ในช่วงสุดสัปดาห์ของเทศกาลขึ้นปีใหม่เมื่อหลายที่ก่อน ผมมีภารกิจต้องเดินทางไปทำงานที่เชียงใหม่ ตามกำหนดการผมจะเดินทางกลับกรุงเทพโดยเครื่องบินรอบ 3 ทุ่มครึ่ง ของวันที่ 31 ธันวาคม จริง ๆ ผมว่างตั้งแต่ช่วงเทื่ยงแล้ว ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไรดี ผมเองก็ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะไปท่องเที่ยวโดยลำพังเท่าไรนัก สุดท้ายผมจึงตัดสินใจว่าจะเดินเข้าโรงหนังหาหนังดูฆ่าเวลาซักเรี่อง ผมจึงไหว้วานคนงานของญาตืให้พาไปส่งที่สนามบินเพื่อเอากระเป๋าเดินทางไปฝาก แล้วก็อาศัยรถมาลงที่ห้างโรบินสัน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ สนามบิน
เมื่อขึ้นไปที่โรงหนัง ผมก็พบว่ามันเป็นสาขาของ Major Cineplex ที่เพิ่งมาเปิดไม่นาน ในที่สุดผมก็เข้าไปตีตั๋วดูหนังเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ของ “เป็นเอก รัตนเรือง” จริงๆ แล้วผมเองไม่ค่อยชอบผลงานที่ผ่านมาของแก (ฝัน บ้า คาราโอเกะ และ ตลก69) ซักเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีนะครับ เป็นหนังที่ดีแต่ผมรู้สึกว่ามันไม่สนุกเท่านั้นเอง สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผมยอมเสี่ยงดูผลงานชิ้นที่สามของแก ก็เพราะอยากชมบทบาทของ ต็อก ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ และ อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส
หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นจากนิยายชื่อเดียวกันของ วัฒน์ วรรลยางกูร ว่าด้วยชีวิตของหนุ่มบ้านนอกที่ชื่อ “แผน” (ต็อก ศุภกรณ์) แห่งหมู่บ้านบางน้ำไหล แผนเป็นคนร่าเริงปนทะเล้น อีกทั้งชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ ทุกครั้งที่มีงานวัดในหมู่บ้าน เขาและชาวคณะ “กระเดือกทองคำ” เป็นต้องขึ้นไปวาดลวดลายขับกล่อมเสียงเพลงบนเวที หรือกระทั่งโชว์ลีลาแม่ไม้มวยไทยกับคนที่มาเที่ยวงานในบางโอกาส ความฝันสูงสุดในชีวิตของแผนมี 2 อย่าง คือ ได้เป็นนักร้องลูกทุ่ง “สุรแผน เพชรน้ำไหล” กับ ได้แต่งงานกับสาวที่หมายปองคือ “สะเดา” (อุ้ม สิริยากร) หลังจากตามจีบและวิ่งหลบกระสุนปืนของ ตาเฉย พ่อสะเดาอยู่นาน แผนก็ได้แต่งงานกับ สะเดา สมใจ แผนมอบวิทยุทรานซิสเตอร์ให้สะเดาเป็นของขวัญแต่งงาน ชีวิตคู่ของทั้งสองเป็นไปอย่างราบลื่น จน สะเดา ตั้งท้อง แผน ก็ติดภารกิจต้องไปรบใช้ชาติเป็นทหารเกณฑ์ ระหว่างเป็นทหาร แผน เขียนจดหมายมาหา สะเดา เสมอ ส่วน สะเดา ก็มีเสียงเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์เป็นเพื่อนปลอบใจ
