การศึกษาของเด็กไทย ที่ถูกบูรณะมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งเรื่องการสอน วิธีการเรียน ที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมทุกทางเพื่อสนับสนุนการศึกษา สิ่งเหล่านั้นที่ผู้ใหญ่พยายามทำ มันช่วยพัฒนาการศึกษาได้จริงอย่างหวังหรือไม่ หรือเป็นการใส่ปุ๋ยต้นไม้ที่ผิดวิธี

หากพูดถึง การศึกษา ของไทย เราก็มักนึกถึงคำโคลงที่ว่า “กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไปฉันนั้น”  ซึ่งเป็นโคลงที่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ประพันธ์เอาไว้อย่างไพเราะ เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงอยากจะเห็นกล้วยไม้ออกดอกงามเด่น แต่ในความเป็นจริงก็ต้องรอกันต่อไป เพราะสภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันยังเหมือนย่ำอยู่กับที่ จะเห็นได้จากผลการทดสอบในระดับประเทศอย่าง O-net ที่ต่ำลงแทบทุกปี โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จนไปถึงการทดสอบในระดับนานาชาติอย่าง PISA ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผลปรากฏว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยยังคงรั้งท้าย จนหลายฝ่ายเป็นกังวล และเกิดคำถามว่า หรือนี่เป็นจุดวิกฤตของการศึกษาไทย

กล้วยไม้ที่เราหวังจะเห็นดอกที่งดงาม ท้ายที่สุดแล้วจะผลิดอกให้เราชื่นชม…หรือจะเหี่ยวเฉาเสียก่อน?

กล้วยไม้ออกดอกช้า เพราะอะไร? : หรือเพราะจุดบอดของการศึกษาไทยที่ยังไม่มีทางออก

หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านการศึกษามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และรัฐบาลเองก็ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลมายังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อใช้ในการปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

ภายใต้งบประมาณหลายล้านล้านบาท ได้นำมาซึ่งการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ด้านการศึกษา รวมถึงโครงการส่งเสริมสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาครู โครงการพัฒนานักเรียนสู่ความเป็นเลิศ โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมถึงยกระดับผลคะแนนโอเน็ต และอีกร้อยแปดโครงการ แต่ผลลัพธ์กลับไม่แตกต่างไปจากเดิม เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยังคงเรื้อรังมานานในระบบการศึกษาบ้านเรา เมื่อเกิดวิกฤตการศึกษาเราก็เอาแต่โทษนักเรียน โทษครู  โทษสื่อ โทษสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยที่เราหลงลืมที่จะตั้งคำถามว่า หรืออาจเป็นเพราะเรานำเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปซื้อปุ๋ยคุณภาพต่ำ หรือไม่ก็ไปซื้อปุ๋ยที่ไม่เหมาะกับธรรมชาติของกล้วยไม้มาใส่ในกระถางกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้ของเราไม่ยอมผลิบานซักที

จะทำอย่างไร เมื่อการศึกษาไทยยังไม่เบ่งบาน?

ทุกวันนี้เราเสพข่าวเกี่ยวกับการศึกษาที่กำลัง “ทิ้งดิ่ง” มาหลายต่อหลายครั้ง จนเรามองว่า “การย่ำอยู่กับที่” คือเรื่องปกติ ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าการศึกษาไทยจะเป็นไปในทิศทางใด จะค่อย ๆ ผลิบาน หรืออาจแห้งเฉา เราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบ  เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว ที่เป็นรากฐานสำคัญในการหล่อเลี้ยงให้เด็กและเยาวชนที่เปรียบเสมือนกล้วยไม้ต้นเล็ก ๆ ให้ค่อยๆเติบโตอย่างมีคุณภาพ คอยเติมความเข้าใจ ความรักและความอบอุ่น

ส่วนสถาบันการศึกษาถือเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด ที่สังคมคาดหวังอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแล และบำรุงรักษา รวมถึงกระตุ้นให้กล้วยไม้ผลิบานได้อย่างสมบูรณ์ สถาบันการศึกษาจะต้องใส่ปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง มิใช่ปุ๋ยคุณภาพต่ำที่ซื้อมาในราคาถูกเพียงแค่หวังจะได้ส่วนต่าง เราต้องสร้างโรงเรียนให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ไม่ใช่สังคมแห่งการกักขังหรือปิดกั้นอิสระทางความคิด นอกจากนี้สื่อมวลชนเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ สร้างแบบอย่างเยาวชนไทยที่ดี เพื่อให้พวกเขาเติบโต เบ่งบาน และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายได้อย่างมีความสุข