Photo from Facebook: ศุ บุญเลี้ยง

บทเพลงใต้แสงดาว
คำร้อง – ทำนอง :
ศุ บุญเลี้ยง

ผ่านไปคล้ายดังสายน้ำไหล
จากไกลแล้วไม่ลืมคำสัญญา สัญญา
ฝากดวงดาวส่องแสงส่องนำชีวา
แผ่นดินกว้างกว่าพาเราห่างกันแสนไกล

ให้เป็นเหมือนดังตะวัน
จากกันแล้วยังหมุนเวียนกลับมา กลับมา
หากชีวิตเผชิญกับโชคชะตา
ให้วันเวลาบ่มเธอขึ้นมาสู้มัน

อาจมีเมฆมาบดบัง
แต่เราก็ยังเฝ้ารอ เฝ้ารอ
ค่ำคืนหนาวที่แสงดวงดาวถักทอ
ขอเธออย่าท้อฝากความห่วงใยส่งไปถึงกัน

“ผมได้รับชวนให้ไปถ่ายทำรายการทุ่งแสงตะวัน ปกติแล้วรายการนี้ผมเป็นคนช่วยดูแลเพลงประกอบอยู่ แต่นาน ๆ จึงจะได้ไปกับเขาสักครั้งหนึ่ง มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาจะไปถ่ายทำบนโรงเรียนเรือนแพ ทีมงานเขาบอกว่า บรรยากาศที่จะไปถ่ายทำบนโรงเรียนแห่งนี้เด็ดขาดมาก เด็ก ๆ เรียนกันอยู่บนแพ และเขาตั้งชื่อตอนว่า เรือนแพ-เรือนเพลง เขาอยากจะให้ผมไปเล่นดนตรี ร้องเพลงกับเด็ก ๆ บนแพ ผมก็เลยนั่งรถ และนั่งเรือหางยาวไป ผมซึ่งมีหน้าที่แต่งเพลงประกอบอยู่แล้ว ก็เลยแต่งมันที่นั่นเลย ท่อนแรกที่แต่ง ผ่านไปเหมือนกับสายน้ำไหล นั่งอยู่ริมน้ำ พร้อมกับนึกว่าเดี๋ยวเราก็ต้องจากกับเด็กแล้ว ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป เราไม่ได้มาช่วยอะไรเขาหรอก แต่งไปจนจบท่อนแรก ท่อนสองก็นึกถึงแง่ดีขึ้นมาว่าบางอย่างมันอาจจะผ่านไป แต่บางอย่างมันก็วนกลับมา หากชีวิตเผชิญกับโชคชะตา ให้วันเวลาบ่มเธอขึ้นมาสู้มัน

ท่อนที่ 3 แต่งต่อไม่ได้ ก็ขึ้นไปบนหลังคาเรือนแพ ตั้งใจว่าจะดูดาวสวย ๆ หรือพระจันทร์ดวงกลม ๆ พอขึ้นไปกลับพบว่า เมฆมันบังหมดเลย ผมก็เลยเขียนต่อว่า ‘หากมีเมฆมาบดบัง แต่เราก็ยังเฝ้ารอ เฝ้ารอ ค่ำคืนหนาวที่แสงแห่งดาวถักทอ ขอเธออย่าท้อ ฝากความห่วงใยส่งไปถึงกัน’ คือผมอยากบอกว่า ให้คนที่รอความหวังจากคนอื่น ให้เปลี่ยนมาสร้างความหวังให้กับตัวเอง เพราะคนที่อยู่กับตัวเองตลอด ก็คือตัวคุณ คนอื่นแค่ผ่านไปผ่านมา ช่วยเหลือได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผมเขียนเพลงนี้จบที่นั้น และถือเป็นเพลงที่ใช้ความคิดน้อย แต่ใช้ความรู้สึกร่วมกับบรรยากาศนี่เยอะ พอมาเรียบเรียงก็บอกขุน ตะวัน ว่าให้ช่วยทำดนตรีเหมือนเสียงน้ำไหล เขาก็ใช้เสีบงอังกะลุงมาช่วย มันเป็นเพลงที่ง่าย แต่ตอนที่ร้องกลับรู้สึกอิ่มเอิบ รื่นรมย์ และคนที่ให้รางวัลแก่ผมเขาอาจรับรู้ถึงความรู้สึกในห้วงอารมณ์นั้นได้

แต่ผมคิดว่า ผมไม่ใช่นักร้องที่มีคุณภาพ เสียงดี หรือมีวิธีการร้องที่แปลก มัศักยภาพการร้องสูง แต่ว่าบังเอิญผมมาร้องบทเพลงที่เขียนขึ้นเอง ด้วยความรู้สึกเต็มอิ่ม ตรงนี้มันก็เลยทำให้งานที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน”

ศุ บุญเลี้ยง ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร Writer ฉบับ 17 กุมภาพันธ์ 2537

บทเพลงใต้แสงดาว (ศุ บุญเลี้ยง)