“รวมพลังพวกเราเหล่ากรรมกรไทย
เทิดเกียรติไว้ด้วยใจมุ่งมานะบากบั่น
ตื่นเถิดสามัคคีพร้อมเพรียงร่วมใจกัน
เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและโลกทั้งมวล

หยาดเหงื่อและแรงงานที่หลั่ง
เปรียบดังกระแสธารกว้างใหญ่
ที่หล่อเลี้ยงชีวิตมวลประชาไทย
และพัฒนาโลกให้รุดเร็วมา

นำขบวนการสังคมไม่หวาดหวั่น
เป็นกองทัพหน้าสำคัญที่ฟันฝ่า
อย่างเชื่อคำที่มอมเมาว่าเราไร้ค่า
โลกก้าวมาเพราะงานและเหงื่อชนชั้นใด

ใครเล่าคอยกั้นกาง ใครเล่าขวางพลังเราไว้
กรรมกรจงตื่นเถิด เพื่อรวมพลัง
รวมกันพลัน ทำลายเพื่อชิงเอาชัย
สามัคคีก้าวตรงไป ชัยย่อมเป็นของเรา”

เพลง “มาร์ชกรรมกร” นี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเอื้องฟ้า พ.ศ. 2500 แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ น่าจะแต่งเพลงนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย การเกิดขึ้นของเพลงนี้ จิตร ต้องการที่จะปลุกเร้ากรรมกรให้เห็นพลังของตัวเอง ให้รู้ว่าตัวเองเป็นทัพหน้าในการเปลี่ยนแปลงสังคม และต้องการให้เป็นที่เผยแพร่ในหมู่กรรมกร จึงแต่งด้วยคำง่าย ๆ อ่านแล้ว ร้องแล้ว เข้าใจอย่างชัดเจน ความต้องการของ จิตร เช่นนี้ได้รับการขานรับระดับหนึ่งจะเห็นได้จากบทความเรื่อง “เทพีที่ประชาชนปรารถนา” ในคอลัมน์ “ศิลปวิจารณ์”หนังสือพิมพ์ปิตุภูมิ ระหว่าง พ.ศ. 2499-2500 ของจิตรเอง

“เสียงเพลงมาร์ชกรรมกร อันทรงพลังดังกระหึ่มกังวานและกึกก้องไปตามความยาวของถนน ผู้ร้องก็คือมวลกรรมกรผู้เข้าร่วมเดินขบวนฉลองปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2499 ขบวนยาวเหยียดของเขาดูคล้ายกระสารอันกว้างใหญ่ และเร็วแรงที่ทั้งหล่อเลี้ยงสังคมและทั้งเป็นกองทัพหน้า ในการรังสรรค์สังคมใหม่ ขบวนของเขาในวันนั้นดูคล้ายกับกระแสธารอันกว้างใหญ่ และดูคล้ายกับกองทัพหน้าอันเกรียงไกร ช่างเหมาะเจาะกับเนื้อของเพลงที่เขาร้องเสียนี่กระไร”

ขอให้สังเกตุว่า จิตร เรียกเพลงนี้ว่า “มาร์ชกรรมกร” แต่มาในรุ่นหลังเห็นเรียกกันว่า “มาร์ชกรรมกรไทย” จนติดปาก

ส่วนที่บอกว่าเพลงมาร์ชกรรมกร ได้รับการขานรับจากกรรมกรหรือประชาชนระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เผยแพร่กว้างขวาง ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานจากจดหมายของผู้ใช้นามปากกาว่า “รักศิลป” ซึ่งเขียนจดหมายมาถามจิตรว่า

“เหตุไรเพลงไทยในปัจจุบัน จึงมีแต่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ครับ ทั้ง ๆ ที่ในสังคมนี้ก็ประกอบด้วยประชาชนผู้ทำงานและนักต่อสู้เพื่อประเทศชาติมิใช่น้อย และเหตุไรเพลงไทยจึงไม่ใคร่มีการร้องแบบ ‘ต้าเฮอะช่าง’ ของจีน (สังคีตประยุกต์ใช่ไหมครับ) ซึ่งเป็นเพลงที่บรรยายถึงการต่อสู้และปลุกใจมิให้ท้อแท้ อาทิเช่น เพลงของผู้ใช้แรงงาน เพลงเพื่อเยาวชนและสตรี เพลงของนักต่อสู้ผู้รักชาติ ฯลฯ (ปัจจุบันดูเหมือนมีอยู่สองเพลงเท่านั้นกระมัง คือ มาร์ชกรรมกร และ มาร์ชเยาวชน แต่ก็เหมือนไม่มีเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยินเลยแม้แต่ทำนอง)”

