โครงการสัมมนานักจัดรายการวิทยุ หัวข้อ “นักจัดรายการวิทยุ วิถีที่สร้างสรรค์และรับผิดชอบสังคม” ในวาระการจัดงาน ครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาคม โดย คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาคม เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2546 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ กรมประชาสัมพันธ์

จักรกฤษ ศิลปชัย

กราบเรียน พณฯ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านจาตุรงค์ ฉายแสง กราบเรียนท่านประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ในการจัดงาน 30 ปี 14 ตุลา คุณสมพงค์ สระกวี กราบเรียนคุณกัญญา ปัญญาชาติรักษ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ แล้วก็เพื่อนๆ พี่น้องนักจัดรายการวิทยุทุกท่าน

มาถึงหัวข้อการเสวนา หัวข้อแรกในวันนี้ เราบอกว่านี้จะเป็นการบอกให้เรา ทุกๆคนได้รับรู้ถึงลำนำบทเพลง 14 ตุลา

ผมเชื่อว่าหลายๆคนในที่นี้ได้รู้จักบทเพลงเหล่านี้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงเปิปข้าว ไม่ว่าจะเป็นเพลงคนกับควาย หรือเพลงต่างๆที่เรารับรู้กันอยู่ แต่ในเบื้องลึกเบื้องหลังในการก่อกำเนิดเรื่องราวต่างๆจากบทเพลงเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของขบวนการการต่อสู้ ภาคประชาชน ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาเลยด้วยซ้ำไปต่อเนื่องกันมา จนเรามีบทเพลงที่เป็นบทเพลงเฉพาะที่เรียกว่าบทเพลงเพื่อชีวิต เรียกได้ว่าเป็นบทเพลงชนิดเดียวในโลก ในประเทศไทย ที่มีบทเพลงเฉพาะอย่างนี้ เพื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆ

หลายคนอาจมองว่าบทเพลงเพื่อชีวิตนั้น รุนแรง บทเพลงเพื่อชีวิตนั้นน่ากลัว บทเพลงเพื่อชีวิตเมื่อฟังหรือดูคอนเสริต์แล้วจะต้องตีกัน จะต้องมีปัญหากัน แต่จริงๆ แล้วท่านทราบไหมครับ บทเพลงเพื่อชีวิตนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในกระบวนการประชาธิปไตยมากมายเหลือเกิน นอกจากนั้นแล้วบทเพลงเพื่อชีวิตยังนำเสนอ ความงดงามของท้องถิ่นต่างๆ สามารถนำเรื่องราวของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของไทยได้ด้วย ถ้าท่านฟังดีๆ มีหลากหลายมากมายทีเดียว

วันนี้เราในหัวข้อลำนำบทเพลง 14 ตุลาคม เราได้รับเกียรติจากท่านซึ่งผู้อยู่ในเหตุการณ์ ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นคือเดือนมิถุนายน ตั้งแต่มีการลงชื่อขับไล่ อาจารย์ ดร.ศักดิ์ ที่รามคำแหง จนพัฒนามาเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 13 กบฏอะไรต่างๆนานาเหล่านี้ บทเพลงของท่านรับใช้สังคมบ ทกวีของท่านรับใช้สังคมมากทีเดียว หนึ่งในบทเพลงกวีอมตะข้องท่านเรารู้จักกันและได้ยินได้ฟังกันเสมอๆ ก่อนที่จะมาคุยกับ คุณวิสา คัญทัพ นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหว และมีคำนิยามอีกมากมาย ผมจะเรียนเชิญ คุณปอง จุลทรัพย์ ขึ้นมาอ่านบทกวี บทที่บอกว่าเป็นบทอมตะของคุณวิสา คัญทัพ ของเรียนเชิญ คุณปอง จุลทรัพย์ ครับ

สมปอง จุลทรัพย์

“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน
ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

จักรกฤษ ศิลปชัย

ขอบคุณครับ เป็นบทแรกนะครับ เดี๋ยวเราจะค่อยๆ ทยอยไปนะครับ ผมติดปากที่จะเรียก พี่เปรี้ยวๆ ตลอดเวลา ก็ขอบคุณพี่เปรี้ยวมากนะครับ

มาถึงตรงนี้เราจะเริ่มคุยกัน หัวข้อตรงนี้อยากให้เพื่อนนักจัดรายการ ได้รับรู้เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมในด้านบทเพลงที่เราเกรินนำว่าเป็นบทเพลงเพื่อชีวิต โดยคุณวิสา คัญทัพ จะกรุณาถ่ายทอดเล่าให้เราฟัง

ขออนุญาติเริ่มต้นต้นแต่ตรงนี้ อยากให้พี่วิสาเล่าเรื่องราวก่อนที่จะมาถึง 14 ตุลา 2516 ซักนิดว่าในขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น อย่างไรบ้างครับ

วิสา คัญทัพ

ครับ… ก่อนอื่นกระผมขออนุญาติ กราบเรียนท่านรองนายกจาตุรงค์ ท่าน ส.ว สมพงค์ สระกวี และก็ท่านผู้มีเกียรติที่เป็นนักจัดรายการ เข้าใจว่าคงจากทั่วประเทศ ที่ท่านได้มาในสถานที่เเห่งนี้ และก็น่าจะเป็นว่ามาช่วยเหลือพวกเราในการเผยแพร่ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ งานรำลึก 30ปี 14ตุลาคม ซึ่งปีนี้ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาร่วมไม้ร่วมมือกันประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติ

ตามจริงประเด็นที่จะพูดกันอย่างรวบรัด ตามที่ท่านพิธีกร คุณอ๊อด จักรกฤษ พูดมาว่าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มันมีเหตุการณ์ ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ก่อนเดือนตุลาคม เราอาจบอกเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นักศึกษารู้ว่าพลังของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีพลังมากขนาดไหน โดยที่พวกนักศึกษาสมัยนั้นก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ทั้งที่ความเป็นจริง บรรยากาศการเมืองในขณะนั้น พูดย่อๆเพื่อให้ท่านเข้าใจ มันต่างจากยุคนี้ราวฟ้ากับดิน เพราะยุคนั้นเป็นยุคของเผด็จการ ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีการเลือกตัวผู้แทนราษฏร หรือมีก็เป็นเพียงความจอมปลอมของการทำพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งมีพรรคใหญ่เป็นพรรคของทหาร ที่เราเรียกพรรคสหประชาไทย เพราะฉนั้นทหารซึ่งธรรมดามีแค่พลเอก สมัยนั้นก็ตั้งตัวเองเป็นจอมพลได้ ไม่แต่เพียงตั้งตัวเองเป็นจอมพล ยังสามารถต่ออายุราชการ ถ้าท่าน 60 ปีเกษียณ ท่านก็ไม่เกษียณได้ หมายความว่าอย่างนั้น คือทำอะไรก็ได้ตามใจ

จอมพลในยุคนั้นก็เป็นทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นนกยกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก ไปถึงเป็นประธานธนาคารทุกแห่ง รวมทั้งคุมนักศึกษาเป็นอธิการบดีคุมทุกมหาวิทยาลัย พูดว่ายมันไม่มีเสรีภาพ ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเลือกตั้ง

