สุนทรกถายากกว่าปาฐกถาที่ข้าพเจ้าเคยแสดงมาชั่วชีวิต เพราะปาฐกถาเป็นแต่การบรรยายทางวิชาการ แต่สุนทรกถาเป็นการแสดงความคิดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ดีงาม หากเมื่อยอมรับรางวัลศรีบูรพานี้แล้ว ข้าพเจ้าก็จะลองดู
คงต้องเริ่มต้นจากเมื่อข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าตนเองได้รับรางวัลศรีบูรพา ความรู้สึกแรกคือ ตระหนกและความรู้สึกถัดมาคือ เห็นว่าตนไม่คู่ควรกับรางวัลอันทรงเกียรตินี้เอาเลย เพราะไม่ใช่ทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน เป็นเพียงนักวิชาการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อได้อ่านสุนทรกถาของผู้ได้รับรางวัลนี้บางคนในปีก่อน ๆ เช่นสุนทรกถาของ พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับท่านทุกประการ และเมื่อเทียบกับท่านอาจารย์ไพศาลก็เห็นจะต้องโดยสารไปกับถ้อยคำแสดงความไม่คู่ควรต่อรางวัลนี้ที่ท่านแสดงไว้ เพียงแต่ในกรณีของตนเองต้องทบทวีเป็นอีกหลายเท่า
แต่ถ้าคิดว่าตนเองไม่คู่ควรกับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ถึงเพียงนั้น แม้เข้าใจว่าคณะกรรมการฯท่านคงตัดสินใจรอบคอบแล้ว แต่เหตุใดจึงไม่ปฏิเสธเขาไป ก้มหน้ารับรางวัลนี้ไปทำไม?
ที่จริงนับแต่ทราบว่าได้รับรางวัลศรีบูรพานี้ ก็เกิดความสงสัยในใจเรื่อยมาว่าตัดสินใจยอมรับรางวัลนี้เพราะเหตุใด? เป็นไปได้หรือไม่ว่า ลึก ๆ ตนเองอาจอยากเป็นนักเขียนแต่เห็นว่าไม่มีปัญญาจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ เมื่อย้อนไปคิดในอดีตไม่น้อยกว่าสามสิบปีที่ผ่านมา ก่อนงานวิชาการทั้งหลายข้าพเจ้าก็เคยเขียนงานในเชิงเรื่องสั้น หรือ สารคดีสั้นไปลงในนิตยสารหลายประเภท ตั้งแต่หนังสือของโรงเรียนอัสสัมชัญที่ตนเคยเรียน หนังสือแฟชั่นของเครือวาโก้ที่พี่สาวเคยทำงานอยู่ หรือนิตยสารรายสัปดาห์ทั้งที่เน้นหนักเรื่องโหดร้ายลึกลับอย่าง “13” และ แบบธรรมดา ๆ อย่าง “ระฆัง” ที่ลูกศิษย์ใกล้ชิดเคยเป็นบรรณาธิการ คงเป็นที่ชัดเจนอยู่ว่างานเหล่านี้ตีพิมพ์ออกมาได้ก็เพราะผู้เกี่ยวข้องกับหนังสือเหล่านั้นใจดี ขอให้ข้าพเจ้าเขียนอะไรให้ทั้งที่ก็เห็นอยู่ว่า งานเขียนที่ได้ไปคงไม่ประณีตบรรจงกระไรนัก ต่อมาเมื่อ คุณอุทัย วงศ์ไวศยวรรณ ทำนิตยสาร Hi-Class ท่านก็มีน้ำใจชวนข้าพเจ้าไปเขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “ปริศนาสังคม” ตอนแรกที่เริ่มเขียน ได้ยินว่า นักเขียนใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผู้คนในกองบรรณาธิการว่า “อย่าให้ชัยวัฒน์เขียนเลย เพราะ เขียนหนังสือไม่ได้เรื่องอะไร”
หลายปีถัดมาเมื่อสำนักพิมพ์สารคดีตัดสินใจตีพิมพ์งานรวมเล่มจากคอลัมน์นี้เป็นหนังสือสามเล่มชุด คือ ราวกับมีคำตอบ มีกรอบไม่มีเส้น และ ถึงเว้นไม่เห็นวรรค ข้าพเจ้าจึงดีใจเหมือนได้แก้ว และเคยสารภาพว่า ดีใจยิ่งกว่าเมื่องานวิชาการของตัวเองถูกตีพิมพ์เสียอีก ในเวลาต่อมาเมื่อทำงานวิจัยกับ อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ในชุด “การจัดการ ‘ความจริง’ ในสังคมไทย” ของ สกว. เรื่อง “ความรุนแรงกับการจัดการความจริง” เสร็จ อาจารย์แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากมหาวิทยาลัยศิลปากรนำต้นฉบับให้ พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ อ่าน พี่สุจิตต์ฝากเธอมาบอกข้าพเจ้าว่า “อ่านมันฉิบ…” จำได้ว่าตัวเองยิ้มหน้าบาน ดังนั้นเมื่อสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์งานวิจัยนี้เป็นหนังสือ ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตพี่สุจิตต์ นำสามคำนี้มาโปรยเป็นคำชมไว้ที่ปกหลัง เพราะภูมิใจที่เขียนงานวิจัยออกมาเป็นหนังสือแล้ว นักเขียนยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศเห็นว่า “อ่านมันฉิบ…”
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพื่อจะกล่าวสองอย่างคือ ที่ตัดสินใจรับรางวัลศรีบูรพาเพราะลึก ๆ ตนเองคงอยากเป็นนักเขียนจริง ๆ แม้จะรู้ว่าเป็นได้ก็เพียงนักวิชาการคนหนึ่งเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือ สงสัยว่าการเขียนหมายถึงอะไร ยิ่งถ้าเป็นชีวิตคนแล้ว ชีวิตถูกเขียนขึ้นอย่างไร?
