เสียงคลื่นที่ชวนให้นักท่องเที่ยวหลงใหลในเสน่ห์ของทะเลภาคใต้นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าต่อผู้คน ยังมีความงดงามของธรรมชาติอีกหลายส่วน ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้คนอยู่ได้อย่างมีความสุข ความตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของการรัก หวงแหน และช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่กับมนุษย์ไปได้นาน ๆ ที่บ้านหล่อยูง… เด็กชายเลของที่นี่จึงเริ่มลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ เพื่อทำให้บ้านของพวกเขาน่าอยู่ และไม่ถูกทำลาย
เมื่อถูกรุกราน ชาวบ้านจึงต้องสู้
ป่าชายเลนของพื้นที่ บ้านทองหลาง ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ก็เหมือนพื้นที่ป่าชายเลนแหล่งอื่น ๆ ที่มักจะเริ่มต้นถูกบุกรุก โดยนายทุนที่ต้องการเข้าไปทำนากุ้ง หรือหาประโยชน์จากธรรมชาติ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับคนในชุมชน ที่นี่ก็เช่นกัน ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีนายทุนบุกรุกป่า ทำนากุ้งโดยโอบล้อมรุกที่เข้ามาทีละนิด จนกระทั่งชาวบ้านหมดความอดทน เมื่อนายทุนรุกจนถึงแหล่งต้นน้ำ ชาวบ้านทองหลางได้รวมตัวกันไปล้อมบริเวณที่นายทุกลงปักเขตจะทำนากุ้ง เพราะต้องการให้พื้นที่สาธารณะบริเวณนั้นเป็นป่าชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมที่จะถูกทำลายลงหากปล่อยให้เกิดการทำนากุ้งในบริเวณดังกล่าว
“ปี 2549 เราลงสำรวจพื้นที่ จริง ๆ นายทุนนากุ้งก็รุกมาเป็นระยะ รุกพื้นที่ป่าเข้ามาเรื่อย ๆ แต่เรายังไม่ได้ทำอะไรจนกระทั่งเห็นว่าเขาบุกรุกเข้ามาเยอะมากจนถึงคลองที่เป็นต้นน้ำ แหล่งสัตว์น้ำ ชาวบ้านเลยรวมตัยกันไปคุยกับนายทุน ว่าต้องหยุด และคืนพื้นที่ให้เราด้วย ให้จัดการถอยบ่อกุ้งไป 3 บ่อ ตอนนั้นคุยกันหลายรอบ เรียกมาคุยที่มัสยิดเลย จะได้กระตุ้นความสนใจจากชาวบ้าน ในที่สุดก็ยอมถอย แต่ชาวบ้านก็เริ่มรู้แล้วว่ามันมีผลเสียกับวิถีชีวิตแล้ว การที่นากุ้งเข้ามาแบบนี้ จึงเกิดความคิดว่าจะทำยังไงดี ให้คนรู้ และช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนของเรา พอดีได้อิฐมาช่วย จึงเริ่มทำโครงการกันขึ้นมาและ หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมมาเรื่อย ๆ” ผู้ใหญ่อนุวัฒน์ จันทรจิตร์ เล่า
หลังจากการต่อรอง ชาวบ้านเริ่มหันมาหารือถึงแนวทางการดูแลป่าชายเลนผืนนี้อย่างจริงจังเนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้วิถีชีวิตของเด็ก ๆ ให้เข้าใจความเป็นท้องถิ่น และพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ผู้ใหญ่บ้านอนุวัฒน์ จันทรจิตร์ จึงร่วมมือกับแกนนำหมู่บ้านอีกหลาย ๆ คนลงปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพก่อนที่จะใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ ในการปลูกป่า เพื่อเป็นสถานที่ให้เด็ก ๆ ได้เข้ามาเล่น และเรียนรู้วิถีชีวิตชายเลไปพร้อม ๆ กัน
