับชุมชน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมงานศิลปะให้สอดคล้องและบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนมากกว่าที่จะใช้งานศิลปะเพียงแค่การวาดภาพหรือร้องรำทำเพลง
“พี่เรียนจบปริญญาตรีมาทางศิลปะ จบใหม่ ๆ ก็มาสอนที่ราชภัฏเพชรบุรี แล้วเริ่มได้ไปทำงานกับชุมชนกับชาติพันธุ์กระเหรี่ยง เริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนมาตลอด แรกเลยทำโครงการนักสืบสายน้ำ ทำที่แก่งกระจาน แม่น้ำเพชรบุรี ตามหาจระเข้ เพราะตอนนั้นมีข่าวว่าจระเข้กำลังจะสูญพันธุ์เลยทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตามรอย ต่อมาก็เริ่มแตกโครงการต่อยอดให้มากขึ้น พี่สร้างโรงเรียนเรือนแพให้กับเด็ก ๆ กะเหรี่ยง ตอนนั้นคิดแค่อยากทำจากที่เด็กมาเรียนแค่ 5 คน ก็ขยายเป็น 20 คน สอนเรียนวาดรูป แล้วก็เสนอว่าวาดอะไร มีแค่ผ้ายางกันฝน เป็นโรงเรียนนอกระบบที่ทำขื้นเพราะอยากทำงานเกี่ยวกับชุมชน”
จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อชุมชนดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายให้เขาทำงานกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเรื่อยมา จากโครงการเล็ก ๆ ที่ลงมือลงแรงเพียงคนเดียวก็เริ่มมีกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายกันมาร่วมไปในเส้นทางนี้มากขึ้น จนกระทั่งเกิดขึ้นเป็น กลุ่มนิตยสารไอไฟล์ (I Fly @ imagine) กลุ่มนิตยสารที่ทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและการขับเคลื่อนชุมชน และขยายเครือข่ายกลายเป็นกลุ่มมาลัยดาว กลุ่มคนทำงานที่มีเยาวชนทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่มาเข้าร่วมสร้างกิจกรรมศิลปะกับชุมชน
โครงการสานศิลป์ กับการแตกยอดกิจกรรม
“เรามีโครงการอยู่เยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะทำที่ไหน ก็พอดีคนทำสานศิลป์เค้าโทรมาหาว่าจะทำโครงการในสานศิลป์ไหม ก็เลยมาถามทีมเด็ก ๆ ว่าเขาอยากจะทำมั๊ย เพราะตอนนั้นทางเราก็กำลังทำหนังสือ เราก็คล้าย ๆ โดนบังคับกลาย ๆ เพราะมีโครงการหนึ่งที่สมัครกับสานศิลป์เขาออกไปพอดี แล้วทางคนจัดเขาอยากให้เราทำให้ก็พอดีวัตถุประสงค์ของโครงการตรงกันคืออยากให้คนรากหญ้ามาทำงานศิลปะ เอาศิลปะของชาวบ้านมาเผยแพร่ แล้วเด็ก ๆ เขาก็อยากทำ เราก็เลยทำ ให้ 5 หมื่น ให้เวลาทำ 6 เดือน ทางเรามีสีเหลืออยู่พอดีก็เลยตัดสินใจเอาโครงการที่เขียนไว้มาทำ” ก่อคเณศ ผู้ก่อตั้งกลุ่มมาลัยดาว กล่าว
จากแนวความคิดของการจัดรูปแบบของกิจกรรมที่ตรงกันทำให้กลุ่มมาลัยดาวจากการนำของคเณศร์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการโดยใช้ชื่อโครงการว่า “ศิลป์ สาน สัญจร ภาพสะท้อนความสุข สู่ชุมชน” นำเสนอกิจกรรมออกเป็น 6 โครงการด้วยกัน ภายใต้รูปแบบของกิจกรรมที่เน้นการทำงานด้านศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ได้เข้าไปร่วมทำกิจกรรม โดยรายละเอียดของกิจกรรมย่อย ๆ ทั้ง 6 ประกอบไปด้วย
กิจกรรมที่ 1 โครงการศิลปะเพื่อช่วยน้ำท่วม เป็นโครงการแรกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากแผนที่วางไว้ในโครงการรวมสานศิลป์ แต่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวทางภาคใต้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก โดยพื้นที่หลักของกลุ่มที่ทำกิจกรรมอยู่ก็พบกับภัยพิบัติดังกล่าวเช่นกัน กลุ่มมาลัยดาวจึงจัดทำกิจกรรมเพื่อเข้าไปช่วยชุมชนในการเยียวยาจิตใจในเบื้องต้น โดยนำเยาวชนในชุมชนต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมให้มาร่วมในกิจกรรมงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการสอนวาดรูป การเล่นดนตรี และการจัดนิทรรศการที่เป็นผลงานของเยาวชนเอง
