การกินเจ (ตั้งใจไม่กินเนื้อสัตว์) จริง ๆ ไม่ได้บุญ อธิบาย คือ เราไม่กินข้าวขาหมู แล้วคิด (จินตนาการ) ว่า หมูจะไม่ถูกฆ่า เปรียบได้กับเรานั่งอยู่บ้านเฉย ๆ แล้วคิด (จินตนาการ) ว่า เราไปช่วยสอนหนังสือคนอนาถา บุญที่เราไปสอนหนังสือคนอนาถานั้น ไม่มี ไม่เกิด เพราะเรานึก ๆ คิด ๆ ไปเองไม่ได้ทำ ไม่ได้กระทำจริง ถ้าอยากได้บุญเราต้องช่วยชีวิตสัตว์ มี 2 ข้อ คือ
- ช่วยชีวิตมันโดยการไถ่ชีวิต ซื้อสัตว์ที่กำลังถูกฆ่านำมาปล่อย
- เมตตาสัตว์ไม่ทำร้ายมัน อย่างนี้เป็นบุญ
แต่การกินเจ บุญไม่เกิด เพราะเราไม่ได้ลงมือกระทำจริง (ช่วยชีวิตสัตว์) เป็นเพียงแต่คิดไปเอง
พระเทวทัตเคย มาเสนอให้ชาวพุทธไม่กินเนื้อสัตว์พระพุทธเจ้าปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า
- เนื้อสัตว์ไม่ใช่ของเหม็น อกุศลกรรมต่างหากที่เป็นของเหม็น
- พระต้องควรเป็นผู้เลี้ยงง่าย
- อนุญาตในการกินเนื้อสัตว์ที่ -ไม่เห็น -ไม่รู้ -ไม่ใช่เนื้อที่ฆ่าโดยเฉพาะให้ตน
- อาหารเป็นแค่ของเลี้ยงกายไม่ให้ตาย อย่าสนใจมาก
การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็น บุญ หรือไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ 10 อย่าง คือ
- ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
- สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
- ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
- อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
- เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่าง ๆ
- ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
- ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
- ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
- ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
- ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง
เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ 10 วิธี แล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย
การกินเนื้อสัตว์ บาป หรือ ไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่า การกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วย องค์ 5 คือ
- ปาโณ สัตว์มีชีวิต
- ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
- วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
- อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
- เตนมรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ จึงถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ ผิดศีลข้อที่ 1 เป็นบาป แต่ถ้าไม่ได้ลงมือฆ่าเอง และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ไม่เป็นบาป ตัวอย่าง เราไปจ่ายตลาด ซื้อกุ้งแห้ง ปลาดุกย่าง ปลาทู เนื้อหมู ฯลฯ เราได้มีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นย่อมตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาเป็นอาหาร ถึงเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์เหล่านั้นก็ตายอยู่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนทำให้ตาย
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “นตฺถิปาปํอกุพฺพโต” แปลได้ความว่า “บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”
การกินผักก็อาจจะต้องฆ่าสัตว์ทางอ้อมไปด้วยเช่นกัน เพราะต้องไถดิน ใส่ปุ๋ย ใช้ยากำจัดแมลง อาจทำให้แมลงต่าง ๆ ไส้เดือนตายได้ ถ้าแบบนี้บาปก็คงไม่ต้องทำสัมมาอาชีพกันเลย
หลวงปู่แหวนท่านบอกว่า “ไอ้วัวควายกินหญ้าอยู่ตั้งนาน ไม่เห็นเป็นพระอรหันต์ซักตัว”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก