Photo from Facebook: Wat Wanlayangkoon

จากภูพานถึงลานโพธิ์
คำร้อง : วัฒน์ วรรลยางกูร
ทำนอง : สุรสีห์ ผาธรรม


ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก
ได้จารึก หนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ
มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ

เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน

มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นถูพาน

อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่
สู่มหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดผเด็จการ
อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง

สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ
พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร

ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบเหงา
ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย
จะกลับไปกลีดเลือดพาล ล้างลานโพธิ์

จากบทประพันธ์ของ สหายร้อย หรือ วัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา ไว้ในรูปร้อยกรอง เมื่อครั้งที่วัฒน์เดินทางผ่านเขตจรยุทธ์ แถบชายป่า อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ก่อนจะขึ้นไปสู่ฐานที่มั่นภูพานในเวลาต่อมา เพื่อนร่วมอุดมการณ์คนหนึ่งเสนอให้ลองแปลงบทกวีเป็นเพลงในภายหลัง จึงมีการนำมาบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2520 โดย วง 66 ซึ่งการรวมตัวของนักศึกษา ม.เกษตรฯ กับ ม.ขอนแก่น ที่มีความถนัดทางด้านดนตรี

สหายฟา ยาดำ หรือ สรรเสริญ ยงสูงเนิน ซึ่งเป็นคนตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อดีตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ขับร้องเพลง “ดินสอโดม” (จากภูพานถึงลานโพธิ์) บันทึกเสียงเป็นคนแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2520

ส่วนผู้แต่งเพลง วัฒน์ วรรลยางกูร นั้นเติบโตและซึมซับ วรรณกรรมด้านกวีครั้งแรกจากคอลัมน์แวดวงกวีใน นิตยสาร คุณหญิง ที่พ่อซื้อมา กระทั่งเมื่ออยู่ประถม 7 ก็เริ่มแต่งกลอนครั้งแรกเป็นกลอนรัก ต่อมาก็เริ่มส่งผลงานออกสู่แวดวงภายนอกทั้งบทกวี และเรื่องสั้น ด้วยความมานะบากบั่นก็เริ่มประสบผลสำเร็จ จากเรื่องสั้นในหนังสือ ยานเกราะ (สมัยนั้น) ต่อมาก็มีผลงานกวีใน นิตยสารชัยพฤกษ์

หลังจากนั้นเขากลายเป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าป่า หรือออกจากป่าตราบจนปัจจุบันก็ตาม เขามีผลงานมากมายที่ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านและแวดวงวรรณกรรม รวมทั้งเคยได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรท์อยู่บ่อยครั้ง ผลงานที่ผ่านมาเช่น กลั่นจากสายเลือด, ฝันให้ไกลไปให้ถึง, รอยสัก (กวีนิพนธ์), ตำบลช่อมะกอก, ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, คือรักและหวัง, บนเส้นลวด (นวนิยาย), นกพิราบสีขาว, ฝุ่นรอฝน, นครแห่งดวงดาว, สิงห์สาโท และ มนต์รักทรานซินเตอร์ อันลือลั่น เป็นต้น

จากลานโพธิ์ถึงภูพาน เป็นเพลงอมตะอีกเพลง ที่ยังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักกิจกรรม เนื้อหาของเพลงดูหนักแน่น เห็นภาพ เป็นการบรรยายถึงภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้อย่างชัดเจน จึงไม่แปลกเลยที่ทุกครั้งที่เพลงนี้ดังขึ้นเมื่อไร ก็จะเรียกหยดน้ำตาจากผู้ฟังได้เมื่อนั้น

วัฒน์ วรรลยางกูร เล่าว่า… “เพลงดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก ผมอยากจะสรุปว่ามันเป็นกลอนหรือเพลงประเภทผีจับยัด คือสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นใจให้เกิดขึ้น

ในวาระทบทวนความจำ 6 ตุลา จึงไม่มีความรู้สึกโอ่โถงใด ๆ ทั้งสิ้น
(เพราะหลายต่อหลายคนได้เสียสละมากมายก่ายกองเกินเปรียบเทียบ) ว่าเริ่มแรกดินสอโดมเป็นบทกลอนที่ผมเขียนในราวกลาง – ปลายเดือน ตุลาคม 2519 ในเขตจรยุทธ์ แถบภูซากลาก ภูเตี้ย แถบชายป่าอำเภอส่องดาว สกลนคร เป็นช่วงเวลาที่พักรอคำตอบจากฝ่ายป่าว่า จะเอาอย่างไรกับคนไม่มีหัวนอนปลายตีนอย่างเรา ที่กระเซอะกระเซิงไปพึ่งเขาโดยไม่ได้ติดต่อหรือรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน อันเป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพราะการจะรับใครเข้าไปอยู่ด้วยก็ต้องตรวจสอบ

