นานแล้วที่ผมไม่ได้เตร็ดเตร่ตามถนนกรุงเทพฯย่านจามจุรี แต่ในค่ำคืนนี้ (วันศุกร์ที่ 16 เมษายน) ผมจะได้ไปเยี่ยมเยียนย่านนั้นอีกครั้ง เพราะผมมีนัดกับรุ่นน้องที่เคยออกค่ายฯด้วยกัน เพื่อเสวนากัน
หนึ่งทุ่มเศษผมกับคนรักได้มานั่งรอน้องๆที่นัดกันไว้ ที่ร้านอาหารตามสั่งบนโรงอาหารตลาดสามย่าน เรานัดกันไว้ตอน 2 ทุ่ม แต่เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ รถราในกรุงเทพฯจึงไม่ค่อยติดสักเท่าไรนัก ผมจึงมาถึงก่อนเวลา และได้สั่งอาหารรอไปก่อน ซึ่งก็เป็นการรออาหารที่รอแล้วรอเล่าจริง ๆ เกือบชั่วโมงหนึ่งแล้วก็ยังไม่ได้สักที ผมจึงต้องออกไปตามเพื่อถามหาอาหารที่ผมสั่งไว้ คำตอบที่ได้จากเจ้าของร้านก็คือ “ใกล้แล้ว ๆ” ตอบทั้ง ๆ ที่เขายังไม่ทันได้ถามผมเลยด้วยซ้ำว่า สั่งอะไรไว้ และโต๊ะที่นั่งอยู่บริเวณไหน (พื้นที่โรงอาหารนั้นกว้างพอสมควร และมีโต๊ะอยู่มากมายซึ่งส่วนใหญ่ก็กำลังรออาหารอยู่เช่นกัน) เป็นคำตอบที่ผมไม่รู้จะถามอย่างไรต่อ และผมก็ไม่สามารถรู้ได้ด้วยว่า ผมจะได้ทานอาหารที่สั่งไว้เมื่อไร น้ำดื่มที่คิดว่าจัดเตรียมได้ง่ายที่สุดแล้ว ผมก็ยังไม่ได้ ผมจึงได้ขออนุญาตทางร้านเพื่อบริการน้ำดื่มของตัวเองด้วยตัวเองก่อน ดีกว่าไม่มีอะไรมารองท้องเลย
ผมรออาหารไปอีกครึ่งชั่วโมง ไม่ไหวแล้ว ย้ายร้านดีกว่า และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผมคิดก็มีพนักงานบริการนำเอาใบรายการอาหารที่แต่ละโต๊ะจดกันไว้ มาเดินถามตามโต๊ะว่ามีของใครบ้าง ผมจึงเห็นรายการอาหารที่ผมสั่งเอาไว้ตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงเศษๆที่แล้ว คำตอบที่ผมได้รับเมื่อสักครู่ใหญ่ๆที่ผ่านมาว่า “ใกล้แล้ว ๆ” มันหมายความว่าอย่างไร
…นี่คือหลักการขายแบบหลอกลวงผู้บริโภค กำลังทำหรือยังไม่ได้ทำก็น่าจะบอกกับลูกค้าไปตรง ๆ เขาจะได้ตัดสินใจได้ว่า ถ้ารอไหวก็รอ ถ้ารอไม่ไหวเขาจะได้ไปหาทานที่ร้านอื่น ไม่ต้องมารอนานเช่นนี้…
ผมถามเขาว่าจะทำให้ทันทีหรือไม่ เขาพยักหน้าแต่ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนนัก ผมจึงตัดสินใจรออาหารต่อ
ไหน ๆ ก็รอมาตั้งนานแล้ว รออีกสักหน่อยจะเป็นอะไรไป อีกสิบกว่านาทีจึงได้อิ่มท้องสมใจ
สามทุ่มเศษ น้องผมอีกคนก็ตามมาสมทบ และก็ได้สั่งอาหารมาทานด้วยเช่นกัน รอ รอ รอ ไปครึ่งชั่วโมงแล้วก็ยังไม่ได้สักที และเมื่อน้องอีกสองคนของผมตามมาสมทบ พวกเราจึงลงความเห็นกันว่าเราควรย้ายร้านกันดีกว่า จึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปยัง “สะพานหัวช้าง” เพื่อมองหาร้านอาหารตามถนนข้างทางทานกัน
ที่ร้านอาหารอีสานข้างสะพานหัวช้าง พวกเราสั่งอาหารมาทานกัน พร้อม ๆ กับเครื่องดื่ม และเริ่มต้นเสวนากัน ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบ ยามค่ำคืนของกรุงเทพฯช่วงเทศกาลสงกรานต์
แต่… ทันใดนั้น! ก็มีเสียงหวีดร้องของผู้หญิงออกมาจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของถนน ตรงกันข้ามกับที่พวกเรานั่งกันอยู่