เมื่อพระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน แรกถูกถ่ายทอดสู่ศาสดามูฮัมหมัด (ขอสันติจงมีแด่ท่าน) พระเป็นเจ้ากล่าวกับท่านศาสดาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้
“จงอ่านในนามพระเป็นเจ้าของเจ้า ผู้ทรงสร้าง (สรรพสิ่ง) ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด (alaq หมายถึงสิ่งที่จับตัวกันจะเป็นก้อนเลือดหรือก้อนดินก็ได้) จงอ่าน พระเป็นเจ้าของเจ้าทรงเมตตาปรานีไม่มีใดเสมอเหมือน ผู้ทรงสอน (เจ้า) ด้วยปากกา, ทรงสอนสั่งมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” – [ซูเราะห์(บท) อะลัก 96 อายะห์ (วรรค) 1-5]
ชาวมุสลิมเชื่อมั่นศรัทธาว่า พระคัมภีร์อัล-กุรอ่าน เป็นถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้า ในข้อความแรกที่ประทานมานี้ พระผู้เป็นเจ้าบัญชาให้ท่านศาสดาที่ตกใจกลัวจนตัวสั่นอ่านทั้งที่ท่านไม่รู้หนังสือ การอ่านนี้มิใช่การอ่านที่มนุษย์กระทำโดยลำพัง แต่เป็นการอ่านในนามของ พระผู้สร้าง พระผู้ทรงเมตตาปรานีไม่มีใดเหมือน และที่สำคัญยิ่งต่อสุนทรกถาในวันนี้คือ พระผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ด้วย ปากกา ชาวมุสลิมบางกลุ่มเชื่อว่า ปากกาเป็นสิ่งแรกที่พระองค์อัลเลาะห์ทรงสร้างขึ้น ก่อนการสร้างกาลเวลา ชั้นฟ้า หน้าแผ่นดิน และมนุษย์ด้วยซ้ำ
ปากกามีไว้เขียน คำถามคือ เขียนอะไร? และเขียนอย่างไร?
ถ้าชีวิตถูกลิขิตโดยปากกาแห่งพระเจ้า มนุษย์จะแสวงหาความเข้าใจในลิขิตของพระองค์อย่างไร?