“งานของพี่ ขับเคลื่อน 6 ครั้งใน 6 เดือน พอดีมีน้ำท่วมที่ใต้เลยเอาเข้ามาจัดด้วย ที่มันแตกมาเพราะมันต่อเนื่อง และผู้ใหญ่ในพื้นที่เค้าขอมา ทางน้ำเราเอาเรือเข้าไป ทางบกเราเอารถเข้าไป ตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาลัยดาว เรากลับมาจากอบรมน้ำท่วมพอดี สานศิลป์ก็เลยมาจับด้วย ทำครั้งแรกภายใต้โครงการนี้ มีนายกเทศมนตรีหาดใหญ่มาเปิดงาน คนมาร่วมเป็นร้อยคน มีเด็กมาเข้าร่วมเยอะ เป็นเด็ก ๆ ในชุมชนที่โดนน้ำท่วม ให้เด็กมาเข้าร่วม”
กิจกรรมที่ 2 ศิลป์ สาน สัญจร ภาพสะท้อนแห่งป่าผาดำ เส้นทางประวัติศาสตร์จากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นกิจกรรมที่ใช้งานศิลปะมาเชื่อมโยงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยจัดเป็นโครงการศิลปะป่าผาดำ จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา โดยนำเด็ก ๆ ที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 10 คน มาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมจากการเข้าไปเที่ยวชมธรรมชาติจริงในป่า เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมในสังคม
“พี่ทำเพื่อต้องการให้เด็กไปเห็นต้นน้ำ เข้าไปในป่าจริง เพื่อให้เด็กเห็นเรื่องจริง และเข้าใจจริง รอบนี้มีเด็กไป 10 คน ออกโทรทัศน์ ทำนิเวศน์ศิลป์ รู้ว่าน้ำมาจากไหน ให้ความรู้ หลังจากงานนี้ก็มีคนสนใจมากขึ้น ให้เค้าทำงานโดยที่ไม่ต้องใช้ภู่กัน ใช้ภาพถ่ายมาจัดนิทรรศการ”
กิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องมาเป็น กิจกรรมที่ 3 นำภาพถ่ายที่เยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการป่าผาดำมาจัดทำเป็นนิทรรศการ และเชิญชวนผู้สนใจและเยาวชนในโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรม และนำงานศิลปะดังกล่าวมาประมูลขาย เพื่อต่อยอดงบประมาณในการทำงานครั้งต่อไป นอกจากนั้นยังจัดให้มีการสอนศิลปะฟรีให้กับเด็ก ๆ ที่สนใจอีกด้วย
กิจกรรมที่ 4 ศิลป์ สาน สัญจร จากผาดำ ผ่านตลาดน้ำคลองแห สู่ปากทางชีวิตทะเลสาบสงขลา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมที่เป็นการบูรณาการระหว่างศิลปะและสิ่งแวดล้อม โดยล่องเรือไปตามทะเลสาบสงขลาและให้เด็ก ๆ ทำงานศิลปะขึ้นมาหนึ่งชิ้นเพื่อที่จะสื่อสารถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในกิจกรรม หลังจากนั้นก็จัดเป็นนิทรรศการ เพื่อถ่ายทอดผลงานของเด็ก ๆ ให้บุคคลภายนอกเห็นถึงความสามารถของลูกหลานในชุมชนของตนเองว่ามีศักยภาพเพียงใด อีกทั้งรูปแบบกระบวนการทำงานดังกล่าวยังส่งผลให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของตนเองอีกด้วย
กิจกรรมที่ 5 ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมที่สะท้อนการเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับองค์ความรู้อื่น ๆ โดยกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มมาลัยดาวและทางโรงเรียนสทิงพระ จัดทำ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ผ่านงานศิลปะ โดยทางกลุ่มได้ใช้ความรู้ทางศิลปะในการสอนเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการตอบรับต่อกิจกรรมดังกล่าวถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ทั้งจากในแง่ของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน และกับทีมงานเยาวชนที่ลงไปทำงาน
