โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หมายความว่ามนุษย์อยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะหรือที่เราเรียกว่า “สังคม” และการที่ใครสักคนจะเข้ามาเป็นสมาชิกของสังคมก็ย่อมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สังคมวางไว้ “The Talented Mr. Ripley” ก็เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมที่เขาต้องการ

หนังเรื่องนี้เข้าฉายในบ้านเราไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว (2543) นับว่าเป็นหนังฟอร์มดีเรื่องหนึ่งเพราะนำแสดงโดยดาราขวัญใจวัยรุ่นอย่าง แมตต์ เดม่อน (Matt Damon) จู้ด ลอว์ (Jude Law) และ กวินเน็ธ พัลโทรว์ (Gwyneth Paltrow) อีกทั้งกำกับการแสดงโดย แอนโทนี มิงเกลล่า (Anthony Minghella) (เจ้าของรางวัล Oscar จาก The English Patiant)

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ทอม ริปลี่ย์ (แมตต์ เดม่อน) เขาเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี ฉลาดเฉลียว รสนิยมดีเลิศ แต่มีปมด้อยตรงมีฐานะไม่ค่อยจะดีนัก เขามีความสามารถพิเศษในการเลียนแบบเสียงพูดและท่าทางของคนอื่น ริปลี่ย์ ได้รับการว่าจ้างจากมหาเศรษฐีคนหนึ่งให้ไปตามตัวลูกชายของเขา ดิกกี้ กรีนลีฟ (จู้ด ลอว์) ซึ่งหนีไปใช้ชีวิตท่องเทื่ยวอยู่ที่อิตาลีกับแฟนสาว มาร์จ เชอร์วู้ด (กวิเน็ธ พัลโทรล์) ไม่ยอมกลับมาช่วยบริหารกิจการของครอบครัว เมื่อ ริปลี่ย์ ได้พบกับ ดิกกี้ เขาก็พยายามตีสนิทเป็นเพื่อนด้วย เพราะเป็นโอกาสที่เขาจะได้ใช้ชีวิตสุขสบายอย่างที่ใฝ่ฝันมานาน ดิกกี้ และ ริปลี่ย์ ร่วมมือกันวางแผนหลอกเอาเงินจากมหาเศรษฐี

ต่อมา ดิกกี้ เริ่มรู้สึกว่า ริปลี่ย์ เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตของเขามากเกินไป และต้องการไล่ ริปลี่ย์ กลับอังกฤษ จนเกิดการทะเลาะวิวาทกัน สุดท้าย ริปลี่ย์ เกิดพลั้งมือฆ่า ดิกกี้ ตาย ริปลี่ย์ เอาศพไปถ่วงน้ำ แล้วสร้างสถานการณ์ขึ้น โดยบอกกับ มาร์จ ว่า ดิกกี้ เดินทางไปเทื่ยวต่างประเทศ ส่วนตัว ริปลี่ย์ เองก็หลบไปใช้ชีวิตอยู่อีกเมืองหนึ่งโดยแสดงตัวว่าเป็น ดิกกี้ แทน

แต่ว่าการใช้ชีวิตของ ริปลี่ย์ ภายใต้สถานะภาพของ ดิกกี้ นั้นก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะว่าเขาต้องพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งจากเพื่อนของ ดิกกี้ ที่เกิดสงสัยในเรื่องราวที่เขาสร้างขึ้น และจากพ่อของ ดิกกี้ ที่เกิดสงสัยว่าทำไม ดิกกี้ ไม่ยอมกลับบ้านซักที มีเพียงจดหมายที่ส่งมาให้ (ซึ่งเขียนโดย ริปลี่ย์) แต่ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในสภาวะคับขันเพียงไร ริปลี่ย์ ก็อาศัย สติปัญญา หาทางออก ให้กับตัวเองได้เสมอ ริปลี่ย์ ยอมทำทุกทางเพื่อจะรักษาสถานะความเป็น ดิกกี้ เอาไว้ ไม่เว้นแม้กระทั่งการลงมือฆ่าเพื่อนของ ดิกกี้ ซึ่งได้รู้ว่าเขาปลอมตัว

ผมจะไม่เล่าในที่นี้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของ จอห์น ริปลี่ย์ นั้นลงเอยเช่นไร ถ้าผู้อ่านท่านใดอยากทราบก็สามารถหาหนังมาดูได้ ส่วนตัวผมเองหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกเครียดและหดหู่อย่างรุนแรง

ผมคิดว่าตัว ริปลี่ย์ ในหนังเป็นตัวแทนที่สะท้อนภาพของชนชั้นกลางที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมทุนนิยม รวมทั้งในสังคมไทย ที่ต้องการจะเขยิบฐานะขึ้นมาเป็น Somebody ที่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นในสังคม พฤติกรรมต่างๆ ที่ทำเพื่อรักษาสถานะความเป็น ดิกกี้ ของ ริปลี่ย์ ก็สามารถเทียบเคียงได้กับพฤติกรรมต่างๆ เช่น เวลาจะซื้อเสื้อผ้าก็ต้องเอาที่มี Brandname เวลาจะกินกาแฟก็ต้อง Starbuck จะกินอาหารก็ต้อง McDonald (โดยทฤษฎีแล้วอาหารประเภทนี้มีไว้สำหรับคนที่มีเวลาน้อยประเภทรีบกินรีบไป แต่ถ้าคุณลองไปดูตามร้าน Fastfood ต่างๆ จะเห็นว่าไม่มีความเร่งรีบกับการกินเลยแถมกินเสร็จแล้วยังนั่งเท่ห์เป็นนายแบบได้อีกเป็นชั่วโมง)

บางคนซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ทั้งที่ไม่ได้มีธุรกิจใหญ่โตเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือว่าเดินทางบ่อยประเภทตอนเช้าอยู่เชียงใหม่ตอนเย็นอยู่ภูเก็ต บางคนซื้อรถโฟร์วิลล์มาขับทั้งที่ไม่เคยเดินทางไปไหนไกลกว่าปทุมธานี ที่ชนชั้นกลางในสังคมไทยปฏิบัติเพื่อรักษาสถานะ “คนเมือง” ของตัวเอง

เหมือนกับคำพูดของริปลีย์ที่ว่า

“I always thought it would be better to be a fake somebody than a real nobody”

คนเหล่านี้คือสมาชิกผู้ทรงเกียรติของสังคม สังคมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ สังคมที่สนใจแค่ว่านาฬิกาที่ใส่ราคากี่แสนแต่ไม่รู้จักคำว่าตรงต่อเวลา สังคมที่สนใจแค่ว่ารถที่ขับราคากี่ล้านแต่ไม่รู้จักคำว่ากฎจราจร

ม้าก้านกล้วย