การดำเนินงานในช่วงแรกเป็นการทำงานของกลุ่มผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน โดยร่วมกับหน่วยป่าไม้ชายเลน นำพืชมาลงปลูกในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มราษฎรพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง มีเรือลาดตระเวณคอยดูพวกที่ลักลอบตัดไม้ และระวังการรุกที่ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการฟื้นฟูป่าชายเลนของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม มีการหารือถึงแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการดึงเอาเด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง กลุ่มเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน
“แรก ๆ ผู้ใหญ่เยอะมาก แต่ทุกคนก็มีงานส่วนตัว จากประชุม 30 เหลือ 20 เหลือ 15 ก็มาคิดกันว่าจะทำไงให้คนเยอะ เราทำต่อไปไม่ได้หมด เราต้องแก่ หาทางให้มันยั่งยืน ก็คิดว่าต้องเอาเด็กมาช่วย ให้เขารับรู้ ให้เขาเห็นตัวอย่างตั้งแต่เล็ก จะได้ปลูกฝัง จึงเริ่มทำกลุ่มกัน” ผู้ใหญ่อนุวัฒน์ จันทรจิตร์ กล่าวต่อ
กลุ่มออมทรัพย์ฯ พลังเบื้องหลังที่ยังคอยสนับสนุน
อีกหนึ่งแกนนำสำคัญที่มีบทบาทในการทำงานทั้งด้านฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนบ้านทองหลางก็คือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาสังคมบ้านทองหลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของแกนนำสตรีในหมู่บ้าน โดยทางโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชน ชายฝั่งอ่าวพังงา เข้ามาผลักดันให้จัดตั้งขึ้น แม้จะมีบทบาทหลักในเรื่องการออม แต่บทบาทรองของกลุ่ม คือพลังขับเคลื่อนสังคมบ้านทองหลาง เพราะกลุ่มจะมีส่วนร่วมในงานพัฒนาหมู่บ้านทุกรูปแบบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน ด้วย
“กลุ่มออมทรัพย์จะมีสมาชิกเป็นแม่บ้านหมด ผู้ชายก็ทำงาน ผู้หญิงก็ทำงาน เราช่วยกัน แต่ไม่ได้ทำแค่เรื่องออมทรัพย์ เราทำทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ลูกหลานของเรา เรื่องป่าชายเลนก็ทำ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตของเรา” รวิศรา สารยา เล่าถึงการทำงานของกลุ่ม
แนวทางการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ในช่วงแรกจะเป็นการสนับสนุนทุนในการทำกิจกรรมกับเด็ก เป็นพี่เลี้ยงที่พาเด็ก ๆ ออกไปสัมผัสกับป่าชายเลน และร่วมกับโครงการวามมั่นคงทางอาหารฯ ออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับเด็ก ๆ ถึงคุณค่าของป่า รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก ๆ เท่าที่จะทำได้
ป่ายชายเลน… เป็นทั้งที่เล่น และที่เรียนรู้ชีวิตชาวเล
พิเชษฐ์ ปานดำ หรือ พี่อิฐ เจ้าหน้าที่จากโครงการความมั่นคงทางอาหารฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และการทำกิจกรรมของกลุ่มเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน เล่าถึงการทำงานของเด็ก ๆ ในการเรียนรู้ และบทบาทการอนุรักษ์ป่าของเด็ก ๆ
