หลังจากผมคุยกับพี่กิ๊ต เรื่องโครงการอย่างคร่าว ๆ แล้ว เรื่องที่ผมต้องทำโดยด่วนก็คือ การออก Survey เพื่อหาโรงเรียนที่จะไปออกค่าย

สมรักษ์พาผมไปหารุ่นพี่ซึ่งเป็นกรรมการค่าย ม.หอการค้า ไปเพื่อปรึกษาวิธีการและเทคนิคในการออก Survey เนื่องจากการเดินทางออกสำรวจหาโรงเรียน ไม่เหมือนการไปเที่ยวทั่วไป ต้องมีข้อมูล มีวิธีการในการได้ข้อมูล และเทคนิคในการได้ข้อมูล เช่น ต้องทำจดหมายจากชมรมเพื่อขอเข้าพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อความปลอดภัย จดหมายขอข้อมูลโรงเรียน การทำแบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์มากทีเดียว สมรักษ์จึงชวนรุ่นพี่ค่ายหอฯ ไปด้วย 2 คน (พี่เจี๊ยบกับพี่เสก) รวมผมและสมรักษ์ ทั้งหมด 4 คน ไม่มีเพื่อนจาก ABAC ว่างไปด้วยเลย

ผมเจอ พี่เสก กับ พี่เจี๊ยบ ครั้งแรกที่ร้านเหล้าข้าง ม.หอการค้า ที่ชื่อ “ใบไผ่” ท่ามกลางเด้กค่ายหอฯ กว่า 30 คนนั่งกันอยู่ ตอนนั้นพี่เสกผมยาว หน้าตายังไม่หล่อเหมือนเดี๋ยวนี้ (ฮา) วันนั้นพี่ทั้ง 2 คน “เมา” เพราะผมสังเกตุจากเนื้อหาในการพูดคุยกันที่ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันเท่าไหร่ ถึงวันนี้กว่า 10 ปีแล้ว รุ่นพี่ 2 คนนี้มีอิทธิพลกับชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ของเรามากๆ ทุกคนที่ได้สัมผัสคงเข้าใจดี

เราเลือก จ.กาญจนบุรี เพราะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ค่ายแรก….เอาแบบที่ทำงานง่าย ๆ ไว้ก่อน….

ถึงวันที่นัดกัน ผมเตรียมจัดกระเป๋าเสื้อผ้า ถุงนอน เอกสารต่าง ๆ ตามที่เพื่อนแนะนำแล้วเดินทางออกจากมหา’ลัย ไปรอสมรักษ์ที่สถานีรถโดยสารสายใต้ใหม่ตามที่นัดกันไว้ในเวลาประมาณ 1 ทุ่ม สมรักษ์มาตามนัดแต่เราไม่ได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี สมรักษ์บอกว่าหลังจากปรึกษากับพี่ชูแล้ว ให้ออกเดินทางตอนเช้ามืดจะดีกว่า เพราะไปจังหวัดกาญจนบุรีใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง ไปตอนนี้ก็ต้องไปหาที่พัก ยังไม่ได้ทำงานอะไร จึงให้มารับผมไปนอนที่บ้าน “พี่เขียว”ที่อยู่แถว ๆ มหา’ลัย แล้วตอนเช้าค่อยออกเดินทาง

ไปถึงบ้านพี่เขียว ก็มีรุ่นพี่ค่ายหอการค้าหลายคนนั่งกินเหล้ากันอยู่ พี่เสกกับพี่เจี๊ยบด้วย ก็มีการพูดคุยแนะนำการออก Survey ให้กับผมและสมรักษ์พอสมควร ตอนนั้นเรียกได้ว่าผมยังไม่รู้จักใคร จึงขอตัวไปนอนทั้ง ๆ ที่ไม่ง่วงเท่าไหร่

ประมาณตี 5 เราก็ออกจากบ้านพี่เขียว นั่งรถเมลล์สาย 28 ไปสายใต้ใหม่ ซื้อตั๋วแล้วนั่งรถโดยสารไปจังหวัดกาญจนบุรี ถึงที่ท่ารถประมาณ 7-8 โมงเช้า แวะกินกาแฟร้อนกับไข่ลวกแถวๆ นั้น แล้วก็นั่งรถสองแถวไปศาลากลางจังหวัด เพื่อยื่นจดหมายขอเข้าพื้นที่ – แล้วก็ไป สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี (สปจ.) เพื่อยื่นจดหมายขอข้อมูลโรงเรียน เจ้าหน้า สกจ. เมืองกาญจน์ ก็อำนวยความสะดวกให้เราในการติดต่อประสานงานกับสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอต่าง ๆ ให้ข้อมูลหรือพาไปดูโรงเรียน การทำจดหมายประสานงานหน่วยงานราชการสร้างความสะดวกในการทำงาน แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น มันเป็นการลดช่องว่างในการประสานงานระหว่างนักศึกษากับรูปแบบการทำงานที่เป็นท้องถิ่น ได้รู้ถึงวิธีคิดแบบท้องถิ่น สร้างประสบการณ์ใหม่ เปิดทัศนะใหม่ๆ ให้กับนักกิจกรรม น่าเสียดายที่คนทำค่ายฯ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ กลับให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของตัวเองมากกว่า น่าเสียดายมาก ๆ

