The Woodstock Festival : 3 Days of Peace & Music festival (August 15-19, 1969) at White Lake, New York

การที่ประเทศไทยพัฒนาตามแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาการดำเนินชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมการเมืองครั้งสำคัญนี้ มีผลต่อวงการศิลปกรรมของไทยหลายประการโดยเฉพาะด้านเพลง

จากการที่สังคมไทยได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การสื่อสารดีขึ้น ก่อให้เกิดการหลั่งไหลถ่ายทอดทางวัฒนธรรม มีผลกระทบต่อความคิดความเป็นอยู่

ในทศวรรษ 1960 ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดเพลงร็อคต่อต้านสภาพสังคมและสงคราม เนื้อหาแสดงออกถึงการต่อต้าน การแบ่งผิวการโจมตีระบบการศึกษาที่เร่งผลิตนักศึกษาจำนวนมาก แต่ขาดฐานการรองรับในเรื่องงานนักศึกษาปัญญาชน เบื่อหน่ายระบบการปกครอง ภายใต้บรรดาบริษัทธุรกิจที่คุมอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลทางการเมืองในเมืองใหญ่ การเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามเวียตนามและลัทธิแมกคาที ซึ่งเป็นระบบที่น่ากลัวในการใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ในสถานการณ์ความปั่นป่วนเหล่านี้ มีผลทำให้นักศึกษาปัญญาชน ศิลปินของอเมริกาต่อต้านสังคมและสงคราม บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan)

บทเพลง แนวความคิด อิทธิพลการสื่อสาร และแบบอย่างที่นักศึกษาไทยได้รับรู้และเห็นถึงยุทธวิธีต่าง ๆ ในการต่อต้านจากการศึกษาในต่างประเทศ แนวความคิดเหล่านี้น่าจะมีผลอยู่ในขบวนการของคนรุ่นหนุ่มสาวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น เพราะสังคมไทยขณะนั้นเต็มไปด้วยความเหลวแหลกอันได้รับจากวัฒนธรรมซึ่งมาพร้อมกับทหาร อเมริกันที่มาตั้งฐานทัพในประเทศไทย อิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านการต่างกาย ยาเสพติด กัญชา เฮโรอีน สถานเริงรมย์ต่าง ๆ

ปัญหาหญิงโสเภณีไทย ก่อให้เกิดเด็กต่างผิวในสังคมไทย นับว่าเป็นช่วงที่ไทยมีวิกฤตการณ์ทางสังคมและการเมืองที่สุกงอม

ตัวอย่างที่สะท้อนสภาพที่เกิดความเบื่อหน่ายและเหลวแหลกของนักศึกษาประชาชนในสหรัฐอเมริกา คือ การรวมตัวของคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสดงให้เห็นพลังของเขาโดยมีสัญลักษณ์ประจำได้แก่ เรื่องสันติภาพ ความรัก และเสียงเพลง พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า “ฮิปปี้” หรือ “บุปผาชน”

The Woodstock Music & Art Fair เป็นชื่อของงานมหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากการรวมพลังของคนหนุ่มสาวจำนวน 450,000 คน ไปอยู่ร่วมกันใน “ยาสเกอร์ ฟาร์ม” ของนาย แม็ก ยาสเกอร์ (Max Yasger) ในวันที่ 15-19 สิงหาคม 1969 (พ.ศ. 2512)

งานนี้มีวงดนตรีที่มีชื่อเสียงมีนักร้องมากมายมาร่วมกันร้องเพลง ในงานโดยได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท วอร์เนอร์ บราเทอส์ (Warner Bros.) ซึ่งได้ถ่ายเป็นภาพยนต์ออกเผยแพร่ทั่วโลก

“Woodstock ครั้งที่ 1” มหายุคแห่งฮิปปี้ เปิดตำนานเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่และมีสไตล์ที่สุด โดย SIDE-EP.5

เพลงประจำของงานได้แก่ เพลง Woodstock ซึ่งแต่งโดย Joni Metchell โดย Crosby, Stills, Nash (& Young) เป็นผู้ร้อง เพลงนี้กลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ของงานและเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในอังกฤษและอเมริกา เนื้อเพลงเป็นการสรุปการเดินทางของคนหนุ่มสาว ที่ต้องการแสวงหาอิสรภาพการเรียนรู้และพยายามปลดปล่อยตัวเองให้เป็น อิสระจากสังคม โดยเปรียบเทียบการทิ้งระเบิดในสังคมเหมือนกับผีเสื้อที่บินว่อนอยู่เหนือมวลมนุษย์

ในบทสุดท้ายของเพลงได้ให้แง่คิด และกล่าวถึงปณิธานของพวกเขาว่า

“We are stardust
Billion year old carbon
We are golden
Caught in the devil’s bargain
And we’ve got to get ourselves back to the garden”

แปล

“พวกเราเป็นเพียงละอองดาว
เป็นธาตุถ่านเก่าแก่นับล้านปี
เป็นเหยื่อการเอาเปรียบของพวกปีศาจร้าย
เราจะพาตัวเองกลับไปสู่อุทยานแห่งมวลมนุษย์”

จากข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นแง่คิดของหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่เบื่อหน่ายต่อภาวะสงครามต่อสภาพทางเศรษฐกิจการเมืองที่บีบคั้น พวกเขาปรารถนาจะกลับไปสู่สังคมบุพกาลที่เต็มไปด้วยความรัก สันติภาพและเสียงเพลง