สมัยที่เรียนวิชาสันติวิธีกับ อาจารย์ เกลนน์ เผช แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายเมื่อกว่าสามสิบปีก่อน อาจารย์ให้อ่านหนังสือชื่อ Yanomamo: The Fierce People ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1968 หนังสือนี้ว่าด้วยคนพื้นเมืองลุ่มน้ำอเมซอนที่อาศัยอยู่ในแถบเวเนซูเอล่าตอนใต้และบราซิลตอนเหนือ คนเขียนเป็นนักมานุษยวิทยาเรืองนามชื่อ นโปเลียน ชางญัน (Napolean Changnon) ที่เห็นว่า ชนเผ่าที่มีจำนวนประชากราวสามหมื่นคนนี้มีประเพณีวัฒนธรรมที่ไม่แปรเปลี่ยนมากนักเมื่อเทียบกับเผ่าอื่น ๆ ต่อมานักหนังสือพิมพ์ชื่อ Patrick Tierney ในงานเขียนเรื่อง Darkness in El Dorado หรือ เงามืดในสุวรรณนคร (2000) กล่าวหาว่าชางญันก่อความรุนแรงต่อชนเผ่านี้เพราะจงใจทำให้พวกเขาติดโรคหัดระบาดเพื่อจะดูผลของกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติในสังคมบุพกาล จนทำให้ชาวยาโนมานีเสียชีวิตนับร้อยคน เรื่องนี้อื้อฉาวใหญ่โตจนสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสอน ชางญัน แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่าเขาทำผิดร้ายแรงต่อชนเผ่านี้อย่างที่ถูกกล่าวหา นอกจากที่ไปสร้างภาพเชิงเหมารวมว่า ชาวยาโนมาโม เป็น “คนดุ” และ ที่ไปติดสินบนข้าราชการเวเนซูเอล่าบางคนระหว่างการทำวิจัย
ในปี 2548 มีภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่งใช้ชื่อเดียวกับหนังสือเล่มที่ว่า คือ “Fierce People” น่าจะแปลเป็นไทยดิบ ๆ ได้ว่า “คนดุ” ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย กริฟฟิน ดันน์ (Griffin Dunne) สร้างมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ เดิร์ก วิตเตนบอร์น (Dirk Wittenborn) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2003 เป็นเรื่องของชายหนุ่มอายุ 16 ปี ที่อยากจะหนีไปให้พ้น ๆ มหานครนิวยอร์คและไปอยู่กับพ่อผู้เป็นนักมานุษยวิทยาที่ศึกษากลุ่ม “คนดุ” ในอเมริกาใต้ (ในภาพยนตร์เรียกว่า ชาวอินเดียนเผ่า Iskanani) แต่ความฝันนี้พังทลายเมื่อตัวเขาถูกจับขณะไปช่วยแม่ที่ติดยา ที่สุดโชคชะตาพาคนทั้งสองเข้าไปอยู่ในคฤหาสน์มหาเศรษฐี พวกเขาต้องเผชิญกับ “คนดุ” ที่น่าจะร้ายกาจและลี้ลับยิ่งกว่าชนพื้นเมืองเผ่าใดที่อยู่ในป่าดิบอเมริกาใต้เวลานี้ “คนดุ” พวกนี้คือ “พวกคนรวยล้นฟ้า” มีตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ พระเอกหนุ่มน้อยวัย 16 สรุปบทเรียนในชีวิตของเขาว่า “เราคือผลรวมของผู้คนทุกรูปทุกนามที่เราเคยพานพบมา (We are the sum of all the people we ever met)”
ศรีบูรพา เคยเขียนนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “เล่นกับไฟ” ลงใน เสนาศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2471 วรรคทองในนิยายเรื่องนี้คือ “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น” ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ แต่คิดว่าที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเป้าหมายของการถือกำเนิด คือคำถามที่ว่าเมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว “ผู้อื่น” มีส่วนสำคัญเพียงไรในการประกอบร่างสร้างตัวตนของมนุษย์? ถ้าชีวิตของทุกคนที่เกิดและโตมาถึงวันนี้ไม่ว่าจะที่ไหนอย่างไรเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง อาจกล่าวได้หรือไม่ว่า หนังสือชีวิตเล่มนี้ถูกร่วมกันเขียนขึ้นโดยผู้คนหลากหลายที่เราแต่ละคนได้พบปะเจอะเจอมาในชีวิตทั้งนั้น