“หลังจากที่ชาวบ้านเขาคุยกัน เขาก็เห็นตรงกันว่า เราต้องเอาเด็กเข้ามาด้วย การต่อสู้กับนายทุนเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่บทบาทการอนุรักษ์ป่า เด็กก็ทำได้ เด็กเขามีส่วนร่วม มันก็เป็นบ้านของเขาเหมือนกัน และการที่เราให้เขาเห็น ให้เขาทำตั้งแต่ตอนนี้มันจะชัดเจน เขาจะรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเขา เขามีวิธีคิด มีมุมมองเกี่ยวกับป่า ที่มันมีผลต่อชีวิตของเขา พอชาวบ้านเริ่มเห็นแนวทางจะทำงานกับเด็ก เราก็ออกแบบกันว่าจะทำอะไร อย่างไร แล้วก็เริ่มตั้งกลุ่ม” พิเชษฐ์ ปานดำ กล่าว
กลุ่มเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน จึงถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2551 และเริ่มมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ รู้จักป่า ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยแกนนำสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมก็คือพี่อิฐ และสมาชิกของกลุ่มสตรีออมทรัพย์บ้านทองหลาง
กิจกรรมหลักในช่วงแรกจะเป็นค่ายเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน โดยในปี 2551 มีการจัดค่าย 3 วัน 2 คืน ที่สวัสดีลากูน บ้านท้ายเหมือง จ.พังงา
“กิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำ คือการทำความเข้าใจเรื่องป่าชายเลน ตอนครั้งแรกที่ทำ เราชวนเด็กทั้งหมู่บ้านเลย รวมกัน 2 พื้นที่คือบ้านทองหลางและบ้านแหลมหิน มีเด็กทุกเพศทุกวัย 60 – 70 คน ตอนนั้นคือให้เขาลองระดมความคิดเกี่ยวกับป่าชายเลนก่อน เราตั้งคำถามว่า ‘ป่าชายเลนในความคิดของเด็ก ๆ เป็นอย่างไร’ ปรากฏว่าภาพที่ออกมามันคือประสบการของเขา เราให้เด็กทำงานศิลปะ ทำได้ทุกแบบ วาดรูป ตัดกระดาษ จัดวาง นำเสนอข้อมูล ปรากฏว่าเขาเห็นเหตุการณ์ เห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นกับหมูบ้าน ภาพที่เสนอออกมาจะเห็นบ่อกุ้ง ตอไม้ ต้นไม้ตาย อะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขั้นจริงกับป่าชายเลนของบ้านเขา เรารู้แล้วว่าเด็กเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น” พิเชษฐ์ ปานดำ กล่าวต่อ
เมื่อเห็นว่าเด็กมีพื้นฐานความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับป่าชายเลน ซึ่งเป็นทั้งที่เล่น และที่เรียนรู้ของเด็ก ๆ ทำให้การทำงานไม่ยาก เพราะเด็กมีภาพอยู่ในใจ หลังจากการนำเสนอของเด็กเกี่ยวกับภาพที่เขาวาด ก็มีการชักชวนเด็ก ๆ พูดคุยถึงแนวทางฟื้นฟูป่า อยากให้ป่าเป็นอย่างไร เด็ก ๆ จะทำอะไรได้บ้าง ป่าชายเลนที่สมบูรณ์มีลักษณะอย่างไร ฯลฯ
ค่ายในปีแรกจึงเป็นค่ายที่เห็นแนวทางการทำงานกับเด็ก ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็เกิดความเข้าใจว่า จริง ๆ แล้ว เด็ก ๆ มีความรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมของบ้านเขา เพียงแต่ต้องการคนที่จะชักชวนพวกเขามาทำกิจกรรม และเปิดโลกให้กับเด็ก ๆ การทำงานค่ายในปีต่อมาจึงเป็นงานต่อเนื่องที่ผู้ใหญ่และเด็กร่วมมือกัน ทั้งการศึกษาสภาพป่า และการฟื้นฟูป่า
“หลังกลับมาจากค่าย เด็ก ๆ ก็ลงสำรวจพื้นที่จริงในหมู่บ้าน ในเขตป่ารอยต่อ ต้นไม้อะไรกินได้ อะไรเป็นยา สัตว์ป่ามีอะไรบ้าง แข่งกันหาขอมูลเกี่ยวกับป่าชายเลน แล้วเอามาคุยกัน” มนัสนันท์ อิตถุการ (มีน) เล่า