พวกเราลุกขึ้นทันที และเดินออกจากโต๊ะที่นั่งกันอยู่ เพื่อไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมื่อมองไปก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งออกมาจากซอยเปลี่ยวข้างทาง และหวีดร้องอย่างสุดเสียงว่า “ช่วยด้วย ๆ ขโมย!” เธอหวีดร้องซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น แต่ใครกันล่ะที่เป็นคนขโมย (ผมคิดและไม่แน่ใจ) เพราะที่หน้าปากซอยนอกจากจะมีเธอคนนั้นแล้ว ก็ยังมีคนที่กำลังเดินอยู่อีกคนหรือสองคน ถัดจากนั้นก็มีผู้ชายอีกสองคนขับขี่รถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมา ท่าทีไม่สนใจและตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เลย แต่ผมคิดว่าน่าจะใช่คนที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันนั้นแน่ ๆ เพราะเห็นเขาหักเลี้ยวรถจักรยานยนต์และขับย้อนศร และก็กำลังจะผ่านเกาะกลางถนนมาทางนี้แล้ว
ผมไม่รอช้ารีบทิ้งกระเป๋าสะพายลงกับพื้น และวิ่งทะยานออกไปทันที ตรงเข้าไปที่รถจักรยานยนต์คันนั้น เขามองเห็นผมแล้ว และหักรถจักรยานยนต์หลบผมออกไปอย่างรวดเร็ว ผมสับเท้าเร่งฝีเท้าสุดกำลัง เกือบจะถึงแล้ว ๆ อีกนิดเดียวเท่านั้น แต่?แต่ทว่ามันกลับทิ้งผมห่างออกไปเรื่อย ๆ
ฝีเท้าคนเราที่มีกำลังเร่งแค่ตอนต้น กับกำลังเครื่องยนต์ที่มีกำลังเร่งตอนปลาย ผลมันจึงต้องเป็นไปเช่นนี้
ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ จะให้รุ่นน้องเอารถออกตามดีหรือไม่ แต่ก็คงไม่ทันแล้ว ผมหันมาจึงเจอรุ่นน้องผมอีกคนหนึ่งที่วิ่งตามมาและบอกให้ผมโทรไปแจ้งตำรวจ 191 น่าจะดีกว่า ผมจึงรีบโทรไปแจ้งเหตุทันที แต่ผมไม่สามารถอธิบายรูปพรรณสัณฐานของขโมยทั้งสองคนและรถจักรยานยนต์คันนั้นได้ จำได้แต่เพียงว่าคนที่ซ้อนท้ายใส่เสื้อแขนยาวสีเข้มลักษณะออกดำ ผมจึงขอให้ตำรวจช่วยสกัดจับรถจักรยานยนต์ที่น่าสงสัยไว้ก่อนจะได้หรือไม่ แต่สายโทรศัพท์ก็หลุดไปเฉย ๆ (โดยไม่ทราบสาเหตุ) ผมก็ไม่ได้โทรไปอีก เพราะคิดว่าคงไม่มีประโยชน์อะไร และผมก็ไม่มีข้อมูลอะไรที่ชัดเจนที่จะแจ้งเพิ่มเติมให้ตำรวจได้มากกว่านี้แล้ว และตรอก ซอก ซอยบริเวณนั้นก็มีมากมาย สามารถทะลุออกไปไหนต่อไหนได้อีกตั้งมากมาย นึกแล้วก็น่าเสียดาย อีกแค่นิดเดียวเองก็จะถึงตัวเขาอยู่แล้ว
ผมเดินกลับมาที่โต๊ะ อ้าว?! กระเป๋าสะพายผมยังอยู่ที่พื้นข้างทางเท้าอยู่เลยนี่นา อาจเพราะคนส่วนใหญ่คงยังตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเมื่อครู่นี้กระมัง จึงทำให้กระเป๋าผมยังไม่ได้อันตรธานหายไปด้วยอีกคน
