– 1 –
“พี่นก… พูดอะไรกับน้อง ๆ หน่อยสิพี่ ผมอยากให้พวกเขามีแรงฮึด” ไอ้เณศ (ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ) เอ่ยปาก ซึ่งปกติคนแข็งแรงทั้งกาย ทั้งใจ อย่างเขาไม่ต้องพึ่งให้ใครช่วยเรื่องแบบนี้
เรานั่งกันอยู่ในบ้านเช่า กลางอำเภอหาดใหญ่ ที่ซากปรัก ข้าวของที่เกลื่อนกลาดและเลอะเทอะไปด้วยขี้โคลน อันเกิดจากอุทกภัยครั้งที่สร้างความเดือดร้อนมากที่สุดในรอบหลายสิบปี เขายังไม่มีเวลาจัดบ้านช่องเลย ก็ต้องใช้เป็นที่ประชุมทีมงานและน้อง Staff ในกิจกรรม “ค่ายเส้น สี ศิลป์ วาดภาพฝันวันใหม่ หลังอุทกภัยน้ำท่วม”
“ชื่อ กลุ่มมาลัยดาว พี่ …เป็นทีมงานหลักของกิจกรรม ผมพูดเรื่องพี่ให้น้อง ๆ มันฟังบ่อยมากนะ น้อง ๆ ผมมันรู้จักพี่ เข้าดูเว็บไซต์พี่ทุกคน” มันว่าแบบนั้น จนผมรู้สึกเขิน ๆ มากกว่าจะดีใจ
ผม กับ เณศ เจอกันที่ “ค่ายร้อยหวัน พันธุ์ป่า” จังหวัดพัทลุง เขาเป็นครูอาสาที่นั้น ผมก็จัดค่ายที่นั้น สิ่งที่เราเหมือนกันก็คือ “ชอบแต่งเพลงและเล่นดนตรี” แต่การเขียนเพลงเขาเก่งกว่าผมเยอะ เพลงที่เขาแต่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผมในการทำอัลบั้ม เพลงค่ายฯ (ที่ว่าง…ระหว่างเส้นลวด 6 สาย) อย่างเช่น “ใครเปิดไฟให้ดาว” เพลงโปรดในใจหลาย ๆ คน
จากครั้งนั้น…เราไม่ได้เจอกันบ่อย มีโทรคุยกันเป็นระยะ ๆ แต่ก็มากพอที่จะรับรู้ความเป็นไปของชีวิตเขาได้ จาก…ทหารพรานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาเปิดร้านขายงานศิลปะที่หาดใหญ่ จนมาร่วมงานกันอีกครั้งในโครงการสานศิลป์…รักษ์ถิ่นเกิด และวันที่เรามีงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการสานศิลป์ฯ ที่กรุงเทพฯ และเณศมาร่วมด้วย วันนั้นคือวันที่น้ำท่วมหาดใหญ่…บ้านของเขา
“บ้านอื่นเขาขนของหนีทันพี่ แต่ผมไม่อยู่ ไปหมดเลย กลับถึงบ้านก็เห็นตู้เย็นลอยข้ามไปอยู่อีกห้อง” มันบอกผมผ่านทางโทรศัพท์
“ทำค่ายศิลปะดีไหมเณศ เดี๋ยวกูหาทุนให้ เอาเด็ก ๆ ในพื้นที่น้ำท่วมมาทำกิจกรรมดูแลจิตใจเขาหลังน้ำลด มึงก็จะได้มีกิจกรรมให้น้อง ๆ ทำด้วย”
ผม เพื่อน ๆ และ น้อง ๆ กลุ่มรองเท้าแตะ จึงตัดสินใจลงหาดใหญ่ไปเยี่ยมเพื่อนและไปให้กำลังใจเด็ก ๆ ที่โดนน้ำท่วม โดยใช้สิ่งที่เรารักและถนัดมากที่สุด …ศิลปะและดนตรี
– 2 –
ริมถนนสายเพชรเกษมกลับเมืองหลวง ผมมอง 2 ข้างทางแล้วก็ดูสดชื่นดี ร่องรอยน้ำท่วมไม่ปรากฎให้เห็นสักเท่าไร ผมหยิบสาย Small Talk เสียบเข้าโทรศัพท์เพื่อจะฟังเพลง ภายหลังน้อง ๆ ในรถที่โดยสารมาด้วยกันตกลงกันได้แล้วว่า จะเปิด DVD ภาพยนต์เรื่องอะไร ผมไม่อยากดู เลยจะฟังเพลงดีกว่า
ตอนนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. โดยประมาณ เรากำลังจะเข้าสู่อำเภอทุ่งสง ผมก็นึกในใจว่าคงถึงกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่าเที่ยงคืนแน่ ๆ
ผมกด Play ที่เครื่องโทรศัพท์… โดยไม่ได้ดูว่า Playlist มันถึงเพลงอะไร แต่…พลันเสียงเพลงดังขึ้น ที่เหม่ออยู่แล้วยิ่งไปกันใหญ่ ความรู้สึกของผมล่องลอยไปพร้อม…ความฝัน
“อัสดงรื่นสายลมพัดล่อง ทุ่งสีทองเอนพลิ้วลิ่วดั่งคลื่นหนุน
