“อุดมการณ์” ฟังดูแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างครับกับคำๆ นี้ หลายคนอาจจะตั้งนิยามกันไปต่าง ๆ นานา แต่ไม่เป็นไร เอาเป็นว่า เราลองมาดูความหมายตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 กันดีกว่า ว่าเค้ากล่าวเอาไว้ว่าอย่างไร

“อุดมการณ์” มีความหมายว่า “อุดมคติอันสูงส่งที่จูงใจมนุษย์ให้พยายามบรรลุถึง” แล้วคำว่า “อุดมคติ” ล่ะ ครับ เค้าให้ความหมายมันไว้ว่าอย่างนี้ครับ อุดมคติ หมายถึง “จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็น เป้าหมายแห่งชีวิตของตน”

ดังนั้น ถ้าเราจะรวมเอาความหมายของคำว่า อุดมการณ์ ให้สมบูรณ์ ก็น่าจะได้ความหมายว่า “จินตนาการ ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดีงาม และความจริง ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตอันสูงส่งที่จูงใจ ให้มนุษย์พยายามบรรลุถึง”

จากความหมายตรงนี้ คิดว่าทุกคนคงพอจะมองภาพออกบ้างแล้วนะครับ แต่ถ้ายังมองภาพไม่ออก จะลองยกตัวอย่างให้ดูคร่าว ๆ คิดว่าพวกเราคงจะรู้จักกันดีนะ เช่น ที่ค่ายบางระจัน ได้ปักหลักสู้กับพม่า เพื่อปกป้องบ้านเมือง จนวาระสุดท้าย พระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อมพม่าเพื่อไปรวบรวมกำลังกลับมากู้ชาติ และที่ขาดไม่ได้ ก็คือ การณ์ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงเพียรพยายามจนสามารถตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง แล้วได้สั่งสอนให้กับคนทุกคน เพื่อหวังจะให้คนเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ และยังเป็นคำสั่งสอนมาจนถึงปัจจุบัน ฯลฯ

อย่าเพิ่งตกใจกันนะครับ ว่าตัวอย่างที่ยกมานั้นทำไมมันสูงส่งจัง ครับมันสูงส่ง แต่จะเห็นได้ว่า ผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์นั้น จะต้องเพียรพยายามให้บรรลุผล ทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ โดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว เพียงแต่ว่าผมอยากจะชี้ให้เห็นด้วยว่า อุดมการณ์ของแต่ละคนนั้น มันมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับยุคสมัย และจุดมุ่งหมายของแต่ละคน ดังนั้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีอุดมการณ์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าใครที่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน ก็สามารถที่จะร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้ แต่ถ้าถามว่าเราทุกคนมีอุดมการณ์ หรือไม่นั้น อันนี้ต้องถามตัวเองแล้วล่ะ ว่าเรามีจุดมุ่งหมายอะไรที่สูงส่งบ้างในชีวิต ผมว่าทุกคนทำได้นะ แต่ต้องมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่น และหนักแน่นจริง ๆ

สิ่งที่ผมมองเห็นในสังคมปัจจุบันนี้ ผู้คนที่ผมถือว่ามีอุดมการณ์ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ อย่างตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาให้ดูหรอก แค่บัณฑิตอาสาที่อาสาไปเป็นครูชาวเขา หรือชนบทไกลๆ โดยไม่คำนึงถึงความสุขหรือความสะดวกสบายที่เคยมีมาหรือสามารถที่จะหยิบยกได้โดยไม่ยากในสังคมเมือง หรืออย่างคุณสุเทพ และพี่แดง วงโฮป ที่หยุดผลงานเพลงไปหลายปี เพื่อทำงานให้สังคม และก็ไม่ได้หยุดสร้างสรรค์สังคม ยังคงทำอยู่เรื่อย ๆ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์แล้ว หรืออย่าง สืบ นาคะเสถียร ที่อุทิศชีวิตเพื่อป่าไม้เมืองไทย ถึงแม้ผลและกระแสสนับสนุนจะเกิดหลังจากที่เค้าเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ถือเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน แต่วิธีการนี้ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ และทุกยุคสมัย

ผมว่าคนเราแค่เข้าใจความหมายของคำว่า “คน” และคำว่า “ดี” ทุกอย่างมันก็จะตามมาได้เองนั่นแหละ จะทำอย่างไรล่ะ ให้มันบรรลุไปถึงจุดตรงนั้น ทำความเข้าใจตนเอง ทำความเข้าใจชีวิต และธรรมชาติ (หมายถึงความเป็นจริงต่างๆในโลกนี้นะ) ไม่ไกลเกินไปหรอก แล้วเราจะยิ้มกับมันได้………ชีวิต

“ทุกอย่างอยู่ที่ความคิด มีสติอยู่เสมอ อย่าลืมตัว”

นกเสรี