ล้อมวงฟังนิทาน

“ผมชื่อ ชูสวัสดิ์ ครับ จะมาเล่านิทานเรื่อง ‘นอเตาะแตะ’ ครับ

มี นอเตาะแตะ คนหนึ่ง วันหนึ่งเอาปืนไปยิงนก เห็นนก นกตัวนั้นร้องเรียกว่า นอเตาะแตะยิงเรา ๆ ถ้าไม่ยิงเราจะยิงเอง นอเตาะแตะก็ยิงปั้ง นกก็ตกลงมา นอเตาะแตะยังไม่ได้เก็บนกใส่ย่าม นกก็พูดขึ้นว่า นอเตาะแตะจับใส่ ๆ ไม่จับใส่เราจะจับใส่เอง แล้วนอเตาะแตะก็จับนกใส่ย่ามกลับบ้าน แล้วนกก็พูดขึ้นอีกว่า นอเตาะแตะถอนขน ๆ ถ้าไม่ถอนเราจะถอนเอง นอเตาะแตะก็ถอนขนนกแล้วนำไปลวก พอลวกเสร็จนกก็พูดขึ้นอีกว่า นอเตาะแตะสับเลย ๆ ถ้าไม่สับเราจะสับเอง พอนอเตาะแตะสับเสร็จนกก็พูดอีกว่า นอตอแตะแกงเลย ๆ ถ้าไม่แกงเราจะแกงเอง นอเตาะแตะ ก็เอานกมาแกง พอน้ำเริ่มเดือด ยังไม่ทันได้ใส่เครื่องปรุงสักอย่าง (ปรุงรส) นกก็พูดว่า นอเตาะแตะ ลองชิม ๆ ถ้าไม่ชิมเราจะชิมเอง นอเตาะแตะก็กลัวเลยครับ แล้วก็กลับบอกว่าจะไปหาเครื่องปรุงก่อน แล้วจึงออกวิ่งอย่างไม่คิดชีวิต พอถึงหน้าผา มันมองไปข้างบนเห็นงูแต่ว่าชื่อ แหง่จุเนาะ ครับ พูดได้ พอมันเห็นแหง่จุเนาะ แหง่จุเนาะ ก็ถามว่า …”

ถ้าใครได้ฟังเรื่องนี้จนจบ ก็จะได้ยินประโยคปิดท้ายว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…ถ้าฉลาดจะพาไปสู่ความสำเร็จ”

โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน ทีวีเปลี่ยนโลกและเปลี่ยนคน

“สมัยก่อนมันไม่มีอะไรให้ดู (ไม่มีโทรทัศน์) พอตกเย็นก็จะนอนเรียงกันเป็นแถว บางคนก็พ่อแม่เล่านิทานให้ฟัง เล่าเรื่องแต่เก่าแต่หลัง เดี๋ยวนี้ก็ลืมไปบ้างเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีผู้อาวุโส (ผู้เฒ่า ผู้แก่) ก็ไม่ค่อยได้เล่าแล้ว พอมีไฟฟ้าไม่ค่อยได้พูดถึงนิทงนิทานกันแล้ว ลูกเด็กเล็กแดงดูกันแต่ทีวี ทั้งเขาทั้งเรา ไม่มีเวลาเล่าแล้ว ก็ตั้งแต่เริ่มมีทีวีไม่ได้เล่าอีกเลย 10 กว่าปีแล้ว ดูแต่ทีวี เด็กก็ไม่สนใจแล้ว เด็กก็ดูทีวี ผู้ใหญ่ก็ดูทีวี คนแก่ก็ดูทีวี”