ตะวันลับเลื่อนลงหลืบฟ้า สกุณาร่อนลาคืนรังอุ่น แหล่งเคยขุนยามสนธยา”
– 3 –
ก่อนเดินทางผมนั่งคุยกับตัวเองอยู่นานสองนาน ในอดีต…ก่อนการเดินทางทุกครั้ง มักจะถามตัวเองว่า คราวนี้จะเจออะไร แต่ครั้งนี้…การเดินทางที่ห่างหายไปนับหลาย ๆ ปี ไม่มีคำถามใดในหัวสมอง …บางครั้งความเป็นนักเดินทางที่ “วางมือ วางเท้า” มานาน…ชีวิตมันนิ่งมาก ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าอะไร …แต่ครั้งนี้เวลามองถนน จะรู้สึกอย่างไรก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
การตัดสินละวางอย่างตั้งใจต่อชีวิตการเดินทาง ทั้งการเดินทางจริง ๆ และการเดินทางตามความฝัน มิใช่เพียงเหตุผลในเรื่องของการงาน การทำมาหากิน หรืออายุอานามที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ในใจลึก ๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัดส่วนที่มีปริมานไม่น้อยเป็น “ความสิ้นหวัง” ถึงแม้บางครั้งมันจะเป็นสิ่งที่ผมประดิษฐ์และออกแบบมันขึ้นมาเอง
เมื่อผู้ชายคนหนึ่งผูกอุดมคติบางอย่างไว้กับวิถีชีวิต ดังนั้นความล้มเหลวหรือการไม่ได้ตามคาดหวัง มันก็เหมือน “ความพ่ายแพ้” ฟังดูอาจจะเว่อร์ไปหน่อย แต่เวลาพยายามอธิบายเรื่องแบบนี้ทีไร ก็มักจะออกมาเว่อร์เช่นนี้ เวลาอาณาจักรใด ๆ จะล่มสลายไป มันมิได้เกิดจากสงครามเพียง 1 ครั้ง มิใช่เพียงแค่ขุนนางฉ้อฉลแค่กลุ่มเดียวหรือคน ๆ เดียว มิได้เกิดเพราะเหตุผล ๆ เดียว แต่มันรวมกัน มันสะสม มันบ่มเพาะเรื่อยมา – ผมว่าชีวิตคนเราก็เช่นกัน การที่ผมตัดสินใจใด ๆ กับวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความฝันในชีวิต มันก็มิได้มาจากเสี้ยวเวลาประเดี๋ยวประด๋าว “การเปลี่ยนคีย์กลางเพลงมันไม่ใช่ที่ทำกันง่าย ๆ”
ผมเลิกออกค่าย ผมเลิกเดินทาง ผมเลิกขาย (ต่อ) และ (ตาม) เก็บฝันให้เพื่อน ๆ และผมเลิกถามหาหนทางไปสู่ความฝัน – ผมกลายเป็นนักจัดการ เป็น Agency กลายเป็นคนแปลงความฝันเป็นเอกสารโครงการเพื่อหาเงิน ผมกลายเป็นคนหากินกับความใฝ่ฝัน แม้มันเป็นสิ่งที่ต้องเป็น มันก็สร้างตัวตนในแบบใหม่ขึ้นมา และแบบนั้นนี่แหละที่ผมชินกับมันไปซะแล้ว ไม่ห่างเหินก็เหมือนเหินห่าง ไม่คุ้นแต่เคยชิน ไม่ได้ชอบแต่ต้องอยู่ร่วม
การเดินทางครั้งนี้…จึงพิเศษ ยิ่งสิ่งที่พบเจอยิ่งพิเศษ จังหวะที่ลงตัวประกอบกับสถานการณ์ที่เหมาะสม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผมจึงพิเศษ บนถนนเส้นทางเดิมแต่ในช่วงเวลาใหม่
– 4 –
“แดดสุดท้ายส่องต้องปลายริ้วรวง ให้แหนหวงรวงนี้ที่ห่วงหนักหนา
รอเรียวนิ้วนิ่มจากนวลน้อง แตะรวงสีทองกลางท้องนา เจ้าเหนื่อยเหมื่อยล้าแต่คราหน้าฝน”
“ใครกันหนอ… ที่หวงทุ่งนาและรักสายลม เพียงเพราะมันสวย คุณค่าของบางสิ่งสัมผัสไม่ได้ด้วยตาหรือข้อมูล”
ผมคงพูดแบบนี้ให้น้อง ๆ ในค่ายฟัง ถ้าเกิดผมได้มีโอกาสร้องเพลงนี้ในค่ายฯ อีก ซึ่งคงไม่มี
“พี่เขาบอกว่ากระบวนการมันประเมินยาก เพราะน้อง ๆ ทีมงานเขาค่อนข้างมือใหม่”
หนึ่งในทีมงานเล่าให้ผมฟังแบบนั้น เมื่อผมสอบถามถึงแหล่งทุน (คนที่ให้ตังค์มาจัดค่าย)
เมื่อไรกัน…ที่ความมุ่งมั่น ความฝัน และพลังคนหนุ่มสาว ต้องถูกประเมิน?