หนังสือชีวิตของข้าพเจ้าถูกขีดเขียนขึ้นจากปากกาของผู้คนมากหลาย ทั้งพ่อแม่และคุณยายที่จากไปหมดแล้ว ทั้งพี่น้องครอบครัว เพื่อนฝูงที่คบกันมาแต่เล็กน้อย เพื่อนร่วมงานที่รักเคารพกัน โดยเฉพาะนักปรัชญาแสนฉลาดที่อยู่ข้างตัวมาเกือบสามสิบปี แต่วันนี้ข้าพเจ้าอยากเล่าเรื่องของลูกศิษย์ เพราะในชีวิตการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเขาก็มีส่วนใช้ปากกาของตนเขียนชีวิตของข้าพเจ้าในแบบที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัว
ในวันนักเขียนปีนี้ จึงขอเลือกงานเขียนของคนเหล่านี้มาเล่าให้ท่านฟังสัก 4 เรื่อง
เรื่องแรก ในชั้นเรียนวิชาสัมมนาการเมืองกับนวนิยายภาคการศึกษาที่ผ่านมาปีนี้ มีนักศึกษากว่ายี่สิบคน ทุกคนต้องอ่านนิยาย 10 เรื่อง เล่มที่ยาวที่สุดคือ สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนา 963 หน้า เล่มที่สั้นที่สุดคือ ช่างซ่อมตุ๊กตาแห่งอาคาเซีย ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ หนา 143 หน้า รวมจำนวนหน้านวนิยายที่ทุกคนต้องอ่านในวิชานี้ก็หลายพันหน้า เมื่อสิ้นภาคการศึกษา ข้าพเจ้าเห็นว่าวิชานี้สนุกสนาน ตื่นเต้น ที่สำคัญคือผู้สอนได้ความรู้ความคิดใหม่ ๆ จากผู้เรียนเป็นอันมากจึงกล่าวขอบคุณนักศึกษาที่ช่วยให้วิชานี้มีสีสันพรรณรายถึงเพียงนั้น พวกเขาทำหน้าบอกไม่ถูก ไม่ใช่เพราะไม่เคยมีใครขอบคุณ แต่คงเห็นประหลาดที่คนสอนกล่าว “ขอบคุณ” คนเรียนเช่นนั้น
แต่ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณพวกเขาจริง ๆ ทั้งในความอุตสาหะใส่ใจกับการเรียน ทั้งการค้นคว้าทำงานหนัก และการแสดงความเห็นที่เฉียบแหลมทำให้ได้คิดอ่านในสิ่งที่ตนเองก็ไม่เคยทดลองคิดมาก่อน บ้างก็มาพร้อมความรู้ในเรื่องแปลก ๆ ที่อาจารย์ผู้สอนไม่มี เช่นความรู้ลึกซึ้งในเรื่องผ้าไทยของนักศึกษาชายคนหนึ่งในชั้นก็ทำให้บทสนทนาที่มากับปัญหาเรื่องอำนาจในสิ่งของโดยเฉพาะผ้าโบราณจากนวนิยายเรื่อง สาปภูษา ลึกซึ้งแปลกประหลาดขึ้นอย่างวิเศษ
วิชานี้เป็นวิชาสัมมนาสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ดังนั้น หลังจากช่วงการบรรยายและอภิปรายปัญหาทางแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ผ่านไปในช่วงเดือนแรกของวิชา ก็เป็นการนำเสนอรายงานของนักศึกษาเป็นกลุ่ม เวลาพวกเขานำเสนอรายงาน ข้าพเจ้าก็จะย้ายไปนั่งเก้าอี้แถวหน้าริมประตูทางเข้าห้องเรียน ด้านหลังของข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาสี่-ห้าคนทั้งที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย พวกนี้เป็นนักศึกษาที่เอาใจใส่เรียนหนังสือ ขยันและมีความคิดของตัวเอง บางคนก็ลงเรียนกับข้าพเจ้าหลายวิชาแล้ว
มีคนหนึ่งเป็นนักศึกษาหญิงปีที่สี่ เธอมักตั้งคำถามสำคัญต่อทั้งเพื่อนนักศึกษาและข้าพเจ้าโดยสำทับคำถามพวกนั้นด้วยเครื่องหมายปรัศนีที่มักซ่อนไว้ในดวงตากลมโตดำสนิท