แม่เฒ่าชาวปกาเกอะญอเล่าถึงสิ่งใหม่ที่เข้ามาแทนที่การเล่านิทาน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง และไปสู่ที่อื่น ๆ เหมือนกันโดยไม่มีผิดเพี้ยน การเกิดขึ้นของสื่อโทรทัศน์ ไฟฟ้าที่เข้าถึงหมู่บ้าน และเมื่อหมู่บ้านเริ่มมีทีวี ทีวีก็มีผลกระทบต่อทุกอย่าง ตั้งแต่โลกทัศน์ ความสัมพันธ์ของผู้คน วิถีชีวิต ในบางพื้นที่ที่เข้าใจก็ใช้ทีวีเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งศึกษาหาข้อมูลที่น่าสนใจ หรือใช้เป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเครียด แต่อีกหลายพื้นที่ ที่ปล่อยให้ทีวีกลายเป็นตัวช่วยในการฆ่าเวลา กว่าจะรู้ตัวอีกที ทีวีก็พรากเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์หลาย ๆ อย่างนอกเหนือจากเวลาไปจากชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม่แต่ที่นี่ บ้านแม่นาจางเหนือ ต.แม่นาจาง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านในหมู่บ้านมีประมาณ 100 หลังคาเรือนเป็นปกาเกอะญอหมด แต่ถ้ารวม บ้านแม่ฮ้อย ซึ่งเป็นหย่อมบ้านหนึ่งในหมู่เดียวกัน แต่เป็นม้งก็มีเกือบ 150 หลังคาเรือน

เพียง 10 กว่าปีที่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน สิ่งหนึ่งที่หายไปพร้อมกับการมาถึงของโทรทัศน์ก็คือ นิทาน ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือในการสอน บอกเล่า และยกตัวอย่างการใช้ชีวิต การทำความเข้าใจโลกรอบตัวให้กับเด็ก ๆ คุณยายพูดถึงประโยชน์ของนิทานไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การเล่านิทานนี่มันดี ถ้าเราเก็บรักษาไว้ ก็จะได้เรียนรู้ว่าคนสมัยก่อนเป็นอย่างไร ทำอะไร วัฒนธรรมเป็นอย่างไร แต่ก่อนทำกันอย่างไรกินกันอย่างไร สมัยหลังทำอย่างไรกินอย่างไร มันเป็นการเปรียบเทียบ เป็นเรื่องสอนใจว่าแต่ละรุ่นทำอะไรบ้าง พอเด็กไม่ได้ฟังนิทานเหมือนสมัยก่อน ความแตกต่างอยู่ตรงที่เด็กสมัยก่อนว่านอนสอนง่าย สอนอะไรก็เชื่อ ก็กลัว เด็กสมัยนี้ว่ายากสอนยากพูดอะไรก็ไม่รับรู้รับฟัง เดี๋ยวนี้เด็กดื้อมีมากขึ้นทุกที เรียนหนังสือก็เอาแต่เรียน ไม่เคยช่วยงานพ่อแม่ เอาแต่เที่ยวเตร่กินเหล้าเมายา ทะเลาะเบาะแว้งกัน สมัยก่อนเราเจอหน้ากันก็นับถือกันเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง นั่งคุยกันสนุกสนานสูบยา เคี้ยวหมาก กินข้าว ทอผ้า ทำย่าม สมัยนี้ไม่รู้จักญาติพี่น้อง ไม่รู้ประเพณี อย่าง ‘เรียกแขกกินข้าว’ ต้องให้แขกกินก่อน กับข้าวอะไรก็ต้องตักให้แขกกินให้อิ่มก่อน เหลือหรือไม่เหลือก็ไม่เป็นไร แขกต้องอิ่มไว้ก่อน แล้วเจ้าบ้านก็อยู่ต้อนรับ ไม่นั่งร่วมกินกับแขก ตอนนี้ก็คือหายไปหมดแล้ว”

คุณยายยกตัวอย่างทั้งการประพฤติตัวของลูกหลาน และประเพณีที่สูญหายไป ที่เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กรุ่นหลังไม่ได้ฟังนิทาน ไม่ได้รับฟังคำสอนของปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ดังที่นักเรียนคนหนึ่งพูดถึงชีวิตประจำวันของเขา

“กลับมาถึงบ้านก็หุงข้าว ล้างจาน แล้วก็ไปอาบน้ำ แล้วก็ดูทีวีช่อง 7 เรื่องคุณชายตำระเบิดครับ”

