Photo by Manoch Methiyanon

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้สัมผัสกับกลุ่มคนที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็น “ปัญญาชน” หลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ คน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผมเกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งกันเอง รู้สึกสับสน ไม่เข้าใจในบทบาท แนวคิด รวมไปถึงธรรมชาติของปุถุชน ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างยุคสมัย ซึ่งต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อสังคมไทย

ปัญญาชน ที่หมายถึง ชนผู้มีปัญญา โดยส่วนใหญ่เรามักจะใช้เรียกกลุ่มนิสิตนักศึกษาในเล่าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย หรือตามสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้กำหนดอนาคตของสังคมไทยอย่างแท้จริง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการทางเมืองครั้งสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ 6 ตุลา 2519 หรือแม้แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ล้วนแต่มีกลุ่มคนเหล่านี้ร่วมเป็นทั้งแนวหน้าและผู้สนับสนุน เป็นผู้เคลื่อนไหวและผลักดันทั้งสิ้น สาเหตุน่าจะเป็นเนื่องเพราะคนกลุ่มนี้มีความรู้ มีความคิดความอ่าน สามารถวิเคราะห์ เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ แยกแยะออกระหว่างถูก-ผิด-ดี-ชั่ว และต้องมีความกล้าหาญในการคัดค้าน หรือเปลี่ยนแปลงมัน

ผมมีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มคนผู้ร่วมเหตุการณ์เดือนตุลา 2516 และก็ต้องหนีเข้าป่า ไปสู้รบร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2519 ได้รับฟังประสบการณ์จากพี่ ๆ เหล่านั้น ได้มีโอกาสร่วมสนทนา ซักถาม รับรู้ความเป็นมาของเรื่องราวในช่วงเวลาของการต่อสู้ ได้ฟังเพลง “ในป่า” ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ฟังเรื่องราวความเจ็บปวด ความช้ำชอก ความแค้น และความมุ่งมั่นของคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์เดือนตุลา

ปัญญาชน ในช่วงเวลานั้นมีความเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้กลุ่มปัญญาชนเดือนตุลา ก็เป็นผู้ที่มีบทบาททางสังคมอยู่ไม่น้อย แน่ละมันก็มีดี มีเลว ไม่ใช่ว่าใครเป็น คนเดือนตุลา ก็จะเป็นคนดีไปหมด แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนทรัพยากรคุณภาพทั้งสิ้น บ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย บ้างเป็นนักธุรกิจ แต่ก็ยังเคลื่อนไหว ยังทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ ๆ

อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ข่าวเหตุการณ์ที่กลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ยกพวกประมาณ 200 คน เข้าไปถล่ม โรงเรียนพาณิชยการกรุงเทพ ทำให้ความรู้สึกหดหู่เกิดขึ้นในใจ แม้กลุ่มนักเรียนสายอาชีพกับเรื่องการยกพวกตีกัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว แต่ยังไงผมก็ยังคิดว่าคนเหล่านี้เป็น ปัญญาชน เหมืแนกัน และก็น่าจะมีวุฒิภาวะมากพอ ทำไมปัญญาชนเหล่านี้ชอบใช้ความรุนแรง สนองความยึดติดสถาบัน จริงอยู่ 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา ก็จบลงด้วยความรุนแรงเช่นกัน แต่ฝ่ายนักศึกษาเป็นผู้ถูกกระทำ และความหมายมันต่างกัน เป้าหมายก็เทียบกันไม่ได้เลย

อีกกลุ่มหนึ่งของปัญญาชน ก็ใส่สายเดี่ยว สิงสถิตย์อยู่ตามผับ ตามบาร์ แหล่งบันเทิงต่าง ๆ แม้จะมีความพยายามจัดระเบียบ ก็จำกัดได้แค่รูปแบบการเที่ยว แต่สำนึกและความหลงมัวเมาของวัยรุ่นเหล่านี้หาดีขึ้นไม่ อย่าว่าแต่ต่อสู้กับเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตยเลย แค่ไปเลือกตั้งก็ขี้เกียจกันแล้ว (เพื่อนผมเองบางคนมันยังไม่ไปเลย) แล้วเราจะหวังพึ่งคนเหล่านี้ ในไปสร้างสังคมได้ยังไง

