ร่ายพัฒนา

โอม…ธรณีประลัย แผ่นดินไทยดั่งดินเดือด ฟ้าสีเลือดคำรณ ครางเกียรติกระดางลางลือระบัด อา…ยุคพัฒนาการ จอมอันธพาลเถลิงอำนาจ ปวงประชาราษฎร์อาเภท เปรตกู่ก้องร้องตระเมิม กระหายเหิมแลบลิ้นอยู่วะวาบวะวาบ แสยะเขี้ยวเขียวปลาบอยู่วะวับวะวับ จับชนเชือดเลือดสดสด ซดอิ่มเอมเปรมแประท้อง ร้องโลกฮือ มือถือสาก ปากถือศีลตีนกระทืบ คืบก็หอกศอกก็ปืน หืนโหดโฉดชาติ… อนาถหนอกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ อา…เมืองอินทร์หยาดฟ้า ผีเปรตย่ำหยาบช้า จักช้ำฤๅไฉน ฯ

โคลงสี่สุภาพ 
เมืองไทยยุคคลั่งเพ้อพัฒนา นี้ฤๅ
บังเกิดผู้นำมหา-บุรุษแท้
บุรุษเหล็กทุกยุค-บาเผยอทาบ เขาฤๅ
เหล็กเท่าเหล็กล้วนแพ้พ่ายสิ้นทุกสมัย ฯ
  
อำนาจบาตรใหญ่เหี้ยมโหดหืน
ย่ำระบบยุติธรรมยืนเหยียบเย้ย
ปืนคือกฎหมาย…ปืนประกาศิต
“ผิดชอบอั๊วเองเว้ย”“ชาตินั้นคือกู” ฯ
  
ถือ ม. สิบเจ็ดใช้ประหารชน
เหมือนหนึ่งหมากลางถนนหนักหล้า
เห็นคนบ่เป็นคน…ควายโง่ (โอยพ่อ)
กดบ่ให้เงยหน้า“นิ่งโว้ย…ม่ายตาย” ฯ
  
ยานีลำนำ 
“กูนี้แหละผู้สร้างชาติ”ประวัติศาสตร์ยุคพัฒนา
ฝากชื่อให้ลือชาให้ปวงชนได้ชื่นชม
กูสร้างกูรับเหมาทั้งหนักเบากูฟัดจม
โครงการทุกกองกรมย่อมกวาดกำในมือกู
บริษัทอภิสิทธิ์ผูกขาดปิดทุกประตู
ประมูลอย่างข่มหมูเขมือบเมือบจนมันมือ
ชาติเสือต้องไว้ลายและชาติชายต้องไว้ชื่อ
กูเสือในครัว…ฮือเป็นชาติเสือต้องนอนกิน
คำขวัญอันสวยสดก้องปรากฏเหนือธรณินทร์
เบื้องหลังสิเล่ห์ลิ้นที่หลอกลวงปวงประชา
เขากินเขากอบโกยเขาร้องโวยว่าพัฒนา
ใครเห็นอย่าพูดจาจงนิ่งเศร้าอยู่ซึมซึม
 …อย่าพูดจา …อย่าพูดจา
 …จงนิ่งเศร้าอยู่ซึมซึม
แต่คนย่อมเป็นคนบ่คือควายที่โง่งึม
ไผเหวยจะยอมพึมและพ่ายแพ้ลงพังภินท์
ฟ้าลวกด้วยเปลวเลือดระอุเดือดทั้งแดนดิน
วอดวายทุกชีวินแต่คนยังจะหยัดยืน
ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่อแปจะพังครืนและกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว
แต่คนย่อมเป็นคนในสายธารอันเหยียดยาว
คงคู่กับเดือนดาวผงาดเด่นในดินแดน
ถึงปืนก็เถอะปืนเจ้ายิงคนอย่างหมิ่นแคลน
ใจสู้นี้เหลือแสนกว่าปืนสูจะตัดสิน
คาวเลือดที่ไหลอาบซึมกำซาบในเนื้อดิน
ปลุกใจอยู่อาจิณให้กวาดล้างพวกกาลี
ฟ้ามืดเมื่อมีได้ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี
แสงทองเหนือธรณีจะท้าทายอย่างทระนง
เมื่อนั้นแหละคนนี้จะยืดตัวได้หยัดตรง
ประกาศด้วยอาจอง“กูใช่ทาสหากคือไท”
 หากคือไทย…ฮา !!

กวีการเมือง (จิตร ภูมิศักดิ์)
จิตร แอบส่งบทกวีนี้ จากคุกมาลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2507 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เสียชีวิตไม่นาน ภายใต้นามปากกา “กวีการเมือง” ต่อมาได้มีผู้นำมาลงพิมพ์ในวารสาร “เศรษฐกร” พ.ศ. 2514