นักศึกษารามคำแหงกลุ่มหนึ่งทำหนังสือขึ้นมา มีข้อความ 3-4 บรรทัดที่เสียดสีผู้นำทางการทหารนั้นยุคๆ ที่เอาเครื่องบินของทางราชการ ขนนักร้องนักดนตรีไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่แล้วเกิดเครื่องบินตก การเป็นข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งใช้งบราชการลับไป จุดนั้นเองทำให้นักศึกษารามเอามาเขียนอยู่ในหน้าเดียว จริงๆเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม แต่ที่เป็นเรื่องเกิดเหตุมีเพียงหนัาเดียวเขียนว่า “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุราชการสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี เนื่องด้วยสถาณการณ์ทั้งภายในภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ” 

คำนี้เหมือนคำด่าว่า จอมพลถนอม ว่าเป็นสัตว์ป่า สภาสัตว์ป่าและต่ออายุตัวเอง ทำให้ดร.ศักดิ์ ที่เป็นอธิการบดีสมัยนั้นโกรธ ไม่พอใจ เพราะรามคำแหงตั้งขึ้นมาโดย ส.ส ประมวล กุลมาส พรรคสหประชาไทย คือพรรคจอมพลถนอม ต้องการตั้งรามคำแหงเป็นฐานอำนาจทางการเมือง ที่จะมาต่อสู้ธรรมศาสตร์ ของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ปรากฏว่าลูกศิษย์ตัวเองมาทำเรื่องซะแล้ว

ก็สั่งลบชื่อ 9 นักศึกษาทันที หนึ่งในนักศึกษานั้นรู้สึกว่า คุณสมพงค์ เป็นหนึ่งด้วยถ้าจำไม่ผิด ณ บัดนี้เป็น ส.ว ไปแล้ว เป็นผู้มีอำนาจรัฐไปแล้ว เมื่อลบชื่อ 9 นักศึกษา ปัญหาเกิดขึ้นก็คือว่าเรารู้สึกถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ขณะที่สถาบันอื่นเขาทำหนังสือหรือวิภาควิจารณ์สังคม หรือเขาออกค่ายอาสาพัฒณากันได้อย่างเสรี แต่รามคำแหงทำไม่ได้

พวกเราจึงได้เดินไปที่สโมสรนิสิตจุฬา เพื่อไปพบบุรุษคนหนึ่ง ชื่อว่าคุณธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นเลขาธิการศูนย์นิสิตสมัยนั้น เพื่อบอกว่านักศึกษารามคำแหงถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกลบชื่อถึง 9 คน ศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักศึกษา จะสู้หรือจะยอมแพ้ต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรม สาเหตุที่พวกเราไปที่นั้นเพราะว่า นายกองค์การรามคำแหงเราไปเรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะ ดร. ศักดิ์ ตั้งขึ้นมา สมัยนั้นคือ คุณราชันย์ วีระพันธ์ 

คุณธีรยุทธ ตอบตกลง แล้วก็บอกให้ศูนย์นิสิตนักศึกษา โดยให้นายกสโมสรหรือนายกองค์การของแต่ละสถาบันกลับไป สถาบันของตัวเองเพื่อไปปลุกให้นักศึกษาตื่นขึ้นมา เพื่อรวมกำลังกันที่เรียกกันเป็นม๊อบ และก็นัดว่าให้ม๊อบทุกสถาบันมาเจอกันที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัย ในวันที่ 21 มิถุนายน

ก็ปรากฏว่าต่างคนต่างกลับไป แล้วก็เรียกมา จุฬาฯมา ธรรมศาสตร์มา มากันบ้างเล็กน้อย แต่ที่มามากที่สุดคือรามคำแหง สาเหตุที่มามากที่สุดคือ คุณบุญส่ง ชเลธร ขึ้นไปยืนอยู่บนป้ายรามคำแหง ไฮ-ปาร์ค โต้แล้วก็ด่าสวนกับอธิการบดี ดร.ศักดิ์ นักศึกษาก็มาชุมนุมเยอะมาก ปรากฏว่าท่ามกลางการปราศัยนั้น มีนักการภารโรงคนหนึ่งภายใต้คำสั่งของใครไม่รู้ ฟาดหัวนักศึกษาเลือดหัวแตกก็เลย ใช้สถานะภาพขณะนั้นปลุกว่า 21 มิถุนา เราเดินขบวนไปที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐดีกว่า ปรากฏนักศึกษาไปเต็มหมด

การชุมนุมยืดเยื้อ วันที่ 21 อยู่หน้าทบวง แต่วันที่ 22 ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนมากเกินกว่าหมื่น เป็นการชุมนุมนักศึกษาที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ข้อเรียกร้องเพียง 2 ข้อ ครั้งแรกคือ 1) ให้นักศึกษา 9 คนกลับเข้าไปเรียนโดยไม่มีความผิด 2) ให้ ดร. ศักดิ์ พ้นจากอธิการบดี

ข้อเรียกร้อง 2 ข้อไม่พอเพียง เนื่องจากมีประชาชนสาขาอาชีพ ในวงการต่างๆ ทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครู-อาจารย์ พ่อค้า นักธุรกิจ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม ที่ไม่ให้มีรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ให้มีประชาธิปไตย จึงให้นักศึกษาเพิ่มร้องเรียกร้องมาอีก 1 ข้อ เป็น ข้อที่ 3 ให้รัฐบาลมีคำตอบในเรื่องรัฐธรรมนูญกับประชาชนภายใน 6 เดือน ก่อนเราสลายการชุมนุม

นี้คือพันธะสัญญาที่นักศึกษาได้ให้กับประชาชน ทำให้มาตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขึ้น เพื่อดำเนินการต่อเนื่องให้มีรัฐธรรมนูญ

กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงมารวมตัวกัน มีกิจกรรมหลายอย่างมาก จะมีอภิปราย สัมมนา เสวนา มีการออกหนังสือ มีการรวบรายชื่อ ซึ่งมี 100 คนแรกดังที่เป็นข่าว แล้วก็ไปตกลงนัดหมาย 6 ตุลาแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวมา เดินแห่แหนกันไปตามชุมนุมต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนมาร่วมกัน เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เที่ยงของวันนั้น ตำรวจก็จับ สันติบาลก็จับไป ทั้งหมดครั้งแรกจับไป11 คน และมาจับเพิ่มอีกเป็นคนที่12 คือ ก้องเกียรติ คงคา และ มามอบตัวอีกคนหนึ่งคือ ไขแสง สุขใส 

เพราะฉะนั้นที่ผมเล่ามาย่อๆ เพื่อให้เห็นภาพ จะได้มองเห็นว่าความต่อเนื่องของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มันมาจากประชาชนที่ในใจลึกๆของประชาชน มีหัวใจที่ต้องการมันอยู่แล้ว เพราะเสรีภาพมันหมายถึงทุกอย่าง มันหมายถึงเศษฐกิจ มันหมายถึงการปลดปล่อยให้ชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจเศษญฐกิจ เปิดโอกาสให้นายทุนที่อยากจะทำธุรกิจโดยสุจริต มีอำนาจทางการเมืองขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันคือการปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง

จักรกฤษ ศิลปชัย

ขอบคุณ ครับ นี้เป็นการเริ่มต้นฉายภาพให้เห็นกัน

ผมจะเข้าประเด็นตรงๆ ตรงนี้เลยว่า ในภาพหนึ่งเราคงจะเห็นนะครับว่า การก่อกำเนิดการเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงเดือนตุลาคมที่เราเรียกกันว่า เดือนตุลา จนมีคนเดือนตุลา แล้วก็มีบทเพลงเพื่อชีวิตขึ้น บทเพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นและก็มีบทบาทในเวทีเรียกร้องประชาธิปไตย หรือว่าม๊อบต่างๆ ที่ คุณวิสา ได้กรุณาบอกเราอย่างไร ขอเชิญ คุณวิสา เล่าตรงนี้ซักนิดว่ามันเริ่มต้นอย่างไร

