ทุกวันนี้เราทุกคนใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาในแต่ละวัน หรือ 1 ใน 2 ของเวลาที่เราตื่นอยู่ หมดสิ้นไปกับสิ่งที่เรียกว่า “การทำงาน” เพื่อให้ได้มาซึ่ง “เงินทอง” อันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจสำหรับการดำรงชีวิต แต่มิใช่คำตอบทั้งหมดของการมีชีวิต เรายังคงกระหายสิ่งหล่อเลี้ยงเพื่อปลอบประโลมทางจิตใจเช่นกัน มนุษย์เราจึงจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งไว้เพื่อประกอบกิจกรรมเพื่อการนั้น แล้วนิยามมันว่าเป็น “งานอดิเรก”

ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนเคยมีความคิดที่จะยกระดับ “งานอดิเรก” ของตัวเองให้กลายเป็น “อาชีพ” เพราะนั่นหมายความว่า เราได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับสิ่งที่เรารัก แต่ในชีวิตจริง หลายสิ่งที่คิดอาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็น อย่างเช่นสิ่งทีเกิดขึ้นกับนักเขียนบทละครอย่าง ริซึโกะ ในหนังเรื่อง “Welcome back, Mr. McDodald” ซึ่งเป็นผลงานการเขียนบทและกำกับตั้งแต่ปี 1997 ของ โกกิ มิตานิ

สถานีวิทยุแห่งหนึ่งจัดให้ผู้ฟังทางบ้านส่งบทละครเข้ามาประกวด โดยเรื่องที่ชนะเลิศจะถูกนำมาออกอากาศ บทละครที่ชนะชื่อ “สตรีแห่งโชคชะตา” ซึ่งแต่งโดย มิยาโกะ (เคียวโกะ ซูซูกิ)

สตรีแห่งโชคชะตา เป็นเรื่องของ ริซึโกะ พนักงานสาวในร้านปาจิงโกะ ที่โชคชะตาเกิดเล่นตลก เธอได้กลับมาพบกับ โทราโซ่ คนรักเก่าซึ่งมีอาชีพเป็นชาวประมง (หลังจากที่เธอไปเดินเล่นชายหาด แล้วเจอพายุ เธอโดนคลื่นซัดออกไป และเขาเป็นผู้ช่วยชีวิตเธอเอาไว้) แต่ว่าในขณะนั้นเธอแต่งงานแล้ว ในขณะที่ ริซึโกะ กำลังตัดสินใจเลือกเพียงคนใดคนหนึ่ง เรือของ โทราโซ่ เกิดหายสาบสูญไปในทะเล แต่สุดท้าย โทราโซ่ ก็กลับมาเมื่อรับรู้การตัดสินใจของเธอ

ผมคิดว่าบทละครเรื่องนี้ ถ้าเอามาออกอากาศในบ้านเรา ก็คงดังได้ไม่ยากเพราะรสนิยมใกล้เคียงกันมากเลย (ฮา)

ดูเหมือนทุกอย่างราบรื่นดีเมื่อทุกคนซ้อมบทเสร็จเรียบร้อย แต่แล้วเมื่อเหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมงกว่า ๆ ก่อนถึงเวลาออกอากาศสด “ปฏิบัติการกลายพันธุ์” ก็เริ่มขึ้น

จาก ริซึโกะ ถูกเปลี่ยนเป็น Mary Jane เนื่องเพราะ เซ็นบอน นกโกะ (เคย์โกะ โทดะ) ซึ่งเป็นดารานักร้องชื่อดังและรับเชิญ (อย่างไม่ค่อยเต็มใจ) ให้มาพากย์บท ริซึโกะ เกิดไม่ชอบชื่อของตัวละครที่เธอเล่น เนื่องจากชื่อนั้นไปเหมือนกับชื่อของผู้หญิงที่เคยทำให้เธอต้องอกหัก (เอากับเธอซิ) จึงขอให้เปลี่ยนชื่อตัวละครเสียใหม่ รวมทั้งเหตุการณ์ในเรื่องก็ถูกขอให้เปลี่ยนจากญี่ปุ่นไปเป็นนิวยอร์ก

