
ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด………..
เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นพร้อม ๆ กับแสงอาทิตย์แรกของวันทำงานธรรมดาวันหนึ่ง ผมตื่นขึ้นจากผวัง และจากการเพ้อฝันในยามค่ำคืน ผมต้องลุกขึ้นจากเตียงเพื่อใช้ “ชีวิตประจำวัน” อันแสนจะน่าเบื่อ ทุกวันที่ผ่านมาต้องทำทุกอย่างเสมือนหุ่นยนต์ ลืมตา เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว และเดินทางบนการจราจรที่เต็มไปด้วยคลื่นรถยนต์ และเพื่อนร่วมโลกที่อยู่ในสภาวะเร่งรีบ โดยไม่สนใจว่าเช้านี้มีอะไรตกถึงท้องบ้างหรือยัง
ผมต้องเข้าทำงานในพื้นที่สี่เหลี่ยมแคบ ๆ อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีแต่ตัวเลขเต็มบนหน้าจอ เสมือนหนึ่งว่าตัวเลขเป็นตัวกำหนดทิศทางการใช้ชีวิตประจำวันของผม
จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ ๆ เอ๊ก อี เอ๊ก เอ้ก ๆ เสียงสรรพสัตว์ และแดดอ่อน ๆ ทำให้ผมตื่นขึ้นจากการหลับ ความฝันเมื่อคืนที่ผ่านมาไม่มีความสำคัญกับผมเท่าไหร่ เพราะผมได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ผมนำตัวเองออกมาจากถุงนอน ในขณะที่เพื่อนร่วมทางของผมยังนอนซุกอยู่ในถุงนอนส่วนตัวของแต่ละคน
เมื่อวานผมและเพื่อน ๆ อีก 5 คนได้เดินทางมาถึง “หมู่บ้านผาแดงหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน” คงเป็นครั้งที่สองกระมังที่ผม และเพื่อน ๆ ได้กลับมาเยือน “พื้นที่แห่งความทรงจำ” นี้อีกครั้ง
ผมไม่รีรอที่จะหยิบกล่องถ่ายรูปตัวเก่งขึ้นมาชักภาพแสงอาทิตย์แรกของวัน เด็ก ๆ และผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ตื่นเช้ากันมาก บ้างก็ทำอาหาร บ้างก็ออกมาก่อกองไฟเพื่อขับไล่ไอหนาว เพราะลำพังเสื้อตัวบาง ๆ ไม่สามารถสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายได้ เด็ก ๆ จับกลุ่มกันหน้าอาคารเรียนหลังไหม้ ที่กลุ่มคนหน้าแปลกเข้ามาพักเมื่อคืนที่ผ่านมา เด็ก ๆ ยิ้มให้ผม
“อา มู เชอ เปอ” (อา มู เชอ เปอ แปลว่า สวัสดี หรือ ยินดีที่พบกัน – ภาษาปากะญอ) ผมทักทายเป็นภาษาปากะญอ ที่ผมพอจะจำได้หลังจากสองปีที่ผมจากที่นี่ไป เด็กๆ ต่างหัวเราะ และเขินอายวิ่งไปหลบใต้โบสถ์
เสียงระฆังที่ดังออกมาจากโบสถ์ เป็นเสียงเรียกชาวบ้านให้มาชุมนุมกันเพื่อทำพิธีร้องเพลงสวดมนต์ประจำวัน ก่อนแยกย้ายกันไปทำงานในแต่ละวัน เสียงเพลงลอยคู่กับลมเข้าหูผม ผมไม่ได้ยินเพลงประสานเสียงที่เพราะแบบนี้มานานแค่ไหนแล้ว…
“นี้เธอคิดว่าปีนี้ยอดกำไรของเราจะทะลุเป้าไหม” เสียงหนึ่งเข้ามารบกวนการจดจ่อกับตัวเลขของผม… ผมมองนาฬิกาบนเพดานมันบอกเวลา 12 นาฬิกา นาฬิกาทำหน้าที่ของมันได้ดีเสมอ มันเตือนให้ผมต้องไปกินข้าวแล้ว ผมออกจากสิ่งก่อสร้างระฟ้า คลื่นของมนุษย์ทำงานพาผมไปกินข้าวกลางวัน และก็พาผมกลับมานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีแต่ตัวเลขอีกครั้ง “ปีนี้เราต้องทำให้ได้นะ” เสียงชายคนหนึ่งลอยเข้ามา…