วิสา คัญทัพ

เพลงเพื่อชีวิตในยุคแรก มันมาจากหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต มีนักศึกษาหลายสถาบันมารวมตัวกัน ได้แก่ คุณพิรุณ ฉัตรวนิชกุล คุณธัญญา ชุนชดาธาร คุณปรีดี บุญซื่อ คุณประเดิม ดำรงเจริญ รวมทั้ง คุณกมล กมลตระกูลด้วย คือรวมตัวกันแล้วมาทำหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”

หนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต ก็คือหนังสือที่จะลงเรื่องสั้น บทความข้อคิด ข้อเขียนในเชิงที่เป็นสาระประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่เรื่องความรักส่วนตัว วรรณกรรมก็ไม่ใช่วรรณกรรมความรัก ต้องเป็นวรรณกรรมที่รับใช้ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา กรรมกร ผู้เสียเปรียบในสังคม และในหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต จะมีคอลัมน์อยู่คอลัมน์หนึ่ง ชื่อคอลัมน์ว่า เพลงเพื่อชีวิต เขียนโดย พิชิต จงสถิตวัฒนา พิชิตก็จะเอาเพลง ที่เป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือ Protest Song จากต่างประเทศ อย่างเช่นของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan), โจแอน เบซ (Joan Baez) พวก Where have flower gone มาเขียนอธิบายถึงการต่อสู้ นักเพลงเขาต่อสู้ยังไง เขาแต่งเพลงเพื่อชีวิตยังไงมันมีคอลัมน์นี้อยู่

จากนั้นต่อมาก็มีคนสองคน คนหนึ่งชื่อ สุรชัย จันทรธิมาธร เขียนหนังสือนามปากกา ว่า ท.เสญ เจนจัด อีกคนหนึ่งมาจากโคราชชื่อ วีระศักดิ์ สุนทรศรี เพื่อนเขาชอบเรียกว่าคนเดินทาง คือชอบสัญจรไปเรื่อย สองคนมารวมกันก็เลยตั้งเป็น ท.เสญ และสัญจร เพลงที่ ท.เสญ และสัญจร เล่นในยุคแรกก็เป็นเพลงที่แต่งที่บ้านสะพานควาย โดยคุณสมคิด สิงสง และก็ผม และก็คุณสุรชัย อยู่ด้วยกัน บ้านสะพานควายสมัยนั้นเป็นบ้านที่เกิด ขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ตอนแรกพวกคุณธีรยุทธ บุญมี ว่าจะไปอยู่ที่นั้น ปรากฏว่าเราสืบทราบว่าบ้านนั้นถูกดักฟังไว้หมดแล้ว ผู้หวังดีที่มาเช่าให้ก็เป็นพวกที่มีอำนาจ ที่จะเอาอำนาจคืน ผู้นำนักศึกษาที่มีชื่อก็เลยออกไปหมด เหลือแต่ศิลปินอย่างพวกคุณสุรชัย คุณสมคิด คุณประเสริฐ จันดำ และผม… เพลงคนกับควาย ก็เกิดขึ้นที่บ้านสะพานควายหลังนั้น นี้เป็นเพลงแรกหลังนั้น ตามติดมาอีกเพลงหนึ่ง ก็คือเพลงที่คุณสุรชัยใส่ทำนอง แต่ว่าเนื้อเพลงเป็นของ จิตร ภูมิศักดิ์ คือเพลงเปิปข้าว งั้นวง ท.เสญ และสัญจร เป็นที่รู้จักกันในนามเพลงเพื่อชีวิตครั้งแรก ก็คือ เพลงเปิปข้าวและก็เพลงคนกับควาย

จักรกฤษ ศิลปชัย

พี่วิสา จะกรุณาเล่น เป็นตัวอย่างให้เราฟังได้ไหมครับ

วิสา คัญทัพ

“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน”

จักรกฤษ ศิลปชัย

เอารอบเดียวพอเป็นตัวอย่าง จริงๆบทกวีบทนี้ผมจำไม่แม่นรู้สึก รู้สึกเป็นบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าถึงคนหนังสือพิมพ์ อะไรประมาณนี้ ถ้าท่านเข้าไปเปิดดูได้ที่ คลิ้ก จะมีบทกวีบทนี้อยู่ในนั้นนะครับ จะได้เห็นเต็มๆว่า ที่มาของทั้งบทนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เปิบข้าวเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ที่อยู่ในกวีบทนี้ พี่วิสาจะกรุณาเล่นเพลง คนกับควาย ซึ่งพี่วิสาแต่งเองด้วย หรือ เอาแค่เปิบข้าว

วิสา คัญทัพ

เอาแค่เปิบข้าวพอแล้ว คนกับควาย ก็เล่าให้ฟังก็ได้ว่า คนกับควายที่แรกไปเล่นครั้งแรกที่งานแต่งงานของ วีระประวัติ วงค์พัวพัน ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก เพราะเป็นนักเขียนกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวด้วยกัน แต่งงานที่โรงแรมหรู โรงแรมนารายณ์ นะครับแต่มีคุณหงา มีคุณสมคิด มีผม ไปยืนอยู่สามคนแล้วก็ร้องเพลงนี้ แล้วแขกที่เขามาก็แต่งชุดราตรี มางานแต่งงาน เขาก็งงว่า “ไอ้สามคนนี้มันเป็นใคร” และเพลงที่ร้องมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับงานแต่งงานเลย มาคนกับควายอะไรอยู่บนโรงแรมนารายณ์ เป็นเรื่องที่มหัศจรรณ์มาก วีระประวัติ ก็คือพ่อของ เคน ธีรเดช วงค์พัวพัน ตอนนี้ลูกดังกว่าพ่อ ก็เป็นดาราภาพยนต์ คือที่มาเป็นอย่างนี้

จักรกฤษ ศิลปชัย

ก็มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจ นำกลับไปเล่าให้ฟังได้เวลาที่เปิดเพลง คนกับควาย 

คงจะรวบรัดขึ้นอีกซักนิดนึง หลังเหตุการตรงนั้นมา เราก็รับรู้กันนะครับว่าภาคประชาชนเป็นฝ่ายชนะนะครับ เหมือนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกจริงๆ ในช่วงนั้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ขณะเดียวกัน คุณวิสาเองและเพื่อนหลายๆคน นักศึกษาที่ช่วยกันเรียกร้องก็ลงพื้นที่ ไปพบปะกับประชาชน มีการเคลื่อนไหวต่างมากมายทีเดียว จนกระทั้งบทเพลงต่าง วงดนตรีต่างๆเกิดขึ้นมากมาย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่ละสถาบันเรียกได้ว่ามีวงดนตรีของตัวเอง ธรรมศาสตร์ก็มี ต้นกล้า ซึ่งพัฒนามาจากชมรมดนตรีไทย แกนนำสำคัญก็คือ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูรณ์ นะครับ เป็นแกนนำ สำคัญ มีคุณป่อง ต้นกล้า หลายๆคน รู้สึกว่าจะเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตวงเดียว จนกระทั้งปัจจับันที่นำเสนอรูปแบบเพลงเพิ่อชีวิตด้วยลักษณะเครื่องสายไทย เทปพอจะหาฟังกันอยู่ได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น การะเกด หนุ่มสาวนักศึกษา อะไรต่างๆเหล่านี้