“งานนี้ได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับโรงเรียนที่สทิงพระ เพราะเกิดการบูรณาการระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ เป็นงานศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ทางเราก็เอาเด็กในกลุ่มที่มีความรู้ทางศิลปะมาเป็นพี่เลี้ยงในการทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ในโรงเรียน อย่างงานนี้มันไม่ใช่แค่ได้กับนักเรียนที่สทิงพระ แต่ได้กับทีมเรา อย่างน้อยที่เขาสะท้อนให้ฟังเวลาที่สรุปกิจกรรมก็คือรู้ว่าศิลปะสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การวาดรูป มันอยู่ที่เราจะมองศิลปะยังไง” นัท หัวหน้าโครงการศิลป์ สาน สัญจร ภาพสะท้อนความสุข สู่ชุมชน
กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมสุดท้ายในโครงการ ทางกลุ่มได้ลงไป ทำงานศิลปะกับกลุ่มเด็ก ๆ ในโรงเรียนเด็กหูหนวก ซึ่งจากคำบอกเล่าจากทีมงานก็จะพบว่าการทำกิจกรรมในครั้งนี้เป็นประสบการณ์พิเศษที่ทางทีมงานได้รับ
“ครั้งที่ 6 ที่มาทำกับโรงเรียนหูหนวกที่สงขลา ผมว่ามันได้อะไรเยอะนะ อย่างพี่เณศก็บอกว่าตลอดเวลาที่ทำงานศิลปะมา 25 ปี ไม่เคยเห็น เด็กหูหนวกใช้สี ใช้พู่กันสะอาดมาก เด็ก 200 คน ไม่มีสีปนกันสักนิด อย่างผมก็ได้เจออะไรเยอะ เล่นดนตรีเขาก็ไม่ได้ยิน เราจะทำยังไงให้เขาสนใจ เสียงทุกอย่างดังมาก เราจะจัดการยังไง” แจ๊ค สมาชิกกลุ่มมาลัยดาว
แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมครั้งที่ 6 ที่ถือเป็นครั้งสุดท้ายตามแผนงานในโครงการก็ไม่ใช่เพียงจุดสิ้นสุดสำหรับการทำงานในโครงการสานศิลป์ ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมหลักทั้ง 6 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นกับกลุ่มมาลัยดาว กิจกรรมทั้งหมดที่โครงการทำขึ้นสามารถแตกยอดออกผลไปสู่กิจกรรมอีกหลายกิจกรรม และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้กับเยาวชนได้อีกหลายชุมชน
“จริง ๆ พี่ว่ามันแตกกิจกรรมออกได้เยอะแยะ จากที่เขียนไป 6 ทำจริง ๆ มันทั้งหมด 32 ครั้ง กิจกรรมในสานศิลป์มันเป็นแค่จุดเล็กที่ทำให้กระจายไปได้อีกเยอะ อย่างตอนนี้หาดใหญ่ให้วิทยุเราทำตั้ง 6 รายการ จากรายการวิทยุมันก็แตกยอดออกไปได้อีก มีคนสนใจ มีเด็กสนใจมาเข้าร่วมกลุ่มได้อีก หรือไม่หลัง ๆ ก็มีส่วนใหญ่ที่เขาให้งบมาทำกิจกรรม แต่เราเองก็ต้องดูวัตถุประสงค์ด้วยว่ามีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า นักการเมืองท้องถิ่นพยายามติดต่อเข้ามาเยอะ แต่เราก็จะทำให้เฉพาะที่มันไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง ดูที่มันจะได้ประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ”
เยาวชนกับการเรียนรู้โครงการฯ
จากจุดเริ่มต้นที่ กลุ่มนิตยสาร I Fly @ imagine จนกระทั่งกลายเป็น กลุ่มมาลัยดาว เยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากเด็กมหาวิทยาลัยเพียง 5-6 คนก็เพิ่มจำนวนขยายเครือข่ายไปกว้างขวางมากขึ้น
