วัย 41 ของเขาบันทึกเรื่องราวไว้มากมายทีเดียว ในฐานะเป็นคนเขียนรูปที่ไม่ยอมเรียกตนเองว่าศิลปิน เล่นดนตรีหาเงินเรียน แต่งเพลง ออกเทป 4 ชุด เขียนหนังสือมีคำและภาพสวย ๆ ผ่านนิตยสาร
จะเรียกเขาว่ากวีก็คงไม่ผิด ลองสัมผัสกลอนสี่วรรคนี้ดู
“ฝากสายน้ำไหลถึงเธอ
ฝากลมบอกเธอฉันเหงา
ฝากสายฝนหล่นลงเบาเบา
ฝากรักแนบเนาข้างกายและใจ”
ใช่… มันเป็นบทกวีและท่อนหนึ่งของบทเพลงที่กลายเป็นอมตะไปเสียแล้ว นักร้องมีชื่อเสียงมากมายหลายรุ่นนำไปขับร้องและโด่งดัง เขานั่นแหละเป็นเจ้าของผลงานตัวจริง
นึกคุ้นทำนองเพลงเพลงนี้แล้วใช่ไหม
“อรรณพ ศรีสัจจา” คนของสายน้ำคนนี้เป็นหนุ่มบ้านแพ้ว พ่อรับราชการ แม่ค้าขาย เป็นคนที่เกิดและโตในแวดล้อมของธรรมชาติในชนบทแถวนั้น รู้จักคูคลองและแม่น้ำดี แต่ร่ำเรียนศิลปะด้านเครื่องเคลือบดินเผาที่เพาะช่างในสมัยนั้น
แต่เขาชอบที่จะเขียนสีน้ำ เขียนหนังสือ รังสรรค์บทกวี แต่งเพลงเล่นดนตรี ร้องเพลงเสียมากกว่า
เป็นที่รู้จักกันในแวดวงหนึ่ง ในชื่อเป้ สีน้ำ มีข่าวคราวออกมาอยู่เนือง ๆ เกี่ยวกับโครงการวาดภาพสีน้ำ ปักหลักเขียนภาพ ในป่าเขาที่เชียงใหม่ ถึง 7 ปี และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนมาถึงบ้านเกิด ปัจจุบันเปิดอบรมศิลปะและแสดงผลงาน
มุมนี้ อาจจะไม่แปลก หากไม่ได้สัมผัสชีวิตอีกด้านหนึ่งของเขา เขาเป็นคนมีความมุ่งมั่นในความใฝ่ฝันอย่างหนักแน่นและไม่เปลี่ยนแปลง
เป้หันหลังให้กับกรุงเทพฯแหล่งทำมาหากินอยู่พักใหญ่หลังออกจากงานประจำ และเปิดร้านเหล้าเล็ก ๆ แถวเพาะช่าง เขาเชื่อบ้านนั้นให้ความอบอุ่นที่สุดในชีวิตและน่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีของศิลปินทุก ๆ คน
“คนที่จะทำงานศิลปะได้นั้นจะต้องมีพื้นฐานจิตใจที่เป็นปกติพอ หมายความว่ามีความอบอุ่นใจจากถิ่นฐานบ้านเกิด หรือที่เรียกว่ามีที่พึ่งทางใจ เพราะว่าคนที่ทำงานศิลปะนั้นจะมีภาวะที่เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวไป เดี๋ยวกลับ เอาดีไม่เอาดี อารมณ์แปรปรวนเยอะมันขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิต แล้วก็เลือกที่จะหางานทำ เลือกที่จะไม่ทำมัน เลือกที่จะมีชีวิตที่เป็นปกติสุข…”
“นี่แหละคือส่วนสำคัญที่ทำให้ได้ทำงานได้ มีพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างเป็นสุข อบอุ่นใจ คือมีบ้านที่บ้านแพ้ว สมุทรสาคร แล้วก็มีธรรมชาติที่สวยงาม คือเกิดมากับคลองที่ไหลผ่านหน้าบ้านในลักษณะที่ดื่มกินได้เลย อาบน้ำแปรงฟัน อันนี้แหละคือสิ่งที่สำคัญ ทำให้เรามีความสุขและมั่นคงในชีวิต ในการทำอะไรสักอย่างก็เลยนำพามาสู่ศิลปะ”
เป้ทิ้งเงินเดือน กลับไปอยู่บ้านกับมีรายได้แค่เดือนละ 1,500 บาท แต่สิ่งที่ได้คืนคือความสุขและอบอุ่น กับพ่อแม่ที่เข้าใจในตัวเขา
