ค่ำคืน….วันหนึ่งที่บ้านพี่จืด จังหวัดสุรินทร์ พวกเราได้นั่งจิบเบียร์พูดคุยเรื่องราวส่วนตั๊ว ส่วนตัวของ “พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์” หรือ “จ.จืด กลุ่มเด็กรักป่า” ท่ามกลางบรรยากาศบ้านทุ่งนา ที่มีจานดาวเทียม IP Star อยู่ข้างๆ นับเป็นเวลากว่า 2-3 ชั่วโมงของการสนทนาผ่านไป ผมจึงนึกได้ แล้วคว้าวิทยุบันทึกเสียงเครื่องเล็ก ๆ ขึ้นอัดเสียงบทสนทนากลางคัน การพูดคุยดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครใส่ใจวิทยุบันทึกเสียงที่ว่านั้น กว่าจะรู้สึกอีกทีว่ามันอยู่ข้างหน้าเรา เทปก็หมดไปด้านหนึ่ง ผมก็เปลี่ยนหน้าเทป ฉนั้นการพูดคุย (กึ่งสัมภาษณ์) ครั้งนี้ อาจจะมีประเด็นโดดไปโดดมา ไม่ต่อเนื่องนัก แต่เชื่อผมเถอะครับว่า…. แค่เท่าที่มีอยู่ก็น่าสนใจพอแล้ว สำหรับผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า และเรื่องราวความรักแท้ที่งดงาม และลือลั่นไปทั้งวงการนักกิจกรรมของ พี่จืด กับ พี่หน่อย ขอจึงติดตามด้วยใจระทึกพลัน…
ชีวิตวัยเด็ก…ผมรับจ้างดูหนัง
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : อย่างแรกชีวิตผมอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ในเบื้องต้นพ่อแม่คิดว่าให้วัดอบรมเราจะดี อันที่สองพ่อแม่ผมเสียตั้งแต่เด็ก ผมก็อยู่วัดมาตลอด อันที่สามนี่ผมชอบศิลปะ รู้แน่ ๆ ว่าตอนเป็นเด็กชอบศิลปะมาก
เอ กระจกเงา : ตอนที่พี่เรียน ป.ว.ช พี่เรียนในสายไหนครับ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เรียนวิจิตรศิลป์ เอกวิชาวิจิตรศิลป์ คณะศิลปะหัตถกรรม วิทยาลัยอาชีวะอุบล แล้วผมเรียนศิลปะ ผมก็ไม่ได้เน้นมาที่เรื่องที่ผมทำอยู่นี่ เรื่องธรรมชาติ เรื่องงานพัฒนานี่ผมไม่รู้ แต่รู้ว่าเราชอบทำกิจกรรม เป็นชมรมธรรมดาในโรงเรียนธรรมดานี่แหละ ชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์….สมัยก่อน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีนะ ในโรงเรียนอาชีวะ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ทำอะไรพี่ ออกค่ายเหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ก็ไปออกค่าย วันเด็กไปเล่นกิจกรรมกับเด็ก ไปพัฒนาหมู่บ้าน อะไรอย่างงี้ กิ๊กๆ ก๊อกๆ ทำเป็นว่าตัวเองได้เสียสละ อย่างโง้น….อย่างงี้ แต่จริงๆ ได้ไปเที่ยว ได้เจอเพื่อน แต่ว่าผมมาเปลี่ยนโดยที่ไม่รู้สึก ตอนประมาณปี 30-31 ผมจบ ป.ว.ส แผนกจิตกรรมไทย คณะศิลปะประจำชาติ ที่เพาะช่าง มันมีอยู่ 3 แผนก หัตถกรรม ปัตติมากรรมไทย แล้วก็ จิตรกรรมไทย ผมจบด้วยงานวิจัยเรื่อง “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หอไตร วัดระฆัง” จบมาแล้วผมไม่รู้จะทำอะไรตรงนั้น ครูบอกว่า “เออ..มึงผ่าน ผ่านคนเดียวนะ เพื่อนมึงติด” แล้วผมต้องรอเพื่อนอะไรอย่างงี้ แต่ผมรู้ว่าตัวเองว่าผ่านก่อนเพื่อน ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์ข่าว เรื่องคนจากเมืองกาจญน์ มาสาบานที่วัดพระแก้ว กรณีคัดค้านเขื่อนน้ำโจน มันไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ แต่ว่าเขื่อนเมืองกาจญน์ แม่งโคตรเขื่อนเลย มีเขื่อนอยู่แล้ว 5-6 เขื่อนแล้ว สร้างอีกผลกระทบมาก น้ำมันเยอะ พอมันกักขังนาน ๆ ก็มีน้ำหนัก และก็มีรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวพาดผ่าน ระหว่างพม่ามาถึง กาจญน์ ยันถึง เชียงใหม่ ในรอยนี้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหว แล้วเขื่อนมันแตก ชาวบ้านเมืองกาจญน์ อยู่ด้านล่างของเขื่อน …แม่งเสร็จ อะไรอย่างงี้คือเหตุผลที่คัดค้านก็ดีเหมือนกัน ก็เลยไปให้กำลังใจชาวบ้านแถววัดพระแก้ว แล้วก็เข้าไปที่ธรรมศาสตร์
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตอนนั้นพี่เรียนเพาะช่างแล้วใช่ไหม
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ใช่ ตอนที่ผมเรียนผมมีงานหลายตัวนะ อย่าง “รับจ้างดูหนัง”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : รับจ้างดูหนัง!!
