บทบาทของเพลงเพื่อชีวิตในการพูดถึงสังคมและการเมืองเริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 และพัฒนาไปตามเหตุการณ์บ้านเมือง ก่อนจะปรับตัวเข้าสู่ความเป็นธุรกิจ จนถูกมองว่าเพลงเพื่อชีวิตแบบที่ว่านี้ ได้หยุดอยู่ในอดีตและเลือนหายไปจากสื่อกระแสหลัก
การเมืองในเพลงเพื่อชีวิต
“อย่างผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง ใครอยากเป็นบ้าง ยกมือขึ้น ให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียง ผู้มากุมบังเหียน ชีวิตประชาชน” ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าขณะร้องท่อนคอรัสของเพลง “ประชาธิปไตย” จากอัลบัมปี 2529 ในรายการโลกดนตรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในการแสดงดนตรีที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจนที่สุดในโทรทัศน์ไทย
เพลงเพื่อชีวิตที่สะท้อนสังคมและการเมืองเริ่มต้นในช่วงชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นำโดยวงดนตรีอย่าง คาราวาน และ กรรมาชน ที่เริ่มใช้เพลงเป็นกระบอกเสียงทางความคิดของขบวนการนักศึกษา โดยในช่วงปี 2516-2519 มีเพลงแนวนี้ออกมามากถึง 200 เพลง ตามการศึกษาของ ณัฏฐณิชา นันตา ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)”
ต่อมาในช่วงปี 2525-2530 ในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงที่ณัฏฐณิชาตั้งข้อสังเกตว่า เพลงเพื่อชีวิตหันมาหยิบยกประเด็นอย่าง “ผู้นําที่มาจากการเลือกตั้ง การเสียดสีเรื่องทหาร นักการเมือง และนโยบายการดําเนินงานของรัฐบาล” เช่น ในเพลง “ประชาธิปไตย” ของ คาราบาว
ต่อมาในช่วงปี 2535-2540 เนื้อหาของเพลงยังคงสะท้อนปัญหาทางสังคมและการเมือง แต่ขยับขอบเขตไปทางด้านการด้อยโอกาส และการใช้ทรัพยากรในหลายภูมิภาค ก่อนที่ความลำบากทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 2538 จะเริ่มทําให้ศิลปินเพื่อชีวิตปรับตัวเข้าสู่ตลาดธุรกิจเพลงมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด และตอบความต้องการทางการตลาดที่ต้องการเนื้อหาเกี่ยวกับ ปากท้อง และความรัก จนทำให้เกิดเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต
เพลงเพื่อชีวิตหยุดอยู่กับที่
คำถามที่ว่า เพลงเพื่อชีวิตหยุดอยู่กับที่หรือไม่ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ย้อนไปเมื่อปี 2526 สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ได้ตอบคำถามเดียวกันนี้ในหนังสือ สานแสงทอง
“ถ้าพูดว่าการต่อสู้หยุด โอเค มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง การต่อสู้ที่รุนแรงนะ แต่พูดถึงเพลงเพื่อชีวิตไม่น่าจะหยุด มันอยู่ที่ศิลปินเราจะคว้าอะไรเพียงใดแค่ไหน” นักร้องนำวงคาราวานตอบผู้สัมภาษณ์
ด้าน ผศ. ดร. ไพบูลย์ โพธิ์หวังประสิทธิ์ ผู้ร่วมกับ ธนาภรณ์ ภูมั่ง วิจัยเรื่อง “เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตในสังคมการเมืองไทย” ในปี 2555 กล่าวว่า