รถจักรยานยนต์ของตำรวจสายตรวจมาถึงแล้ว ครั้งนี้ผมถือได้ว่าตำรวจทำงานกันเร็วพอสมควร หรืออาจจะเป็นเพราะว่ามีการแจ้งความผ่านตำรวจ 191 ซึ่งน่าจะมีการตรวจสอบผลการทำงานกัน ซึ่งต่างกับเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านอมรชัย ถ.พระรามฯ 2 เมื่อมีคนเมาสุราและถูกทำร้ายศีรษะแตกมา และอาละวาดเอาไม้หน้าสามไล่ตีเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นกันอยู่หน้าบ้าน ดีที่เด็ก ๆ หลบหนีเข้าบ้านที่ใกล้ที่สุดทันกันก่อน ผม และเพื่อนบ้านผู้ชายอีกคนสองคนได้ออกมาดูที่หน้าบ้าน ผมกลับเข้าบ้านและโทรเข้า 1133 เพื่อสอบถามหมายเลขโทรศัพท์สถานีตำรวจพื้นที่และโทรไปแจ้งความ มีการสอบถามถึงจุดเกิดเหตุกันเป็นที่เรียบร้อย แต่เชื่อไหมว่าผมรอนานเป็นชั่วโมง ๆ ก็ยังไม่เห็นมีตำรวจสักคนมาตรวจสอบเลย ถ้าจะให้มองในแง่ดี ตำรวจอาจจะพบกับคนเมาอาละวาดเมื่อสักครู่นี้ระหว่างทางไปแล้วก็ได้
เคยมีคนพูดกับผมว่า “ตำรวจเขาไม่ชอบงานเสี่ยงหรอกมันอันตราย สู้จับไพ่ไม่ได้ง่ายกว่าเยอะ แถมได้เงินอีกต่างหาก” ได้ยินอย่างนี้แล้วคงไม่มีใครอยากให้มันเป็นความจริงหรอกนะ
หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว ผมได้ทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิตผม เห็นถึงความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ มากมายในสังคม เห็นถึงความล่าช้าของตำรวจซึ่งอาจจะมีภาระกิจมากมาย เกินกว่าจะมาดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทุกเวลา และสถานที่
เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงเห็นว่า เราประชาชนคงจะต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น ดังนั้นตัวชุมชนเองจะต้องเข้มแข็ง หากว่าเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ขึ้นมาในชุมชนของตัวเอง ตัวชุมชนเองจะต้องสามารถปกป้องชุมชนของตัวเองให้ได้ในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่ากำลังของชุมชนถึงอย่างไรก็มีมากกว่าคนร้ายแน่นอน เพียงแต่คนในชุมชนจะต้องมีความเสียสละและสามัคคีกันเท่านั้นเอง
ย้อนกลับมาเหตุการณ์ที่สะพานหัวช้าง ตำรวจสายตรวจได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลอดสะพานหัวช้างฝั่งตรงข้ามไปแล้ว และกำลังกลับรถมาถนนด้านนี้ มีการจอดสอบถามผู้คนที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ กันนั้น แล้วตำรวจก็ขับหายไปในทิศทางเดียวกันกับที่ขโมยเมื่อสักครู่นี้ขับหายไป
ไม่นานก็มีตำรวจแห่กันมาเป็นขบวนเลย
เอ๊?! ไม่นานก็มีตำรวจแห่กันมาเป็นขบวนเลย สงสัยอยู่นิด ๆ ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ไม่นานพวกเราก็หายสงสัย เมื่อเห็นขบวนเสด็จ แล้วพวกเราก็หัวเราะกันสรวล ยังอดพูดแซวกันไม่ได้เลยว่า หากขโมยพวกนั้นลงมือช้ากว่านี้ และมาเจอขบวนเสด็จพอดิบพอดีจะเกิดอะไรขึ้นนะ
ระหว่างทางกลับบ้าน คนรักผมถามผมว่า “ไม่กลัวตายหรือไง วิ่งออกไปกลางถนนแบบนั้น ถ้ารถวิ่งมาเร็ว ๆ แล้วเบรคไม่ทันจะทำยังไง” (ผมคิดว่าผมคงจะดูว่ามีรถบนถนนน้อย และปลอดภัยพอที่จะวิ่งได้แล้วนะ ผมเชื่อสัญชาตญาณของผม) และเธอยังบอกกับผมอย่างเป็นห่วงอีกด้วยว่า “แบบนี้จะมีอายุยืนหรือ คราวที่แล้วที่งานกาชาดก็ครั้งหนึ่งแล้ว”