รามคำแหงก็มีวงดนตรี คุณวิสาก็ยังรวมกับเพื่อนเล่นดนตรีไปตามม๊อบต่างๆ หลายๆที่มีดนตรีเกิดขึ้น แม้กระทั้ง โรงเรียนวิทยาลัยครูในสมัยนั้น ก็จะมีวงอย่าง คุรุชน เกิดขึ้นมีวงดนตรีเกิดขึ้นมากมาย เรียกได้ว่าเป็น ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน มีบทเพลงหลากหลายทีเดียว แต่ก็เบ่งบานได้ไม่นาน 6 ตุลาคม 2516 ก็เคลื่อนไหวกันต่อ ในที่สุด คุณวิสา คัญทัพ ก็เข้าไปอยู่ในป่า และผมสรุปตรงนี้นิดนึง ว่าเข้าไปอยู่ในป่า

ตรงนั้นแหละครับ…เป็นคลังของภาคศิลปวัฒนะธรรมมากมายเหลือเกิน มันสมองของศิลปินเหล่านั้น ไปรวมตัวอยู่ในเขตงานต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ มากมาย คุณวิสาเป็นหนึ่งในนั้น งานของคุณวิสาเกิดขึ้นที่นั้นเยอะทีเดียว อยากให้พี่วิสาเล่าจากเพลงแรกเมื่อครั้งที่เข้าไปใช้ชีวิตในป่า บรรยากาศเป็นอย่างไร แล้วทำไมต้องเข้าป่า เป็นคอมมิวนิสต์เหรอ แล้วต้องไปอยู่ในป่าอย่างไร ต่างๆ เหล่านี้ ทำหน้าที่อะไร บทเพลงที่เกิดขึ้นเขียนขึ้นมาอย่างไร บทกวีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ต่างๆ เหล่านี้ เชิญครับ

วิสา คัญทัพ

ก็สั้นๆ เพื่อกระชับเพราะเวลามีน้อย เดี๋ยวผมอยากให้ท่านจาตุรงค์ มาร่วมร้องเพลงด้วย เพราะฉะนั้นผมจะ…. จะไปแล้วเหรอครับ… น่าจะร้องสักเพลงนึง… (เสียงปรบมือ)

ถ้าท่านจะไป ผมขออนุญาตให้ท่านก่อนดีกว่า เดี๋ยวค่อยเล่ากันนะครับ เพราะท่านมีภารกิจมาก เชิญท่านก่อนดีกว่าเดี๋ยวเราค่อยคุยกัน เอาซะหน่อยครับท่าน

ขอบพระคุณท่านมาก เพราะว่าท่านมีภาระกิจเยอะ ถ้าขืนผมพูดต่อไปแล้วท่านไม่ได้ร้อง ให้พวกเราได้ฟัง ขอบคุณท่านที่ให้เกียรติมา

จักรกฤษ ศิลปชัย

ขอบคุณ พณฯ ท่านรองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรงค์ ฉายแสง ขอบพระคุณมากครับ

วันนี้เราได้รับเกียจฟังเพลงดีๆ เพลงนี้เป็นเพลงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียน ในขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว บทเพลงนี้มีคุณค่าก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของบทเพลงเพื่อชีวิตที่เข้มแข็งทีเดียว ในวาระต่างร้องเพลงนี้กันตลอดเวลา

เรามาสลับบทกวีก่อนซักบทกวีหนึ่งก่อนจากพี่เปรี้ยว และเดี๋ยวพี่วิสาจะเล่าให้เราฟังถึงบทเพลงต่างๆ บทกวีต่างที่ก่อกำเนิดขึ้นในเขตป่าเขาของการทำงานในขณะนั้น เชิญคุณ ปอง จุลทรัพย์

สมปอง จุลทรัพย์

เป็นกวีของคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ 2517 ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ชื่อ เพียงความเคลื่อนไหว

“นิ้วกระดิกกระเดี้ยได้พอให้เห็น
เรี่ยวแรงที่แฝงเร้นก็ปรากฏ
ยอดหญ้าแยงหินแยกหยัดระชด
เกียรติยศแห่งหญ้าก็ระยับ
สี่สิบปีเปล่าโล่งตลอดย่าน
สี่สิบล้านไม่เคยเขยื้อนขยับ
ดินเป็นทรายไม้เป็นหินจนหักพับ
ดับและหลับตลอดถ้วนทั้งตาใจ
นกอยู่ฟ้านกหากไม่เห็นฟ้า
ปลาอยู่น้ำย่อมปลาเห็นน้ำไม่
ไส้เดือนไม่เห็นดินว่าฉันใด
หนอนย่อมไร้ดวงตารู้อาจม
ฉันนั้นความเปื่อยเน่าเป็นของแน่
ย่อมเกิดแก่ความนิ่งทุกสิ่งสม
แต่วันหนึ่งความเน่าในเปือกตม
ก็ผุดพรายให้ชมซึ่งดอกบัว
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
เป็นความงดความงามใช่ความชั่ว
มันอาจขุ่นอาจข้นอาจหม่นมัว
แต่ก็เริ่มจะเป็นตัวจะเป็นตน
พอเสียงร่ำรัวกลองประกาศกล้า
ก็รู้ว่าวันพระมาอีกหน
พอปืนเปรี้ยงแปลบไปในมณฑล
ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย”

จักรกฤษ ศิลปชัย

พี่วิสาเรามาเล่ากันต่อถึงบทเพลง ตอนนี้เราจะเข้าไปสู่ในบทบาทในการทำงานในเขตป่าเขา ซึ่งตรงนั้นอย่างที่ได้เรียนตั้งแต่แรกนะครับว่า มีบทกวี มีบทเพลงเกิดขึ้นมากมาย ขณะนี้คณะกรรมการจัดงานก็พยามจะรวบรวม เห็นว่ามีเป็นพันเพลง เฉพาะคุณวิสา คนเดียวก็มหาศาลเลยทีเดียว เชิญ พี่วิสาเล่าให้เราฟัง ถึงบทเพลงต่างๆในนั้น และการทำงานของพี่ด้วย

วิสา คัญทัพ

จริงๆ ก่อนที่จะถึงช่วงที่จะเข้าป่า บทเพลงเพื่อชีวิต นอกเหนือจากเพลงที่บอกมาว่ามีเพลงเปิบข้าว คนกับควายแล้ว ก็ยังมีเพลงของวงอื่นๆอีก และที่โดดเด่นอย่างเช่น เพลงเพื่อมวลชนของ วงกรรมชน และก็เพลงดอกไม้จะบาน ของคุณ จิระนันท์ พิตรปรีชา และที่สำคัญเป็นเพลงของ 14 ตุลา โดยเฉพาะก็คือเพลง นกสีเหลือง ก่อนจะเข้าไปสู่ป่าเขา ฟังนกสีเหลืองรำลึกถึงวีระชน

“กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป
เจ้าเหินไปสู่ห้วงหา เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
กางบินด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด

คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อวันที่14-15 ตุลาคม รอยเลือด คราบน้ำตาและฝันร้ายของผู้คน วีรชนคนหนุ่มสาวของเราได้ตายไปท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา ตายไปขณะชูสองมืออันว่างเปล่า เพื่อเรียกหาเสรีภาพ ณ บัดนี้ขอให้พวกเราส่งใจระลึกถึงไปยังพวกเขา ไม่ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยผ่านไป 30ปี 40ปี 100ปี 1000ปี เขาเหล่านั้นก็คือคนที่ทำให้เรามีเสรีภาพ สำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้นะครับ ก็ขอให้ได้สืบทอดเจตนารมณ์ และจิตใจที่รักชาติ รักประชาธิปไตย สร้างชาติบ้านเมืองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

จงบินไปเถิดคนกล้า ความฝันสูงค่ากว่าใด
เจ้าคือวิญญาณเสรี บัดนี้เจ้าชีพวาย”

จักรกฤษ ศิลปชัย

นกสีเหลือง เป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลา 2516 สักช่วงหนึ่ง มีเกร็ดเล็กๆ เสริมให้ท่านนักจัดรายการวิทยุได้ทราบกันด้วย ว่าเพลงนี้เป็นหนึ่งในจำนวน 4 เพลงที่คาราวาน หลังจากที่รวมกัน ระหว่างที่ ท.เสญ สัญจร / บังคาเทศแบนด์ และรวมเป็น คาราวาน แล้ว เป็น 4 เพลงแรกที่อกก เป็น ซิงเกิ้ล 7 นิ้ว เขาเรียก สมัยก่อนเราเรียก 7 นิ้ว ใช่ไหมครับ ซิงเกิ้ลเล็กๆ 4 เพลง หน้าละ 2 เพลงก็ จะมีเพลงเปิบข้าวที่คุณวิสา เล่นเป็นเพลงแรกไปแล้ว เพลงคนกับควายที่คุณวิสาแต่งร่วมกับคุณสมคิด สิงสง และก็คุณสุรชัย จันธิมาธร ยังมีเพลง จิตร ภูมิศักดิ์ มีเพลงนกสีเหลืองเพลงนี้และครับ เป็นซิงเกิ้ลแรกออกมา ในขณะนั้นเมื่อประมาณ ปี 2517 ราคาในขณะนั้น 25 บาทต่อแผ่น มีประมาณ 500 แผ่นในประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันเห็นขายกันอยู่ประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อแผ่น เป็นของสะสมไปแล้วเหมือนกัน หลายๆ ท่านในที่นี้อาจจะมีสะสมอยู่ก็เป็นของมีค่าชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

คุณวินัย อุกฤษ เป็นผู้ประพันธ์เพลงนักสีเหลือง ปัจจุบันท่านก็เป็นเจ้าของเกาะ ชื่อเกาะบูบู นั้นก็คือ หนึ่งในสี่เพลง แรกที่ออกมาเป็นซิงเกิ้ล จริงของคาราวาน ถ้าใครดู แฟนพันธ์แท้ เมื่อสองที่แล้ว มีคำถามนี้อยู่…ผมตอบได้

ทีนี้เข้าสู่ป่า จริงๆหลายคนสงสัยว่าพูดถึงเข้าป่า ทำไมต้องเข้าไป และเข้าไปแล้วเข้าไปทำอะไร งานต่างเกิดขึ้นที่นั้นมากมาย แม้กระทั้งอย่างเพลง บินหลา ซึ่งคุณวิสาเป็นคนแต่ง คนแรกเกิดขึ้นอย่างไร เดี๋ยวเราจะค่อยลำดับเล่าให้ฟัง แต่เวลาดูแล้วเหลือครึ่งชั่วโมงจะค่อนข้างรวบรัดซักนิดนึง เราจะได้พักทานข้าวในช่วงกลางวันนะครับเราจะได้มีเวลาตรงนี้ เชิญพี่วิสา เริ่มเล่าว่า เข้าไปทำไม เข้าไปแล้วไปทำอะไร

วิสา คัญทัพ

ความจริงนักศึกษาที่เข้าป่าไป เขาไม่ได้เข้าไปเพื่อเป็นคอมมิวนิสต์โดยความตั้งใจ คืออยากเรียนให้ทราบว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ต่อสู้ด้วยกำลังและอาวุธในสมัยนั้น แต่ว่าเยาวชน นักเรียนนักศึกษาสมัยนั้นถูกปราบ ถูกปราบไม่ใช่ถูกปราบธรรมดานะครับ ฆ่าทิ้งเลยโดยไม่สามารถหาจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณบุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม ถูกยิงตายคารถ ซีตรองขณะจะขับรถเข้าบ้าน คุณแสงรุ่ง นิรันดรกุล ผู้นำนักศึกษารามคำแหงถูกยิงทิ้งที่ป้ายรถเมล์ห่างจากหัวลำโพงมาไม่กี่ป้าย คุณนิสิต จิระโสภณ ถูกทีบตกรถไฟตายขณะไปทำข่าวในนามผู้สื่อข่าวอธิปัตย์ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง, สำราญ คำกลั่นผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา คือถูกฆ่าๆๆๆๆ มากมาย จนกระทั้งเรารู้แล้วว่าสิ่งที่จะตามมา ก็คือการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดทารุนอย่างเหี้ยมโหดโดยกลุ่มอำนาจเก่า เมื่อเยาวชนนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นไม่มีที่พึ่ง เขาก็ต้องหาทางที่จะต่อสู้ บางคนหนีไปต่างประเทศ แต่บางคนหนีไปจับปืน คือไม่ยอม สู้

ฉะนั้นเราจะเห็นภาพว่าทำไมคนเป็นหมื่น หรือหลายหมื่นที่เป็นนักศึกษา เป็นเยาวชนเข้าไป บางคนเป็นลูกนายทหาร ลูกนายตำรวจ เป็นลูกนักธุรกิจใหญ่ๆ เดินขึ้นเขา ขึ้นภู ไปอยู่อย่างยากลำบากนะครับไม่ได้ไปอยู่อย่างสบาย ภาพมันก็คือว่าเขาไปเพราะเขาอยู่ไม่ได้ ฉนั้น บางคนอาจจะนึกว่าเขาไปคอมมิวนิสต์ตามที่วิทยุยานเกราะของรัฐบาลแต่งเพลง “ดังเสียงเปรี้ยง เปรี้ยง ดังเสียงฟ้าฟาด โครมโครมพินาศ ลูกหลานหนักแผ่นดิน” มันเป็นกระบอกเสียงของเผด็จการโจมตีพวกเรา ฉนั้นเมื่อเราเข้าไป เราก็แต่งเพลงสวนกลับมาหาเขาบ้าง

เข้าไปในนั้นก็อบอุ่น ลำบากแต่อบอุ่น นี้คือภาพย่อๆ ที่ผมเล่าฟังว่า เขาเข้าไปเพื่อไปต่อสู้เพราะไม่มีทางออก และบทเพลงที่ผมจะร้องให้ฟัง คือเพลงที่คุณอ๊อด พูดถึง เพลงบินหลา 