“คนมักจะคิดว่าเพลงเพื่อชีวิตจะต้องพูดถึงการเมือง แต่จริง ๆ แล้วเพลงเพื่อชีวิตมันจะต้องรำพึงรำพันความลำบากในการใช้ชีวิตคน ซึ่งมันก็อาจจะเป็นได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมด้วย”
เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตในหนังสือรวมบทเพลง “ฅนเพื่อชีวิต” ในปี 2554 (ที่มา: งานวิจัย “เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตในสังคมการเมืองไทย : ตัวแทนของการกล่อมเกลาทางการเมือง”)
- ด้านความรัก 52%
- ด้านสังคม 27%
- ด้านการเมือง 13%
- ด้านเศรษฐกิจ 8%
งานวิจัยดังกล่าวศึกษาเนื้อหาจากเพลงเพื่อชีวิตที่ได้รับความนิยมในกระแสหลัก 316 เพลง พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักมากที่สุดที่ร้อยละ 52 ตามมาด้วย ด้านสังคม ร้อยละ 27 ด้านการเมือง ร้อยละ 13 และด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 8
โดยเฉพาะเพลงที่เป็นรู้จักโดยศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นใหม่อย่าง บ่าววี, แช่ม แช่มรัมย์ และ วิด ไฮเปอร์ นั้นมุ่งนำเสนอในเรื่องของความรักเกินร้อยละ 90
“ในช่วงหลังๆ ปรากฎว่าเพลงพวกที่เรียกว่าเพื่อชีวิตนี้ แทนที่จะรำถึงรำพันถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิต กลับเขยิบเข้าใกล้กับกระแสหลัก คือพูดถึงความรักแทน”
ผศ. ดร. ไพบูลย์ มองว่าเหตุผลทางธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิต
“ผมเข้าใจว่าเวลาทำเพลงปัจจุบันต้องคำนึงความต้องการของตลาด ถ้าพูดถึงความยากลำบาก ไม่พูดถึงความรักเลย ก็คงขายลำบาก”
การเมืองกับ “เผด็จเกิร์ล”
เรื่องของการเมืองกับดนตรีถูกนำกลับมาอยู่ด้วยกันในสื่อกระแสหลักอีกครั้ง โดยมิวสิควิดีโอของเพลง “เผด็จเกิร์ล” จากอัลบัมล่าสุดของวง แทททูคัลเลอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ชวนให้คิดถึงการเมืองและกิจกรรมของรัฐบาล ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง
“ผมมองว่า ทั้งชื่อเพลง เนื้อหาของเพลง และภาพใน MV มีประเด็นการล้อเลียนการเมือง คล้ายการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์” ดร. ไพบูลย์ กล่าวว่า เผด็จเกิร์ล นั้นก็เข้าข่ายเป็นเพลงเพื่อชีวิต เพราะมีเนื้อหารำพึงรำพันถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตในทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการล้อเลียน และกระทบกระทั่ง
ด้าน รัฐ พิฆาตไพรี มือกีต้าร์ของวงและผู้แต่งเพลง เผด็จเกิร์ล บอกว่าเนื้อหาของเพลงนั้นเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักชาย-หญิง จนเหมือนเป็นเผด็จการชีวิต และเขาไม่รู้สึกกังวลใจต่อกระแสตอบรับ
“ตลกมากกว่าครับ มันก็สนุกดี มันสุ่มเสี่ยงต่ออะไรมั้ยหรือการเมืองไหม ผมไม่มองอย่างนั้น เป็นการล้อเล่นธรรมดา มี ’44 Rules’ พ้องกับ ‘มาตรา 44’ หรืออยากได้เรือดำน้ำ หยิบเรื่องของ คสช มาล้อ ก็เป็นการหยิกแกมหยอกธรรมดา เราไม่ได้จะพูดถึงการเมืองโดยตรง ด้วยภาพที่มันเป็นเชิงแฟชั่น แล้วพอดูก็จะเห็นว่ามัน ไม่มีเจตนาจะเข้มข้มทางการเมืองอยู่แล้ว”