อยู่มาวันหนึ่ง แผน พบประกาศเรื่องการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งของคณะ “เพลิน แพรสุพรรณ” แผน ไปประกวดและได้รองชนะเลิศอันดับ 1 เขาตัดสินใจหนีทหารขึ้นรถไปกับคณะลูกทุ่ง เมื่อ แผน ได้พบกับ “คุณสุวัตร” (สมเล็ก ศักดิกุล) ผู้จัดการวง เขาบอกว่า แผน มีแววที่จะได้เป็นนักร้องแต่ต้องอดทน แผน ต้องฝีก “ความอดทน” โดยทำงานเป็นเด็กรับใช้ในวงถึง 2 ปี ระหว่างนั้นเขาไม่กล้าติดต่อกลับไปหา สะเดา เพราะกลัวความผิดเรื่องหนีทหาร
สะเดา คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย เธอตัดสินใจเข้ากรุงเทพมาตามหา แผน บังเอิญวันนั้น คุณสุวัตร ให้แผนขึ้นเวทีแทน เพลิน แพรสุพรรณ ที่เบี้ยวไม่มาแสดง สะเดา เข้าใจว่า แผน ประสบความสำเร็จได้เป็นนักร้องแล้ว หลังคอนเสิร์ตเลิก สะเดา ไปหาแผนหลังเวที แต่ยังไม่ได้คุยกันซักเท่าไหร่ คุณสุวัตร ก็เรียกแผนขี้นรถไปคุยเรื่องเซ็นสัญญาเป็นนักร้องลูกทุ่งที่บ้าน แผน จึงนัด สะเดา ไปเจอที่สำนักงานของวงในวันรุ่งขึ้น คืนนั้น แผน ถูก คุณสุวัตร หลอกล่อให้ แผน ยอมเป็นของเขาเพื่อแลกกับอนาคตในอาชีพนักร้องลูกทุ่ง แผน ไม่ยอม ทั้งยังเผลอผลัก คุณสุวัตร ล้มหัวไปกระแทกกับโต๊ะจนเสียชีวิต แผน ตกใจกลัวว่าจะมีความผิดฐานฆ่าคนตายจึงวิ่งหนีออกมา บังเอิญไปเจอรถสายตรวจ ไม่รู้ว่าจะทำยังไง พอดีเห็นรถบรรทุกกำลังจะออก จึงวิ่งขึ้นรถบรรทุกไปโดยไม่รู้ว่าเป็นรถที่มารับคนงานไปตัดอ้อยที่กาญจนบุรี
รุ่งขึ้น สะเดา มาหา แผน ตามที่นัดไว้ เมื่อได้รู้ว่า แผน หนีไปแล้ว จึงคิดว่าเธอโดนแผนหลอกเสียแล้ว เธอต้องกลายสภาพเป็นแม่ม่ายผัวทิ้งเฝ้าเลี้ยงดูลูกชายเพียงลำพัง
ต่อมา สะเดา ได้รู้จักกับ “เกียรติศักดิ์” คนฉายหนังขายยาที่ล่องรถมาจากกรุงเทพ เขาหยิบยื่นไมตรีให้กับเธอโดยไม่รังเกียจที่เธอเป็นแม่ม่ายลูกติด สุดท้ายเธอจึงเลือกที่จะฝากชีวิตไว้กับชายคนนี้
ส่วน แผน ก็ได้รู้จักกับ “เสี่ยว” ที่เป็นคนงานในไร่อ้อยด้วยกัน เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะป่วยเป็นไข้มาลาเรีย วันหนึ่ง เสี่ยว เกิดทะเลาะกับ “หยอด” หัวหน้าคนงานจากการเล่นพนันกัน หยอด โมโหมากจนยกปืนขึ้นจะยิง เสี่ยว แผน จึงเข้าไปช่วย สุดท้ายทั้งสองก็ต้องหนีตายเข้ากรุงเทพ
แผน บอกกับ เสี่ยว ว่าอยากกลับไปหาลูกเมียที่บ้านแต่ไม่มีเงิน เสี่ยว จึงวางแผนวิ่งราวสร้อย โดยให้ แผน เป็นคนรับสร้อยต่อแล้วเอาไปขาย สุดท้ายแผนโดนตำรวจจับ เขาต้องติดคุก 2 ปี ด้วยข้อหาหนีทหารและลักทรัพย์ ในคุก แผน มีทำหน้าที่ตักขี้ไปรดแปลงผัก จนขาพิการ ในระหว่างนั้นเขาจึงคิดได้ว่าที่สุดแล้วสิ่งที่เขาต้องการก็คือได้กลับไปพบหน้าเมียและลูก
