Photo by Annop Nipitmetawee

“สิ่งที่เรียกว่าเพลงเพื่อชีวิตนั้น เกิดขึ้นและตั้งอยู่ด้วยศรัทธาของประชาชน เมื่อใดประชาชนหมดศรัทธา เพลงเพื่อชีวิตก็ย่อมดับไป ประชาชนศรัทธาอะไร ศรัทธาในจิตใจกล้าต่อสู้ รักความเป็นธรรม เรื่องอื่น ๆ นั้นตามมาทีหลัง เช่น รูปร่างหน้าตา ฝีมือดนตรี ยอดขาย”

– วัฒน์ วรรลยางกูร


ผมมีโอกาสได้พบเจอพี่ วัฒน์ วรรลยางกูร 2 ครั้ง

ครั้งแรกเป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ตอนนั้นผมทำเพลง Project Album “เพลงค่าย: ที่ว่าง ระหว่างเส้นลวด 6 สาย” ซึ่งเป็นการรวบรวมเพลงที่เหล่านักกิจกรรม เด็กค่ายอาสา นิยมร้องกันในค่ายนำมาบันทึกเสียงใหม่ ซึ่งหนึ่งในเพลงเหล่านั้นมีเพลง “คนสร้างบ้าน” ของวงโคมฉาย ที่เนื้อร้อง/ทำนอง ประพันธ์โดย วัฒน์ วรรลยางกูร

ผมจึงนัดหมายพี่วัฒน์เพื่อเซ็นเอกสารมอบลิขสิทธิ์เพลงให้ผมไปใช้งาน พร้อมกันนั้นผมได้ขอสัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของเพลงคนสร้างบ้าน รวมถึงเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับงานเพลงเพื่อชีวิต เพลงค่าย

พี่วัฒน์นัดผมไปเจอที่สำนักพิมพ์ใหญ่ย่านตลิ่งชัน ซึ่งกำลังจัดงานประกวดหนังสือ แล้วพี่วัฒน์เป็นหนึ่งในกรรมการ เราใช้ห้องทำงานของ บก.บริหาร นั่งสัมภาษณ์ เป็นการพูดคุยที่สนุกเป็นกันเองมาก

**บทสัมภาษณ์ที่ว่าคลิกอ่านตรงนี้ https://annop.me/art4life/interview-wat-wanlayangkoon

ก่อนกลับ ผมนำหนังสือ “ด้วยรักและอุดมการณ์” ที่เก็บไว้นมนานไปให้แกเซ็นชื่อเป็นที่ระลึก แกยังแซวว่านี่ก็งานซ้ายตกยุคเหมือนเพลง (คนสร้างบ้าน) นั่นแหละ (หนังสือเล่มนี้ผมมอบให้ศิลปินใหญ่ท่านหนึ่งไปในหลายปีถัดมา)

ครั้งที่ 2 ประมาณต้นปี 2553 ที่โรงแรมรัตนโกสิทร์ ถนนราชดำเนิน ตอนนั้นผมทำงานเป็น CoProducer คลื่นวิทยุที่เปิดเพลงย้อนยุค และคลื่นเพลงเพื่อชีวิต เราประสงค์จะเชิญพี่วัฒน์มาเป็น ดีเจรับเชิญ ให้พูดบันทึกเสียง เล่าเรื่องเพลง ประวัติเพลง เกร็ดต่าง ๆ แล้วตัดไปออกอากาศ อันเป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่า พี่วัฒน์ถนัดมากโดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิตก็ใช่ย่อย

วันนัดพี่วัฒน์เดินทางมาจากเมืองกาญจน์ พอมาถึง แกจำผมได้ (ผมก็แอบปลื้มนิดนึง) จึงดึงเอา “ไวน์มะขาม” ที่แกทำเองออกมาจากย่าม แล้วชวนพวกเราคุยไปจิบไป

ไม่นานไวน์ 2 ขวดก็หมด เรื่องเพลงที่บันทึกก็ได้มาเพียบ

จากนั้นเราก็แยกย้ายกันไป ผมก็ติดตามข่าวคราวพี่วัฒน์อยู่เรื่อย ๆ ตาม Social Media จนที่สุดต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ หลังการรัฐประหารปี 2557

คงไม่ต้องสาธยายว่างานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร มีอิทธิพลกับผมแค่ไหน และไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ คุณภาพของผลงานเช่นกัน สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว และคงมีหลาย ๆ คนพูดถึงกันไว้มากมาย

ที่ผมชอบมากอีกอย่างก็คืองานเพลงของพี่วัฒน์ ที่มีไม่มาก แต่มันกินใจจริง ๆ โดยเฉพาะ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” (ต้นฉบับ วงอมตะ) นี่รักมาก ทั้งเพลง ทั้งเรื่องสั้น อีกเพลงก็ “ฝนแรก” (ต้นฉบับ วงโฮป) ไพเราะ คำสวย เนื้อหาลึกซึ้ง

อัลบั้ม “ฝนแรก” ของวงโฮป เป็นงานเขียนของพี่วัฒน์ทั้งหมดทุกเพลง ซึ่งสำหรับผมถือเป็น Masterpiece ชิ้นหนึ่งของวงการเพลงไทยเลยทีเดียว

“ต้องเนรเทศ” ผลงานชิ้นสุดท้ายของพี่ ผมจะพลาดได้อย่างไร เพราะการสูญเสียอันใหญ่หลวงเช่นนี้ สะเทือนหัวใจนัก สำหรับคนรักวรรณกรรม รักความยุติธรรม รักประชาธิปไตย

ด้วยความอาลัยยิ่งครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี
19 พฤษภาคม 2565