ด้วยเห็นภาพวิถีชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลง และไม่อยากให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมสูญหาย ครูอาสา 2 คน จึงร่วมมือกันขอทุนสนับสนุนจากโครงการสานศิลป์ฯ จัดทำ โครงการนิทานปกาเกอะญอ และ ภูมิปัญญาเรื่องการทอผ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทั้งสองเรื่องไว้เป็นข้อมูลเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

ปภาดา สำอางค์อินทร์ (นุ่น) และ ศศิมาภรณ์ พันหนองบัว (ก้อย) เป็นครูอาสาที่สมัครใจจะมาสอนหนังสือในดินแดนห่างไกล นุ่น จบด้านการออกแบบ และก้อย จบเกษตร แต่มีความคิดที่จะทำงานเพื่อเด็กเหมือนกัน เมื่อมาเจอกันที่นี่จึงร่วมมือกันทำโครงการที่จะเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ และชาวบ้านในชุมชน

“นุ่นจบออกแบบ มันอิ่มตัว เบื่อด้วยคะ เหมือนทำงานมาตั้งแต่ปีสอง จบมาก็ทำต่ออีก รวมอายุการทำงานประมาณ 5 ปี แล้วรู้สึกว่ายังต้องการที่จะมาทำอะไรแบบนี้ดู แต่คิดว่าเดี๋ยวกลับไปก็คงไปทำงาน แต่อาจจะไม่อยู่ในรูปแบบเป็นพนักงานบริษัท อาจจะอิสระจริงๆ  อยากจะอยู่ที่นี่แล้วรับงานฟรีแลนซ์ไปด้วย”

“ก้อย จบเกษตร อยากมาเป็นครูอาสา ลองหาในเนท แล้วเลยสมัครมา กะว่าจะมาเป็นครูสักปีหนึ่ง มาเจอนุ่นที่นี่ ตอนนี้ก็อยู่มา 5 เดือนแล้ว”

ค้นหาดาวในหมู่เด็ก

การทำงานใน โครงการนิทานปกาเกอะญอ นั้น เริ่มต้นตั้งแต่การค้นหาเด็กที่สามารถจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเลือกเด็กประถมปลาย (ป.4 – ป.6) ที่มีคุณสมบัติสำคัญ ๆ หลายประการ เช่น รู้จักนิทาน กล้าแสดงออก เล่านิทานได้ วาดรูปได้ เป็นต้น แต่ละคนเข้ามาทำหน้าที่แตกต่างกันไป 

“ก็ดู ป.4 ป.5 ป.6 เป็นหลักเพราะโตหน่อย ที่นี่เด็ก ป.4 มี 12 คน ป.5 มี 4 คน ป.6 มี 15 คน รวม 31 คน แต่เด็กที่หลัก ๆ ในโครงการจริง ๆ มีประมาณ 6 คน คัดจากด้วยความสามารถเด็ก เพราะว่าแต่ละคนจะต่างกัน คนหนึ่งวาดรูปเก่ง อีกคนหนึ่งสามารถเล่านิทานได้ ภาษาไทยคล่อง ที่นี่ก็จะมี 3 ระดับคือ คล่อง พออ่านออกเขียนได้ แล้วก็ไม่ได้เลย อย่าง ชูสวัสดิ์ นี่อ่านออกเขียนได้คล่องที่สุด สิงโต ก็ได้ฟังนิทานจากยายเยอะ สมชาย จะวาดรูปเก่ง แล้ว 2 คนนี้คือได้รับฟังนิทานเยอะจากพ่อแม่ เด็กคนอื่นก็จะไม่ค่อยได้”

เมื่อได้เด็กที่จะเป็นแกนนำแล้ว การทำงานก็เริ่มขึ้น โดยมี ครูนุ่น ครูก้อย และครูผู้ช่วย ที่เป็นชาวบ้านปกาเกอะญอ สามารถฟังภาษาปกาเกอะญอรู้เรื่อง ช่วยเป็นล่ามให้เวลาไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ที่มีความรู้เรื่องนิทาน (ในหมู่บ้านมีอยู่ 3 คน) จากนั้นก็ลงเก็บข้อมูล โดยร่วมกันทั้งครูและเด็กออกไปสัมภาษณ์ และมีที่เด็กเรียบเรียงจากการได้ฟังที่บ้านเล่าด้วย