หลังจากที่เพื่อนร่วมทางของผมหายเหนื่อยจากการเดินทางกว่า 800 กิโลเมตร พวกเราร่วมกันทำอาหารเช้ากัน นานเท่าไหร่แล้วที่พวกเราไม่ได้ลงมือทำอาหารเช้าด้วยตัวเอง และใส่ใจกับมัน
“วันที่จะไปไหนกันดี” ครูประจำโรงเรียนถามพวกเรา ผมคิดในใจว่าผมมาเยี่ยมหมู่บ้าน และอยากใช้เวลาในหมู่บ้านให้มากที่สุด
แสงแดดจ้าปะทะกับห้องเรียนสองห้องที่พวกเราเคยสร้างไว้ เมื่อตอนออกค่ายเมื่อสองปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีรอยปริแตกบ้างของเนื้อปูน แต่ผมไม่เคยลืมวันเวลาที่พวกเราได้ร่วมสร้างด้วยกัน เมื่อสองปีที่แล้ว กว่า 60 คนที่เข้าร่วมก่อสร้างอาคารหลังนี้ร่วมกับชาวบ้านที่นี่ หลังจากหนึ่งเดือนให้หลังที่เราได้ยินคำพูดที่ว่า “ที่หมู่บ้านแห่งนี้เราไม่มีห้องเรียนที่กันแดดกันฝนเด็ก ๆ ได้” ห้องเรียนสองห้องนี้ จึงเปรียบเสมือน “พื้นที่แห่งความทรงจำ” ของพวกเราที่ร่วมกันผสมปูน ขนดิน ขนทราย ก่ออิฐ ฉาบปูน และตอกตะปู นึกถึงเมื่อไหร่ภาพในวันนั้นก็เป็นความทรงจำที่งดงามเสมอ
ผมยังคงเห็นภาพเพื่อน ๆ ต่อแถวกันส่งทราย ส่งหิน นั่งพัก ดื่มน้ำ ก่ออิฐเบี้ยวและวิ่งเล่นกัน ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านเท่าไหร่แล้วก็ตาม มันคงเป็น “ความทรงจำต่อพื้นที่” ของผมต่ออาคาร และหมู่บ้านแห่งนี้กระมัง “ห้องเรียนนี้เป็นของเด็กอนุบาล” ครูบอกพวกเรา
ผมวางกาแฟถ้วยที่สองของวันนี้ลงเมื่อตัวเลขบนหน้าจอของผมไม่ลงตัว ผมถามตัวเองว่าทำไมต้องกินกาแฟด้วยในเมื่อผมก็ไม่รู้ว่ามันมีผลต่อการทำงานอย่างไร
“กลับก่อนนะ” เพื่อนร่วมงานของผมเริ่มทยอยออกจากพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เพื่อออกไปผจญกับคลื่นมลพิษ และคลื่นมหาชนที่พยายามแข่งขันกันกลับไปที่พักของตัวเอง ผมมองผ่านกระจกออกไป ท้องฟ้าสีส้มปนดำ แสงสุดท้ายของวันกำลังจะหมดไป ผมยังคงนั่งอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม
“ที่นี้ยังคงเหมือนเดิม งบประมาณหมดก่อนถึงหมู่บ้านเราทุกที สงสัยว่าหมู่บ้านของผมคงไม่ได้อยู่บนแผนที่ประเทศไทย” ครูใหญ่บอกพวกเราขณะที่เดินนำทางพวกเราไปอีกหย่อมบ้านหนึ่ง (หย่อมบ้านคือ ครัวเรือนที่กระจุกตัวรวมกันขนาดเล็ก มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะเป็นหมู่บ้าน) ซึ่งแยกตัวออกจากหมู่บ้านผาแดงหลวง ชื่อว่า “หย่อมบ้านโป่งน้ำร้อน” มีประมาณ 20 ครัวเรือน พวกเราใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงกับระยะทาง 8 กิโลเมตร เดินเท้าจากหมู่บ้านผาแดงหลวงสู่หย่อมบ้านโป่งน้ำร้อน ครูบอกพวกเราว่าเด็กในหย่อมบ้านนี้ต้องเดินเท้าไปเรียนหนังสือที่หมู่บ้านผาแดงหลวงทุกวัน ไปกลับก็ราว ๆ 16 กิโลเมตร
“เด็ก ๆ ที่นี่ไม่มีทางเลือก เพราะยังไม่มีโรงเรียนที่จะมาเปิดในหย่อมบ้านนี้” ที่นี้มีเพียงการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้กับสมาชิกหย่อมบ้านที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเรียนเท่านั้น ผมเหลือบไปเห็นหนังสือตั้งหนึ่ง หน้าปกเขียนว่า “แบบเรียนสำหรับชาวไทยภูเขา” ผมเปิดอ่านดูอย่างช้า ๆ