จิตร นำจดหมายนี้มาลงในบทความเรื่อง “เมื่อจักรพรรดินิยมผูกขาดศิลป” ของตัวเองในคอลัมน์ “ชีวิตและศิลป์” หนังสือพิมพ์สารเสรี ระหว่าง พ.ศ. 2500-2501

อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะเพลง มาร์ชกรรมกร หรือ มาร์ชเยาวชน หรอกที่ไม่เผยแพร่ในหมู่ประชาชน พูดได้ว่าทุกเพลงทีเดียว ที่มีแนวโน้มเนื้อหามาทางนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน สาเหตุหรือ จิตรแยกแยะสาเหตุเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. เพราะทรากเดนของแนวคิดทางศิลป์ของศักดินา ยังคงตกค้างมีอิทธิพลครอบคลุมอยู่
  2. เพราะอิทธิพลอของการรุกรานทางวัฒนธรรมที่หลั่งไหลมาจากตะวันตก ความพยายามของพวกนายทุนผูกขาดทางตะวันตก ที่จะชักจูงมอมเมาเยาวชนให้เหินห่างไปจากความสนใจในเศรษฐกิจและการเมือง
  3. เพราะความตื่นตัวทางศิลป์ยังไม่สูงพอในหมู่ศิลปินกลุ่มใหญ่ที่แต่งเพลงออกมาสู่ประชาชน ศิลปินผู้แต่งเพลงออกสู่ประชาชนไทยในปัจจุบันนี้ ยังคงอยู่นาภาพที่ปราศจากความสำนึกเสียเป็นส่วนมาก
  4. กำลังของศิลปินฝ่ายประชาชนทางด้านเพลงและดนตรียังอยู่ในสภาพที่เป็นรอง นั่นก็คือยังมีนักแต่งเพลงที่เป็นศิลปินของประชาชนเป็นจำนวนน้อยเต็มที จนแทบจะกล่าวได้ว่าเกือบไม่มีเลยถ้าจะเทียบกับในด้านนักเขียน นักวาด

ทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่ทำให้จิตร หันมาแต่งเพลงเช่นนี้ขึ้น

“ตื่นเถิดเยาวชนไทยทั้งผองน้องพี่
สามัคคีรักร่วมน้ำใจ
เยาวชนคืออาทิตย์อุทัย
สาดแสงกำจาเรืองรองแหล่งหล้า

ปลุกชีวิตและสร้างความหวังเจิดจ้า
เพื่ออนาคตผองเพื่อนไทย
ชาติประชารอพลังเราอันเกรียงไกร
ด้วยดวงใจร้อนรนเรียกรอ

มาตุภูมิและประชาชนนั้นคือดวงใจ
จักพิทักษ์รับใช้เทียมดวงวิญญา
ร่วมพลังสร้างสรรค์พัฒนา
ทั้งชาติและประชาไทยมุ่งสู่ความไพบูลย์”

เพลง “มาร์เยาวชนไทย” นี้ จิตรแต่งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2499 หรือต้นปี พ.ศ. 2500 (ก่อนเดือนกรกฎาคม) เพลงนี้ไม่แพร่หลายในหมู่ประชาชน มีสาเหตุเช่นเดียวกับเพลงมาร์ชกรรมกร แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่รับรู้และร้องเผยแพร่กันระดับหนึ่งในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น

คืนวันที่ 28 กรกฏาคม 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ไปส่งนักศึกษาไทยไปโซเวียตรัสเซีย ซึ่งนำทีมโดย สุวิทย์ เผดิมชัย ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นอกจาก จิตร แล้วเพื่อนนักศึกษาด้วยกันก็ไปส่งมากมาย ก่อนที่ตัวแทนนักศึกษาไทยทั้ง 7 คนจะขึ้นเครื่องบิน เสียงเพลงมาร์ชเยาวชนไทย ก็กระหึ่มก้องดังกังวานทั่วท่าอากาศยานกรุงเทพฯ จิตร ยืนยิ้มอย่างภูมิใจ

“ธรรศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย
ทุกคนล้วนใจปลื้มเปรมปรีดิ์
กลมเกลียวกันน้องพี่
เพื่อความสามัคคียืนนาน
เรามาชิงชัยชนะแพ้ใช่สิ่งสำคัญ
เล่นกีฬาร่วมกันเพื่อสมานสามัคคีพร้อมหน้า
เรามาชิงชัยแล้วใช่จักร้างรา
เรารับใช้ประชาในอนาคตกาลร่วมกัน
ธรรศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย
ธรรศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย
อย่าให้ใครบั่นทอนมิตรภาพของเรา”

เพลง “ธรรศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย” เป็นสมัยที่ จิตร เรียนหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ นักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้าทั้ง 2 สถาบันคือ จุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ ได้พยายามที่จะสมานความสามัคคีระหว่าง 2 สถาบันขึ้น เพราะเวลานั้นทางจุฬาฯ ได้ดูถูกธรรมศาสตร์ซึ่งยังคงเป็นตลาดวิชาที่ใคร ๆ ก็เข้าไปเรียนได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยไพร่ ทางจุฬาฯ ก็ถูกดูถูกดูแคลนว่าเป็นลูกผู้ดี มีแต่ลูกคนร่ำรวย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น นักศึกษากลุ่มก้าวหน้าทั้ง 2 สถาบัน ก็ได้อาศัยการกีฬาเป็นสื่อสร้างความสามัคคีกันขึ้น โดยพยายามเชิดชูคำขวัญที่เน้นความสามัคคีมากกว่าแพ้ชนะเน้นการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชน

จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเพลงนี้ก่อน พ.ศ. 2500 (ระหว่าง พ.ศ. 2496-2500 ) และเมื่อคราวที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทำหนังสือขนาดมโหฬาร “นิติศาสตร์ 2500” ฉบับรับศตวรรษใหม่นั้น ก็ได้นำเพลงนี้ทั้งโน้ตและเนื้อพิมพ์ท้ายเล่มด้วย แสดงถึงการพยายามผลักดันกระแสความคิดที่ดีงามขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักศึกษาหัวก้าวหน้า 2 สถาบันในสมัยนั้น แต่ต่อมานักศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักเพลงนี้กันนัก

“มิตร ร่วมรบ” ซึ่งเขียน “ชีวประวัติบางตอนของจิตร ภูมิศักดิ์” ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับ จิตร ภูมิศักดิ์ (ฉบับที่ 11-12 ปีที่ 3 เมษายน-พฤษภาคม 2519) ได้บอกว่า จิตรแต่งเพลงนี้โดยใช้ลักษณะรวมหมู่คือ แต่งเสร็จก็นำมาให้เพื่อนช่วยกันวิจารณ์เสริมข้อด้อย ติข้อเสีย

“มวลพี่น้องชนชาวไทย เร่งสำนึกระวังภัย
ศัตรูร้ายหมายรุกราน มุ่งรังควาญไทย
ประเทศมหาอำนาจชาติจักรวรรดินิยม
เขาย่ำยีและขี่ข่มอธิปไตย

บีบบังคับเศรษฐกิจสิทธิเสรี
เอกราชไทยไม่มีบริบูรณ์
เราชาวไทยต้องอาดูรยิ่งเพิ่มพูนความยากไร้
เพราะประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์

ดินแดนเราเขาแย่งไป กิจป่าไม้และยางไทย
ให้เขาลักสัมปทานกวาดกว้านเอาไป
ส่งสินค้าหลายชนิดผลิตขึ้นมาหากำไร
บีบบังคับผลิตภัณฑ์ไทยให้วอดวายลง

มุ่งประสงค์ครองสมบัติทรัพยากร
และบั่นทอนอิสระรัฐไทย พิฆาตไทยอย่างร้ายแรง
เกิดวุ่นวายจราจล ล้วนอิทธิพลของต่างชาติเข้าแทรกแซง
จงตื่นเถิด ชนชาวไทยสี่สิบล้านทุกเพศวัย

จงร่วมใจสามัคคีต่อต้านไพรี
ช่วยกันล้มล้างอำนาจชาติจักรวรรดินิยม
และโค่นล้มล้างศักดินาอย่าได้ปราณี
ช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจสิทธิเสรี

สร้างสรรค์ไทยเป็นธานีศรีวิไล
รักประชาธิปไตย เอกราชชาติไทย
เทิดทูนไว้ให้มั่นคงและสมบูรณ์”

เพลง “มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม” สมัยที่จิตรแต่งเพลงนี้ ระหว่าง พ.ศ. 2499-2500 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย พลเมืองของชาติไทยเรามีประมาณแค่ 40 ล้านคนเท่านั้นเอง ท่อนสุดท้ายของเพลงที่จิตรแต่งจึงมีว่า “จงตื่นเถิดชนชาวไทย สี่สิบล้านทุกเพศวัย จงร่วมใจสามัคคีต่อต้านไพร่” จากเนื้อเพลงที่ใช้คำตรง ๆ จะเห็นได้ว่าผู้แต่งพยายามปลุกเร้าให้ชาวไทยตื่นขึ้นมารับรู้ภัยของจักรวรรดินิยม และให้ช่วยกันต่อต้านอย่างถึงที่สุด

สมัยนั้นจักรวรรดินิยมได้เข้าแทรกแซงประเทศไทยในทุก ๆ ทาง แม้แต่การนำภาพยนตร์จากประเทศค่ายสังคมนิยมเข้ามาฉาย ในสมัยนั้นก็ถูกทางจักรวรรดินิยมอเมริกายื่นกระทู้สอบสวน เจมส์ รอเบอร์ตสัน รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศของอเมริกาได้ยื่นกระทู้สอบสวนต่อ พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดังนี้

“เพราะเหตุใดทางการไทยจึงยินยอมอนุญาตให้มีการฉายภาพยนตร์จากประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จากจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งชั่วในระยะเวลาอันสั้น ทางการไทยอนุมัติให้ฉายได้รวมถึง 22 เรื่อง”

ความไม่เป็นอิสระของชาติไทยในสมัยนั้น มีรูปการณ์ให้เห็นได้มากมาย และทางจักรวรรดินิยมอเมริกาช่วงนั้นก็มักใช้วิถีทางต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างกระด้าง ๆ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งผิดกันสมัยนี้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว

วันที่ 9 ธันวาคม 2499 มีงานฉลองพระราชบัญญัติแรงงานของกรรมกร ณ ห้องประชุมกระทรวงวัฒนธรรม มีการละเล่นการแสดงต่าง ๆ ของกรรมกร ในช่วงบ่ายมีการแสดงรีวิวสั้น ๆ 2 เรื่องเพื่อคัดค้านการช่วยเหลือแบบอเมริกา ซึ่งถนัดส่งแต่อาวุธให้ชาวเอเซียรบกันเอง ในตอนท้ายของรีวิวชุดที่หนึ่ง มีการ้องเพลงมาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยมด้วย

“ชาวนาไทยผู้ทุกข์ลำเค็ญ
ชีวิตเห็นเพียงความมืดมน
ลงแรงกายไถดำกรำทน
ผลิตข้าวเป็นผลเลี้ยงโลกเสมอมา
สิ่งตอบแทนคือเขากดขี่
เหยียดศักดิ์ศรีราวทาสไร้ค่า
ล้มละลายล้าหลังเรื่อยมา
เจ้าจักรพรรดินิยมล่ารุกราน
มวลชาวนาอย่าหยามพลังคนร่วมฝัน
สามัคคีชนชั้นคนงานกว้างใหญ่
เราผู้หลับมาเนิ่นนานไกล
ตื่นเถิดต่อสู้โค่นล้มผู้ขูดรีดเรา
ร่วมพลังเร็วมา สามัคคีร่วมใจ
มือที่เคยไถ เกี่ยวข้าวนี่ไซร้
พลังเกรียงไกร ใครจักทาน
เคียวที่คมวาววาม ไถที่เราชาญชัย
เกี่ยวศัตรูไป พลิกแผ่นดินไทย
สร้างชีวิตใหม่ ให้สุขศานติ์”

เพลง “มาร์ชชาวนาไทย” นี้ จิตร แต่งอุทิศให้ชาวนาโดยเฉพาะ สันนิษฐานว่าแต่งในคุกระหว่าง พ.ศ. 2503-2505 โดยใช้นามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง”