วันหนึ่งประมาณกลางภาคการศึกษาขณะที่เพื่อนกำลังนำเสนองานเธอก็หยิบหมากฝรั่งขึ้นมาเคี้ยว ข้าพเจ้าหันไปมองเธอแวบหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปใกล้จะพักระหว่างคาบ เธอก็สะกิดเก้าอี้ที่ข้าพเจ้านั่ง ยื่นหมากฝรั่งที่อยู่ในกระดาษมันวาวให้ ข้าพเจ้ารับหมากฝรั่งชิ้นนั้นมา แกะกระดาษวาวออกหยิบหมากฝรั่งใส่ปากเคี้ยวและเก็บกระดาษไว้ เมื่อพักข้าพเจ้าก็เรียกให้เธอแบมือ และทิ้งกระดาษห่อหมากฝรั่งใส่มือเธอ หลังจากนั้นทุกคาบวิชา เก้าอี้ของข้าพเจ้าก็จะถูกสะกิด และเธอก็จะแบ่ง ท้อฟฟี่ บ้าง หรือ หมากฝรั่งบ้างให้ข้าพเจ้ากินครั้งละชิ้น ข้าพเจ้าก็ทำเช่นเดิมคือรับไว้ กินสิ่งที่อยู่ในห่อและคืนกระดาษห่อขนมน้อย ๆ เหล่านั้นทิ้งใส่มือของเธอทุกคราวที่พัก
อยู่มาวันหนึ่ง เธอยื่นโบตันที่อยู่ในกล่องพลาสติกเล็ก ๆ สีขาวให้ ข้าพเจ้ามองอยู่แวบหนึ่ง ก็ส่ายศีรษะปฏิเสธไม่รับ ดวงตาดำสนิทคู่นั้นเปล่งเครื่องหมายปรัศนีจัดจ้ายิ่งกว่าครั้งใด ๆ เธอสงสัยว่า ทำไมข้าพเจ้าไม่รับโบตัน ทั้งที่ก็รับขนมน้อย ๆ จากเธอมาทุกครั้ง เพื่อน ๆ เธอที่นั่งใกล้ ๆ ก็สงสัยเช่นกัน “หรืออาจารย์ไม่ชอบโบตัน” ชายหนุ่มร่างท้วมเอ่ยค่อย ๆ พอได้ยิน
เมื่อเลิกเรียนพวกเราก็คุยกัน ข้าพเจ้าไม่รับขนมน้อยจากเธอเพราะ ที่รับมาทุกครั้งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ระหว่างเราเป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง การละเล่นทุกชนิดมีไวยากรณ์กำกับ เพราะมีไวยากรณ์กำกับจึงเล่นด้วยกันและเล่นต่อไปได้ ไวยากรณ์ใน “การละเล่น” นี้ประกอบด้วยการหยิบลูกกวาดขึ้นมากิน การสะกิดเก้าอี้ของข้าพเจ้า การเสนอลูกกวาดให้ข้าพเจ้ากิน การที่ข้าพเจ้ากินลูกกวาดนั้น และคืนเปลือกหรือกระดาษที่ห่อลูกกวาดนั้นให้เธอ
โบตันในกล่องทำลายไวยากรณ์ที่กำกับการละเล่นนี้ ดังนั้นการละเล่นนี้จึงต้องจบลง
เธอทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่า ที่มนุษย์สัมพันธ์กันอยู่มีลีลาตามไวยากรณ์บางอย่าง เมื่อมนุษย์ในฐานะผู้เล่นปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น การเล่นก็ดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่ออะไรบางอย่างทำให้ดำเนินกฎเกณฑ์เหล่านั้นต่อไปไม่ได้ การเล่นนั้นก็ต้องยุติลง ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้ามองชีวิตเป็นดังการเล่น และมนุษย์อยู่ในฐานะ “ผู้เล่น” เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตก็คงเป็นเช่นนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่า แต่ละฝ่ายมองเห็นและเข้าใจกติกากำกับบทละครแห่งชีวิตเช่นไร? เวลาที่เข้าใจกติกาเหล่านี้ต่างกัน เกิดอะไรขึ้น? และจะอยู่กันต่อไปอย่างไร?
หลังจากบทสนทนา ข้าพเจ้าเห็นแววโล่งใจปรากฏในดวงตาคู่นั้น และในคาบวิชาถัดมา เก้าอี้ของข้าพเจ้าก็ถูกสะกิดอีก
เรื่องที่สอง ชายหนุ่มร่างผอมในวัยใกล้สี่สิบโบกมือให้ข้าพเจ้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ เขาเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเยี่ยมตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันนั้นเรากำลังจะไปญี่ปุ่นด้วยกัน ข้าพเจ้าทราบว่าที่โตเกียวในช่วงนั้นอากาศหนาวต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเชียสจึงนำเสื้อหนาวตัวใหญ่ไปสองตัว เพราะแน่ใจสองเรื่อง คือเรื่องแรกตนเองต้องใช้ และ เรื่องที่สองชายหนุ่มไม่มีเสื้อหนาวขนาดนี้ วันนั้นเขาอยู่ในชุดลำลองใส่เสื้อนอกสีดำดูว่าไม่หนานัก คงกันลมได้แต่กันหนาวที่ญี่ปุ่นเวลานั้นไม่ได้แน่ กลางหลังเขาสะพายเป้สีชมพูสดใส เห็นก็รู้ว่าแอบเอาของลูกสาวมาใช้
