จุดหักเหครั้งใหญ่ของแวดวงเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้น คือความรุนแรงชนิดถึงเลือดถึงเนื้อในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
นักดนตรีเพื่อชีวิตทั้งหลายนั้นเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี ชนิดที่ไปที่ไหนก็จำได้เพราะทำหน้าที่ขับกล่อมบทเพลงบนเวทีการเมืองมาโดยตลอด สถานการณ์อันสับสนในช่วงนั้นความโดดเด่นกลับเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เหล่านักดนตรีเพื่อชีวิตส่วนใหญ่จึงต้องหลบเร้นไปสู่ราวไพร พร้อมกับขบวนคลื่นนักศึกษาประชาชนนับหมื่นคน
พวกเขาต่างกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง คาราวาน และ โคมฉาย ซึ่งไปเล่นดนตรีที่ขอนแก่นพอดี ต้องหลบเข้าป่าทางด้าน อ.ท่าลี่ จ.เลย ก่อนจะเดินเข้าไปสู่ “เขตภูซาง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเขตงานอีสานเหนือตอนบน รอยต่อระหว่าง จ.หนองบัวลำภู เลย และอุดรธานี กรรมาชน บางส่วนเข้าป่าทางเขตอีสานใต้ คุรุชน บางส่วนเข้าทาง อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี นอกนั้นก็กระจัดกระจายไปทางเขตต่าง ๆ
นักดนตรีเก่าของวงโคมฉาย คนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า แม้จะต้องหลบเร้นเข้าป่าดงแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของบรรดาศิลปินเหล่านั้นก็คล้าย ๆ กับสมัยยังอยู่ในเมืองนั่นคือได้มีการตั้งหน่วยของศิลปินขึ้นมาในชื่อ “หน่วยศิลป์” มีหน้าที่ทำงานโฆษณาและเล่นดนตรีขับกล่อมรวมทั้งเรียนดนตรีเป็นหลัก
บทเพลงจากภูผาของศิลปินเหล่านั้นได้กำเนิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นบทเพลงที่ขับร้องกันในป่าบรรเลงในสถานการณ์สู้รบ
หากจะยกตัวอย่างโดยคร่าว ๆ ก็คงจะได้ดังนี้
- ถั่งโถมโหมแรงไฟ คำร้อง สุรชัย จันทิมาธร ทำนอง สุรชัย จันทิมาธรและทองกราน ทานา
- เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง
- ความแค้นของแม่
- นกหวีดปฏิวัติ
- เมล็ดข้าวปฏิวัติ
- จากไปรับใช้ประชา
- เสียงเพลงจากไพร คำร้อง/ทำนอง สุรชัย จันทิมาธร
- อวยพรปีใหม่
- เซิ้งปีใหม่
- อนุชนภูซาง
- หน่อไม้
- จักจั่น
- ลุงโง่ย้ายภูเขา
- ล่องป่าบุ่น คำร้อง/ทำนอง มงคล อุทก
- เสียงเพลงจากแนวหน้า คำร้อง/ทำนอง ทองกราน ทานา
- บินหลากู้เสรี คำร้อง วิสา คัญทัพ ทำนอง วิสา คัญทัพและจิ้น กรรมาชน
- จากลานโพธิ์ถึงภูพาน คำร้อง วัฒน์ วรรลยางกูร ทำนอง สุรสีห์ ผาธรรม
- นักรบอาจหาญ คำร้อง แคน สาลิกา ทำนองเพลงลูกทุ่ง
- ลมหนาวดาวเหนือ
- พิทักษ์แผ่นดินไทย
- จันทร์วันเพ็ญ
- ยามเมฆบังจันทร์
- บ้านเกิดเมืองนอน คำร้อง/ทำนอง เพลิง นาหลัก
- ดาวแดงแห่งภูพาน คำร้อง/ทำนอง ศิลา โคมฉาย
เนื้อเพลงในตอนนั้นหากจะยกตัวอย่างสักเพลงหนึ่งก็คงได้ดังนี้
“เหนือแผ่นดินสูงแห่งแดนอีสาน
สูงเอยภูพาน เป็นกำแพงตระหง่านเสียดฟ้า
ดาวแดงเด่นฉานคู่ขานภูพานนานมา
เป็นดาวแห่งประชา ชี้ทางคนจนพ้นระทม
โอ้ดาวแห่งพรรคประกายใสส่อง
อาบดวงใจของนักรบคนกล้า
ยืนต้านศัตรูกู้ถิ่นมารดา
ดาวแดงอาบทาเลือดวีรชน
เหนือแผ่นดินสูงแห่งแดนอีสาน
สูงเอยภูพาน เป็นดวงใจของมวลประชา
ดาวคือความหวังรุ่งรางตามกาลเวลา
เป็นดาวแห่งศรัทธา รุ้งในใจคนไม่มีเลือนราง”
เพลงดาวแดงแห่งภูพาน โดย ศิลา โคมฉาย
สำหรับในเมืองสถานการณ์เรียกได้ว่าตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง เหล่าศิลปินและปัญญาชนที่ยังอยู่ในเมืองต่างต้องเก็บเนื้อเก็บตัว เพราะหากเคลื่อนไหวอะไรอาจโดนข้อหา “ภัยสังคม” ได้ง่าย ๆ