รัฐ บอกว่าทางวง “ไม่ได้อินการเมืองขนาดนั้น” อาจจะมีการนำมาล้อเล่นมากกว่าวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนตัวเขามองว่าบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้การพูดถึงการเมืองด้วยเพลงเป็นไปได้ยากขึ้น
“ผมเชื่อว่าตอนนี้มันต่อสู้กัน อย่างเมื่อก่อน ประชาชนอยู่ข้างเดียวกัน พูดอะไรก็พูดแทนด้วยกัน ตอนนี้พอมีอะไรพูดมาปุ๊บ มันไม่เหมือนกันทั้งหมด เพราะต่อให้คนไม่เลือกข้าง ถ้าไม่พูดว่าปรองดอง มารักกันเถอะ ต่อให้ซ้ายนิดเดียว ขวานิดเดียว ก็ถูกปัดไปสุดอยู่ดี หรือให้น้าแอ๊ดจะมาพูดทางรากหญ้า ก็จะว่าแดงรึป่าว หรือตรงกันข้าม ทั้งที่มันไม่ใช่เจตนาที่เขาอยากจะพูด มันเลยน้อยลงไปเยอะ”
ตัวแทนที่เพลงเพื่อชีวิตยังหาไม่เจอ
“ชีวิตสัมพันธ์” คือเพลงสุดท้ายบนเวทีคอนเสิร์ตสายธารสู่อีสานเขียว ที่ สุรชัย จันทิมาธร, ยืนยง โอภากุล, อัสนี โชติกุล, สุเทพ กระโดนชำนาญ ร่วมกับอีกหลายศิลปินเพื่อชีวิต รวมทั้ง สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล ที่ใส่เสื้อยืดพร้อมข้อความ “หยุดเขื่อนน้ำโจน” ขึ้นเวทีสนามกีฬากองทัพบกที่มีคนเข้ามาดูอย่างคับคั่ง
“ยามนี้เราจึงมาร้องเพลงร่วมร้องบรรเลงเสียงเพลงจากไพร เมืองนั้นมีความศิวิไลซ์เมื่อมีป่าไม้ต้นน้ำลำธาร” ช่วงเวลาประมาณ 8 นาทีที่พวกเขาร้องเพลงร่วมกัน อาจนับได้ว่าเป็นช่วงเวลารุ่งเรืองที่สุดของดนตรีเพื่อชีวิต ในการสื่อสารเรื่องราวในสังคมในสื่อโทรทัศน์ไทย และมีผู้ชมผ่านยูทิวบ์แล้วกว่า 1.8 ล้านครั้ง
ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะหาเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ที่จะทำหน้าที่ได้เหมือนกับเพลงของวงในยุคก่อน ตามความเห็นของ วรวิทย์ ตระกูลเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือเพลงเพื่อชีวิตหลายเล่มของสํานักพิมพ์วรรณสาส์น ผู้เริ่มทำงานเกี่ยวกับหนังสือเพลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525
“ไม่มีแล้วนะครับที่คุณถามถึง ไม่มีที่เหมือนเพลงรุ่นก่อน ๆ เพี้ยนไปเป็นลูกทุ่ง เป็นอย่างอื่นไปแล้ว”
วรวิทย์ บอกว่าทุกวันนี้ เพลงเพื่อชีวิตปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เนื้อหา แต่ได้กลายกลายเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และการแต่งกาย เขาเชื่อว่าคนที่ชอบเพลงเพื่อชีวิตแบบเก่าก็คงจะฟังเพลงจากสมัยนั้นต่อไป
“เพลงฉาบฉวยก็อาจจะฟังบ้าง ถ้าใครชอบแนวนั้น เดี๋ยวนี้ฟังอะไรแล้วมันก็ไม่น่าจดจำเท่าไหร่ เนื้อหาของเพลงมันหายไป มันไม่เล่าเรื่องเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนถ้าคุณฟัง คุณจะเดาได้ว่าช่วงไหน พ.ศ. อะไร เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนั้นเป็นยังไง”
http://www.bbc.com/thai/thailand-40640781