ผมหวนคิดกลับไปวันที่ผมกับเธอไปเดินเล่นกันที่งานกาชาด ระหว่างทางที่เราเดินกันอยู่ เกิดเหตุการณ์คนสองกลุ่มกำลังเข้าตะลุมบอนกันชุลมุน อยู่ด้านหน้าเราเพียงเล็กน้อย ตรงบริเวณซุ้มเบียร์สดของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่นานพวกที่ตีกันเมื่อครู่ก็พากันวิ่งหนีกันอลหม่าน พอเหตุการณ์เริ่มสงบ ผมกลับได้ยินเสียงร้องของคนตรงบริเวณนั้น ผมจึงรีบเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้หากคนที่เป็นคู่อริกันหนีไม่ทันและถูกจับได้เพียงคน หรือสองคนเขาอาจถูกทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ที่ผมเข้าไปหวังเพียงแค่ว่า จะสามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง เพื่อที่จะบรรเทาไม่ให้เขาทำร้ายกันจนถึงขั้นต้องเสียชีวิต เช่น การเรียกตำรวจ ตะโกนว่าตำรวจมา ชวนคนอื่น ๆ ให้ช่วยกันห้าม หรืออะไรที่พอจะกระทำได้ตามแต่เหตุการณ์จะอำนวย ผมคงไม่ได้เอาตัวเข้าไปแรกโดยไม่เกิดประโยชน์แน่ ๆ ดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่รุนแรงอย่างที่คิดเพราะเสียงร้องที่เกิดขึ้น เกิดจากเสียงพวกที่ยังอยู่กับที่ และโกรธแค้นพวกคู่อริที่หนีรอดไปได้
เหตุการณ์นี้กลับทำให้ผมกับคนรักของผมไม่เข้าใจกัน เพราะเธอเข้าใจว่าผมห่วงที่จะดู (ไทยมุง) มากกว่าห่วงตัวเธอเสียอีก เนื่องจากตอนหลังที่ทุกอย่างสงบเข้าที่เข้าทางแล้ว เรากลับต้องมาตามหากันทีหลัง ทำให้ผมรู้สึกผิดกับความรู้สึกของเธอ และได้กล่าวคำขอโทษเธอ แต่ผมก็ได้อธิบายให้เธอฟังไปว่าผมไม่มีเจตนาที่จะเป็นเพียงไทยมุงเท่านั้นนะ ผมหวังแต่เพียงว่าจะสามารถช่วยบรรเทาอะไรลงได้บ้างหากเกิดเรื่องอย่างที่ผมคิดจริง ๆ แต่เธอดูไม่มีความสุขนักกับความคิดของผม
เธอให้เหตุผลว่า “อนาคตหากเราแต่งงานกันไปแล้ว ผมยังคงชอบยุ่งเรื่องชาวบ้านอยู่อย่างนี้ หากเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ใครคนอื่นเขาจะมาช่วย เรื่องบางเรื่องคงต้องเห็นแก่ตัวบ้าง ไม่เช่นนั้นลูกเมียจะทำอย่างไร”
ผมจึงให้เหตุผลเธอกลับไปว่า “หากทุกคนคิดเหมือนกันอย่างนี้ทุกคน สังคมที่ว่าเลวร้ายคงจะเลวร้ายขึ้นไปอีก” ลองคิดดูว่าถ้าหากเธออยู่บ้านกับลูกขณะที่ผมไม่อยู่ แล้วมีคนมาทำร้ายเธอกับลูกถึงในบ้าน และมีเพื่อนบ้านเห็นเหตุการณ์อยู่มากมาย แต่กลับไม่มีใครช่วยเหลืออะไรเธอเลย เพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อน ทุกคนเห็นแก่ตัวกันหมด เธอจะคิดอย่างไรในสภาพที่ต้องการใครช่วยเหลือสักคน แต่กลับพึ่งพาอะไรใครไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่มีคนอยู่ตั้งมากมาย และถ้าผมกลับมาเห็นเธอในสภาพนั้น ผมจะโกรธทุกคนที่เห็นเธอแต่กลับไม่ช่วยเหลืออะไรเธอเลย ผมจะโกรธ โกรธเสียยิ่งกว่าคนที่ทำร้ายเธอเสียด้วยซ้ำ…
ตอนนี้เธอเข้าใจผมแล้ว คุณล่ะเข้าใจผม…หรือยัง?
นกเสรี
22 เมษายน 2547