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ใช่…โหมันมาก มันมีงานประกวดรางวัล สุพรรณหงส์ทองคำ แล้วก็ต้องมีกรรมการมากลั่นกรองหนังทุกเรื่อง แล้วเขาก็คัดเลือกจากพวกนักศึกษา ตัวแทนจากศิลปากร ธรรมศาสตร์ เพาะช่าง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไปวิจารณ์หนังอะไรอย่างนี้เหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไปดูหนังเลย แล้วก็มา “กา” ว่า นักแสดงชายได้กี่แต้ม นักแสดงหญิงได้กี่แต้ม บทกี่แต้ม เพลงเป็นยังไง ฉากเป็นยังไง ไปให้แต้มเขาทุกเรื่องเลย คะแนนก็เอาจากกรรมการกลั่นกรองนั้นแหละ มาดูมาตรฐาน ถ้าเกิดบทไม่ถึง 5 นักแสดงไม่ถึง 5 ห่วยแตก ก็ตกไป มันก็จะเหลือประมาณสักปีละ 20-30 เรื่อง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่จำได้ไหม ปีที่พี่ดู หนังอะไรได้รางวัล
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : “ด้วยเกล้า” ปีนั้นหนังออกมาทั้งหมด 114 เรื่อง ผมดู 112 เรื่อง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ได้เรื่องเท่าไร
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : วันละ 50 บาทอะ คุณจะดูกี่วันก็ได้ ตกตามปกติเขาจะดูหนังตั้งแต่ วันที่ 1 มกรา ถึงวันที่ 30 ธันวา นั้นคือในรอบปี ที่นี่กว่าจะมาแต่งตั้งกรรมการ แต่งตั้งอะไรมา มันจะมาแต่งตั้งเอาประมาณ กลางๆ ปี เพราะฉนั้นหนังตั้งแต่ มกรา ถึง เดือน 5 เดือน 6 เรายังไม่ได้ดู หนังพวกนี้ก็จะถูกกวาดต้อนมาอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ หรือว่าอยู่กับ พูนทรัพย์ฟิล์ม อะไรอย่างงี้ แล้วเขาจะมาห้องให้ดูหนัง บางทีเสาร์-อาทิตย์ กรรมการจะว่างเสาร์-อาทิตย์ ต้องไปดู วันละ 5 เรื่อง แล้วก็ไปดูวันปกติอีกนะ ต้องตามไปดู เขาก็มีจะบัตรประจำตัวกรรมการ ไปถึงก็ไปยื่นกับโรงหนัง โรงก็จะให้ขึ้น ก็คนหนึ่งให้ไปได้ 2 คน บัตรใบหนึ่งใช้ได้สองคน ผมก็ชวนเพื่อไป “แทนที่มึงจะเสียเงิน 30 บาทดูหนัง มึงจ่ายให้กู 10 บาทแล้วเข้าไปดูหนัง” (หัวเราะ)
เอ กระจกเงา : ช่วงนั้นพี่ก็ยังอยู่วัด
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไม่แล้ว ตอนที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่ได้อยู่วัด เช่าบ้านอยู่กับเพื่อน อยู่แถวบางแค แล้วก็ย้ายมาแถวๆ วัดวีระวงค์ และก็เดินข้ามสะพานพุทธมาเรียนที่เพาะช่าง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : กลับมาเรื่อง เขื่อนน้ำโจน
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ก็ตอนนั้นผมเจอรถตุ๊ก ๆ บนรถมีนักศึกษา 3 คน รถกำลังจะออก ผมก็ถาม “พี่….