ชายหนุ่มคนนี้มีทางเดินสายวิชาการที่น่าตื่นเต้น ทั้งเพราะเริ่มเรียนวารสารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ไปต่อประวัติศาสตร์ที่จุฬาฯ และไปจบปริญญาเอกเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชวาในสาขาวิชาเดียวกันจนได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นจากสิงคโปร์ จำได้ว่าเมื่อแรกพบกันที่ธรรมศาสตร์สมัยที่เขาเรียนหนังสือกับข้าพเจ้า รู้สึกชื่นชมเขามาก ไม่เพียงเพราะเขาเป็นนักศึกษาฝีมือดี หากยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เนือง ๆ เมื่อคุยกันครั้งหลังสุดทางโทรศัพท์ไม่นานมานี้ เขาบอกว่า ทุกอย่างที่ทำวันนี้ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ หรือ หนังสือจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย เขาถือว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเขียนงานวรรณกรรมไม่ต่างจากนวนิยายและเรื่องสั้นที่เคยเขียนในอดีตนัก
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เขาก็คล้ายลูกศิษย์อีกจำนวนหนึ่ง ที่ออกจะไม่พอใจความเห็นหรือบทบาทบางประการที่ข้าพเจ้าแสดงในทางสาธารณะ บางคนก็รู้สึกอยากให้ข้าพเจ้าออกมาคัดค้านรัฐประหารให้มากกว่าที่ได้ทำไปบ้างแล้ว อีกบางคนก็อยากให้แสดงการสนับสนุนรัฐบาลหลังสมัยทักษิณให้ชัดเจนขึ้น ในกรณีของชายหนุ่มเขาเงียบหายไปไม่ติดต่อข้าพเจ้าเป็นปี จนวันหนึ่งก็โทรศัพท์มาหาที่บ้าน เมื่อถามว่าหายไปไหนตั้งนานสองนาน เขาตอบข้าพเจ้าว่า “โกรธอาจารย์ไปปีหนึ่ง แต่ตอนนี้หายโกรธแล้ว” ข้าพเจ้าไม่ได้ถามเขาว่าโกรธทำไมเพราะเดาได้ และเพราะดีใจยิ่งกว่าที่เขาหายโกรธแล้ว
เมื่อลงเครื่องบินที่โตเกียว อากาศหนาวจัดข้าพเจ้าเห็นเขาสวมเสื้อหนาวที่นำไปเผื่อเขา หลายวันถัดมาไม่ว่าจะอยู่ในห้องสัมมนาหรือห้องอาหารก็เห็นแต่ใส่เสื้อหนาวหนาหนักของข้าพเจ้า ไม่ได้เห็นใส่เสื้อนอกตัวที่ใส่มาจากบ้านบ้าง ข้าพเจ้าจึงออกปากถาม “อ๋อ ผมให้เขาไปแล้ว” เมื่อเขาเห็นข้าพเจ้าทำตาโตเป็นเครื่องหมายคำถามจึงเล่าต่อไปว่า “เมื่อขึ้นเครื่องบิน ผมได้ที่นั่งติดกับผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ดูจากเสื้อผ้าท่าทางเห็นจะพยายามไปทำมาหากินที่ญี่ปุ่น แต่เห็นใส่เสื้อบางและไม่ได้มีอะไรอีก ผมก็ถามว่า รู้ไหมว่าที่ญี่ปุ่นตอนนี้หนาวมาก เธอก็บอกว่าไม่รู้ พอถามว่าแล้วมีเสื้อหนาวอื่นไหม เธอก็บอกผมว่าไม่มี ผมก็เลยเอาเสื้อนอกตัวนั้นให้เธอไปเลยครับ”
เมื่อเล่าจบก็เริ่มทำหน้าวิตก “ตายละ เมียผมจะว่ายังไงนี่ เสื้อตัวนี้เธอซื้อให้เสียด้วยซีครับ” ข้าพเจ้ามองหน้าที่ซีดลงเรื่อย ๆ ของชายหนุ่ม แล้วก็เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงชอบชายหนุ่มผู้นี้ เขาทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่า โลกนี้น่ารักเพราะมีคนเช่นนี้ คือคนที่นึกถึงคนอื่นก่อน ไม่ว่าคนอื่นนั้นจะเป็นใครมาจากไหน ขอเพียงเขาลำบากยากไร้กว่าเรา เราก็สละสิ่งที่พอมีอยู่บ้างให้เขาได้ และนี่ก็เป็นการกระทำโดยไม่ได้หวังผลได้หรือคิดถึงผลเสียใด ๆ ที่จะตามมา ข้าพเจ้ามองหน้าซีด ๆ หมองคล้ำของชายหนุ่มร่างผอมแล้วก็เห็นโลกที่สว่างสดใสขึ้นในเวลานั้น