หนังเรื่อง Woodstock นี้แพร่หลายไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทย จากการให้สัมภาษณ์ของ เสถียร จันทิมาธร ได้ให้ข้อมูลว่า ยุคนี้กลุ่มพวกเขาอันหมายถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี วิทยากร เชียงกูล สนใจเพลงพวกนี้มาก ได้พยายามหาทางสนับสนุนหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในประเทศไทยจนเป็นผลสำเร็จ แนวความคิดเรื่องเพลง เรื่องการประท้วงนี้เกิดขึ้นใน กระแสความคิดหลักของปัญญาชนไทยช่วงนั้น ที่เบื่อหน่ายต่อสภาพสังคมการเมืองตั้งแต่ปี 2500 ที่สะสมมา

จากคำบอกเล่าของ สุรชัย จันทิมาธร เองก็ได้กล่าวถึงอิทธิพลเรื่อง Woodstock เขาได้ดูหนังเรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง หนังเรื่องนี้จึงน่าจะมีอิทธิพลต่อแนวความคิดแบบเสรีนิยมของสุรชัย และน่าจะมีบทบาทของความคิดต่อต้านสังคม จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เสนอผลงานบทเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา

สถานการณ์ที่ทำให้เกิดพลังของคนหนุ่มสาวอเมริกันมีมากขึ้นคือ เหตุการณ์ที่ทหารยิงนักศึกษาซึ่งไม่มีอาวุธตาย 4 คน ที่ Kent State ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1970 (2513) เป็นข่าวที่น่าสลดใจศิลปินจึงใช้บทเพลงเป็นสื่อถ่ายทอด ความรู้สึกนึกคิดมากมาย เช่น งานของ Crosby, Stills, Nash (& Young) ได้เขียนเพลง Ohio อยู่ในชุด Four Way Street ในข้อความกล่าวถึง การที่ทหารของประธานาธิบดีนิกสันฆ่านักศึกษาทั้ง 4 คน เขาเรียกร้องให้ทุกคนรวมพลังถึง แม้จะต้องถูกยิงตายเช่นนี้ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีงานของนักร้องที่มีผลงานสะท้อนแนวความคิดเรื่องอิสรภาพ เสรีภาพของคนหนุ่มสาว เช่น เพลงของ สตีเฟน สติลส์ (Stephen Stills) ในเพลง Find the Cost of Freedom

Find the cost of freedom, buried in the ground
Mother earth will swallow you, lay your body down

สุรชัย จันทิมาธร ได้นำทำนองเพลงนี้ไปแต่งเพลง ชื่อว่า “สานแสงทอง” อันเป็นเพลงแรกที่เขาเริ่มแต่งในขณะที่หาเพลงเพื่อใช้ในการประท้วงของขบวนการนักศึกษาในกรณีประท้วง ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ดังมีเนื้อเรื่องที่ว่า

“ขอผองเราจงมาร่วมกัน ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่
สานแสงทองของความเป็นไทย ด้วยหัวใจบริสุทธิ์”

The Kent State Shootings (May 4, 1970) at Kent State University in the U.S. city of Kent, Ohio

นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่มีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาในช่วงที่เกิดเพลงเพื่อชีวิตและเป็นเพลงที่ร้องเพื่อให้เกิด พลังใจในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล เช่น We Shell Overcome ของ โจแอน เบซ (Joan Baez) เพลง Tear Down the Wall ของ Judy Collins เพลง Master of War เพลง The Old Revolution เป็นต้น สำหรับเพลง Where Have all the Fowers Gone ซึ่งแต่งโดย พีท ซีเกอร์ (Pete Seeger) เพลงนี้นับว่ามีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวของไทยพอๆ กับเพลง We Shell Overcome เพราะมีการเขียนบทความวิจารณ์ลงในหนังสือและนักศึกษาปัญญาชนของไทยสามารถขับร้อง และเข้าใจถึงความหมายของเนื้อเพลงได้เป็นอย่างดี

เพลง Where Have All the Flowers Gone เป็นเพลงที่ พีท ซีเกอร์ (Pete Seeger) ได้แนวความคิดมาจากบทกวีของ ไมเคิล โซโลกอฟ (Michail Aleksandrovich Sholokhov) ชาวรัสเซีย ซึ่งอยู่ในนวนิยายเรื่อง And Quiet Flows the Don ซึ่ง พีท ซีเกอร์ (Pete Seeger) ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงความในใจที่เขามีต่อสงครามกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นการมองถึงปัญหาของสงครามเวียตนามในขณะนั้น “เพลงดอกไม้หายไปไหน…ใครรู้บ้าง” จึงเป็นเพลงที่มีคุณค่าทั้งเนื้อร้องและแนวความคิดแก่คนรุ่นใหม่

จากข้อมูลที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า งานของกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นนั้น ล้วนอยู่ในแวดวงของอิทธิพลเพลงตะวันตก เพราะขณะนั้นประเทศไทยมีเพลงของสังคมอยู่ 4 ประเภท คือ เพลงของวงไทยเดิม เพลงวงของผู้ใหญ่ แบบไทยสากล เช่น สุนทราภรณ์ สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธ์ ฯลฯ ดนตรีเพลงประเภทลูกทุ่ง (ซึ่งขณะนั้นนักศึกษา ปัญญาชน คนส่วนมากไม่นิยมถือว่าเป็นเพลงคนละระดับกับคนในกรุง) และวงที่เป็นวงวัยรุ่น เช่น วงดิอิมพอสซิเบิล วงซิลเวอร์แซนด์ฯ ซึ่งเนื้อร้องเต็มไปด้วยความรักของหนุ่มสาวทั่วไป