ครอง จันดาวงศ์ ผู้ได้รับการขนานนามว่า “วีรบุรุษสว่างแดนดิน” เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ในครอบครัวชาวนามีฐานะ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ต.ธาตุเชิงชุม อ.ธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร บิดาชื่อ นายกี จันดาวงษ์ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี มารดาชื่อ แม่เชียงวัน มีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน เขาเป็นคนสุดท้อง แต่งงานครั้งแรกกับลูกสาวกำนัน แต่ความสัมพันธ์ไปไม่รอด หย่าขาดจากกันไป ต่อมาแต่งงานใหม่กับ น.ส.แตงอ่อน แซ่เต็ง ในปี 2480
หลังจากเรียนสำเร็จวิชาฝึกหัดครู ที่โรงเรียนครูมูลประจำมณฑลอุดรแล้ว ครอง จันดาวงศ์ ไดเริ่มอาชีพรับราชการครูแห่งแรกที่ บ้านตาลโกน อ.สว่างแดนดิน ก่อนจะย้ายไปอีกหลายแห่ง ตลอดเวลาหลายปี ครูครองเอาใจใส่หน้าที่ดียิ่ง จนเป็นที่เคารพรักของนักเรียนและผู้ปกครองทุกคน นักเรียนพอใจวิธีการสอนที่เป็นประชาธิปไตยของเขา
กับครอบครัว บุตร-ภรรยา ครอง จันดาวงศ์ ก็ใช้วิธีประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิดเห็น กระทั่งวิจารณ์เพื่อแก้ปัญหา ข้อบกพร่อง หรือปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เต็มที่และเป็นประจำ นอกจากนี้ครูครองยังสนใจความคิดประชาธิปไตย และร่วมมือกับอดีต รัฐมนตรีเตียง ศิริขันธ์ และบุคคลอื่น ๆ ต่อสู้เผด็จการ พิทักษ์ประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ระยะนี้เป็นช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ปี 2481 กลุ่มครูในสกลนครได้รวมตัวกัน หนึ่งในนั้นมี ครูเตียง ศิริขันธ์ เพื่อนของครูครอง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งสองมีความเห็นร่วมกันในการตั้งโรงเรียนราษฎร เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในจังหวัด จนสามารถก่อตั้ง โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 1 และ โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 2 ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศไทย เกิดขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ครูเตียงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอีสาน ส่วนครูครองเข้าร่วมขบวนการอย่างแข็งขัน และลาออกจากราชการครู มาทำการค้าขายบังหน้าในการติดต่อประสานงานให้ขบวนการเสรีไทย จนกลายเป็นแกนนำสำคัญในการขยายพลพรรคและจัดตั้งกองกำลังเสรีไทย หาที่ตั้งค่ายฝึก สร้างสนามบินที่ จ.สกลนคร ตลอดจนจัดหน่วยลำเลียงอาวุธ หาข่าวและส่งข่าวให้แก่กองบัญชาการเสรีไทยที่ภูพาน กระทั่งสงครามโลกยุติลง และขบวนการเสรีไทยยุบตัวลง
ภายหลังที่ได้ชัยครูครองสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ครูครองได้ใช้เวลาคลุกคลีใกล้ชิดศึกษา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนยากจนของชาวนา ไม่เพียงแต่จังหวัดสกลนครเท่านั้น หากยังในเขตข้างเคียงในภาคอีสาน ชาวบ้านล้วนรักนับถือ และสนับสนุนเขาเป็นอย่างดี
มานะศักดิ์ จันดาวงศ์ วัย 40 เศษ หลานของครูครองและย่าแตงอ่อน เล่าให้ฟังว่าครอบครัวจันดาวงศ์เริ่มเข้าสู่ความยุ่งยากตั้งแต่ปู่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ย่าแตงอ่อนต้องอดทนต่อพฤติกรรมของสามีที่หายตัวออกจากบ้านครั้งละหลายๆ วัน โดยไม่ทราบสาเหตุและไม่รู้ว่าไปไหน ปล่อยให้ทำงานหนักจนแท้งลูก กว่าจะกลับก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด พออาการดีขึ้นหน่อยก็หายไปอีก จนย่าแตงอ่อนทนไม่ไหวต้องไปพบญาติผู้ใหญ่ของสามีเพื่อขอหย่าขาด ในที่สุดครูครองก็จำเป็นต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด
“เมื่อได้รู้ความจริง นอกจากหายเข้าใจผิดแล้ว ย่ากลับภาคภูมิใจในตัวสามี และทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน บ้านกลายเป็นที่พบปะของพลพรรคและแหล่งเก็บอาวุธ ส่วนปู่อยู่แนวหน้าถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด”
หลังสงครามสิ้นสุดลง ครอบครัวของครูครองก็ประสบปัญหา จากที่เคยมีฐานะค่อนข้างดี ทรัพย์สินถูกนำมาช่วยงานกู้ชาติจนร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ภาวะสงครามยังทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ครูครองและภรรยาต้องขายบ้าน ม้า และรถม้าใช้หนี้ เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพหลายปี ระหว่างที่หันมาทำการค้าขาย จนฐานะเริ่มกระเตื้องขึ้น ก็เกิดการรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ครูครองได้จับกุมในข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” แต่ไม่สามารถเอาความผิดได้ จึงถูกปล่อยตัว
“รัฐบาลใหม่มุ่งจับครูเตียง ศิริขันธ์ จนต้องหลบไปอยู่บนภูพาน กระทั่งล้มป่วยลงในปี 2491 ปู่ไปดูอาการและพาหมอไปรักษาด้วย ในที่สุดปู่พร้อมกับเพื่อนอีก 18 คน ก็ถูกจับกุมในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขให้ครูเตียงมอบตัว เมื่อครูเตียงมอบตัวทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน จนถึงปี 2492 ศาลก็ยกฟ้อง”
หลังพ้นข้อกล่าวหาไม่นานครูครองลงสมัครเป็น ส.จ.เขตสว่างแดนดิน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในปี 2495 เมื่อครั้งมวลชนผู้รักสันติภาพทั่วโลก เคลื่อนไหวสนับสนุนสันติภาพ ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างกว้างขวาง ครูครองก็เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ที่ก่อสงครามในเกาหลี และคัดค้านรัฐบาลไทยที่ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐในเกาหลี โดยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสันติภาพในเดือนสิงหาคม 2495 อีก 3 เดือนต่อมารัฐบาลสั่งกวาดล้างจับกุมคณะสันติภาพ ครูครองถูกจับเป็นครั้งที่ 2 ในข้อหา “กบฏสันติภาพ” ต่อมารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกกฎหมาย พรบ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495 (ฉบับแรก) และฟ้องคณะกบฏสันติภาพในข้อหาคอมมิวนิสต์ ในที่สุดศาลตัดสินให้จำคุกจำเลย 38 คน คนละ 13 ปี 8 เดือน แต่ทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมในอีก 5 ปีต่อมา
ระหว่างนี้ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่นล้มโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน 2500 มีการยุบสภาและเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ครูครอง จันดาวงศ์ ชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร ในนามพรรคแนวร่วมเศรษฐกร พี่น้องประชาชนชาวสกลนครต้อนรับเขาให้เป็นผู้แทนของตน เพื่อต่อสู้ให้ประเทศไทยเป็นเอกราช และดำเนินนโยบายสันติภาพเป็นกลาง พร้อมกันนี้ครูครองก็ได้ยืนหยัดพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของชาวนา และยังได้รับหน้าที่เป็นมรรคทายก หาเงินบำรุงศาสนาอีกด้วย แต่อยู่ได้เพียง 10 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ก่อรัฐประหารตัวเองขึ้นครองอำนาจ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศเพียง 20 มาตรา จากนั้นก็ลงมือกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้าน
เมื่อการเมืองพลิกผันครูครองกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรและค้าขายที่บ้านเกิด และทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม ปลายปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปราบปรามอย่างหนัก จนครูครองและเพื่อนครูถูกล่าต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ที่ภูพานชั่วคราว ก่อนจะแอบกลับมาบ้านในวันที่ 4 พฤษภาคม 2504 เพื่อเตรียมสัมภาระไปอยู่บนภู ในระหว่างรอเพื่อน ที่สุดครูครองก็ถูกจับกุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2504 ด้วยท่าทีที่ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงคุกตะรางแม้แต่น้อย เขาถูกส่งเข้าที่คุมขัง อำเภอหนองหาร จังหวัดสกลนคร ในข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่น ๆ รวม 108 คน ถูกนำตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ นานกว่า 20 วัน
ในการจับกุมครั้งที่ 3 นี้ ครูครองได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ผมไม่ถือโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียชินแล้ว”
ครูครองยังได้กล่าวต่อหน้าจอมเผด็จการสฤษดิ์ อย่างอาจหาญ ชาญชัยว่า “ผมรู้ดีว่าท่านต้องยิงเป้าผมแน่ แต่อย่าคิดว่าผมกลัวนะ ยิงเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ ที่ผมกลัวน่ะ ไม่ใช่กลัวจะถูกยิงเป้า แต่กลัวว่าท่านจะหนีไปได้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมา ผมภาวนาขออย่าให้ท่านหนีไปได้ ขอให้ประชาชนเอาเลือดของท่านล้างตีนให้ได้”
ผลก็คือคำสั่งประหารชีวิตครูครอง ตามคำสั่ง ม. 17
วันที่ 31 พฤษภาคม 2504 เวลา 11.30 น. ณ ลานประหาร หลังจากกินข้าวและดื่มน้ำมื้อสุดท้ายด้วยอาการสงบ ตำรวจนำตัวครูครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธ์ สุทธิมาศ ก็ถูกนำตัวไปยังสนามบินอำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งใช้เป็นแดนประหาร ใช้ผ้าปิดตาเรียบร้อย มีการอ่านคำตัดสินตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาไม่มีกิริยาสะทกสะท้าน กลับเดินเข้าสู่แดนประหารอย่างองอาจ ยิ้มเยาะและไม่แยแสต่อคำสั่งเผด็จการ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลฉบับหนึ่ง ก็ยังยอมรับว่า “เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฎว่าเดินไปอย่างทรนง ไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายครองนั้น ยังคงยิ้มอยู่เช่นเดิม”
ยิ่งกว่านั้นก่อนถึงเวลาประหาร นายแพทย์ได้เข้าไปจะจับชีพจรเขา เขาได้ร้องบอกอย่างไม่ครั่นคร้ามว่า “ชีพจรผมยังปกติอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วเถอะ”
ครูครอง ได้เปล่งคำขวัญ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จบประโยคเสียงปืนกลยิงรัว 90 นัด เวลา 12.13 น. ครูครอง จันดาวงศ์ ก็เสียชีวิตด้วยอายุ 54 ปี
