มีคนเคยว่ากันว่า หนังสือที่เราอ่านจะกำหนดทัศนคติ ความคิดอ่าน ตัวตน ความเชื่อ และอุดมการณ์ของเรา

มันจริงไหม? ……………….. (กำลังคิด)

จริง! จริงวะ!

แล้วตัวข้าพเจ้านี่ละ ได้ความคิดแบบขบถ ออกซ้ายนิด ๆ ปฏิเสธอะไรที่เป็นกระแสหลัก บ้าศิลปะ แล้วไม่ชอบอยู่ในกรอบ เหล่านี้มาจากหนังสือเล่มไหนวะ? ………………. (กำลังคิดอีก)

555555555+ (นึกออกปุ๊ป ก็ขำปั๊ปเลย)

ทองปน บางระจัน มึงนี่เอง! ผู้ทำให้แรงบันดาลใจบ้า ๆ ก่อเกิด ตั้งแต่เป็นยังนักศึกษา ปี 1 มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังย่านรามคำแหง

หนังสือเล่มที่ว่าถึง คือ หนุ่มหน่ายคัมภีร์ วรรณกรรมสุดกวนบาทาของ 1 ใน สองกุมารสยาม นาม สุจิตต์ วงษ์เทศ

เรื่องราวว่าด้วยเด็กหนุ่มบ้านนอก นายทองปน บางระจัน ที่สอบติดมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง จึงต้องเข้ามาอาศัยวัด เป็นเด็กวัด เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และต้องประสบพบเจอกันมหากาพย์แห่งความน่ารำคาญ ที่ต้องปะทะกันอย่างเมามัน
มันคือ ระบบ SOTUS

ลีลาการเขียนกวน ๆ บุคลิคซื่อ ๆ แต่กวนบาทาของตัวละคร บทสนทนาที่เร้าใจ และที่สำคัญคือแนวคิดการต่อต้านระบบการรับน้องแบบอำนาจนิยม บวกกับสถานการณ์ในเรื่องมันใกล้ตัวมาก เสมือนเราอยู่ร่วมเหตุการณ์ด้วยทุกตอน ตั้งแต่การรับน้อง ประชุมเชียร์ ตั้งวงเหล้า ความไม่สมประกอบของการศึกษาไทย ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนทำให้ หนุ่มหน่ายคัมภีร์ เป็นคัมภีร์ชีวิตของข้าพเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เจอที่ไหนก็ซื้อ ซื้อมาแล้วก็แจก ๆ ๆ ให้เพื่อน ให้รุ่นน้อง นัยว่าหาแนวร่วมต่อต้านระบบ SOTUS จนเป็นที่มาของการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท จนกลายเป็นที่มาของชีวิตการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน จนกลายเป็นตัวตนข้าพเจ้าในทุกวันนี้

สำหรับก้าวย่างทางเดินชีวิตข้าพเจ้า ทุกอย่างมันเริ่มต้นจาก หนุ่มหน่ายคัมภีร์

ฉันจึงมาหาความหมาย (วิทยากร เชียงกูร) ตามมาทีหลัง
ด้วยรักและอุดมการณ์ (วัฒน์ วรรลยางกูร) ตามมาทีหลัง
โฉมหน้าศักดินาไทย (จิตร ภูมิศักดิ์) ตามมาทีหลัง
Tortilla Flat (John Steinbeck) ตามมาทีหลัง
The Catcher in the Rye (J. D. Salinger) ตามมาทีหลัง
เล่มอื่น ๆ ล้วนมาทีหลังทั้งนั้น

หากไม่ได้อ่าน หนุ่มหน่ายคัมภีร์ ในวันนั้น หลังจากนั้นมา เส้นทางชีวิตในแบบที่ข้าพเจ้าดำเนินอยู่คงเป็น “ศูนย์” ว่างเปล่า ไร้ความหมาย

ไม่ได้ Over นะ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

อรรณพ นิพิทเมธาวี
15 มิถุนายน 2563