“คือผมออกมาเปิดร้านอาหารคือต้องการหาอาชีพที่จะรองรับชีวิตสักอย่างหนึ่ง แล้วใช้เวลาว่างในการเขียนรูป เผอิญว่าผมเป็นนักดนตรีมาก่อนตอนที่ผมเรียนหนังสือนี้เพื่อที่จะหาเงินเรียนหนังสือ ก็มีพื้นฐานทางด้านดนตรีอยู่บ้าง ก็เล่นก็อะไรมาตลอด ก็เขียนเพลงบ้างแต่หลักนี้ผมอยากที่จะวาดรูปคิดที่จะวาดรูป ถ้าหาที่วาดรูปได้ก็วาดรูปไปเรื่อย ๆ”
เขาหมายถึงร้าน “กระสอบ” ผับเล็ก ๆ แถวเพาะช่างที่เป็นเจ้าของ
ในเวลาใกล้เคียงกันก็ได้ผลงานมากพอที่จะเปิดแสดง เป็นภาพธรรมชาติที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและชนบทใกล้บ้าน รวมถึงแม่น้ำ งานชุดแรกของเขาชื่อ A Home Return ซึ่งมีความหมายในตัวอย่างดี
แล้ววันหนึ่งสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจก็บรรลุ เขาตัดสินใจซื้อเรือกระแชงที่ฝันไว้ อาจจะช้าไปแต่เขาก็ได้ทำ เพราะความผูกพันกับภาพในอดีตที่สวยงาม
เมื่อสักสิบปีก่อนเขาเริ่มสานต่อความฝัน เมื่อลองทำหลายสิ่งมาแล้วรวมทั้งงานประจำเป็นลูกจ้าง ออกตระเวนเขียนภาพ และเก็บเงินได้ก้อนเล็ก ๆ ราว 65,000 บาท ไปซื้อเรือกระแชงมาลำหนึ่งจากชาวเรือแถวอยุธยา เป็นเรือกระแชงไม้ลำเขื่องที่ไม่มีเครื่องยนต์ใด ๆ ขึ้นคานจอดไว้ อยู่ชายน้ำ และแปลงมันเป็นบ้านพัก และที่ทำงานเขียนภาพ
ความฝันครั้งล่าสุดของเขาเริ่มต้นที่ที่นั่น กรุงเทพฯ บ้านแพ้ว อยุธยา เป็นเส้นทางที่ใช้ปกติ เขา นอนกินและเขียนภาพอยู่บนเรือลำนั้น รอฝัน และความมุ่งมั่นเป็นจริง
มันเริ่มต้นคล้ายกับความฝันของ เคล้า โมเน่ท์ ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อก้องโลกชาวฝรั่งเศส เจ้าของภาพบึงบัวอันเลื่องชื่อ ที่ปรารถนาจะล่องเรือในแม่น้ำในยุโรปเพื่อบันทึกธรรมชาติ แสงอันอุ่นของแดดด้วยสีสัน
คล้ายแต่ไม่เหมือน!
เรือลำนี้ คือ “ปโยชนม์” ซึ่งมีความหมายถึง เป็นของลำน้ำ หรือลูกแม่น้ำ หรือเกิดในลำน้ำ ชื่อนี้ เรือลำนี้ และความคิดฝันของเขา รวมเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่วันนั้น
“เราโตมากับแม่น้ำ มันห้ามยาก เพราะทุกครั้งที่นั่งรถข้ามแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ก็มีความรู้สึกว่าจะต้องมานั่งเรือล่องอย่างแน่นอน เพราะว่ามันเตือนอยู่เสมอ เวลามันไม่เป็นสุขหรอกเราว่า มันรุนแรงกว่าที่เราจะห้ามมันแล้วถ้าเรารอ แม่น้ำก็เน่าซึ่งจะทำให้เราเจ็บปวดหนักกว่าเดิมอีก เมื่อก่อนนี้เราจะไปจอดที่ไหนก็ได้ พุ่งหลาว ตกปลา แต่เดี๋ยวนี้เราต้องพกน้ำดินขึ้นไปบนเรือแล้วเพราะน้ำมันเน่ามาก”
ถ้าบังเอิญได้ไปนั่งริมน้ำแถวแม่น้ำแม่กลอง หรือคูคลองละแวกใกล้เคียง และเหลือเห็นเรือกระแชงลำอ้วนๆ หรือที่รู้จักกันว่าเรือเอี้ยมจุ๊น ล่องไปตามลำน้ำ มีหนุ่มร่างเล็กกำลังนั่งเหม่อ หรือแวะปักขาหยั่งเขียนรูปที่ไหนสักแห่งนั่นเป็นเขา
น้อยคนจะรู้ว่าหนุ่มคนนี้นอนเรือมาเป็นปี ๆ จากแม่น้ำเจ้าพระยา ละแวกกรุงเก่า เขาเริ่มล่องเรือ ย้ายเรือ ไปสู่แม่น้ำป่าสัก เป็นช่วงยามที่ระหกระเหินแต่ก็มีความสุขอย่างแปลก สมหวังบ้างและเรียนรู้บ้าง