อุชิจิม่า (มาซาฮิโกะ นิชิมูระ) ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับรายการ อ้อนวอน มิยาโกะ ให้ยอมตามที่ นกโกะ ขอร้อง เพราะว่าเธอเป็นดาราใหญ่ และเป็น “จุดขาย” เพียงอย่างเดียวของละครวิทยุเรื่องนี้ มิยาโกะ ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องยอมตามนั้น อุชิจิม่า จึงจัดการเปลื่ยนชื่อตัวละครที่เหลือทั้งหมดในเรื่อง ให้เป็นชื่อภาษาอังกฤษตามสถานที่ในเรื่องที่เปลื่ยนไป

จาก “พนักงานร้านปาจิงโกะ” กลายเป็น “ทนายความ” !  เนื่องจากในนิวยอร์กไม่มีร้านปาจิงโกะ (ก็แน่อยู่แล้ว) อุชิจิม่า จึงว่ายวานให้ บัคคี้ (โมโร โมโรโอกะ) ซึ่งเป็นคนเขียนบทรายการของทางสถานีช่วยแก้ไขบทให้ สุดท้าย Mary Jane ก็เปลี่ยนอาชีพเป็นทนายความ (เพื่อให้สะท้อนภาพสาวมั่น ตามที่ นกโกะ ต้องการ)

บัคคี้ เปลี่ยนสไตล์ของเรื่องให้มีความเป็น Action มากขึ้น เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ฟัง เพราะว่าละครออกอากาศตอนเที่ยงคืน โดยให้ Mary Jane เป็นทนายสู้คดีให้กับพวกแก๊งอันธพาล สถานที่ในเรื่องจึงถูกเปลี่ยน (อีกครั้ง) ให้เป็นเมืองอาชญากรรมอย่าง “ชิคาโก”

จาก “ชาวประมง” กลายเป็น “นักบิน” !!! ด้วยความหมั่นไส้ในตัว นกโกะ อีกทั้งเห็นว่าทางสถานี “โอ๋” เธอมากกว่าตัวเอง ฮามามุระ (โทชิยูกิ โทโชคาว่า) ซึงเป็นคนพากย์บท โทราโซ่ จึงทำการพูดนอกบทเปลี่ยนชื่อตัวละคร (ของเขา) ในเรื่องเป็น Donald McDonald (ตามชื่อร้านอาหาร McDonald’s) และเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมงเป็นนักบิน ในระหว่างการพากย์ออกอากาศสด ๆ

จาก “นักบิน” กลายเป็น “นักบินอวกาศ” !!!!! หลังจากนั้นบทจึงถูกเปลี่ยนจาก “เรือของโทราโซ่หายสาบสูญไปในทะเล” เป็น “เครื่องบินของ Donald หายไปเหนือน่านฟ้าฮาวาย” เมื่อออกอากาศไปแล้ว ทางสถานีถูกต่อว่าอย่างหนักจากสปอนเซอร์ของรายการ ซึ่งเป็นบริษัทสายการบิน เพราะเห็นว่าจะทำให้คนฟังเกิดกลัวการโดยสารเครื่องบิน เพื่อเป็นการเอาใจสปอนเซอร์รายการ บัคคี้ จึงต้องแก้สถานการณ์โดยการเพิ่มรายละเอียดเข้าไปว่า Donald เป็นนักบินอวกาศ และเครื่องบิน (กระสวยอวกาศ) ของ Donald ประสพเหตุเชื้อเพลิงหมดและสูญหายไปในอวกาศ

ตลอดเวลา มิยาโกะ ได้เห็นบทละครของตัวเอง ค่อย ๆ แฉลบเข้าข้างทาง – จนไถลเข้ารกเข้าพง – กระทั่งหลุดออกไปนอกโลกเช่นนั้น โดยที่ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ แต่แล้วความอดทนของเธอก็ถึงที่สิ้นสุดเมื่อ ทางรายการตัดสินใจเปลี่ยน “ตอนจบ” ของเรื่องให้ Mary Jane ตัดสินใจดำเนินชีวิตต่อไปโดยลำพังด้วยความเข้มแข็ง (ตามแบบฉบับของสาวมั่นยุคนี้โดยแท้) แม้ว่าจะไม่มี Donald อยู่เคียงข้าง (เพราะจรวดของเขาสูญหายไปในอวกาศแล้ว)