ต่อมารัฐบาลเผด็จการถูกยึดอำนาจ รัฐบาลในยุคต่อมาได้ผ่อนปรนความเข้มงวดทางการเมืองจนบรรยากาศค่อย ๆ คลี่คลายลงมากมีการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม จนกระทั่งเกิด “นโยบาย 66/23” และมีการนิรโทษกรรมบรรดานักรบในป่าขึ้นมาในที่สุด
ช่วงนี้ในด้านดนตรีแม้จะซบเซาลงบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับร้างบทเพลงและวงดนตรีดีๆ เพราะยังมีวงโฟล์คซองของกลุ่มพี่น้องตระกูล “ประธาน” คอยผลิตผลงานเพลงอย่างสม่ำเสมอด้วยเนื้อหาที่นุ่มนวลและเบาลงเข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี วงนี้ชื่อวง “แฮมเมอร์”
ว่าไปแล้วการที่บรรดาศิลปินเพลงรุ่นใหญ่พากันเข้าป่ากันหมดทำให้ แฮมเมอร์ เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เด่นที่สุดในขณะนั้นก็ว่าได้ (แม้จะได้รับอิทธิพลจาก คาราวาน อย่างค่อนข้างชัดเจนก็ตาม) เสียงร้องของ อารี ประธาน โดดเด่นและมีพลังและโทนดนตรีของเขาก็เป็นอะคูสติกที่สดใสและติดหูคนฟังได้ง่าย
ในแวดวงนักศึกษาในเมืองช่วงนี้ก็เริ่มทำวงดนตรีกันบ้างแล้วเพราะสถานการณ์การเมืองเริ่มดีขึ้นและบรรยากาศการคิดการเขียนก็เป็นไปโดยคึกคักกว่าเดิม วงดนตรีในรั้วมหาวิทยาลัยที่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาบรรดาคอเพลงในแนวนี้ก็อย่างเช่น ฟ้าสาง, ชีวี, ปณิธาน, สานแสงทอง ฯลฯ แต่โดยแนวดนตรีและเนื้อหาก็ยังอยู่ในอิทธิพลของรุ่นพี่อย่าง คาราวาน หรือ กรรมาชน อยู่นั่นเอง
หลังสงครามสั่งสอนระหว่างจีนกับเวียตนาม ทำให้สถานการณ์ในป่าเต็มไปด้วยความตึงเครียดและสับสนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า พคท. เดินนโยบายตามก้นจีนมากเกินไปจนไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง บรรดาปัญญาชนต่างเกิดวิกฤติศรัทธากันถ้นหน้าเพราะถึงที่สุดแล้วภายใน พคท. ก็เป็นเผด็จการทางความคิดเช่นกัน
นักศึกษาปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ พคท. พากันผิดหวังและต่างทยอยกันออกจากป่าคืนสู่เมืองอย่างไม่ขาดสายพวกเขาต่างอ่อนล้าและผิดหวัง ประกอบกับสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในเมืองก็มีมากกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก
เรียกได้ว่า “ป่าแตก” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะกองทัพทหารป่าได้ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองเกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตในเมืองขึ้นอีกวงหนึ่งเป็นวงที่โด่งดังจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ในยุคนั้นคือเรื่อง ครูดอย ชื่อวงดนตรีวงนี้คือวง “เพื่อน”
เพื่อน มีผลงานออกมาหลายชุดเนื้อหาและดนตรีมีความโดดเด่น จนเป็นที่น่าจับตามอง เพลงที่สร้างชื่อให้พวกเขาเท่าที่ผมจำได้ก็มี คนหาปลา, ครูดอย, รอยอดีต, ร้อยบุปผา (เพลงส่วนใหญ่ของวงเพื่อน เขียนคำร้อง/ทำนองโดยวิสา คัญทัพ)
ในเวลาต่อมาบทเพลงบางเพลงอย่าง รอยอดีต และ ร้อยบุปผา ได้มีการนำกลับมาร้องใหม่โดยนักร้องหลาย ๆ คน
วงคนหนุ่มไฟแรงอีกวงที่เริ่มสร้างชื่อโด่งดังในยุคนั้นเป็นวงที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาไทยที่ไปร่ำเรียนมาจากประเทศฟิลิปปินส์ สมาชิกสำคัญของวงนี้คือ ยืนยง โอภากุล, กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (ต่อมาได้ ปรีชา ชนะภัย เข้าร่วมอีกคนหนึ่ง) – และชื่อของวงนี้คือ “คาราบาว”
ชูเกียรติ ฉาไธสง