วันนั้นเจ้าหน้าที่ สปจ. เมืองกาญจน์ขับรถพาเราไปอำเภอไทรโยค แวะรับเจ้าหน้าที่ สปอ.ไทรโยค แล้วพาเราไปสำรวจเก็บข้อมูลโรงเรียน 4-5 โรงเรียนจนตกเย็น เราก็ขอพักแรมที่โรงเรียนที่น่าสนใจจะออกค่าย เป็นที่น่าสนใจที่สุดในวันนั้น เพื่อจะได้มีโอกาสพูดคุยกับครู ชาวบ้าน เก็บข้อมูลเพิ่มเติม (ที่สุดแล้วเราไม่ได้ออกค่ายโรงเรียนนี้ แต่ต่อมาค่ายหอการค้าไปออกค่ายโรงเรียนนี้ประมาณ 2 ปีที่แล้ว)

ตื่นขึ้นตอนเช้า…เราเดินฝ่าสายหมอกยามเช้าออกจากโรงเรียนไปยังถนนใหญ่ เพื่อ “โบกรถ” ไปยังอำเภอทองผาภูมิ ตามที่เราตกลงกันไว้เมื่อคืน…

การโบกรถ ในมโนภาพของเด็กวัยรุ่นคนเมืองอย่างผม ที่อย่างเก่งก็ดูหนังฝรั่ง เห็นภาพ“ฝรั่งวัยรุ่นใส่กางเกงยีนส์ ร้องเท้า Convert All Star (ทางใครทางมัน) แบกเป้ใบโตออกเดินทาง ยกมือชูนิ้งโป้งขึ้น โยกมือไปทางที่ประสงค์จะไป เวลาที่มีรถขับผ่านมา….” ดูเท่ห์ อิสระเสรี แต่ถ้าถามตัวเองกล้าทำไหม….ไม่มีทางหรอก!!! อันตรายใครที่ไหนจะไปรับขึ้นไปฟรีๆ ถ้าเราขับรถผ่านแล้วมีคนโบกรถเราจะให้ขึ้นไหมละ….ต่างคนก็ต่างไม่ไว้ใจกัน…แน่ละจะเสี่ยงไปทำไม…. นั้นคือสิ่งที่เราคิดและจินตนาการไว้ บอกตามตรงว่าตอนนั้นหวาด ๆ อยู่เหมือนกัน

สมรักษ์โบกรถปิคอัพได้คันหนึ่งเป็นรถทหาร ให้เราติดรถไปเป็นระยะทางประมาณ 8-10 กิโล เราลงรถแล้วขอบคุณคนขับตามระเบียบ ผมใจชื้นขึ้นเยอะ การโบกรถไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

เราเดินไป โบกไป สักพักก็มีคนจอดรับอีก….

“จะไปไหนกันละ”

“พวกผมเป็นนักศึกษาครับ มาสำรวจโรงเรียนจะออกค่ายอาสาครับ… ว่าจะไปอำเภอทองผาภูมิ พี่ไปถึงไหมครับ…”

“ไม่ถึงหรอก…แค่อีก 20-30 โลนี่เอง….”

“งั้นพวกผมขอติดรถไปด้วยนะ แล้วค่อยไปโบกต่อ”

“เอาสิ ขึ้นมาเลย”

บทสนทนาแนะนำตัวและแสดงความต้องการจะขออาศัยโดยสารไปเช่นนี้ สั้น ๆ ง่าย ๆ และเป็นบทสนทนาที่พวกเรา (เด็กค่ายฯ) ใช้มาตลอดกว่า 10 ปี ใช้ในการเดินทางแสวงหาความหมายของชีวิตและสังคมชนบท บางคนก็แค่จอดถามเราด้วยความเป็นห่วง มาจากไหน…จะไปไหนกัน บ้างก็อาสาจะไปส่งที่ท่ารถ บ้างก็ชวนไปพักที่บ้านเพราะเราโบกรถตอนกลางคืน บ้างก็พาไปเลี้ยงข้าวพวกเราแล้วก็พาไปส่งถึงจุดหมาย

ไม่ใช่เราไม่เงินนะครับ…. เงินนะมี มีเยอะด้วย (ฮา) แต่สิ่งเหล่านี้เงินซื้อไม่ได้นะครับ

สมรักษ์อีกเช่นเคยที่โบกรถขนอ้อย เป็นรถ 6 ล้อ เราโดดขึ้นกะบะหลัง หลังจากที่เจรจาเสร็จ สมรักษ์กระโดดขึ้นไปนั่งบนหลังคาด้านหน้า (บนหัวคนขับ) ที่เป็นโครงเหล็กสำหรับวางของ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีของอะไร แล้วมันก็เรียกผมขึ้นไปด้วย

