พระยอดธงพระเจ้าตากสิน กรุวัดพลับ บ้านบางกะจะ พิมพ์ใหญ่ เนื้อชินเงิน
Photo by Noknight Amulet Store

บันทึกตำนาน “กินข้าวแล้วทุบหม้อข้าวทิ้ง” ก่อนเข้าตีเมืองจันท์ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ ก้าวแรกของวีรกรรม “กู้ชาติ” ของมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสิน

พระยอดธง กรุวัดพลับ หรือที่ใคร ๆ นิยมเรียกว่า “พระยอดธงพระเจ้าตาก” วัตถุมงคลเพียงหนึ่งเดียวที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเอาไว้ เมื่อครั้งที่มารวบรวมกำลังพลที่เมืองจันท์ หมายจะกลับมาตียึดกรุงศรีอยุธยาคืน

วัดพลับ ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พื้นที่ชุมชนวัดพลับ และชุมชนบ้านบางกะจะ ก็เป็นชุมชนเก่าแก่ ตั้งแต่ปี 2300 เดิมวัดพลับมีชื่อว่า วัดสุวรรณตัมพรุธาราม ซึ่งแปลว่า “พระอารามที่มีผลมะพลับเหลืองสุกอร่ามเหมือนทอง” ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดพลับ”

ฝากฝังกรุงอยุธยา วันข้างหน้าข้าจะมาทวงคืน

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 พระเจ้าตากสิน พาทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีฯ ได้ทำการรวบรวมผู้คนทางเมืองชายทะเลตะวันออก เดินทัพจากระยอง ผ่านแกลง เข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี ไว้เป็นฐานที่มั่น แล้วจึงออกคำสั่งกับเหล่าทหาร อันเป็นที่มาของสุดยอดกุศโลบายในตำนานปลุกใจทหาร ว่า

“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อหุงข้าวเสร็จก็กินให้อิ่ม แล้วทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้งให้หมด ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ต้องพากันตายทั้งหมด”

พระเจ้าตากสิน ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ยิงปืนคาบศิลาเป็นสัญญาณ แล้วไสช้างเข้าพังประตูเมือง นำทหารเข้าตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2310 เวลาตี 3

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ถนนประชาธิปก กรุงเทพฯ

พระเจ้าตากสิน มองการณ์ไกล กาลต่อไปสงครามกู้ชาติทหารจะพบศึกหนัก และความลำบากมาก พระองค์จึงทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร นำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาทำพิธีปลุกเสก มุรธาภิเษก หรือ ปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยทำพิธีปลุกเสกในพระอุโบสถ และได้โปรดให้จัดสร้างพระเครื่อง “พระยอดธง” ไว้เพื่อเป็นวัตถุมงคล และปลุกเสก แจกจ่ายให้แก่บรรดาทหารหาญทั้งปวง เป็นขวัญกำลังใจให้ไพร่พลในการทำศึกสงครามกู้ชาติต่อไป

สมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การสร้างพระจึงเป็นการสืบทอดพระศาสนา และอุทิศกุศลให้ทหารร่วมรบที่สละชีพในสมรภูมิอีกด้วย

การจัดสร้างพระยอดธง ถูกจัดสร้างตอนที่บ้านเมืองกำลังประสบกับภัยสงคราม ดังนั้นการสร้างพระเครื่องจึงไม่มีพิถีพิถันมากนัก ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์หาได้ยาก ดังนั้นพระส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีความปราณีต สวยงาม แต่ที่สำคัญมากกว่า คือ เจตนาและความตั้งใจในการสร้าง

วันเวลาผ่านไปประมาณ 5 เดือน พระเจ้าตากสิน ก็นำทัพกลับมายึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2310

ดังนั้น พระยอดธง วัดพลับ จะต้องถูกจัดสร้างขึ้นในระหว่างช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน ในปี 2310

ภายหลังจากการกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาและจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยแม่ทัพนายกองได้เสด็จกลับมาบูรณะวัดพลับ และทรงโปรดให้นำพระยอดธงที่เหลือจากการแจกจ่ายทหารก่อนไปทำการรบบรรจุไว้ในเจดีย์ วัดพลับ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์ทราย” ถวายเป็นพุทธบูชา

กรุแตก

สิงหาคม 2479 ขึ้นกรุครั้งแรก เมื่อเจดีย์ทรายบางส่วนเกิดชำรุด ทำให้มีผู้พบเห็นพระยอดธง แล้วนำพระออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นก็ทำการซ่อมแซม ปิดจุดที่ชำรุดแตกนั่นเสีย พระที่นำออกมาชุดนี้มีหลายเนื้อ ได้แก่ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน ชินเงินแก่ดีบุก ชินเงินแก่ตะกั่ว และเนื้อทองดอกบวบ ทุกเนื้อมีจำนวนน้อยและหายากมาก ๆ

ปี 2509 เจดีย์ทรายเกิดพังทลายลง รอบนี้เลยนำพระออกมาทั้งหมด พบพระยอดธงอีก 2 พิมพ์ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก โดยพิมพ์ใหญ่แบ่งเป็นพิมพ์สมาธิใหญ่ และพิมพ์มารวิชัยใหญ่ ส่วนพิมพ์เล็กเท่าที่พบจะมีเพียงพิมพ์สมาธิเท่านั้น

พระยอดธง กรุวัดพลับ เป็นวัตถุมงคลที่ทรงคุณค่าและแฝงไว้ซึ่งความรักชาติ รักแผ่นดิน ความเสียสละเพื่อบ้านเมือง นับว่าเป็นยอดมหามงคล มีพุทธคุณครอบจักรวาลทั้งมหาอำนาจ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดนิรันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกสร้างโดยมหาราชผู้กู้ชาติ กู้แผ่นดินนาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”