“การทำงานจะมีเราเป็นสื่อกลาง ให้เด็กเป็นคนขับเคลื่อนตอนนี้ก็คือให้เด็กรวบรวมนิทาน แล้วเราก็คอยดู แต่ว่าสิ่งที่ลำบากก็คือฟังคนเล่าต่างกัน อีกคนหนึ่งก็จะเล่าอีกแบบหนึ่งแต่ในเนื้อเรื่องเดียวกันก็เลยอาจจะต้องใช้เวลานิดบางทีเรื่องจะต่างกัน มีผิดเพี้ยนไปบ้างแต่โครงเหมือนกัน โดยเด็กจะฟังคนแก่เล่าภาษาปกาเกอะญอ และเขียนเป็นภาษาปกาเกอะญอ มีครูคอยตรวจอีกทีหนึ่ง พอรวบรวมเสร็จก็จะมาทำภาพประกอบ เป็นหนังสือนิทานเลย”

กระบวนการทำกิจกรรมเหล่านี้ถูกแทรกอยู่ในวิชาที่ครูทั้งสองสอน คือวิชารักการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของตารางเรียน เพราะระเบียบของทางกระทรวงศึกษาฯ กำหนดให้เด็กเรียนตลอดโดยไม่มีคาบว่าง ครูจึงจำเป็นต้องเอากิจกรรมนี้แทรกลงในวิชาเรียน แทนที่จะให้เด็กทำยามว่างแบบที่คิดไว้แต่แรก อีกส่วนหนึ่งคือแทรกในวิชาภาษาไทย เพื่อตรวจคำผิด การสะกดต่าง ๆ เพื่อให้เด็กไปแก้และเล่าให้ถูกต้องตามรูปประโยค มีวรรคตอนต่าง ๆ เป็นการสอนจากสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่เด็กคุ้นเคย ขณะเดียวกันก็ได้ความรู้ด้านภาษาไทยไปพร้อมกันด้วย 

“นิทาน” ภูมิปัญญาที่รอการสืบสานของปกาเกอะญอ

นิทานที่เด็ก ๆ เล่านั้น บางเรื่องก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่างกัน แต่มีโครงเรื่องแบบเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวปกาเกอะญอมีคลังข้อมูลที่จะนำมาเชื่อมร้อย และใช้สอนลูกหลานอย่างหลากหลายภายใต้หลักการ หรือคำสอนหนึ่ง ๆ จึงมีเนื้อหาที่อาจจะแตกต่างกัน แต่เจตนาจะสอนเรื่องเดียวกัน ซึ่งครูทั้งสองก็พบว่า นิทานบางเรื่องก็ปรากฏอยู่ในโลกไซเบอร์แล้ว แต่บางเรื่องก็ยังเป็นสิ่งที่เล่ากันอยู่ในชุมชนเท่านั้น

“เท่าที่ให้เด็กหามาบางเรื่อง เราลองเสิร์ชดูในอินเตอร์เนท เพราะเป็นการเช็คดูเบื้องต้น ก็เหมือนกับมีคนบันทึกเอาไว้แล้วบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ยังไม่มีการบันทึก ตอนนี้ที่รวบรวมได้ประมาณ 4 เรื่อง”

แม้โดยเนื้องานจะเป็นการรวบรวมนิทาน แต่เป้าหมายของครูผู้ทำโครงการยังอยากให้เกิดการปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทำงานและมีความรับผิดชอบตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพด้วย

“จริง ๆ ตั้งใจหลัก ๆ ก็อยากจะรวบรวม แล้วก็ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน แล้วก็มีความรับผิดชอบ ไม่ได้ปลูกฝังแค่จำนิทานได้ แต่ปลูกฝังในเรื่องกระบวนการทำงาน แล้วก็ความรับผิดชอบด้วย เพราะเราก็รู้ว่า นิทานนี่ พอเล่าแล้ว นอกจากให้ความสนุกสนานแก่เด็กแล้ว ยังมีส่วนหล่อหลอม และสอดแทรกไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต แล้วก็คติสอนใจสอนเด็กไปด้วย เขาจะได้อยู่แล้ว จากการฟังนิทาน แต่การทำโครงการอยากให้เด็กได้ทักษะการทำงานเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง”