กิจกรรมของกลุ่มเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลน ไม่ได้จบลงแค่การเข้าค่าย เพราะค่ายเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการระดมความคิด และรวมตัวกันของเด็ก ๆ แต่เมื่อจบค่าย เด็ก ๆ ที่อยู่ในชุมชนก็ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มีโอกาส เช่น การสำรวจป่า ปลูกป่า เป็นต้น โดยมีแกนนำกลุ่มออมทรัพย์ฯ และ “ลุงอิฐ” ของเด็ก ๆ เป็นผู้นำ
การจัดค่ายจึงเป็นกิจกรรมหลักของกลุ่มเด็กชายเลฯ ที่จะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเด็กในหมู่บ้านที่ไปเรียนที่อื่น เมื่อกลับบ้านช่วงปิดเทอมก็จะได้ไปค่ายด้วย โดยในปี 2552 การจัดค่ายเด็กชายเล รักษ์ป่าชายเลนปีที่ 2 ได้มีกิจกรรมที่หาดในยาง จ.ภูเก็ต เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ และรู้จักป่าชายเลนที่อื่น ๆ โดยกิจกรรม 2 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณของกลุ่มออมทรัพย์ฯ
เรียนรู้จากการลงมือ เด็ก ๆ คือแกนนำสำคัญ
การทำงานในปีที่ 3 (2553) เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด เด็ก ๆที่เข้าร่วมโครงการมีทุกเพศทุกวัย โดยมากจะเป็นลูกหลานสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ และมีอีกส่วนหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มออมทรัพย์ฯ แต่ก็หากินกับทะเล กับป่า และมีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของป่า ก็จะอนุญาตให้ลูกมาร่วมกิจกรรมด้วย มีเพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วม
“เกณฑ์เดิมเด็กที่จะมาร่วม หรือออกไปช่วยปลูกป่าเราจะเอาสัก ป.4- ม.1 เพื่อให้เด็กเข้ากันง่าย เวลาทำงานร่วมกันจะง่าย แต่พอเราคุยไปคุยมา เด็กเล็กอย่าง ป. 2 ก็อยากมา เพราะพี่เขามาด้วย สุดท้ายก็มากันหมดใครอยากมาก็ให้มา” พี่อิฐเล่า
กลุ่มเด็กที่เข้าร่วมโครงการสานศิลป์ มีตั้งแต่เด็กเล็ก 8-9 ขวบ จนถึง 15 ปี (โตที่สุด ม.4 เล็กที่สุด ป.2) โดยรวมมีเด็กร่วมโครงการประมาณ 50 คน แต่ทำกิจกรรมไม่ครบ บางคนไปต่างจังหวัด ก็มาร่วมปลูกป่าช่วงที่ทำได้ เด็กบางคนอยู่ไกล มาร่วมในช่วงแรก ๆ แต่ช่วงหลัง ๆ เริ่มหายไปก็มีบ้าง
สำหรับกิจกรรมหลักของโครงการที่ได้ทำ ประกอบด้วย
การสำรวจป่า มีการจัดเรือพาเด็ก ๆ เข้าไปยังป่าด้านในเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ป่าชายเลน เพื่อทำความรู้จัก เข้าใจวงจรชีวิตของพืชและสัตว์น้ำกับฤดูกาลต่าง ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์อันเป็นองค์รวมของสิ่งแวดล้อม
การทำงานศิลปะโดยใช้วัสดุจากป่าชายเลน (สัตว์ ต้นไม้) เด็ก ๆ ได้ใช้ผลผลิตจากป่า นำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะต่าง ๆ จากต้นไม้ ใบไม้ เพื่อสร้างสรรค์งาน และมีวิธีคิดที่ดีต่อป่าชุมชนในการใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เช่น การทำหนังตะลุง โดยใช้กระดาษทำหุ่นรูปหนังตะลุง เพื่อไปจัดนิทรรศการศิลปะ ผลงานศิลปะบางส่วนนำไปเป็นองค์ประกอบฉากให้กับกลุ่มเยาวชนบ้านแหลมหิน ที่มีการแสดงละครเกี่ยวกับป่าชายเลน
การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชายเลน โดยใช้กิจกรรมภาพจิ๊กซอ โดยการสร้างภาพป่าชายเลน 1 ภาพบนกระดาษ (6 ชิ้นต่อกัน) เพื่อสร้างภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ หรือป่าชายเลนในฝัน จากนั้นแบ่งกระดาษออกเป็น 6 ชิ้น เพื่อให้แต่ละกลุ่มสร้างภาพป่าของกลุ่มตนเองก่อนจะนำมาต่อกันเป็นภาพใหญ่
ผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทั้งหมด กลุ่มผู้ปกครองก็มองว่า การที่เด็กมาทำกิจกรรมแบบนี้ดีกว่าเขาไปเล่น ดีกว่าไปทำกิจกรรมไม่มีประโยชน์ มาทำอันนี้ได้ความรู้ ได้เพื่อน รู้จักคนในชุมชน ได้เจอคนข้างนอก ได้เครือข่าย
ส่วนผลที่เกิดกับเด็ก ๆ ทำให้เด็กมีความใกล้ชิดกับป่าชายเลน อันเป็นพื้นที่แหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เด็กรักธรรมชาติมากขึ้น ช่วยเหลือ แบ่งปัน หวงแหน จากเดิมที่ไม่เคยลงไปในทะเล เดี๋ยวนี้รักกัน แบ่งปันกันมากขึ้น
ความรู้สึกของเด็ก ๆ ในโครงการ
“ชอบครับ เวลาเข้าป่าเราผจญภัย ได้รู้เกี่ยวกับสัตว์ ต้นไม้ ในทะเล ชื่ออะไร ปูปลา อะไรกินได้ กินไม่ได้” ชารีพ แกล้วทนง อายุ 10 ปี
“ชอบการได้ปลูกป่า ปลูกแล้วมันก็ร่มเย็น” เจนจิรา นัยนา อายุ 14 ปี
“ไปขี่เรือก็ได้รู้จักป่าโกงกาง ได้เรียนรู้ธรรมชาติ ในป่ามีอากาศสมบูรณ์ สดชื่น ยิ่งเราปลูกป่ามาก ๆ สัตว์ก็อยู่ในป่าได้นาน” อนุสรา นัยนา อายุ 13 ปี
“ผมอยากปล่อยสัตว์น้ำ อยากสร้างขนำในป่าใหม่ เพราะอันเก่าที่เขามารื้อเด็กมีส่วนในการสร้าง พวกเราไปที่อำเภอไปบอกว่าอย่ารื้อขนำพวกเราเลย แต่เขาก็ไม่ฟัง ถ้ามีโอกาสจะสร้างอีก” พลสิทธิ์ รอดบุตร อายุ 14 ปี
“หนูอยากช่วยปลูกต้นโกงกาง ช่วยให้มีโครงการให้ทัศนศึกษา ดูงานปลูกป่าเยอะ ๆ โลกจะไม่ร้อน” รัชนี คุ้มวงษ์ อายุ 13 ปี
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นของเด็ก ๆ ที่มีต่อกิจกรรมดี ๆ พวกเขายังบอกว่า ตัวเองมีความรู้เกี่ยวกับป่ามากขึ้น รู้จักพืช เช่น ผักไห ผักเบี้ยง ผักหวานเล เหงือกปลาหมอ รู้จักสัตว์น้ำ ประเภทต่าง ๆ เช่น หอยแครง หอยชักตีน หอยเข็ม หอยกรัน ปลาบอก ปลาทราย ปลาขี้ตัง ปลาอมไข่ ปลาปั๊กเป้า ปลาจองม่อง แมงดา แม่หอบ (ลักษณะเหมือนกุ้ง รักษาโรงหอบ) งูพังกา (อันตราย สีขาวหน้าแหลมลายพังกา) ปูดำ ปูม้า ปี้ไก่ ปูแสม ปูนิ่ม ปูทองหลาง ฯลฯ พวกเขารู้ว่า สัตว์บางชนิดอยู่น้ำลึก อันตราย จับไม่ได้ จะได้ระวัง สัตว์บางอย่างเคยเห็น เคยกิน ตามผู้ใหญ่ แต่ไม่เคยเห็นอยู่ในป่า ก็ได้เห็น
คำถามสุดท้ายที่เราทิ้งไว้กับกลุ่มเด็ก ๆ ก็คือ “เราจะปลูกป่าไปทำไม อาหารต่างๆ เราหาซื้อที่ตลาดก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ป่าชายเลนเลยนี่นา”
“ผมอยากกินอาหารที่หาเอง ไม่อยากซื้อ” อัฟฟาน เจริญฤทธิ์ หนุ่มน้อยตัวเล็กที่สุด ตอบคำถามสุดท้าย ที่ทำให้ผู้ใหญ่ทั้งวงยิ้มได้ด้วยความภูมิใจ และสะท้อนถึงผลสำเร็จของโครงการได้อย่างชัดเจนที่สุด
รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554
*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