เมื่อพ้นโทษ แผน ได้พบกับ เสี่ยว อีกครั้ง ตอนนี้ เสี่ยวร่ำ รวยแล้ว เพราะอาชีพพ่อค้ายาบ้า เสี่ยว ชวนให้ แผน มาอยู่ด้วย โดยสัญญาว่าจะตั้งวงดนตรีลูกทุ่งให้ แต่ แผน ปฏิเสธ เขาขอเพียงเงินค่าเดินทางกลับบ้านเท่านั้น
เมื่อกลับมาถึงบ้าน แผน พบว่าสะเดาต้องทำงานอยู่เพียงลำพัง เพื่อเลี้ยงดูลูกทั้งสองของเธอ ลูกคนแรกเกิดจากหนุ่มบ้านนอกที่ทิ้งเธอไปแสวงโชคในเมืองกรุง ส่วนลูกคนที่สองเกิดจากหนุ่มชาวกรุงที่มาหลอกกินไข่แดงสาวบ้านนอกอย่างเธอ
เมื่อผมดูหนังเรื่องนี้จบ ผมอดที่จะสงสารและสะเทือนใจในชะตากรรมของ แผน และ สะเดา ไม่ได้ ว่าทำไมชีวิตของคนเรามันต้องประสบเรื่องร้าย ๆ มากมายได้ขนาดนั้น ผมแทบจะลืมมุขตลกต่างๆ ที่ทำเอาผมยิ้มไม่หุบตลอด 1 ชั่วโมงแรกของหนังไปเลยทีเดียว จะว่าไปแล้วเหตุการณ์ในช่วงชั่วโมงที่สองก็พอจะดูเป็นเรื่องตลกว่าด้วยความซวยของคนได้ เพียงแต่ผมขำไม่ออกเท่านั้นเอง
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับแผน อาจจะดูว่าเป็นเพราะ “ความบังเอิญ” เข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก ในชีวิตจริงคงจะหาใครที่โชคร้ายมากขนาดนี้ได้ยาก แต่หากเรามองไปที่แรงผลักดันแรกสุดที่พาให้ แผน ต้องมาพบกับเรื่องราวทั้งหมดแล้ว มันก็เป็นเพราะความอยากดัง อยากร่ำรวย มีชื่อเสียง ซึ่งความคิดเหล่านี้มีอยู่ในตัวคนทุกคน อันเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในสังคมที่ปลูกฝังให้เราหลงไหลในความเจริญทางวัตถุ ผมคิดว่าในปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านในชนบทอีกมากมายที่มีความคิดแบบเดียวกับ แผน ในหนัง อันเป็นผลมาจากการมอมเมาผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่คนที่มีการศึกษาแล้ว หลาย ๆ คนก็ยังปล่อยให้โฆษณาต่าง ๆ มาเป็นตัวกำหนดขอบเขตความต้องการต่าง ๆ ของชีวิต
จะว่าไปแล้วคนอย่าง คุณสุวัตร ที่คอยฉกฉวยหาประโยชน์จาก “นักล่าฝัน” อย่างแผนนั้นก็มีให้เราไปพบเห็นอยู่ทุกวัน หนำซ้ำนับวันก็จะมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนชีวิตของ สะเดา นั้นก็ถูกทำร้ายจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ แผน ต้องประสพ หนุ่มชาวกรุงอย่าง เกียรติศักดิ์ ที่เฝ้าทำดีต่อเธอต่างๆ นานาก็ไม่ใช่เพราะบริสุทธ์ใจ หากแต่มุ่งหวังอะไรบางอย่างจากตัวเธอ แต่เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ทิ้งเธอไปไม่ใยดี ซ้ำยังทิ้งหลักฐานไว้ให้เธอต้องดูแลอีกหนึ่งชีวิต (จะว่าไปแล้วอาชีพของ เกียรติศักดิ์ ที่เป็นคนฉายหนังขายยา ก็สะท้อนนัยยะของความหลอกลวงอยู่แล้ว)