ทองใบ ทองเปาด์ วิจารณ์เพลงนี้ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาวว่า “ท่านจะเห็นความงาม ความแจ่มชัดและความเกรียงไกรอยู่ในเนื้อเพลงนี้อย่างสมบุรณ์” เพลงเกือบทุกเพลงของ จิตร นอกจากจะพรรณนาหรือบรรยายถึงความทุกข์ยากต่างๆ ในชีวิตของชนชั้นผู้ใช้แรงงานแล้ว มักชี้ให้เห็นทางออกด้วยเสมอ “มวลชาวนาอย่าหยามพลังตนร่วมกัน สามัคคีชนชั้นคนงานกว้างใหญ่” เพื่อที่จะได้ “เกี่ยวศัตรูไปพลิกแผ่นดินไทย สร้างชีวิตใหม่…ให้สุขศานติ์”

“เกิดเป็นคน ทุกแห่งหน แผ่นดินใด
ต้องเป็น ไททรนง ทรงเสรี
เราต้องมี ศักดิ์และศรี หยิ่งผยอง
อยู่อย่างคน ท้าทาย ดินฟ้า
เหลียวแลดู มวลชน ในแผ่นดินไทย
ไหนมีใครเป็นไท ที่สมศักดา
ร้าวรันทด โซ่ตรวน ตรึงตรา
ศักดินา ทำนา บนหลังเรานี้
จักรพรรดินิยมย่ำยี
เผด็จการผลาญชีวีเสรีชน
ลุกขึ้นเถิด มวลพี่น้องไทย
ชูโคมไฟ สัจธรรม ลัทธิสากล
เทิดทูน สิทธิมนุษยชน
ปลดไทยพ้นแอกร้าย ทลายไป
ตื่นจงพร้อมผองไทย
จงสามัคคี มาสู้กู้ศักดิ์ศรี
ชีวิตของคนขึ้นใหม่
ทลายล้างทุกข์เข็ญให้สูญสิ้นดินไทย
เพื่อสร้างชีวิตใหม่ ไชโย”

เพลง “เทอดสิทธิมนุษยชน” นี้สันนิษฐานว่า จิตร แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2503-2505 โดยใช้ชื่อว่า “สุธรรม บุญรุ่ง” เป็นผู้แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง

“เรารำวงวันเมย์เดย์ มาร้องฮาเฮให้ระรื่นชื่นบาน
คนงาน คนงาน คนงาน พวกเราอาจหาญด้วยพลังยิ่งใหญ่
(ป๊ะ โท่น ๆ ป๊ะ โท่น ๆ)
โลกที่เราร่มเย็น (โย้น ๆ) เย็นด้วยน้ำมือผู้ใด (ชะละว้า)
โลกที่เราร่มเย็น (โย้น ๆ) เย็นด้วยน้ำมือผู้ใด
หากมิใช่น้ำมือพวกเรา หยาดเหงื่อเราหลั่งละเลง
โลกที่เราร่มเย็น (โย้น ๆ) เย็นด้วยน้ำมือผู้ใด (ชะละว้า)
โลกที่เราร่มเย็น (โย้น ๆ) เย็นด้วยน้ำมือผู้ใด
หากมิใช่น้ำมือพวกเรา หยาดเหงื่อเราหลั่งละเลง”

เพลง “รำวงวันเมย์เดย์” นี้แต่งเนื้อร้องและทำนองโดยใช้นามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง” แต่งขึ้นเพื่อใช้ร้องเฉลิมฉลองวันเมย์เดย์ (1 พฤษภาคม) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันกรรมกร”

แต่ จิตร จะแต่งฉลองวันเมย์เดย์ปีไหนไม่ทราบแน่ สันนิษฐานเอาไว้ว่าคงแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2503-2505 เพลงนี้เนื้อร้องง่าย ๆ ให้กรรมกรร้องเพื่อที่จะได้ตระหนักถึงพลังของตัวเอง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสร้างขึ้นได้ด้วยสองมือ พระเจ้าตามคติไสยศาสตร์นั้นไม่มี สองมือของคนนี่แหละคือพระเจ้า สองมือเป็นผู้สร้าง

ข้อสังเกตุ จิตร สามารถนำเนื้อหาที่ก้าวหน้ามาใช้กับทำนองเพลงรำวงกลองยาวได้อย่างเหมาะสม เข้ากับบรรยากาศไทย ๆ และเข้ากับบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวบ้านได้อย่างดียิ่งทีเดียว