บินหลา เป็นเพลงที่แต่งทำนองโดย คุณกุลศักดิ์ เรืองคงเกียจ คุณจิ้น กรรมชน เดินทางมาพบผมที่ ฐานที่มั่นทางภาคเหนือ ทางในประเทศลาว เราได้ทำเพลงด้วยกัน โดยผมเขียนคำร้อง คุณกุลศักดิ์เขียนทำนอง แล้วเราก็บันทึกเสียงด้วยเครื่องเทปเล็กๆส่งไปออกอากาศทางสถานีวิทยุ เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย เพลงบินหลาที่แต่งขึ้นมา ในขณะที่พี่น้องภาคใต้ถูกล้อมปราบโดยสองรัฐบาล คือ รัฐบาลมาเลเซีย โดยฮุสเซ็นออน กับรัฐบาลธานินทร์ ไกรวิเชียร ปราบคนใต้ เราแต่งเพลงนี้เพื่อให้กำลังใจคนใต้ก่อนที่จะมีคนนำมาดัดแปลง

“บินหลา บินหลา บินลอยมาเล่นลม
ชื่นชมธรรมชาติ อันพิลาศสะอาดตา
ต้นยางยืนทนง อวดทรวดทรงมิยอมให้ข่ม
ต้านทานแรงลม ไม่เคยพรั่นภัยพาล
บินหลา บินหลา บินลอยลาไปแห่งใด
โพยภัยทุรชาติ มาพิฆาตเลือดสาดแดง
หมู่โจรครองเมือง เรืองอำนาจพิฆาตเธอสิ้น
หมู่มารใจทมิฬ กินเลือดเรามวลประชา
บินหลา บินหลา บินคืนมากู้เสรี
แผ่นพื้นปฐพี ไม่ยอมให้ใครครอบครอง
บินหลา บินหลา ชาวใต้มาร่วมพลัง
ด้วยใจมุ่งหวัง อธิปไตยของไทยกลับคืน
จับปืนยืนทนง สู้อาจองมิยอมให้ข่ม
บินหลาเริงลมสู่สังคมอุดมการณ์”

จักรกฤษ ศิลปชัย

เพลงนี้เมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในเขตป่าเขาจริงๆแล้ว ชื่อเพลง บินหลากู้เสรี ก่อนที่วงดนตรีแฮมเมอร์ ซึ่งอยู่ในเมือง แล้วได้ยินได้ฟัง จากสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพในเมืองจนโด่งดัง และก็ประสบความสำเร็จ แต่เนื้อเพลงจริงๆ เจตณารมณ์จริงๆ ก็เมื่อซักครู่นี้ที่เราได้ฟังกันไป ที่คุณวิสาได้กรุณาเล่าให้เราฟัง อย่างที่บอกเวลาน้อยก็พยามรวบรัด เข้ามาสู่เรื่องราวของเพลงที่จะให้อิงกับสถานการณ์ มากขึ้น

มีอีกเพลงหนึ่งที่คุณสุรชัยร้อง แล้วหลายคนชอบเหลือเกิน นั้นคือ คนภูเขา คุณวิสาก็กรุณาแต่ง แต่งเมื่อครั้งที่อยู่ในป่าเช่นเดียวกัน พี่เล่าให้เราฟังซักนิดดีไหมครับ

วิสา คัญทัพ

เพลงคนภูเขา เป็นเพลงที่เกิดขึ้นช่วงท้ายๆ ก่อนที่พวกเราจะเข้าป่า ผมเป็นนักศึกษาที่ไปในโครงการเผื่อแพร่ประชาธิปไตยในชนบท แล้วก็ขึ้นรถไปทางภูพาน ภูพานเราก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นดินแดนของนักรบ ทปท. เราก็นั้งรถทัวร์เงียบๆ เหงาๆ คนเดียว ก็คิดถึงคนเหล่านั้นว่า “คนดีนี่อยู่แถวนี้เอง แต่คนชั่วอยู่ในเมือง” คนดีอยู่รอบภูพาน แล้วเราก็เห็นดาวเห็นเดือน ก็เขียนเป็นบทกวี ร้อยดาวร้อยเดือนมา คือผู้ที่อยู่ป่า เป็นแนวหน้ากลางป่าเขา คือ เรารู้สึกเหมือนเขาอยู่รอบๆ เขียนเสร็จแล้วก็ เอามาให้คุณหงา สุรชัย แล้วก็ใส่ทำนอง แล้วเขาก็เล่นครั้งแรกในคาราวาน ก็เล่นคนเดียว หมายความว่าคนอื่นไม่เล่น หมายความว่าอีกสี่คนไม่เล่น เพราะเขาอาจรู้สึกว่าเพลงมันหวานไป ผมจำได้เลยว่าคนที่มาเล่นเป็นคนที่สองคือ คุณมงคล อุทก เริ่มเอาเม้าท์ออแกนมาเป่า ต่อมาก็เล่น เล่นแล้วก็คนชอบ เป็นเพลงที่ถูกใจคน เพราะเพลงสมัยนั้นพวกเราทำมามันไม่ได้มีเทปอัด ไม่มีจ้างดีเจ ไปเปิด เพลงละพัน เพลงละสองพัน ไม่มี มันดังตามธรรมชาติมัน คนกับควายไปเล่นแรกๆ มีคนดูอยู่ 2-3 พวกนี้มันแปลกร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้ มันพัฒนามาจากเล็กจากน้อย จนมาวันนี้กลายเป็นที่ยอมรับ ก็เป็นธรรมชาติ

จักรกฤษ ศิลปชัย

จริงๆ ผมจะว่านักจัดรายการที่นั้นอยู่ตรงนี้ เมื่อคืนเราได้คุยกันบ้าง ว่าหลายท่านต้องควักสตางค์ไปซื้อเทปมาเปิดเอง โดยเฉพาะเพลงเพื่อชีวิต จากนี้ไปเราคงมีการสื่อการกันมากยิ่งขึ้นแล้วใกล้ชิดกันขึ้น พี่วิสามีงานอีกเยอะแยะในช่วงหลังๆ ของการทำงาน บางทีก็ไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหน เพราะทุนรอนในการส่งไปก็ไม่มีเหมือนกัน ลุ่มๆดอนๆ อยู่แต่หัวใจก็เต็มที่บางคนนี้ก็ขับรถไปจัดรายการเอง

วิสา คัญทัพ

ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาติเสริมนิดนึงได้ไหมครับว่า ตอนนี้บางท่านอาจไม่รู้ว่าโครงการ 30 ปี14ตุลา ที่จัดของฝ่ายศิลป์วัฒนธรรมมีอะไร ผมอยากบอกอย่างนี้ว่า เราทำอัลบั้มทั้งหมดด้วยกัน 4 ชุด ด้วยกัน

ชุดที่ 1 ชื่อว่า ตำนานประชาธิปไตย จะเป็นบทเพลงเก่าๆ ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งยังไม่เคยบันทึกเทปมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ หรือว่า มนต์รักจากเสียงกระดึง หรือเพลงของ นายผี อัสนี พลจันทร์ ที่ยังไม่บันทึกเทปมาก่อน เหล่านี้จะอยู่ในเพลงชุดตำนาน ผู้ขับร้องจะเป็นนักร้องเพื่อชีวิต เป็นหงา เป็นปู เป็นแอ๊ด เป็นใครต่อใครจะร้องในชุดนี้ เราให้ชื่อว่าชุด ตำนานประชาธิปไตย

ชุดที่ 2 ชื่อว่า สารธารประชาธิปไตย จะเป็นเพลงอย่างที่พวกเรารองเมื่อซักครู่ นกสีเหลือง เพื่อมวลชน ดอกไม้จะบาน คนกับควาย เปิบข้าว แต่เพลงเหล่านี้จะร้องโดย สุเทพ วงค์กำแหง ร้อง แสงดาวแห่งศรัทธา, คนกับควาย โดย ชาย เมืองสิงห์, นกสีเหลือง อาจจะเป็น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จะเป็นศิลปินอาวุโสทั้งนั้น เปิบข้าว กำลังติดต่อคุณสายันต์ สัญญา จะเป็นรุ่นใหญ่กลุ่มนี้จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ อันนี้จะเป็นชุดที่เรียกว่า สายธารประชาธิปไตย

