“คุรุชน” เป็นวงดนตรีที่ตั้งโดยอิทธิพลของกระแสการต่อต้านในแวดวงของนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยเฉพาะที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา สมาชิกประกอบด้วย ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง (จากจังหวัดหนองคาย) ศรัทธา หนูแก้ว (จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี) ลิขิต บุญปลิว (จากจังหวัดสุรินทร์) เป็นแกนหลัก
การออกแสดงครั้งแรกต่อสาธารณชนมาก ๆ เริ่มออกงาน การจับ 9 ผู้นำชาวนาและผู้นำนักศึกษา ซึ่งประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ได้ตั้งวงมาตั้งแต่ต้นปี 2517 แล้ว เป็นวงภายในซึ่งมาจากนักศึกษาที่มีฝีมือ มีความคิดคล้ายกัน ได้ออกค่ายร่วมกัน จัดตั้งวงดนตรีขึ้นมา
การเริ่มวงครั้งแรกมี 4 คน ผลงานเพลงแรกคือ คุรุชน ต่อด้วยเพลง ทะเลทอง ในปี 2518-2519 นั้นเป็นวงที่รับใช้การประท้วงมากที่สุด เพราะศูนย์นิสิตฯ เรียกใช้วงนี้ได้ง่ายที่สุด ทั้งนี้เพราะนักดนตรีนอนกันอยู่ที่ตึก ก.ต.ป. นั่นเอง
เพลงของวงคุรุชนนี้มีลักษณะแนวเพลงไทย เนื้อเพลงจะกล่าวถึงอาชีพครูเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของวงคุรุชน เช่น เพลงคุรุธรรม ดังมีเนื้อเพลงที่ว่า
“รุ่งอรุณเฉิดฉาย ชื่นฉ่ำใจผู้คน
ยังฝังในดวงกมล เราผองชนทั้งหลายใจเบิกบาน
เสียงดังก้องทั่วท้องฟ้า ใกล้มาแล้วไม่นาน
สังคมใหม่สุขสำราญ เพราะพวกมารสิ้นไป
มองฟ้าครามงามอำไพ ความเป็นไทเกิดแล้วในแผ่นดิน
ครูคือผู้สร้างสรรค์ ธรรมนั้นเป็นเทียนส่องชีวิน
ส่องไสวทั่วธรณินทร์ ชูแผ่นดินหลุดพ้นคนใจมาร”
เนื้อเพลงนี้บ่งบอกความยินดีที่ 3 ทรราชออกจากประเทศในความรู้สึกของนักศึกษาคิดว่าจะได้พบกับสังคมใหม่ ที่พวกเขาต้องการเห็นและจบลงด้วยทัศนะคติเกี่ยวกับอาชีพครู ที่พวกเขาศึกษาอยู่ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม โดยใช้ความเป็นธรรมในการแก้ไขสังคม
บทเพลงของคุรุชนมีลักษณะอิทธิพลงแนวเพลงคล้ายวงคาราวาน ที่มักจะมีแนวเพลงและเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีมี พิณ กีตาร์ หีบเพลงปาก (เม้าท์ออร์แกน) ต่อมาได้เพิ่มกลองบองโกและเครื่องทำจังหวะเข้ามาในช่วงหลัง
แนวความคิดของนักศึกษาวิทยาลัยกลุ่มนี้มีพื้นฐานที่มาจากสังคมชนบท คือ ทุกคนเป็นลูกชาวนา เห็นความทุกข์ยากของชาวนามาตั้งแต่เกิด ดังนั้นแนวความคิดในการตั้งวง การสร้างเพลง จึงสะท้อนความคิดในชนบท ความไม่เป็นธรรมในสังคม เพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงโฟล์ค หรือเพลงรำวง
เพลงของวงนี้มีทั้งหมด 14 เพลง และเคยอัดเทปขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งในชุดนี้มีเพลง“สงครามหรือสันติภาพ” ที่เป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่เข้ามาทำศึกสงครามในเวียตนาม และช่วงสุดท้ายพยายามเรียกร้องให้ประชาชนต่อสู้ขับไล่จักรวรรดินิยมนั่นเอง ดังเนื้อเพลงที่ว่า
“มาเถิดประชาร่วมสามัคคีร่วมใจ
สร้างชาติไทยก้าวไปได้เสรี
จักรวรรดินิยมต้องโค่นล้มอย่าให้มี
ไอ้อัปรีย์สิ้นไปไทยรุ่งเรือง”
เพลงนี้ใช้ทำนองเพลงมาร์ชมีเครื่องดนตรีหลัก คือ กีตาร์ เม้าท์ออร์แกน จังหวะเพลงเป็นจังหวะเร็วปานกลาง เป็นเพลงที่เกิดขึ้นมาในยุคต่อต้านอเมริกา เช่นเดียวกับผลงานของวงดนตรีอื่น ๆ
จากการฟังท่วงทำนองและจังหวะของเพลงในเทปของวงคุรุชนนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพลงโฟล์ค มีบางส่วนที่เป็นพื้นบ้านเป็นส่วนสำคัญ งานของวงนี้ออกขายเป็นเทป แต่เนื้อเพลงจะไม่ปรากฎในหนังสือเพลงพิราบขาว เล่ม 1 , 2 หรือในหนังสือความหมาย จึงเป็นเรื่องแปลกและเป็นข้อสันนิษฐานว่า เพลงเพื่อชีวิตที่แต่งขึ้นในยุค 3 ปีแห่งประชาธิปไตยเบ่งบานนั้นน่าจะมีมากกว่าที่ปรากฎหลักฐานที่ค้นคว้าจากหนังสือเพลงต่าง ๆ และได้สูญหายไปบ้าง
วงนี้มีนักร้องหญิงที่มีเสียงไพเราะและเคยเป็นวงที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่เดิม ถึงแม้จะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพต่าง ๆ แต่ก็ยังสามารถมาร่วมทีมร้องเพลงโชว์วงแนวเพื่อชีวิตของตนได้อย่างเดิม ในวาระที่ต้องการจะแสดงระลึกถึงความหลังในสมัยก่อน