“เรือมันระหกระเหิน 8 ปีมานี้มันจอดมาหลายที่เหลือเกิน แม่น้ำป่าสักผมก็เคยไปอยู่ และที่แม่น้ำเจ้าพระยานี้ผมก็เคยอยู่มาปีเต็มๆ จอดเรืออยู่ ใช้เรือเป็นบ้าน ตอนนั้นเรือก็ยังไม่มีเครื่อง มีเพียงหลังคาสังกะสีโค้งๆ คือเรือนี้มันจะจอดง่าย ปีหนึ่งก็เหมือนบ้านก็อาศัยนอนและเขียนรูป”
และที่สุดเรือลำนั้นก็พร้อมที่จะวิ่งเองไม่ต้องลากจูง เขาเติมเครื่องให้มัน และเป็นคนถือหางเสือ ขับเรือล่องแม่น้ำและคูคลองที่ไปได้ย่านแม่กลอง ปัจจุบันเรือที่มีชีวิตลำนี้อยู่แถบคลองหมาหอนใกล้ละแวกบ้านและพร้อมจะบ่ายหน้าออกสู่แม่น้ำเสมอ
กว่าจะถึงวันนี้ ก็นับศตวรรษ เป็นช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ทั้งเสียงคัดค้านจากทางบ้านเพราะต้องใช้เงินหลายหมื่น กับความฝันที่ยังไม่เห็นรูปร่าง เงินซ่อมบำรุง และบางครั้งก็มีคนมาขอซื้อในราคาแพง เพราะมันกลายเป็นของมีค่าไปแล้ว สำหรับคนในวงการท่องเที่ยวโรงแรม เรือแบบนี้หาได้ยากในปัจจุบัน อาจราคาเรือนล้านอย่างที่เขาบอก
“มีความสุขครับ มีความสุขในแบบที่อธิบายยาก แค่นั่งหัวเรือที่เขาเรียกว่าดาดฟ้า แล้วซื้อเบียร์มากินสักขวดรู้สึกว่ามีความสุขมากสำหรับผมนะ ก็ชวนเพื่อนไปเที่ยวที่เรือ เพื่อนก็บอกว่าไม่เห็นจะมีอะไรเลย เพื่อนก็จะรู้สึกแปลก แต่ผมชอบนะ ความผูกพันมันต่างกัน”
ชีวิตจริงกับความฝันนั้นต่างกัน บางครั้งหนุ่มนักฝันก็ต้องเจอเรื่องช้ำบ้าง เพราะคน
“เราไปแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เพียงแต่ว่ามักจะโดนเอาเปรียบอยู่เสมอ ตลอดเวลาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรือ ทุกครั้งที่เอาเรือขึ้นคาน ในการซ่อม ในการนำช่างมาตีราคา มาทำเรือผม ต่อเติม อะไรที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ผมจะโดนเอาเปรียบทุกอย่าง ก็เราเดี่ยวเข้าไป”
“ผมลุยเข้าไปในกลุ่มคนเรือ พี่สะใภ้ผมยังบอกเลยว่าผมเหมือนเป็นสมันหนุ่ม ที่เข้าไปอยู่ในท่ามกลางเสือ สิงห์ กระทิง แรด แต่ว่าเราไม่รู้มันก็ต้องอย่างนั้น เช่นไม่เขาซื้อกัน 1,000 กันเราก็ซื้อ 2,000 แบบนั้น”
“ผมเคยคิดที่จะขายเรืออยู่ครั้งหนึ่ง คือจนไม่มีเงิน แล้วก็มีคนที่อยากจะได้เรือผมเยอะ เดี๋ยวใครๆ ก็มาดูเรือผม เพราะเขาบอกว่ามันสวย มันดี แข็งแรง พวกที่ทำเรือขายโรงแรมก็จะซื้อเรือผม ผมก็ตัดใจไม่ขาย แต่พอมานึกดูว่าที่เรามาทำงานที่กรุงเทพฯนี้ก็เพราะว่าอยากที่จะได้เรือ ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่ขาย เพราะถ้าเราขายก็เหมือนกับเราไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ก็เลยดันทุรังมาเรื่อยๆ ไม่มีใครเห็นด้วยกับผมเลยสักคน แม้กระทั่งที่บ้าน”
ฝันของเป้ยังไม่จบ ใช่ว่าเขาฝันเฟื่องจะล่องเรือเขียนภาพอย่างศิลปินเดี่ยว สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง คือ ความผูกพันกับสายน้ำ ความเปลี่ยนแปลงที่น่าหดหู่ น้ำเน่าเสีย และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป แม่น้ำใสที่เคยเป็นสายเลือดแห่งชีวิต
