ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา อากาศในเมืองไทยของเรา ร้อนอบอ้าวจนสร้างความรำคาญให้กับใครหลาย ๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วย แม้จะรู้ว่ามันเป็นไปตามวงโคจรของฤดูกาล ที่ต้องเวียนมาถึงโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ทุกครั้งที่มันโบกมือมาทักทาย ผมก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการเตรียมตัวเตรียมใจก่อนที่จะเอ่ยปากตอบรับการทักทายนั้น
สิ่งที่มักจะมาคู่กับฤดูร้อนก็คือ “แสงแดด” ที่จัดจ้านและร้อนแรง จนแทบจะเผาผลาญทุกสิ่งให้ละลายหายไป ทุกครั้งที่ผมเดินทางไหนมาไหนแล้วต้องเผชิญกับแสงแดดจัด ๆ ผมมักจะนึกไปถึงประดิษฐ์กรรมที่ชื่อว่า “แว่นกันแดด”
โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อต้องเพ่งสายตาไปยังสิ่งที่ซึ่งมีแสงสว่างมากเกินไป ดวงตาของเราจะปรับม่านตาของให้หรี่เล็กลง เพื่อลดจำนวนแสงที่ผ่านเข้าไปให้พอเหมาะ ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายกับดวงตา เป็นผลให้รัศมีการมองเห็นลงน้อยลงตามไปด้วย “แว่นกันแดด” ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกรองแสงสว่าง ที่จะส่องเข้ามาที่ดวงตาของเราให้น้อยลง เพื่อลดอัตราการหดตัวของม่านตาและเพิ่มรัศมีในการมองสำหรับสภาวะเช่นนั้น
“คุณสมบัติ” ดังกล่าวของแว่นกันแดดถูกนำมาใช้เป็น Symbolic เพื่อสื่อ “ความหมายซ่อนเร้น” บางอย่างในหนังหลาย ๆ เรื่องอย่างเช่น
ในหนังแอ็คชั่นไซไฟ อย่าง “The Matrix” (ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ เพราะคิดว่าทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว) หากสังเกตดูดี ๆ แล้วจะพบว่า ตัวละครทั้งฝ่ายพระเอกอย่างเช่น ทรินิตี้ (แคร์รี-แอนน์ มอสส์ Carrie Anne Moss), มอร์เฟียส์ (ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น Laurence Fishburne) และ นิโอ (คีอานู รีฟส์ Keanu Reeves) และฝ่ายตัวร้ายอย่างหน่วยล่าสังหารของระบบเมทริกซที่ชื่อ Agent Smith ล้วนแต่ใส่ “แว่นกันแดด” ตลอดเวลาที่อยู่ใน โลกของเมทริกซ์ (สำหรับคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่รู้ว่าจะได้สังเกตรึเปล่าว่าตอนที่นีโอยังเป็น มิสเตอร์ แอนเดอร์สัน เราไม่ได้เห็นเขาใส่แว่นกันแดดเลยซักฉาก!!!)
หากมองโดยผิวเผินแล้ว มันอาจเป็นแค่จังหวะการใส่ “โฆษณาแฝง” เข้าไปในหนัง แต่หากนำไปผนวกเข้ากับเรื่องราวในหนัง ก็จะพบว่านี่คือ “win-win situation” (คือได้ทั้ง การขายของ กับ การเล่าเรื่อง) เพราะในเรื่องนั้น ทั้งสองฝ่ายคือกลุ่มคนที่ทราบความจริงว่าโลกที่เรากำลังใช้ชีวิต อาหารที่กินเข้าไป เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ เป็นเพียง “สิ่งลวงตา” ที่ระบบคอมพิวเตอร์เมทริกซ์สร้างขึ้นมาหลอกเรา แว่นกันแดด ในเรื่องนี้ถูกใช้เพื่อสื่อความหมายว่า คนเหล่านี้มิได้สายตาพร่ามัวไปกับสิ่งลวงตาเหล่านั้น หากแต่พวกเขาสามารถมอง (ผ่านแว่นกันแดด) ทะลุไปรับรู้ความเป็นจริงที่เป็นอยู่