ระหว่างการรอคอยอันน่าเบื่อนั้น สหายนักรบลูกหลานชาวนาก็มักจะถามไถ่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และให้ไปเล่าต่อหน้าที่ชุมนุมนักรบทหารป่า ผมเป็นคนที่พูดไม่เก่ง ไม่ใช่นักไฮปาร์ค ก็เลยใช้วิธีเขียนกลอนบอกเล่าแทน

ระหว่างนั้น คณะของ สมคิด สิงสม
(ผู้เขียนเพลงฅนกับควาย) ก็เดินทางมาเจอกันโดยมิได้นัดหมาย เขาก็คงมาจากหมู่บ้านซับแดง ขอนแก่น ในคณะของสมคิด ก็มีผู้ที่มาหลบภัยเผด็จการเป็นการชั่วคราว คือ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ และ สุรสีห์ ผาธรรม (ผู้กำกับภาพยนต์ เรื่อง ครูบ้านนอก)

ผมจัดการขอใช้พิมพ์ดีดของจัดตั้ง ซึ่งเขาเป็นเลขาฯ จังหวัด
(เทียบเท่าตำแหน่งผู้ว่าฯ) พิมพ์กลอนใส่กระดาษคาร์บอนก๊อปปี้แจกจ่ายให้คณะของสมคิดอ่าน พอสุรสีห์อ่านแล้วเขาก็บอกว่าในกลอนนั้นมีท่วงทำนองไพเราะ มีเสียงสูงเสียงต่ำ น่าจะแปลงเป็นเพลงได้ แล้วเขาก็ลองฮัมเป็นตัวอย่างตรงท่อนสุดท้ายที่ว่า …ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย

สุรสีห์ หลบภัยอยู่สักหนึ่งสัปดาห์ ก็พากันกลับเข้าเมืองกับ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ จนได้มากำกับฯ ภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอก อันแสนจะโด่งดัง

ผมนั่งไล่ทำนองกลอนให้เป็นเพลง ด้วยความหนักใจว่ามันจะจำเจ น่าเบื่อ เพราะแพทเทิร์นของกลอนนั้น แต่ละวรรคจำนานคำเท่ากันหมด ขณะที่เพลงนั้นจำนวนคำจะมากน้อยตามลีลา นาทีนั้นผมไม่คาดคิดหรอกว่ามันจะเป็นเพลงที่ร้องข้ามทศวรรษมาได้ มีแต่เจตนาจะเล่าเหตุการณ์ยุ่งเหยิงให้รวบรัดเข้าใจง่าย และจำได้หากต้องการจำ

ต่อมามีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาสมทบอีกหลายสิบคน คราวนี้แหละครับที่การเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกจำลองเป็นละคร ที่ทำเอาคนดูร้องวี้ดว้ายไห้ห่ม บางทีถึงกับขึ้นมาไล่ทุบตีผู้แสดงเป็นฝ่ายกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน
(บางคน) ที่ทำร้ายนักศึกษา และข้อห้ามสำคัญระหว่างดูละคร ให้วางอาวุธไว้ไกลมือ เกรงจะเกิดความแค้นทางชนชั้น อย่าลืมว่าทหารป่าเหล่านี้ ต้องเข้าป่ามาเพราะการเข่นฆ่า การปราบปรามของรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ช่วงปี 2508-09 เป็นต้นมา

พอการแสดงละครถึงช่วงท้ายก็จะปิดฉากด้วยกลอน ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก แล้วค่อยพัฒนาเป็นเพลง”

ส่วนเรื่องชื่อเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” หรือ “จากภูพานถึงลานโพธิ์” คือจริง ๆ แล้วมันชื่ออะไร

วัฒน์ วรรลยางกูร เล่าว่า… “ชื่อแรกมัน จากลานโพธิ์ถึงภูพาน แต่คนฟัง ฟังจากวิทยุใต้ดินเขาก็นึกกันว่า เป็น จากภูพานถึงลานโพธิ์ คือคิดว่าเป็นคนที่ภูพานร้องให้คนที่ลานโพธิ์ฟัง จริง ๆ แล้วมันเป็น จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ที่เราตั้งไว้ คือเล่าเรื่องไว้จากลานโพธิ์เดินทางไปถึงภูพาน แต่คนฟังเขานึกจากมุมของเขาว่าเป็นสิ่งที่คนร้องจากภูพานส่งมาถึงลานโพธิ์ แล้วก็เป็นอย่างนั้น”

จากลานโพธิ์ถึงภูพาน (วัฒน์ วรรลยางกูร)
จากลานโพธิ์ถึงภูพาน (สุรชัย จันทิมาธร)