มิยาโกะ ขังตัวเองอยู่ในห้องบันทึกเสียง (ทำให้ทุกคนเข้าไปพากย์ละครออกอากาศต่อไม่ได้) เธอยืนยันที่จะไม่ให้เปลี่ยนตอนจบของเรื่อง แต อุชิจิม่า ไม่ยอม เพราะเห็นว่าต้องรักษาสปอนเซอร์ของรายการเอาไว้ ไม่เช่นนั้นสถานีของเขาก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายเธอจึงขอให้ตัดชื่อของเธอออกจากการเป็นผู้แต่งบทละครเรื่องนี้ เพราะทั้งชื่อ, อาชีพ, เหตุการณ์ในเรื่อง กระทั่งตอนจบซึ่งถือเป็นจุดไคลแม๊กซ์ของเรื่องทั้งหมด ถูกเปลื่ยนแปลงจนไม่มีอะไรเหมือนกับบทละครที่เธอเขียนขึ้นมาตอนแรกแม้แต่น้อย

อุชิจิม่า บอกว่าทำไม่ได้เพราะ “ไม่ว่าเรื่องมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือเราจะเกลียดมันแค่ไหน มันก็ยังเป็นผลงานของเรา เป็นความรับผิดชอบของเรา คงจะมีซักวันที่เราจะสามารถทำมันออกมาได้ ตามที่เราต้องการทั้งหมด เพียงแต่ว่าวันนั้นมันยังมาไม่ถึง”

นักพากย์คนหนึ่งในเรื่องบอกกับ มิยาโกะ ว่า “อย่าทำให้เรื่องราวมันเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ (ซึ่งก็วุ่นวายเกินพอแล้ว) เลย ปล่อยให้ (ละคร) เรื่องนี้มันเล่นจบๆ ไปซะเถอะ มันก็เป็นแค่งานอีกชิ้นที่ผ่านไป”

นักพากย์อีกคนแย้งขึ้นว่า “มันอาจเป็นแค่งานชิ้นหนึ่งในจำนวนหลายร้อยชิ้นที่ (มืออาชีพอย่าง) เราได้ทำ แต่มันอาจเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิตของ (มือสมัครเล่นอย่าง) เธอ”

ในการลงมือทำอะไรซักอย่าง ปัญหาและอุปสรรคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เราทำได้ก็เพียงแค่เตรียมพร้อมให้ดีที่สุด หลาย ๆ ครั้งที่อุปสรรคนั้นอยู่นอกเหนือวิสัยที่เราจะเอาชนะได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ นานเข้า ๆ คนส่วนใหญ่มักจะเลือกที่จะถอดใจยอมรับสภาพที่เป็นไป มากกว่าที่จะปรับปรุงตนเองให้มีศักยภาพในการรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น

การเลือกทำในสิ่งที่รัก ก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรให้รอดพ้นจากเงื่อนไขดังกล่าว เพียงแตกต่างในเรื่อง “ความมุ่งมั่นเริ่มแรก” ที่มีมากกว่า ซึ่งมีสถานะเป็นเหมือน “ภูมิต้านทาน” ที่แข็งแรงกว่าให้กับ “จุดยืน” ของตัวเอง เมื่อต้องต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านั้น

ตัว มิยาโกะ ก็คือภาพสะท้อนตัวตน (ในอดีต) ของ อุชิจิม่า เขาก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้เหตุผลของความรักชอบในวิชาชีพ แต่เมื่อเผชิญกับความเชี่ยวกรากของอุปสรรคต่างๆ แต่ละย่างก้าวของเขาเชื่องช้าลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเขาก็ปล่อยตัวเองให้ไหลไปกับกระแส ทำแค่เพียงลอยคอเอาไว้ไม่ให้จมน้ำเท่านั้น (หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น คิดแต่เพียงการเอาตัวรอดเฉพาะหน้า โดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อองค์รวมของเรื่องทั้งหมด)

แน่นอนว่า “ความตั้งใจ” เป็น “จุดเริ่มต้น” ของหลาย ๆ อย่าง แต่มันไม่สามารถเป็น “ทางออก” ของทุกปัญหาได้ หากแต่ต้องมีตัวช่วยที่แข็งขันอย่าง “ความอดทน” , “มุ่งมั่นทุ่มเท” และ “เอาจริงเอาจัง”

ม้าก้านกล้วย