จากการทำงานในโครงการพบว่า รูปแบบของนิทานที่นี่มีความหลากหลาย มีทั้งที่เป็นเรื่องเล่า บางคนก็ร้องเป็นเพลง (ทา) เป็นเพลงก็มีไม่ใช่เล่าแบบเล่าเรื่อง แต่ว่าเป็นทำนอง ซึ่งโดยมากเด็ก ๆ จะได้ฟังนิทานในเวลากลางคืน ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที

“นิทานในชีวิตประจำวันทุกวันนี้เป็นการเล่าสืบทอดมากกว่าเหมือนกับเลิกงาน เลิกจากไร่ เขาจะมีนั่งคุยกัน หน้าหนาวเขาจะผิงไฟ คุยกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ปัจจุบันก็ยังมี เพราะพอถามเด็กว่า ตอนนี้ยังฟังนิทานอยู่ไหม ก็บอกว่าฟัง เราเคยสุ่มถามเด็ก ตอนที่ยังไม่ได้กลับไปถามผู้ปกครอง ให้เด็กลองเล่าเลย ก็เล่าได้”

ชาวบ้านในอดีตและในปัจจุบัน ส่วนมากจะเล่านิทานในช่วงกลางคืนมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ เนื่องจากในตอนกลางวันเด็กจะอยู่ที่โรงเรียน พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ก็ไปไร่ ไปช่วยพ่อแม่บ้าง ไปวิ่งเล่นบ้าง ช่วงเวลาเย็นจนถึงหัวค่ำจึงเป็นช่วงที่สมาชิกในครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากันมากที่สุด เพราะครูทั้งสองพบว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้พอสองทุ่มก็เริ่มเงียบแล้ว นิทานจึงเป็นสื่อที่ถูกใช้ในตอนกลางคืน ช่วงก่อนนอน นอกจากนี้ยังพบว่าห้ามเล่านิทานตอนกินข้าว และไม่นิยมเล่านิทานในงานศพ ส่วนใหญ่ในงานศพจะมีอื่อทา (ขับเพลง) บ้างเท่านั้น แต่ไม่เล่านิทาน

คุณยายชาวปกาเกอะญอเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ได้นอนกับพ่อแม่บ้าง นอนกับย่ายายบ้าง ส่วนใหญ่นี่ผู้หญิงจะนอนกับยาย ถ้าผู้ชายหลานผู้ชายก็จะนอนกับปู่กับตา ตอนกลางคืนก็จะเล่านิทานให้ฟัง ตอนกลางวันไปไร่จะไม่เล่า เป็นการคุยเรื่องงาน เรื่องทำมาหากินมากกว่า

“ส่วนใหญ่จะเล่าตอนก่อนนอน เพราะสมัยก่อนผู้ชายปกาเกอะญอสูบฝิ่น ก่อนนอนก็จะนอนสูบฝิ่น แล้วก็เล่านิทานให้ลูกหลานที่นอนเรียงรายอยู่ข้าง ๆ”

โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน แต่ความเข้าใจโลกและภูมิปั้ญญาของคนคือสิ่งที่ติดตัวและไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลามีแต่จะสะสม เพิ่มพูน และงอกงามขึ้น

“ตอนผู้ใหญ่เล่าให้เราฟังสมัยก่อนเราก็นึกว่าเป็นการโกหก แต่พอเราอายุมากขึ้นคิดย้อนกลับไปเทียบกับลูกหลานยุคสมัยนี้ ก็นึกถึงคำที่ผู้ใหญ่สอนเหมือนกัน อีกหน่อยพอเขาแก่ตัวลงเขาคงจะหวนนึกถึงคำสอนของเรา เหมือนทีเรานึกถึงคำสอนผู้ใหญ่ในตอนนี้” แม่เฒ่ากล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554

*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