เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ เป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ (2385-2458) ทนายความ และนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ที่มีบทความวิพากษ์ด้านนโยบายการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 เขาเขียนบทความเสนอให้มีการเลิกทาส ให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ประชาชนมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ให้ได้รับการศึกษาไม่ว่ารวยจน เป็นหญิงหรือชาย
ในปี 2425 เทียนวรรณ ถูกฟ้องร้องกรณีเขียนฎีกาให้กับราษฎรผู้หนึ่งที่ถูกรัฐละเมิด และถูกตัดสินว่าหมิ่นตราพระราชสีห์ ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหมิ่นประมาทเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงเกษตร เขาถูกลงโทษโบย 50 ที และขังคุกโดยไม่มีกำหนด เทียนวรรณ ถูกจำขังอยู่ 17 ปี จึงได้รับอิสรภาพในปี 2442
ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาได้สนทนากับเด็กหนุ่มคนหนึ่งจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ที่มีเขาเป็นต้นแบบ สนใจ ศึกษาและเชื่อในแนวคิดของเขา
กว่า 20 ปีหลังจากนั้น เมื่อย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 ถูกอ่าน และหลังจากวินาทีนั้น ประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล คนเขียนประกาศฉบับนี้ก็คือ เด็กหนุ่มคนนั้น นาม “ปรีดี พนมยงค์”