เรื่องที่สาม เธอเดินเข้ามาพร้อมกับลูกชายคนเดียว เด็กชายอายุสิบสี่คนนี้ฉลาดเฉลียว ขยันอ่านหนังสือ และมีความคิดความเห็นเป็นตัวเอง เขารักแม่ยิ่งกว่าอะไร แต่เมื่อถามว่า แม่เป็นอย่างไร เขาตอบว่า “แม่เป็นนกเพนกวินตัวอ้วน”ข้าพเจ้าหันไปมองสตรีสาวสง่าที่เป็นนักวิชาการที่สนใจศึกษาวิจัยเรื่องกัมพูชาและปัญหาชายแดนคนสำคัญของประเทศซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะ ไม่เห็นด้วยกับเด็กชายเอาเลย แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร เด็กชายพูดต่อไปว่า “แม่เคร่งครัด จู้จี้ ชอบวิพากษ์วิจารณ์” หยุดไปหนึ่งอึดใจ “แต่แม่เป็นคนยอมทนกับคนที่เห็นแตกต่างออกไปได้จริง ๆ”
ข้าพเจ้าคิดถึงเธอผู้นี้เมื่อกว่ายี่สิบห้าปีมาแล้ว วันหนึ่งขณะที่นั่งทำงานอยู่ในห้องเลขที่ 306 คณะรัฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็ได้ยินเสียงเคาะประตูเบา ๆ เมื่อกล่าวอนุญาต สตรีร่างผอมสูงในชุดเสื้อยืดกางเกงยีนเก่า ๆ ก็เดินเข้ามา จำได้ว่าบอกให้เธอนั่ง แต่เธอเลือกยืนในห้องเล็ก ๆ นั้น ข้าพเจ้าหันไปมอง ตั้งใจฟัง “อาจารย์ไม่คิดจะทำอะไรบ้างหรือ” ข้าพเจ้าเลิกคิ้วด้วยความงุนงง “ก็บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ปัญหาความรุนแรงก็เต็มไปหมด อาจารย์ก็สอนเรื่องความรุนแรงและสันติวิธี อาจารย์จะสอนแต่หนังสืออย่างเดียว ไม่ไปทำอะไรข้างนอกให้สังคมมันดีขึ้นบ้างหรือ” ข้าพเจ้าจับกังวานเสียงไม่สบใจได้ เพราะเธอก็ไม่ได้จะปิดบังอะไร
หลังจากบทสนทนากับเธอวันนั้น ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่า บางวิชาไม่อาจถูกจำขังอยู่ในห้องหอแห่งวิทยาการได้ แต่ต้องปลดปล่อยออกไปเบื้องนอก มีแต่เช่นนี้เท่านั้นที่พลังอำนาจของวิชาการจะปรากฏได้อย่างแท้จริง และอาจ… อาจเท่านั้น…ส่งผลอะไรต่อสังคมมนุษย์รอบตัวได้ คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า ที่ชีวิตของข้าพเจ้าบางส่วนออกไปโลดโผนอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยก็เพราะมีเธอเป็นคนแรก ๆ ที่เขียนเส้นทางเดินให้
เรื่องที่สี่ กาลเวลาดูเหมือนจะถมหนังสือและกระดาษจำนวนมากเข้ามาในห้องทำงานเล็ก ๆ ของข้าพเจ้าที่ท่าพระจันทร์ จากวันเวลาที่ห้องเคยยอมให้มีคนเข้ามานั่งหรือยืนได้สัก 4 คนเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ตามปริมาณหนังสือและเอกสารที่รุกรานพื้นที่ จนวันนี้เหลือที่ว่างพอให้มีคนเข้ามาได้อีกคนหนึ่งนอกจากเจ้าของห้องเท่านั้น
แต่เมื่อก่อนห้องไม่ได้เป็นอย่างนี้
เมื่อก่อนห้องยังพอมีที่ทางให้ผู้คนขยับเขยื้อนเคลื่อนกายได้บ้าง
วันหนึ่งมีเสียงเคาะประตูหน้าห้อง และสาวน้อยผิวคล้ำ สวมแว่นสายตาท่าทางทะมัดทะแมง พาร่างสูงโปร่งของเธอเข้ามาในห้อง
“หนูจะจบแล้วค่ะ” เธอเอ่ยอะไรอีกหลายคำ จากนั้นเธอก็กล่าวว่า
“หนูไม่มีอะไรจะให้อาจารย์ ขอให้อาจารย์ฟังหนูนะคะ”
แล้วเธอก้มลงเปิดกล่องที่ถือติดตัวมามา หยิบเอาไวโอลินของเธอขึ้นพาดไหล่ จากนั้นก็บรรเลงเพลงให้ข้าพเจ้าฟัง