“คนเรามีมากขึ้น ทั้งเครือข่ายเด็กมอ.หาดใหญ่ วิทยาลัยครู เทคโนศรีวิชัย เด็กมัธยมก็มี แม้แต่เด็กที่ไม่เรียนก็มาร่วมได้ พี่มีบ้านให้เด็กอยู่ ตอนนี้เด็กในเครือข่ายพี่มีเป็นร้อย ทุกคนก็มีความถนัดต่างกัน เราต้องสร้างกระบวนการให้เด็กที่มีฐานความไม่เข้าใจที่ต่างกัน มาทำงานด้วยกัน เช่น น้องบางคนรำโนราห์ได้ เราก็เอาความสามารถตรงนี้มาทำงาน แจ๊คทำงานสถาปัตย์ก็เอามาสอนให้เด็ก ๆ หรือชาวบ้านในชุมชน เราไม่ต้องเสียอะไร เราเอาความรู้เด็กที่แตกต่างกันมาใช้ เช่น ถ้าต้องสร้างต้องเชื่อมอะไรก็เอาเด็กที่เรียนช่างเชื่อมมาใช้”
กระบวนการทำงานในลักษณะค่ายสร้างคนที่กลุ่มมาลัยดาวดำเนินการอยู่ได้ทำให้เยาวชนที่ลงมาทำงานได้เรียนรู้การทำงานในรูปแบบของงานค่ายที่สอนกระบวนการคิดตั้งแต่การวางแผนโครงการ ไปจนกระทั่งการทำงานตามความสามารถที่ตนเองถนัด และการสรุปบทเรียนของกิจกรรม เพื่อที่จะนำไปใช้ปรับปรุงในการทำงานครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
“อยู่นานแล้ว แต่เริ่มทำกิจกรรมน้ำท่วมครั้งแรก ผมก็มาช่วยสร้างกระบวนการ เริ่มจากผมมาขอพี่เขาเรียนศิลปะ พี่เค้าก็เลยสอนให้ พอมาเรียนแล้วพี่เค้าก็สอนอยู่กันจนชิน เห็นพี่เค้าทำกิจกรรม เวลาเค้าไปไหนก็พาเราไปด้วย เราก็รู้สึกอยากทำ พี่เค้าก็ชวนให้มาทำกิจกรรมด้วย เวลาผมกลับบ้านก็จะเข้าไปทำ มันก็ทำให้เราทำงานเป็นมากขึ้น ผมเริ่มคิดมากขึ้นนะ”
“พี่เค้าให้หนูมาทำเรื่องรำเป็นหลัก เพราะเราเรียนนาฏศิลป์มา ก็ใช้รำโนราห์มาแสดง พอต้องสอนเด็กเรื่องรำเราก็จะต้องเข้ามาทำด้วย ลงไปทำงานกับชุมชนมากขึ้น ตอนแรกไม่เคยทำงานเลย แต่กิจกรรมที่ได้ลองทำพวกนี้มันช่วยให้เรามีระเบียบมากขึ้น มีค่ามากขึ้น อย่างน้อยเราก็สามารถทำอะไรให้คนอื่นได้” ขวัญ สมาชิกกลุ่มมาลัยดาว
นอกจากเยาวชนจะได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการทำงานแล้ว แกนนำของกลุ่มมาลัยดาวก็ได้เรียนรู้การทำงานเช่นเดียวกัน ดังคำบอกเล่าที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดโครงการว่าควรจะจัดกิจกรรมโดยไม่หวังพึ่งงบประมาณขององค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากการหวังงบประมาณสนับสนุนดังกล่าวอาจจะทำให้กิจกรรมไม่ต่อเนื่องได้
“เราจะเอางบประมาณเค้าอย่างเดียวไม่ได้หรอก ค่าอื่น ๆ เยอะแยะ ค่าน้ำมัน ค่าอาหารการกิน ค่านอน เราจะรอเอางบประมาณอย่างเดียวไม่ได้ อย่างโครงการสานศิลป์เนี่ย มีปัญหาเรื่องงบให้มา 50,000 บาท กว่าจะได้มาตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ได้ก็ได้มาครึ่งเดียว ถ้าเรารองบก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว”
จากปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลให้กลุ่มมาลัยดาวเน้นการทำงานในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือมากกว่าจะรองบประมาณจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และจากการสร้างเครือข่ายการทำงานดังกล่าวนี้เองที่ทำให้รูปแบบกิจกรรมที่เคยวางแผนไว้เพียง 6 กิจกรรมแตกยอดออกมาเป็นกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่เข้าถึงชุมชนได้อย่างหลากหลาย
“ผมเน้นการทำงานสร้างเครือข่ายให้มาก ๆ เพราะสุดท้ายกิจกรรมที่จัดได้มาก ๆ เครือข่ายที่เกิดขึ้นอยู่ทั่ว ๆ มันทำให้เราทำงานกับชุมชนได้มากขึ้น ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่มันกระจายการทำงานไปได้อย่างหลากหลาย” ก่อคเณศ ทิ้งท้าย
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