การประหารครูครองที่สนามบิน ทางการได้ปกปิดข่าวนี้อย่างมิดชิด แม้แต่ญาติของผู้ที่จะถูกประหารก้ไม่ได้รับการแจ้งข่าว มีการห้ามประชาชนไม่ให้เข้ามาในบริเวณสนามบิน ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลได้ระดมกำลังทหารกว่า 200 คน กับกำลังตำรวจอีกไม่น้อย ยืนแถวเรียงรายล้อมรอบสนามบินราวกับจะเตรียมรับศึกใหญ่ ในขณะที่เวทีประหารดำเนินไป แตงอ่อนคู่ชีวิตครูครองกำลังทำนาอยู่ เธอไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เมื่อมีคนไปแจ้งให้ทราบจึงรีบวิ่งมายังหลักประหาร พบเพียงร่างที่แหลกเละด้วยคมกระสุนปืน เลือดไหลนองพื้นดิน ท่ามกลางผู้คนที่ยืนมุงดูอยู่ห่างๆ ท่าทางหวาดผวาระคนตื่นกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยจัดการกับร่างไร้วิญญาณที่ทอดร่างอยู่ ณ ลานกว้างนั้น เพราะกลัวจะถูกดึงเข้าไปพัวพันนำภัยมาถึงตัว แม้กระทั่งพ่อค้าโลงศพหลายรายยังปฏิเสธที่จะขายโลงให้
ครูครอง เป็น ครู นักการเมือง และนักต่อสู้ของประชาชน ผู้ยืนหยัดคัดค้านเผด็จการ คัดค้านการขายชาติให้จักรพรรดินิยม แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่มือยังอยู่ในกุญแจและขายังอยู่ในตรวน ก็มิได้หวั่นไหว
มานะ จันดาวงศ์ บอกอีกว่าแม้ปู่จะจากไป 48 ปีแล้วก็ตาม แต่อนุชนคนรุ่นหลังใน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ก็ยังจำคุณงามความดีของปู่ได้อยู่ ทุกปีจะมีงานรำลึกถึงปู่บริเวณลานประหาร ปัจจุบันคนละแวกนี้ได้ตั้งชื่อถนนว่า ถนนจันดาวงศ์ ขณะเดียวกันก็มีนักคิดนักเขียนหลายคนเขียนบทความและบทกวีสรรเสริญ เช่น อาจารย์ไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม ที่แต่งกลอนสดุดีวีรกรรมของปู่ไว้ว่า
“โอ้ครูครอง จันดาวงศ์ เราเคารพ
ไม่สยบ ก้มหัว กลัวประหาร
เกียรติศักดิ์ ท่านเปรื่อง กระเดื่องนาม
ตลอดกาล ตราบสิ้น แผ่นดินไทย”
แม้ปัจจุบันน้อยคนนักที่รู้จักชื่อ ครอง จันดาวงศ์ แต่ตลอด 54 ปีในชีวิต ครูครองได้สร้างคุณูปการแก่การต่อสู้ภาคประชาชน ที่ซึมลึกลงไปทั่วผืนแผ่นดิน และแตกหน่อเป็นพืชพันธุ์เสรี
“เพราะท่านไม่สยบหัวให้อธรรม เขาจึงเคียดแค้น
เพราะท่านเข้มแข็งมั่นคง เขาจึงหวาดกลัว
เพราะท่านยืนอยู่กับประชาชน เขาจึงประหาร”
อรรณพ นิพิทเมธาวี
ข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก และ หนังสือประวัติศาสตร์ประชาชน พรรคสัจธรรม ม.รามคำแหง ซึ่งอดีตเคยเป็นหนังสือต้องห้ามของกระทรวงมหาดไทย
ทรราช เกิดมาอีกคน ต่อสู้ด้ยวิธีครูครอง ก็คงเป็นเถ้าถ่าน ต่อสู้แบบ ปชต. ประเทศไทยก็พินาศ ต่อสู้ด้วยอาวุธ น่าจะใช้ได้ดี เพราะนักธุรกิจกลัวปืนและระเบิดมากกว่าสันติวิธี พลีชีพ เพื่อชาติกันเถอะ
ผมเรียนอยู่ มศ.1 (2504) ที่โคราช ผมจำได้และสลดใจมาก เขาหาว่าท่านเป็นคอมฯ คิดแยกอิสานครับ คนปกครองไม่ดีเขาก็ต้องแยก ดูประวัติศาสตร์ชาวอิสานครับจะทราบดี
ตัวอย่างบุคคลดี ๆ ยังมีให้เห็นอีกหลายท่าน คนดีสู้ต่อไปอย่ายอมแพ้ต่ออุดมการณ์
ถ้าจำไม่ผิด ครูครอง จันดาวงศ์ ผู้นี้แหละ เป็นน้องเขยของคุณยายผม
(คุณยายผมมีน้องสาวต่างมารดา)
ปัจจุบันนี้รู้สึกว่าน้องสาวของคุณยาย (ภรรยาของครูครอง) น่าจะพำนักที่กรุงเทพฯ
อืม..ผมจำได้แล้ว น้องสาวต่างมารดาของคุณยายผมชื่อว่า นางแตงอ่อน แซ่เต็ง (แต่เป็นการแต่งครั้งที่สองของครูครองนะครับ) เพราะได้ยินว่าแต่งครั้งแรกกับลูกสาวกำนัน แต่ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น ถ้าได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกจะแจ้งให้ทราบนะครับ
ตั้งแต่เกิดมา
มีคนมาพูดคุย
ดูถูก
ชื่นชม
บรรพบุรุษ
เจ็บใจมากที่เค้าพูดว่า
ประหารยังนั้น
ประหารยังนี้
แต่ยังไงในสายตาของคนรอบข้างที่มองมา
มีทั้งเป็นมิตรบ้าง
และไม่เป็นมิตรบ้าง
เค้าจะมองยังไงก็ช่าง
แต่ก็ภูมิใจนะที่
เกิดมาใน……
ab
ครู ครอง กับ ครู เปาะ ซู อุดมการณ์เดียวกัน