พวกผมก็เคย “ถูกประเมิน” จนชมรมถูกยุบไป เพราะ “ไม่ผ่านการประเมิน” จนเหลือแต่ซากแห่งความฝัน และความร้าวลึกของคนหนุ่มสาวที่เคยมองโลกอย่างสร้างสรรค์ ความเป็นจริงและเหตุผลบางทีมันก็เจ็บปวดและน่ารังเกียจเกินกว่าจะเปิดใจรับมัน
“ก็เหนื่อยครับ พอดีเรื่องเรียนก็เริ่มหนัก แล้วยังเรื่องที่บ้านอีก มันทำให้เริ่มกังวล” หนึ่งในน้องทีมงานกลุ่มมาลัยดาวตอบผม หลังจากที่ผมถามเขาว่าขณะนี้รู้สึกยังไงบ้าง ในขณะที่หลาย ๆ คนยังนิ่งเงียบ
“…แต่ผมก็อยากทำ”
เพียงพอหรือเปล่าล่ะ? ความอยากทำ? สงสัยต้องเรียนถาม…ท่านผู้หลักผู้ใหญ่!
ผมพูดเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่าสิ่งที่เขากำลังทำมีคุณค่ายังไง จบด้วยการร้องเพลงให้กำลังใจกันและกัน หลายคนขอบคุณ หลายคนก็เอาแต่ยิ้ม ปานเสมือนว่า…กำลังใจเต็มเปี่ยมเสียนี่กระไร น้องเอ๋ย… พวกเอ็งคงไม่รู้หรอกว่า …มันเป็นผมต่างหากที่ได้กำลังใจที่พวกเอ็งมอบให้ โดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ภาพหลายภาพทยอยพาเหรดออกมาฉายในสมองของผม ทีละภาพ ๆ ทีละเฟรม ๆ พร้อมเสียงบรรยายลองพื้นด้วยเสียงเพลงประกอบ จากวงดนตรีคนค่ายฯ ที่เล่นสดรอบกองไฟ ทุก ๆ ภาพมีเรื่องราวของตัวมันเอง มีเหตุผลในการดำรงอยู่ มีองค์ประกอบที่ไม่ได้ถูกจัดวางใด ๆ หากแต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติสรรค์สร้างให้เป็น และมีคุณค่าที่ไม่ต้องอธิบายด้วยแบบประเมินใด ๆ
ผมเห็น เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในนั้น
ผมกำลัง…คิดถึงพวกเขา
– 5 –
“จากนาร้างกลายเป็นทุ่งสวยด้วยแรงของเรา จากใจของสาวเจ้ายอมจน
หว่านไถดำนาน้องเคียงคู่ หลังไหล่คดคู้ไม่เคยบ่น สู้แดดฝนจนข้าวเหลืองพราว”
แดดสุดท้ายกำลังส่องลงบนพื้นดินอำเภอทุ่งสง ปลายเสียงของ คฑาวุธ ทองไทย ส่งคำร้องสุดท้ายก่อนจะเข้าท่อน Solo กีตาร์กลางเพลง รถตู้ยังคงแล่นต่อไปด้วยความเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมด้วยเสียงจาก DVD ภาพยนต์ในรถเข้ามาแทรกในหูผมเล็กน้อย แต่มันก็อยู่ได้แค่นั้น มันไม่สามารถแทรกลงไปในความรู้สึกผมได้
ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยความตระหนักรู้… รู้ว่า หาดใหญ่เปลี่ยนไปมาก Activists สมัยนี้ก็ไม่เหมือนยุคก่อนแล้ว (เก่งขึ้น) สังคมก็เปลี่ยนไปเยอะ
แต่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ความฝันของผม…ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
“แดดสุดท้ายก่อนพักกายพลบค่ำ ฟ้าสีดำคลี่พื้นคลุมแผ่นดินหนาว
ขี่เกวียนล้อทุ่งสู่ยุ้งฉาง ชื่นรอยยิ้มนางบนฟางข้าว ห่มรักเจ้าด้วยหวงและห่วง”
อรรณพ นิพิทเมธาวี
23 พฤศจิกายน 2553, 0.41 น.
หมายเหตุ: เพลง “แดดสุดท้าย” คำร้อง/ทำนอง พืชพงศ์ พิทักษ์
ผลงานโดย – วงมาลีฮวนน่า อัลบั้ม “ปรายแสด” (2549)
ผลงานโดย – วงสะพาน อัลบั้ม “วิถีอิสระ” (2547)