ส่วนที่เด่นที่สุดในหนังเรื่องนี้น่าจะเป็น การแสดงของ ต็อก ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ ในช่วงแรกเขาแสดงความทะเล้นออกมาได้กวนสุดๆ ลีลาท่าทางในการร้องเพลงต้องเรียกว่ากวนสุดยอด ทั้งน้ำเสียงและลูกคอก็ใช้ได้ทีเดียว (เขาร้องเพลงเองทั้งหมด 6 เพลง) หรือในช่วงที่ แผน ไปทำงานตัดอ้อย เขาต้องลงทุนลดน้ำหนัก 10 กว่ากิโล เพื่อถ่ายทอดความลำบากของคนรับจ้างตัดอ้อย
ส่วน อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส บทของเธออาจไม่มากนัก แต่ผมคิดว่าผู้กำกับใช้งานเธอคุ้มทีเดียว การที่หนังกำหนดให้ผู้หญิงน่ารักอย่างเธอต้องพบกับชะตากรรมที่โหดร้ายขนาดนั้น ในฉากสุดท้ายที่เธอร้องไห้ ใครดูแล้วไม่สงสารเธอก็เรียกว่าใจดำเกินไปหน่อยล่ะ (ทั้งคู่ก็คว้าดารานำชายและหญิงยอดเยื่ยม ของชมรมวิจารณ์บันเทิงในปีนั้นไปครอง โดยเฉพาะ ต็อก แกเล่นกล่าวขอบคุณโดยร้องออกมาเป็นเพลงลูกทุ่งเลยทีเดียว)
อีกส่วนที่เด่นของหนังเรื่องนี้ก็คือ เพลงลูกทุ่ง ที่นำมาใส่ไว้ในหนัง แต่ละเพลงต้องเรียกว่าขึ้นหิ้งเป็นเพลงคลาสสิกไปแล้ว เนื้อเพลงแต่ละเพลงบ่งบอกถึงความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้น ขนาดผมเองไม่ใช่คอเพลงลูกทุ่ง ยังติดใจจนต้องไปหาเทปเพลงประกอบหนังมาฟังเลย
หลังจากเดินออกจากโรง ผมยังพอมีเวลาเดินเตร็ดเตร่อีกประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องเดินกลับไปที่สนามบิน ซึ่งคะเนดูแล้วน่าจะกินเวลาประมาณ 20 นาที เท่าที่ผมเดินดูร้านค้าต่าง ๆ ในห้างโรบินสัน ผมเกือบลืมไปว่าตอนนี่ตัวเองอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะมันแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากห้างในกรุงเทพฯ เลย ร้านอาหารก็มี “Junkfood” เปิดขายครบทุกยี่ห้อ ผมเองอยากจะหาอาหารเหนือกินเป็นมื้อส่งท้าย ก็ต้องเดินหาแทบแย่กว่าจะเจอ เมื่อมองออกไปข้างนอกห้างก็เห็นป้ายโฆษณาของ Modern trade อย่าง Macro และ Tesco Lotus ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ไม่ไกลนัก เห็นแล้วก็นึกไปว่าถ้า แผน เป็นคนเชียงใหม่ ก็คงไม่ต้องดิ้นรนไปไกลถึงกรุงเทพฯ เพราะเดี๋ยวนี่เขามีบริการส่งตรงถึงบ้านกันแล้ว
ม้าก้านกล้วย
ชอบหนังแนวนี้มาก
ทำให้คิดถึงบรรยากาศชนบทแบบเก่า ๆ ของไทย
อยากให้มีหนังแนวนี้อีก