“ครับ เดี๋ยวนี้บ้านหันหลังให้แม่น้ำ ทั้งที่เมื่อก่อนมันเป็นหน้าบ้าน ทุกคนใช้แม่น้ำ เป็นทุกอย่าง แต่เดี๋ยวนี้เป็นถนน”
โครงการที่จะสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ผุดขึ้นในวันหนึ่ง จากตนเองสู่โรงเรียนริมแม่น้ำ และคนในละแวก เขามุ่งหน้าต่อไป
“โครงการนี้ผมคิดก่อนที่จะมีเรืออยู่ แล้วโครงการล่าสุดของผมคือ โครงการเรือศิลปะ ผมคิดมาตั้งนานแล้ว อยากทำ ผมรู้ดีว่าเด็กแม่น้ำนี้ หรือว่าเด็กริมคลอง ถ้ามันมีความผูกพันในช่วงวัยหนึ่งนั้น จะรักแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนผม เป็นผม หรือว่าเป็นใครก็ตาม เช่นคนขับเรือที่ทำงานอยู่กับผม เขาทำงานอยู่ช่วงหนึ่งโตขึ้นเขารักแม่น้ำ และตอนนี้ก็มีหลายคนที่แล่นเรือกับผม ถ้าไปเติมฝันกับเด็ก ๆ บ้างสักวันเขาอาจจะเป็นตัวแทนของเราบ้าง เผื่อมันจะได้รักแม่น้ำบ้าง เผื่อมันจะได้ทำอะไรให้กับบ้านเกิดของมันบ้าง อันนี้คือสิ่งที่อยู่ในใจ”
และมันก็เริ่มจะเป็นจริงลาง ๆ เพราะครูและโรงเรียนเริ่มสนใจที่จะเข้าร่วม หรือเชิญให้เข้าร่วมในกิจกรรมของโรงเรียนริมแม่น้ำ
โครงการแรก เขากำลังจะจัดค่ายขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
“คือผมจะสัญจรไป จะไล่ไปเรื่อยเลยตั้งแต่ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ไปเรื่อยๆแล้วก็เก็บรายละเอียดระหว่างทาง ภาพสวยอาจจะเป็นภาพนิ่งถ่ายภาพบ้าง เขียนรูปบ้าง และอาจจะชวนผู้ที่สนใจธรรมชาติไปเก็บข้อมูลอะไรก็ตามแต่ ถึงโรงเรียนปั๊บเราก็เตรียมขึ้นไปจัดนิทรรศการ จัดค่าย เราอาจจะไปฉายสไลด์ให้เด็ก ๆ ดู แล้วเราก็เอาเด็กมาเรียนวาดรูป แล้วก็พาพวกน้อง ๆ ล่องดูแม่น้ำชมความงาม อาจจะใช้เวลาแค่ 2 วันแล้วก็จบ 3 วันก็ค่อย ๆ ไปอีกเรื่อย ๆ เราก็ต้องหาเงินหาสปอนเซอร์ พอรูปแบบโครงการมันชัดเจนแล้ว ผมก็จะมีเงินพอที่จะมาทำงานนี้ คงไม่ใช่เราทั้งหมด”
เป้จัดกิจกรรมเล็ก ๆ พาสมาชิกและผู้สนใจออกล่องเรือสองสามครั้งเมื่อช่วงลอยกระทงและปีใหม่ เพื่อสังสรรค์ เขียนภาพ และแนะนำตัว “ปโยชนม์” สตูดิโอลอยน้ำลำนี้ และเป็นจุดเริ่มที่มีผู้คนรู้จักมากขึ้น
เป็นเวลานานทีเดียว กว่าปโยชนม์จะปรากฏเป็นจริงอยู่เบื้องหน้า เหมือนมันเป็นนิมิตจากภาพเขียนของ “เป้ สีน้ำ” แต่มันก็เป็นจริงขึ้นมาแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ความฝันของ “อรรณพ ศรีสัจจา” คนนี้ ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่สายน้ำและผู้คนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามเวลา
ไม่ง่ายกว่ามันจะเป็นจริง และไม่ยากที่จะทำให้มันเกิดขึ้น
ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น…
ธรรมศักดิ์ พึ่งตนเพียร
นสพ. มติชน, 12 มกราคม 2546