ผมก็ชิงโดดตามมันขึ้นไปก่อนพี่เสกกับพี่เจี๊ยบจะไหวตัวทัน เพราะที่ตรงนั้นนั่งได้แค่ 2 คน

รถแล่นด้วยความเร็วไม่มากนัก แต่ก็มากพอที่จะทำให้สายลมปะทะหน้าผมจนไม่ได้ยินอะไร พูดกันไม่ได้ยิน ฟังอะไรไม่ค่อยถนัด แต่สายตากับสายใจพาผมท่องไปกับความคิดตัวเองอย่างลืมตัว สายลมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาทำสร้างความรู้สึกอิสระให้กับผม สองข้างทางที่สลับกันไประหว่างทุ่งหญ้ากับชุมชนเล็ก ๆ ผมเพิ่งได้รู้ตอนนั้นเองว่า…ธรรมชาติมันมีกลิ่นครับ แต่ต้องดมด้วยใจ

การสำรวจโรงเรียนครั้งนั้น เราไปกันไกลถึงชายแดนไทย-พม่า ณ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ เราไม่ได้โรงเรียนออกค่ายฯ ตามที่ตั้งใจไว้ครับ แต่สิ่งที่ผมได้จากการออกเดินทางครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผม

ตั้งแต่วันนั้นผมไม่เคยหยุดเดินทาง ผมไปทุกที่ในประเทศไทย ถนนในเมืองไทยน้อยเส้นเหลือเกินครับที่ผมไม่เคยเหยียบ… และการเดินทางแบบนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนและน้อง ๆ อีกหลายต่อหลายคน

ชีวิตคนเราเกิดมาชาติหนึ่ง มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้จัก ที่จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ สังคมเมืองที่ผมหรือหลาย ๆ คนอยู่มันแคบเกินไปครับ มันทั้งแคบ ทั้งมืด ทั้งน่ารังเกียจ เราถูกจับห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ตั้งแต่เราเด็ก ๆ เราโดยบังคับให้เรียนจากหนังสือเล่มหนา ๆ จากคำพูดของครูที่ดีบ้างเลวบ้าง เรารับรู้ว่าโลกกว้างไกลใหญ่เพราะการดูรายการท่องเที่ยวในโทรทัศน์ เราถูกสอนให้ระแวงระวังทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่การที่จะต้องดื่มสะอาด การระวังภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ รอบตัว จนถึงการหวาดระแวงจนกลายเป็นความไม่ไว้ใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราถูกสอน เราถูกกำหนดทุกอย่างตามความเห็นของพ่อแม่เรา ตามระบบของสังคมที่วางไว้ ผมจะไม่บอกว่าถูกผิดดีเลวอย่างไร… แต่ผมกำลังจะบอกว่าชีวิตเรามีอะไรอีกลายอย่างที่เรายังต้องเปิดใจรับรู้ เรียนรู้มัน โลกนี้มันกว้างใหญ่กว่ารายการโทรทัศน์รายการใดจะบอกเราได้

ออกมาเถอะ….เดินออกมาจากกองหนังสือกองโต ออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ออกจากภาวะจิตใจที่หวาดระแวงทุกสิ่งทุกอย่าง ออกมาระเบียบแบบแผนที่มีคนอื่นวางไว้ให้เราทั้งๆ ที่เราไม่รู้ความหมายของมัน

ออกไปเถอะ….ปล่อยกรุงเทพฯ ไว้ให้เป็นศูนย์รวมของ “ขยะ” มากมาย ไปที่ไหนก็ได้ในเมืองไทย คนไทยโดยเฉพาะคนชนบทยังมีน้ำใจ มีวิถีชีวิตที่ง่ายและงามที่สุด อย่าปล่อยวัยหนุ่มสาว วัยที่ยังมีพลัง ให้สูญเปล่า การเดินทางจะสอนคุณเรียนรู้หลาย ๆ สิ่ง คุณจะได้รู้ว่าคนไทยที่ว่าน้ำจิตน้ำใจงดงามมีอยู่จริงและมีอยู่มากมาย คุณจะเรียนรู้และรู้จักความเหงาในเวลาที่ควรจะเหงา คุณจะเรียนรู้การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างมิตรสหาย ระหว่างเพื่อนมนุษย์และระหว่างธรรมชาติ คุณจะรู้จักการรอคอยเมื่อถึงเวลาที่ต้องคอย สรุปก็คือ คุณจะรู้ว่าชีวิต…จริง ๆ มันคืออะไร คุณจะรู้ได้จาก “การเดินทาง”

“อ่านหนังสือหมื่นเล่ม มิเท่าเดินทางสิบลี้” โกวเล้งเคยเขียนไว้เช่นนั้น โกวเล้งไม่ได้สักแต่ว่าเขียนด้วยอารมณ์เลื่อนลอย เพ้อฝัน แต่มันเป็นสัจจธรรม…..

อรรณพ นิพิทเมธาวี