ชุดที่ 3 ชื่อว่า สืบสานประชาธิปไตย เป็นเพลงใหม่ล่าสุด คือแต่งใหม่สำหรับ30 ปีนี้ แต่งโดยนักแต่งเพื่อชีวิต เช่น คุณหงา คุณแอ๊ด ผม พงษ์สิทธิ, เศก ศักดิ์สิทธิ, วัฒน วัลยางกู,ล เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูรณ์, ศิลา โคมฉาย คือแต่งเพลงใหม่ทั้งหมด แล้วเอาไปให้นักร้องจากค่ายเพลงที่ดังส่งมา อาจเป็นนันทิดา เป็นอรวี เป็นเบิรด์อะไรที่เขาว่าเป็นข่าวกัน มันเป็นเพียงพูดไป แต่เราส่งไปเค้าจะร้องก็แล้วแต่เขา จะเป็นค่าย อาร์.เอส ส่งใครมา เป็นปาน เป็นอู๋ ธรรณธรณ์ นี่คือเป็นนักร้องยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราจึงใช้ชื่อชุดว่า “สืบสาน” เพื่อสื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่าบทเพลงเหล่านี้นะมันสืบสานกันมาอย่างนี้

และ ชุดที่ 4 ชื่อว่า คนทำทางประชาธิปไตย เป็นของ อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ที่ประสานเสียงสวนพลู เป็นเยาวชนร้องหมด เป็น Acapera ทั้งหมดมี 4 ชุด ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำไง รัฐสภาไม่มีเงินไปจ้างดีเจที่ไหนเปิด ถ้าเสร็จแล้วเราจะถามคุณอ๊อดว่าเราจะส่งแผ่นพวกท่านได้อย่างไร

จักรกฤษ ศิลปชัย

ขณะนี้ก็มีชื่อ-ที่อยู่ ที่ในการลงทะเบียนอยู่แล้ว ก็จะส่งออกไปให้ รับเป็นภาระให้ได้ จริงๆ น่าจะมีเพลงหนึ่งให้ดีเจที่จัดรายการเพลงเพื่อชีวิตทั้งหมดรวมตัวกันหนึ่งเพลงเลยแล้วร้องเป็นหมู่ ร้องร่วมกันสักเพลงเสนอไว้ ทำเสร็จหมดยัง 4 ชุดนี้ น่าจะดีทีเดียวจะได้ไปเผยแพร่ในท้องถิ่นของท่านด้วย เราสลับด้วยกวีอีกหนึ่งบท กับคุณปอง จุลลทรัพย์ ดีไหมครับ ขอเสียงปรบมือครับ

สมปอง จุลลทรัพย์

เป็นงานของคุณพนม นันทพฤษ หรือ คุณสถาพร ศรีสัจจัง กวีชาวใต้ของเรา เขียนขึ้นเมื่อปี 2522 ในโลกหนังสือ เดือนพฤษภาคม

“และแล้วอาทิตย์ก็ต่ำสู่ด้านตก
ดนตรีจากเสียงนกกังวาลขรม
ระย้าจากความมืดก็ยืดปม
ชักม่านห่มประเทศไทยอยู่ไปมา
ที่ขอบฟ้าไกลลิบระลิ้วโน้น
ดาวหนึ่งโชนสายแสงขึ้นเจิดจ้า
ทอวาวพราวพรายสายศรัทธา
เปิดแผ่นฟ้ามืดมิดสนิทนั้น
แผ่นดินมืดมืดมิดสนิทมาก
ทุกหนแห่งหลุมขวากล้วนขวางกั้น
ดาวชี้ทิศดวงหนึ่งจึงสำคัญ
ที่จะสาดแสงปันให้พื้นพราย
ที่จะสาดหัวใจให้คนทุกข์
ให้กล้าลุกลืมตาขึ้นมาได้
ที่จะปลุกศรัทธาคนกล้าตาย
ให้สานแสงแห่งสายศรัทธาไป
และแน่นอนวันหนึ่งฟ้ามืดนั้น
ก็จะพรันเจิดจ้าเป็นฟ้าใหม่
เมื่อดาวแสนล้านดวงโชดช่วงไฟ
โชดลงทาบอาบใจประชาชน
ตำนานเก่าๆ เล่าว่า
มันฆ่ามันขยี้เสียปี้ป่น
ไม่มีแม้คำจำนน
เหล่ามารมืดมนหนทาง
ดับดาวดับฤาจักดับได้
แตกดับสลายเพียงร่าง
แสงยังโชติยังรางฉาง
เป็นเยี่ยงเป็นอย่างสืบมา
ที่ขอบฟ้าไกลมืดมิดสนิทโน้น
ดาวนับล้านฉายโชนประกายจ้า
ทอวาวพราวพรายสายศรัทธา
ยิ่งนานยิ่งเต็มฟ้า ยิ่งพร่าพราว
ทอวาวพราวพรายสายศรัทธา
ยิ่งนานยิ่งเต็มฟ้า ยิ่งพร่าพราว”

จักรกฤษ ศิลปชัย

ขอบคุณคุณปอง จุลลทรัพย์ ครับ เวลาก็ใกล้แล้วที่เราจะพักรับประทานอาหารกัน เชื่อว่าในภาคเช้าที่ผ่านมาตลอดทั้งเช้า เราคงได้รับรู้เรื่องราวเบาๆสบายๆ รวมไปถึงเหตุการต่างๆ ที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงเรื่องราวของเพลงเพื่อชีวิตมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพวกเราโดยตรงกับนักจัดรายการวิทยุโดยตรง ก็คงจะเข้าใจมายิ่งขึ้น รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่คุณวิสา คัญทัพ ได้กรุณาเล่าให้เราฟังตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในภาคบ่ายตรงกับพวกท่านอย่างเต็มที่เลย อย่างกำหนดการอย่างที่ท่านได้ถือเอาไว้อยู่แล้ว นั้นก็คือเรื่องราวของ “บทบาทนักจัดรายการวิทยุต่อการสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม” วิทยากรแต่ละท่านก็ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่จะมาให้ความรู้กับเรา และที่สำคัญหลังจากที่เราได้เสวนาในหัวข้อนั้นแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้พวกท่านได้พูดคุยกันนำเสนอเรื่องราวกันว่า ท่านทำงานในท้องถิ่นเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อว่าเราจะนำไปสู่การที่เรารวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อตั้งเป็นชมรมนักจัดรายกายวิทยุขึ้นมาถ้านำไปสู่ตรงนั้นได้ หรือว่าในอนาคตเป็นไปได้ว่าในแต่ละจังหวัดจะมีสถานีวิทยุจัดเพลงเพื่อชีวิตนำเสนอเรื่องราวของประชาธิปไตย นำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่นโดยเฉพาะเลย จังหวัดหนึ่งซักหนึ่งคลื่น กรุงเทพอาจเป็นแกนนำก่อนและก็กระจายกันต่อไป นั้นเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งอาจจะขยายผลกันต่อไป