หรือในหนังปี 1996 เรื่อง “That Thing You Do” ซึ่งเป็นผลงานการกำกับหนังเรื่องแรก (และเรื่องเดียวจนถึงปัจจุบัน) ของพระเอกนาม ทอม แฮงส์ (Tom Hank) หนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงบ้านเราอย่างเงียบๆ เพราะดารานำค่อนข้างโนเนมในบ้านเรา (ในขณะนั้น) คือ ทอม เอฟเวอร์เร็ต สก็อต (Tom Everett Scott) (แม้แต่ตอนนี้ ผมก็ยังนึกไม่ค่อยออกเลยว่า หมอนี่เคยรับบทนำในเรื่องดัง ๆ บ้างรึยัง) และ ลิฟ ไทเลอร์ (Liv Tyler) (คนนี้คงไม่ต้องแนะนำอะไรเพิ่มเติมกระมังครับ)
ตัวหนังเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่ม 4 คนตั้งวงดนตรีขึ้นมาชื่อ The Wonder แล้วจับพลัดจับพลูได้เซ็นสัญญาอัดแผ่นเสียง (เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในราวยุค60) กับค่ายเพลง ปรากฏว่าวงThe Wonder มีเพลงที่โด่งดังเป็นพลุแตกอยู่เพลงหนึ่ง ก็คือเพลงที่มีชื่อเดียวกับหนังนั่นแหละ (ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเพลงๆ นี้กันมาบ้าง เพราะยังได้ยินเพลงนี้เปิดอยู่บ่อยๆ ตามผับหลายๆ ที่) ส่วนที่เหลือเรื่องเป็นช่วงเวลาของการออกตระเวนแสดงของวง เมื่อเวลาผ่านไปสมาชิกแต่ละคน ค่อยๆเสียผู้เสียคนไป เพราะหลงระเริงไปกับ “แสงสี” ของวงการบันเทิง ยกเว้นก็แต่มือกลองที่ชื่อ กาย แพ็ตเตอร์สัน (ทอม เอฟเวอร์เร็ต สก็อต) ที่ประคองสติตัวเองเอาไว้ได้
ผู้จัดการวงที่ชื่อ มิสเตอร์ไวท์ (ทอม แฮงส์) สั่งให้กายใส่แว่นกันแดดตลอดเวลาที่ออกแสดงและตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้ยินเขาเตือนให้กายหยิบแว่นกันแดดขึ้นมาใส่ ไม่น้อยกว่า 5-6 ครั้ง แว่นกันแดดถูกใช้เพื่อสะท้อนนัยยะว่า มันช่วยให้กายไม่ให้เคลิบเคลิ้มกับ “แสงไฟ” (ที่ความหมายเท่ากับความสำเร็จที่เขาได้รับ) ที่ส่องมายังตัวเขา เพราะ “แว่นกันแดด” (ที่ใช้แทนจิตใจที่มั่นคง-ไม่ทะเยอทะยาน) ช่วยกรองแสงไฟเหล่านั้นเอาไว้ทำให้เขามองเห็นความจริงมากกว่าคนอื่น ๆ ในวง
หรืออย่างหนังไทยเมื่อปี 2539 เรื่อง “รักเอย” ที่กำกับโดย ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล (ไม่ต้องแปลกใจครับ!! ใช่แล้ว คนเดียวกับที่ทำหนังเลือดโชกอย่าง บางระจัน และ ขุนแผน นั่นแหละครับ) นี่เป็นงานรีเมค งานเก่าที่แสดงไว้โดย พิศาล อัครเศรณี และ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ (คิดกันเอาเองแล้วกันนะครับ ว่าเก่าขนาดไหน 555)
เนื้อเรื่องเกี่ยวกับรักสามเส้าระหว่าง “จ้าวน้อย” (นิ้ง กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา) จ้าวชาวเชียงใหม่ กับ “ตี่” (ณัฐนันท์ คุณวัฒน์) นักธุรกิจหนุ่มอนาคตไกล และ “เปี๊ยก” (รวิช เทิดวงศ์) เกษตรกรยุคใหม่ที่กำลังบุกเบิกการทำไร่ดอกไม้เมืองหนาว
