Photo by Annop Nipitmetawee

ในคืนไร้ดาว หากเหลือแต่เพียงแสงจากไฟเสาสปอร์ตไลท์เกาะกลางถนน สายลมโชยเอื่อย ๆ มาปะทะร่างกายอันอ่อนหล้าจากภาระแห่งชีวิต เป็นปกติธรรมดาที่คนอย่างผมยังไม่กลับบ้าน แต่กลับหักพวงมาลัยตรงไปยังถนนเส้นหนึ่ง ถนนเส้นที่ผ่านหน้าสถาบันการศึกษาชื่อดัง (ย่านรามคำแหง) สถาบันที่ผมใช้ชีวิตนิสิต นักศึกษาที่นั้นอยู่หลายปีทีเดียว

ริมฟุตบาต… เสียงผู้คนกำลังสนทนาพูดคุย สลับสับเปลี่ยนกับเสียงรถยนต์ เสียงรถเครื่อง (มอเตอร์ไซต์) ที่แล่นผ่านไปเป็นระยะๆ และไม่นาน “ช้าง” ก็เดินมาอยู่ข้าง ๆ

“เลี้ยงช้างไหมครับ ๆ” 

หลังจากที่หน่ายกับเสียงเพลงอึกทึก และบรรยากาศของร้านเหล้าเต็มรูปแบบ ผมก็ย้ายอยู่ตรงนี้สักพักใหญ่แล้ว “หำ ลาบก้อย” ร้านลาบที่ไม่ใช่ร้านที่อร่อยที่สุด ไม่ใช่ที่ที่มีบรรยากาศที่ดีที่สุด หากแต่เป็นที่ที่เดียวในย่านนี้ ที่ผมยังหาสิ่งที่เรียกว่า “มิตรภาพ” ได้อยู่บ้าง

“เหลือกัน 2 คนแบบนี้ เรายังจะทำค่ายฯ กันอีกไหมเพ่?” หนึ่ง น้ำโขง สหายรุ่นน้อง เจ้าของลีลากวนประสาแบบน่าเอ็นดูเอ่ยถามขึ้นมา

เรา 2 คนอยู่ตรงนี้ กันมาหลายเดือนแล้วครับ ส่วนมากจะแค่ 2 คน (เท่านั้น) หลากมิตรสหายหายหน้า บ้างติดภารกิจ บ้างไปอยู่ต่างจังหวัด บ้างไปต่างประเทศ บ้างก็ไปจาก “เรา” แล้ว

ผมคว้าแก้วสุรากระดกเข้าปาก อึกใหญ่… จังหวะเดียวกับ ไอ้หนึ่ง ตัก ซกเล็ก เมนูเด็ดรสแซบคำโต พร้อมหยิบกระเทียมสดเม็ดเขื่องในถ้วยเข้าปากตาม

“กูไม่รู้ว่ะ มึงว่าไงละ”

“ก็ยังอยากทำอยู่นะพี่ แต่ไม่มีคน”

ผมเคยบอกแล้วไงครับ ว่า “มันไม่ได้ทำลายแค่ชมรม แค่มันทำลายแรงบันดาลใจของคนหนุ่มสาวไปด้วย”

ในชีวิตของผม หน้าที่การงานยังเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับกิจกรรมทางสังคมทั้งสิ้น การได้มีโอกาสเดินทางอยู่อย่างต่อเนื่อง การได้มีโอกาสพบเจอ “นักกิจกรรม” ดี ๆ เก่ง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ การได้มีโอกาสพูดคุยกัน หรือแม้กระทั่งการได้พูดคุยกับชาวบ้าน มันส่งผลให้ผมไม่ได้ทิ้ง “ค่าย” และ “สหายร่วมค่าย” ไปไกล

หลายครั้ง หลายหน งานที่ผมต้องเดินทางไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ผมก็ชวนน้อง ๆ ไปช่วยงาน ด้วยเจตนาอยากแบ่งปันประสบการณ์ใหม่ ๆ และความรู้สึกดีๆ งามๆ ที่ผมรู้สึกทุกครั้งที่ได้เดินทาง แต่พูดกันจริงๆ แล้ว ก็มีสหายรุ่นน้องๆ อยู่แค่ 1-2 คนเท่านั้นแหละครับ ที่มารวมรับรู้ตรงนั้น และ หนึ่ง น้ำโขง ก็มักจะเป็นหนึ่งในนั้นเสมอ ๆ ช่วงหลัง ๆ มานี่ เราเลยได้คุยกันบ่อย โดยเฉพาะคุยเรื่องค่าย

จำได้ว่า….ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และกลางเดือนตุลาคม เรา 2 คนก็ได้แต่นั่งนึกว่า ถ้าวันนี้ถ้าเราอยู่ในค่าย จะเกิดอะไรขึ้นในค่ายบ้าง วันนี้ส่งค่าย วันนี้เปิดค่าย วันนี้มุงหลังคา วันนี้รุ่นพี่ตามมา วันนี้ซูลู วันนี้ที่สุดฯ วันนี้ออกจากค่าย วันนี้เลี้ยงค่าย ฯลฯ คุยไปหัวเราะไป แต่เชื่อผมเถอะครับว่า…มันรู้สึกเศร้ามากกว่าจะสุขใจ…

สรุปลงที่ว่า…เราเห็นตรงกันว่าเรายังมีความอยากที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมกันต่อ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นค่ายอาสาฯ เสมอไป และไม่ต้องเรียกร้องการกลับมาของเพื่อนมิตรผู้มากด้วยภาวะจำเป็น ที่อาจจะหลงลืมห้วงเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันในค่ายไปซะแล้ว

2 คน ทำอะไรได้ เราก็จะทำ… และแน่นอน เราต้องหาเพื่อนสหายใหม่ ๆ

ผมเสนอเรื่องการเปลี่ยนชื่อองค์กร (ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท) เพื่อสนองเป้าหมายหลาย ๆ อย่าง โดยให้ หนึ่งเป็นคนคิดชื่อกลุ่ม โดยผมวาง Concept ความหมายของชื่อว่าต้อง “เรียบง่าย ติดดินและเพื่อสังคม”

ไม่นานคำว่า “กลุ่มรองเท้าแตะ” จะหลุดออกจากสมองของไอ้หนึ่ง โดยเจ้าตัวเล่าให้ฟังทีหลังว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายกิจกรรมดูงานครั้งหนึ่งของชมรมที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นภาพพวกเรากำลังใส่รองเท้าแตะเดินย่ำไปบนผืนดิน

ภาพกิจกรรมที่มาของชื่อ “กลุ่มรองเท้าแตะ” – Photo by Annop Nipitmetawee
Logo กลุ่มรองเท้าแตะ

จากนั้นเราก็เปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เป็น “ก้าวเดิน – 9dern.com” (ปัจจุบันเป็น annop.me)

ก้าวเดิน ก้าวแรก… เริ่มขึ้นอีกครั้ง… อย่างเงียบเหงาและเดียวดาย….

อรรณพ นิพิทเมธาวี