บทที่หนึ่ง การพูดภาษาไทยให้ชัดเจน บทที่สอง การเป็นพลเมืองดีของประเทศ ผมปิดหนังสือเล่มนั้นและก้าวเข้าไปในครัวเพื่อทำอาหารกลางวัน
นอกจากบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยป่าไม้ และสายน้ำแล้ว หย่อมบ้านโป่งน้ำร้อนก็มีน้ำเย็น น้ำอุ่น น้ำร้อน ธรรมชาติชาวบ้านที่นี้ตัดปล้องไม้ไผ่ เรียงกันเสมือนท่อน้ำจากธรรมชาติ เด็กน้อยที่ติดสอยห้อยตามพวกเรามาด้วยพาพวกเราขึ้นไปดู “ตาน้ำ” เป็นพื้นที่ที่น้ำผุดขึ้นมาเอง ชาวบ้านคนหนึ่งบอกเราว่า “ปีหน้าทางอำเภอจะเปิดที่นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว”
เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนสู่ทิศตะวันตก ก็ถึงเวลาที่พวกเราต้องเดินทางกลับหมู่บ้านก่อนฟ้ามืดจะมาเยือน ก่อนทางเข้าหมู่บ้าน ผมเพิ่งสังเกตธงเหลือง ธงฟ้า สลับกับธงชาติไทย ผมมองขึ้นไปบนต้นไม้พบป้ายข้อความ “หมู่บ้านเสี่ยงภัย ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก”
“ที่นี่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ขึ้นมานานแล้วล่ะ ปกติพวกเขาจะนัดผมลงไปข้างล่างเพื่อแจ้งข่าวเป็นระยะ ๆ มากกว่าที่จะขึ้นมาหาพวกเราเอง” พ่อหลวง เล่าให้พวกเราฟังขณะที่ร่วมงานเลี้ยงข้าวหลาม (คืนก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับทางหมู่บ้านจัดงานเลี้ยงข้าวหลาม หรือปาร์ตี้ข้าวหลามให้พวกเรา แน่นมากครับผู้ใหญ่) เสียงเพลงจากกีตาร์ตัวเดียวที่พวกเราติดไปด้วยขับกล่อมค่ำคืนที่แสนเหน็บหนาว และแสงดาวที่เกลื่อนฟ้า
และแล้วเวลาของพวกเรากับ “พื้นที่แห่งความทรงจำ” นี้ก็หมดลง เมื่อแสงอาทิตย์แรกของวันใหม่ปลุกพวกเราให้ตื่น พวกเราถ่ายรูปหมู่บ้านเป็นที่ระลึก สายตาของผมสะดุดกับป้ายหาเสียงของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหนึ่ง
“ครั้งที่แล้วเขาสัญญาว่าจะให้ถนนกับพวกเรา” ผู้ใหญ่บ้านพูดพร้อม ๆ กับหัวเราะ
ก่อนที่ผมจะขึ้นรถกลับผมถามครูใหญ่ว่าอยากให้หมู่บ้าน “เจริญ” ขึ้นไหม “ความเจริญทางวัตถุต้องเกิดขึ้นควบคู่กับกับความเจริญทางจิตใจ” ในขณะที่รถเคลื่อนตัวนำพาผงฝุ่นสีแดงลอยขึ้นมาตลบ พวกเราต่างนำผ้าปิดจมูก ผมนึกถึงคำพูดของครูใหญ่
ท้องฟ้านอกหน้าต่างมืดลงแล้ว ผมมองไปที่แผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งบนโต๊ะทำงาน ปรากฏข้อความ กรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน เวลา 21.00 น. ผมมองนาฬิกาข้อมือ 19.30 ผมรีบนำตัวเองจากจอตัวเลขสื่เหลี่ยมพร้อมกระเป๋าเป้ที่เตรียมไว้ “ช้าตามเคยนะแก” เสียงแสบแก้วหูลอยมาท่ามกลางเสียงอื้อ อึง บริเวณชานชลารถ
ผมลืมตาขึ้นมา บนจอสี่เหลี่ยมที่เต็มไปด้วยตัวเลข ผู้คนรอบข้างผมยังคงพูดเป็นภาษาตัวเลข ผมนึกถึง “พื้นที่แห่งความทรงจำ” แต่ผมยังคงอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม
itumm