ในหนังเรื่องนี้ เมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง ตี่จะสวม “แว่นกันแดด” (เวลาขับรถ หรือเวลาออกไปเที่ยวกับจ้าวน้อย) ในขณะที่เปี๊ยกสวม “หมวกแก็พ” (เวลาออกไปทำงานในไร่)
ทั้ง แว่นกันแดด และ หมวกแก็พ มีประโยชน์ใช้สอยเหมือนกัน คือช่วยเพิ่มทัศนะวิสัยในการมอง ยามเมื่อต้องมองสภาวะที่มีแสงจัด ๆ แต่ในความเหมือนนั้นก็ยังมีความแตกต่างในผลลัพธ์ที่ได้ กล่าวคือภาพที่ได้เมื่อมองผ่านเล็นส์ของแว่นกันแดด จะมีสีสันแตกต่างจากสีที่แท้จริง โดยทั่วไปจะได้ภาพที่ดูสบายตากว่าที่เป็นจริง ในขณะที่ภาพที่มองเห็นเมื่อสวมหมวกแก็พ ยังคงมีสีสันตามที่เป็นจริง (เพราะหลักการทำงานของหมวกแก็พ นั้นเป็นเพียงแค่การใช้ปีกหมวกกั้น แสงที่จะส่องมาโดนดวงตาโดยตรง) ในหนังมีการใช้ข้อแตกต่างดังกล่าวของประดิษฐ์กรรมทั้งสองชนิด บอกกล่าวเนื้อหาของเรื่องเช่นกัน
นั่นคือ ตี่ มีภรรยาอยู่แล้ว แต่ในระยะหลังเขาเบื่อหน่ายกับชีวิตแต่งงาน และดูเหมือนว่าความรู้สึกของเขาที่มีต่อ จ้าวน้อย จะเป็นไปด้วยความรักจริง ๆ (แว่นกันแดด กรองส่วนที่วุ่นวายและน่ารำคาญใจออกไปจากการรับรู้ และเลือกที่จะมองเฉพาะสิ่งที่ทำให้สบายใจ)
ขณะที่ เปี๊ยก หลงรัก จ้าวน้อย ตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ไม่กล้าแสดงออก เขาเป็นคนมีความสามารถ แต่ก็เจียมตัวว่าเป็นเพียงลูกของคนรับใช้ในวังของจ้าวน้อย เปี๊ยกจึงได้แต่คอยเฝ้ามองดูอยู่ห่าง ๆ ให้แน่ใจว่าจ้าวน้อยมีความสุข แม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสเป็นผู้หยิบยื่นความสุขนั้นให้เธอด้วยตัวเอง (หมวกแก็พ ยอมรับสภานะภาพที่เป็นอยู่ของตัวเอง)
หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ผมรู้สึกเอาเองว่า คนชอบใส่แว่นกันแดด น่าจะเป็นคนประเภทเลือกที่จะรับรู้แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองสบายใจ และหลีกเลื่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม หรือกระทั่งไม่รับรู้การมีอยู่ของความแตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ขณะที่คนชอบใส่หมวกแก็พ ก็ประมาณคนมีหลักการในตัวเอง แต่ก็พร้อมจะเปิดใจรับรู้สิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยใจที่เป็นกลาง
จึงอยากจะบอกว่าการทำกิจกรรม งานพัฒนาต่าง ๆ ที่ต้องออกไป “กลางแจ้ง” ผมหวังว่าพวกเราจะเลือกใช้ “หมวกแก็พ” มากกว่า “แว่นกันแดด” เวลาออกไปทำงาน
ม้าก้านกล้วย
แล้วคนที่ใส่แว่นสายตาละครับ..
หรือเรื่องที่ตัวละครใส่แว่นสายตาละ..มีอะไรซ่อนเล้นไหม? มีเรื่องอะไรบ้างน่ะ?
ขอโทษด้วยคร้าบที่ตอบคำตอบคำถามพี่ช้ามากกกกก นับเป็นประเด็นที่น่าขบคิดครับ ไว้ถ้ามีจะหามา (เขียน) เล่าสู่กันฟังครับพี่
อืม….ลึกซึ้ง ๆ จริง ๆ
ไม่เคยดูหนัง ‘ลึก’ แบบนี้เลย….. ขอบคุณ ‘ม้าก้านกล้วย’ สำหรับมุมมองใหม่ ๆ ว่าแต่ว่า…พวกหนังคาวบอย ที่ใส่หมวกกันเป็นเรื่องปกติ จะมีนัยะซ่อนอะไรไหม….อะ