สุดท้ายพี่วิสามีอะไรสรุปให้เราฟังซักนิดไหมครับก่อนที่จะเล่นเพลงให้เราฟัง

วิสา คัญทัพ

ก็จะขอฝากเพื่อนๆ นักจัดรายการยังไงก็ช่วยพวกเรา ช่วยประชาชนละกัน 30 ปีนี้พวกเราไม่มีเงินอย่าที่เป็นข่าวลือ รัฐบาลให้ สภาให้ ก็ยังเบิกไม่ได้ เมื่อวานไปเล่นที่กาจญจนบุรีครั้งแรก ประธานฝ่ายดนตรีและกรรมการต้องควักเงินส่วนตัว คนละ 50,000 บาทลงไปก่อนเพื่อนำไปจ่ายให้นักร้องที่มาร้องเพลง เงินยังไม่ได้นะครับ ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่ากรรมการทุกคนควักเงินส่วนตัวออกไปแล้ว ทำงานไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ หรือได้เมื่อไร ก็ไม่เป็นไร เพราะใจทุกดวงโยนไปให้กับวีรชน เดือนตุลาหมดแล้ว

ผมจะเล่นเพลงสุดท้ายซึ่งเป็นที่ผมแต่ง ที่ว่าเป็นเพลงใหม่ แต่งให้กับนักร้องใหม่ในชุดสืบสานฯ เพลงผมชื่อเพลง วันประชาธิปไตย

“กว่าจะได้มาเลือดเนื้อน้ำตาท่วมนอง
กว่าจะได้ครองเรียกร้องกู่ก้องตะโกน
กว่าจะได้ชัยเคียดแค้นดังไฟคุโชน
กว่าจะหักโค่นหมู่โจรเผด็จการทำลาย
ไม่ใช่ได้มาด้วยฟ้าบันดาลที่ไหน
ไม่ใช่เพราะใครหยิบยื่นมอบให้ง่ายดาย
แต่เยาวชนพี่น้องมวลคนมากมาย
หยัดยืนท้าทายมั่นหมายประชาธิปไตย
นกสีเหลืองจึงเลือดไหลอาบ
และนกพิราบสีขาวเลือดพราวหลั่งไหล
เพื่อนพิราบแดงปีกแกร่งบินข้ามพงไพร
จดจานจำไว้สืบไปชั่วนิรันดร
นี่คือตำนานอาจหาญของวีรชน
นี่คือใจคนท่วมล้นด้วยแรงศรัทธา
นี่คือวันชัยพี่น้องทั่วไทยเพรียกหา
14 ตุลาวันประชาธิปไตย
วันประชาธิปไตย วันประชาธิปไตย
วันประชาธิปไตย 14 ตุลา วันประชาธิปไตย
วันประชาธิปไตย วันประชาธิปไตย
วันประชาธิปไตย 14 ตุลา วันประชาธิปไตย”

จักรกฤษ ศิลปชัย

เห็น พี่ตุ๊ก กัญญา ปัญญาชาติรักษ์ นั่งฟังเพลงนี้แล้วน้ำตาซึมไปด้วยเลย ท่านผู้นี้ทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้จริง ท่านอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนทั้งกำลังใจและกำลังเงินด้วย ขอเสียงปรบมือสำหรับพี่ตุ๊ก-กัญญา ครับ

ภาคเช้าอย่างที่ได้เรียนเพื่อนนักจัดรายการทุกๆท่านแล้ว เราก็ได้เห็นภาพโดยเฉพาะท่านที่จัดรายการเพลงเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ส่วนท่านที่จัดรายการหลากหลาย เพลงป๊อบบ้าง เพลงรวมสมัยบ้าง ก็จะได้รู้ว่าทางคณะกรรมการฝ่ายศิลปวัฒนธรรม เขาก็มีศิลปินจากค่ายต่างๆ มาร้องเพลงเหล่านี้ ซึ่งท่านก็สามารถนำเสนอได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เราจะมาปิดท้ายจริงๆ กับ คุณปอง จุลทรัพย์เป็นกวีสุดท้าย และเดี๋ยวเรามาเจอกันภาคบ่าย ภาคบ่ายสำคัญที่เดียวพลาดไม่ได้ วิทยากรแต่ละท่านมีคุณค่าละก็ ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น อย่าง ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ท่านเองก็จับเรื่องราวของวิทยุชุมชน ท่านจะมาพูดเรื่องราวของ ดาบสองคมของนักจัดรายการวิทยุ ซึ่งจะมีผลที่เป็นด้านบวกด้านลบ อย่างไรซึ่งสำคัญทีเดียว และทราบว่าเพื่อนนักจัดรายการที่มาในวันนี้หลายท่านก็ทำรายการวิทยุชุมชนอยู่ในท้องถิ่นของท่านอยู่ด้วย ก็เชื่อว่าจะยังประโยชน์อย่างมากมายทีเดียว อีกท่านหนึ่งท่านก็เป็น สื่อสารมวลชน ฝีปากฉกาจ ปัจจุบันท่านเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา คือ คุณสุภาพ คลี่ขระจาย นะครับมาเป็นหนึ่งในวิทยากร อีกหนึ่งท่าน ท่านป่วยพยายามจะมา รอลุ้นอยู่ว่าท่านจะหายป่วยทันหรือเปล่า ท่านอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วย เป็นนักจัดรายการคุณภาพคนนึง ที่ผมเชื่อว่าในที่นี้หลายๆคน คงเป็นแฟนของท่านอยู่ เป็นแฟนรายการของท่านอยู่ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เสียงหวานนุ่มน่าฟังเลยทีเดียว ท่านคือ จันทรา ชัยนาม เป็นหนึ่งในคนเดือนตุลาด้วย ในภาคบ่ายเราจะได้พูดคุยกัน ในเรื่องราวต่างๆ และก็เปิดโอกาสให้พวกท่านได้แสดงความคิดเห็นด้วย ปิดท้ายด้วยบทกวีของ คุณปอง จุลทรัพย์ ซึ่งจะหยิบบทกวีของใครมาอ่าน รอดูพี่ปองจะแนะนำเอง ขอเสียงปรบมือครับ

สมปอง จุลลทรัพย์

เป็นของคุณวานิช จรุงกิจอนันต์ ชื่อว่าพ่าย

“ไม่มีแสง ไม่มีสี ไม่มีเสียง
มีแต่เพียงความรู้สึกเบื้องลึกหลอน
ไม่มีแววเวทนาเอื้ออาทร
มืดสนิทแน่นอนเป็นฉันท์นั้น
ฝันสูงใฝ่สูงไม่สุดสิ้น
ลืมหมดทำหมิ่นเขาเยาะหยัน
เมื่อสิ้นสุดดุจดวงตะวันวัน
แหลกลงนิจนิรันด์สลายลับ
โลกสวยด้วยเสียงและแสงสี
วันดีคืนดีโลกก็ดับ
อับอายซ่อนแอบอยู่แคบคับ
มืดอยู่กับโลภในหัวใจตน”

จักรกฤษ ศิลปชัย

พี่วิสามีอะไรจะสรุป ปิดท้ายไหมครับ

วิสา คัญทัพ

ก็ไม่มีอะไรครับผม ก็อยากให้ท่านไปรับประทานอาหาร ก็คงหิวกันมากแล้ว ก็ฝากช่วยกันประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นงานของ ส่วนรวมกับของประเทศชาติ และของประชาธิปไตยบ้านเรา…ขอบคุณครับ