จริงอยู่สภาพสังคมมันเปลี่ยนไปมากมาย ปัจจัยทางการเมือง ทางสังคมก็ไม่เหมือนเดิม จะมาหวังให้ปัญญาชนในปัจจุบัน มีความคิดเหมือนกันสมัย 14 ตุลาไม่ได้ แต่ปัญหาในสังคมยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับซับซ้อนมากขึ้นด้วย เราอาจจะไม่ได้ต่อสู้กับเผด็จการโดยตรงอย่างที่แล้ว ๆ มา แต่เราก็กำลังเผชิญกับภัยที่คุกคามเราอย่างไม่รู้ตัว เช่น ระบบทุนนิยมที่สุดขั้ว ในรูปแบบของธุรกิจข้ามชาติ หรือ ความมัวเมาในกิเลสของวัยรุ่นที่มีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมแย่ ๆ หลายคนบางครั้งก็หลงไปกับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ที่สุดเราก็จะได้ยินแนวคิดทำนองว่า จะคิดมากทำไม เกิดมาชาติหนึ่ง ต้องได้ทำอะไรตามใจอย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดตามมา พวกเขาจะปฏิเสธเรื่องเครียด ๆ เรื่องจริงจัง แต่จะสนใจเรื่องราว สวย ๆ งาม ๆ ละไม ๆ ละมุนละม้อม ด้วยเหตุผลคือ “สร้างสรรค์”, “แปลกใหม่”“แฟชั่น-ทันสมัย”

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อเดือนตุลาคม 2516

หากท่ามความมืดมิด สิ้นหวัง (ของตัวเอง) ยังปรากฎว่ามีปัญญาชนอีกกลุ่มเล็ก ๆ ที่แสวงหาแนวทางใหม่ แต่ก็ยังไปได้ดีกับกระแสหลักของสังคม พวกนี้มักถูกเรียกว่าเป็น “นักกิจกรรม” ที่ทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ในสถานศึกษา

กลุ่มปัญญาชนที่ผมรู้จัก ก็คือ พวกออกค่ายฯ ส่วนมากจะออกแนวกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว พูดอีกแบบคือ ยังไม่ปักธงอุดมการณ์ใด ๆ จะว่าไม่เอาอะไรสักอย่าง ไม่กล้าไร้สาระ แต่ก็หน่ายที่จะจริงจัง

มีรุ่นน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เธอดูยังสับสนกับแนวทางการดำเนินชีวิต ที่ยังหาความลงตัวระหว่าง “ความอยู่รอด” กับ “อุดมคติ” ยังไม่ได้ เธอพยายามที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าต่อโลก ทั้ง ๆ ที่เธอยังไม่รู้ว่าคุณค่านั้นคืออะไร เธอมีความใฝ่ดี แต่สิ่งแวดล้อมดูจะเป็นอุปสรรค หรือเป็นม่านบาง ๆ บังความงามของชีวิตที่เธอจะมองเห็นได้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นตัวแทนสามัญของปัญญาชนในซีกโลกฝั่งนี้ ที่ถูกสังคมบีบให้ต้องจัดพื้นที่ตัวเองแปลกแยกออกจากกระแสหลัก แม้ยังไม่ชัดเจน แต่พร้อมจะเรียนรู้ ใฝ่ดี

อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกไว้ว่า “มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ กลายเป็นโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง เป็นลานวิ่งเล่นของเด็กที่ปวกเปียกในจิตวิญญาณ และไร้ความกล้าหาญในทุกมิติ และทั้งหมดนี้ เนื่องมาจากการประคบประหงมที่ล้นเกิน และการแยกตัวเองออกจากเพื่อนร่วมชาติที่เหลือ”

ปัญญาชนก็ยังเป็นอนาคต เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หวังแต่ให้ “ทัพหน้า” ของสังคมไทย เป็นปัญญาชนที่คุณภาพ มีคุณธรรม และทำเพื่อประชาชนจริง ๆ ขอแต่บ้านนี้เมืองนี้ เหลือที่ว่างให้คนหัวใจกบฎบ้างแค่นั้นเอง

อรรณพ นิพิทเมธาวี