น่าประหลาดที่ข้าพเจ้าจำชื่อเพลงที่เธอบรรเลงให้ไม่ได้แล้วในเวลานี้ แต่จำภาพที่เธอสีไวโอลินเป็นเพลง Serenade ให้ข้าพเจ้าฟังในห้องเล็ก ๆ นั้นได้ และจำได้ด้วยว่า ตนเองรู้สึกพูดไม่ออกกับภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า ห้องนี้เคยมีหลายสิ่งเกิดขึ้น คนที่เข้ามานั่งในห้องนี้ บ้างก็เข้ามาด้วยความโกรธขึ้งกับสิ่งที่ข้าพเจ้าทำไปในทางสาธารณะ บ้างก็เพราะคะแนนที่ตนได้รับจากผลการสอบ บ้างก็เข้ามาด้วยความรู้สึกเศร้าสร้อยเสียใจ บางคนเข้ามานั่งนิ่ง ๆ ในห้อง ก้มหน้า น้ำตาไหล ข้าพเจ้าก็ไม่ถามว่าเรื่องอะไร ได้แต่นั่งมองเพราะคิดว่า ถึงเวลา คนร้องไห้ก็คงเล่าให้ฟังเองถ้าเขาอยากจะเล่า ที่ข้าพเจ้าทำได้เมื่อเขาไม่ได้เล่าอะไรให้ฟัง ก็คือ ยื่นกระดาษทิชชู่ให้ทั้งกล่อง แล้วก็นั่งรอ…
แต่วันนั้นไม่ใช่เช่นนี้ เธอลงมือสีไวโอลินให้ข้าพเจ้าฟัง แม้จะนึกถึงภาษิตไทยเกี่ยวกับการสีซอได้อยู่ ก็แน่ใจว่า วันนั้น เวลานั้น คนสีไวโอลินไม่ได้คิดเช่นนั้น เธอคงคิดว่าอยากตอบแทนข้าพเจ้าด้วยเสียงดนตรี แต่วันนั้นข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรบางอย่างต่อหน้าต่อตา คือเห็นพลังของดนตรีที่สามารถอาบรดชีวิตให้อิ่มเอมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เวลานี้คนเล่นไวโอลินกลายมาเป็นนักหนังสือพิมพ์คนเก่งคนหนึ่งของประเทศนี้
คนเหล่านี้ใช้ปากกาแห่งชีวิตขีดเขียนร่องรอยให้ข้าพเจ้าและคนอื่น ๆ เห็นว่า การเผชิญหน้ากับปัญหาสาหัสที่คุกคามสังคมไทยและโลก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบผู้คน เบียดบังทำร้ายธรรมชาติ หรือ ความเกลียดชัง อาจต้องเริ่มจากความเข้าใจว่า ชีวิตของเราผูกพันลึกซึ้งกับคนอื่นไม่ว่าจะญาติมิตร หรือ คนแปลกหน้า ไม่ว่าจะถือว่าเขาเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู เพราะที่สุดแล้วชีวิตของเราคือผลรวมของผู้คนที่เราพานพบ
จากปากกาแห่งชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าชีวิตมีกฎเกณฑ์บางอย่าง และเมื่อกฎเกณฑ์นั้นถูกละเมิดจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาเขียนด้วยว่า เราควรออกไปเปลี่ยนโลกด้วยกำลังวังชาที่เรามี เพราะโลกนี้ก็รอให้เราเขียนเรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพียงแต่เมื่อจรดปากกาลงบนชีวิตของผู้อื่น ก็ควรทำด้วยความเมตตาอาทร ไม่ว่าเขาจะเป็นญาติมิตรหรือคนแปลกหน้า และเมื่อเหนื่อยนักก็พักได้โดยยอมให้ชีวิตถูกเขียนด้วยสุนทรียะ เพราะคงมีแต่ความงามเท่านั้นที่เยียวยาความเจ็บปวดเหนื่อยล้าแห่งหัวใจได้
ด้วยความเคารพในเส้นทางของนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์และชื่นชมในหมุดหมายแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ศรีบูรพาจารึกไว้ในแผ่นดิน ข้าพเจ้าอยากชักชวนให้เราแต่ละคนได้สัมผัสโลกที่เต็มไปด้วยนักเขียนและกวีที่ถือปากกาเขียนชีวิตให้เราอยู่ เพียงแต่ว่าบางคนเขียนด้วยถ้อยคำ บางคนเขียนด้วยรอยยิ้มหรือไม่ก็น้ำตา ขณะที่อีกหลายคนเขียนด้วยความเงียบ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
สุนทรกถาเนื่องในโอกาสได้รับรางวัล “ศรีบูรพา”
วันนักเขียน 5 พฤษภาคม 2555