ชาวบ้านที่มาจากเมืองกาจญฯ ไปแล้วเหรอ” “ไปแล้ว” “ไปวัดพระแก้วเหรอ” “ไม่ใช่ โน้น…เขาไปที่หน้ารัฐสภา” หน้ารถตุ๊ก ๆ มีดอกไม้ มีดอกกุหลาบเยอะแยะ “น้องจะไปเหรอ” “ไปครับพี่” “งั้นก็ขึ้นมาด้วยกัน” ไม่รู้จักกันเลยนะ ผมก็ขึ้นรถตุ๊ก ๆ จาก 3 คน ก็เป็น 4 ไปที่หน้ารัฐสภา เป้าหมายคือ อยากมาให้กำลังใจชาวบ้านที่มาคัดค้านเขื่อน เราเห็นด้วยว่าชาวบ้านถูก ไปถึงเสร็จ พี่ก็ไปช่วยหิ้วถังกุหลาบ แล้วก็มีนักศึกษาคนอื่นๆ แบ่งจากเราไปก็ไปมอบให้ชาวบ้านให้กำลังใจ ตอนเที่ยงก็เข้าไปกินข้าวในรัฐสภา ในโรงอาหาร เราไม่รู้เรื่อง เขาเรียกให้ไปกินข้าว เราก็ไป (หัวเราะ) ทั้งชาวบ้าน ก็ไปกิน ข้าง ๆ ผมโต๊ะมันว่าง แล้วก็มีผู้หญิงมาถามผมว่า “ว่างไหม” ผมก็บอก “ว่าง” เขาก็ถามว่าอยู่ไหน “อยู่เพาะช่าง” “เออ ไปช่วยหน่อยนะ ยังขาดพวกฝ่ายช่วยเผยแพร่ ไปเขียนคัทเอ๊าท์ เขียนการ์ตูน เขียนอะไร” ผมก็บอก “ก็ดีเหมือนกัน ไปยังไง” “ไปเหอะ ไปยังไง ไปวันไหนก็ได้ ให้ไปที่วัดญวน” ผมก็ไป
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตอนนี้พี่จำผู้หญิงคนนั้นได้ไหมพี่ ใคร?
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ก็พี่หน่อยไง….. (หัวเราะพร้อมกัน) พี่หน่อยเขาเป็นผู้ประสานงานคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เขาเป็นขาใหญ่ในนั้น ผมก็เลยแบบ… ทึ่ง เห็นเขาประสานงานเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ กางเกงยีนส์ สะพายย่าม อะไรอย่างนั้น ผมมาคิดผิดอ่ะนะ เพราะว่าตอนที่ผมไปอยู่เมืองกาจญน์ฯ ผมก็ไม่รู้จักใคร แต่ว่าพี่หน่อยมองว่า “ไอ้น้องคนนี่กูหลอกมันมา ก็ต้องดูแลมันหน่อย”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่หน่อยรุ่นพี่ พี่เหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ถ้าเทียบอายุ หน่อยจบมหาลัย ผมยังไม่จบ อายุก็ใช่ หน่อยเขาดูแล ผมมาคิดผิด “เอ…ชอบกูรึเปล่าวะ ดูแลกู” คือจริงๆ ไม่ใช่ (หัวเราะ) ผมอยู่เมืองกาญจน์ ช่วงนั้น พี่ ๆ เก่ง ๆ เยอะมาก ในยุคนั้นนะ เก่งมาก มีอยู่หลายคน เป็น ส.ส. เป็นถึงรัฐมาตรีก็มีนะ ไปอยู่กับ ป.ต.ท ก็มี การไฟฟ้าก็มี (หัวเราะ) ผมไปอยู่เมืองกาจญน์จนแบบ…. วันที่ 23 มีนา ปีนั้น เป็นวันตัดสินของคณะรัฐมนตรีว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ประมาณซัก 3 ทุ่มนี่แหละ ตรงหน้าเมืองกาญจน์จะมีที่ศาลหลักเมือง ตรงนั้นก็ตั้งเป็นเวทีหันหลังให้ศาลหลักเมือง คนก็จะยาวมาจนถึงสี่แยก และก็ยาวไป บขส. ออกข้าง ๆ ด้วย ประมาณซัก 2 ทุ่ม แม่ง…ไฟดับทั้งเมืองเลย ชาวบ้านขึ้นเลย “เผามัน เผามัน” จะไปเผาการไฟฟ้านะ ตอนนั้นผมเป็น Guard จริง ๆ มองว่า ตัวเองก็ไม่ได้มีคุณค่าสำคัญอะไร เราตัวเล็ก ๆ เอง ผมมองว่าอยากอยู่ให้มันจบ ในวันนั้นมีเวที ก็มีพี่หงา พี่อะไร ผมก็เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก…
จากนักศึกษา… สู่มวลประชาแห่งเขื่อนน้ำโจน
หลังจากที่ พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ ได้เห็นการต่อสู้ของชาวบ้าน “กลุ่มคัดค้านเขื่อนน้ำโจน” และได้รู้จักกับพี่หน่อย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในขณะนั้น จึงตัดสินใจไปอยู่ร่วมขบวนการต่อสู้กับกลุ่มชาวบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี ในเวลาต่อมา
ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ได้ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ในขบวนชาวบ้าน ซึ่งกำลังมีการประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในเวลาเดียวกันตนเองก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินว่า จะเอาอย่างไรต่อไปกับชีวิตดี เนื่องจากเพิ่งเรียนจบในระดับชั้น ปวส. (เพาะช่าง) เรียนต่อปริญญาตรี ไปสมัครงาน แต่ในที่สุด พี่จืดก็ตัดสินใจเลือกที่จะอยู่กับชาวบ้านมากกว่า
พี่จืด เกริ่น ถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่มิอาจลบลืมได้ นั่นคือ วันตัดสินของคณะรัฐมนตรีว่าจะอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนหรือไม่ ในคืนนั้น ราว 2 ทุ่มเศษ กลุ่มชาวบ้านก็ได้ออกมาชุมชุมที่หน้าศาลหลักเมือง กาญจนบุรี ในขณะเดียวกันอยู่ ๆ ไฟฟ้าก็เกิดดับอย่างกระทันหันทั้งเมือง เสียงตะโกนกู่ร้อง “เผามัน เผามัน” (การไฟฟ้าฯ) จากกลุ่มผู้ชุมนุมดังกึกก้องไปทั่ว พี่จืดเองก็อยู่ร่วมขบวนมาโดยตลอด (ในตำแหน่งการ์ด)
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไฟดับแล้วไงต่อ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ผมก็ “ใช่พี่เผามัน เผามัน” ตามแต่ตอนหลังก็ค่อย ๆ ดึงอารมณ์เขา ส่วนชาวบ้านเอาเทียนมามาจากไหนไม่รู้ คิดว่าเป็นหมื่น ๆ เล่ม แล้วก็มีรถ 6 ล้อมาทำเป็นเวที พี่หงา ขึ้นไปร้องเพลงจากแบ็ตตารี่รถ ผมยังจำได้เลย “พี่หงาขอเพลงหน่อย พี่หงา” คนเมาเหล้านะร้อง “พี่หงาขอเพลงหน่อย” “ฟังเพลงอะไรดีครับ” พี่หงาถาม “เพลงอะไรละครับ” “เพลงป้าบัวศรี” (555) “ป้าบัวศรีจะสิไปไส…”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วจบยังไงพี่ วันนั้น
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ประมาณซัก 3 ทุ่มก็มีคนบอกว่า “ตอนนี้ระงับ” ชาวบ้านก็เฮ.. เฮ ก็ หยุด ไฟก็สว่างแล้ว ชาวบ้านก็แยกย้ายกันไป พวกทีมทำงานเขาก็ให้เกียรติเรา ไปสนุกกัน ไปปิดแพตรงหน้าทั้งหมดเลย ร้านอาหารแถวนั้น ไปนั่งกิน นั่งคุยกัน
อรรณพ นิพิทเมธาวี : เยอะไหมนักศึกษา
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : โอ้… มันมาก ที่รวมกันดัง ๆ น่าจะเยอะ Head ก็จะเป็นรามฯ แต่ผมว่าคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ มันก็มีส่วนนะ มันเหมือนกับเป็น 3 พลัง ฝ่ายวิชาการ ก็จะมีพวก พี่สืบ พี่วีรวัฒน์ พี่นพรัตน์ ฯลฯ อันนี้เป็นฝ่ายนักวิชาการคอยให้ข้อมูล และก็เข้าไปเอาข้อมูลกับคนในท้องถิ่น เช่น โห … ใครจะเชื่อว่าที่ทุ่งใหญ่ บนเฮลิคอปเตอร์ที่เขาไปถ่ายภาพไปเจอกระทิง 610 กว่าตัว วิ่งกันแบบ เยอะมาก ตื่นเต้นกัน เขาไปถ่ายภาพมา พวกนักวิชาการก็เป็นฝ่ายให้ข้อมูลกับนักศึกษา นักศึกษาก็แปลข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ภาคสังคม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : มีนักวิชาการ มีนักศึกษา มีชาวบ้าน
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ชาวบ้าน… สังคมนี้เขาก็ช่วย อย่างเวรใครเข้าไปในตลาดที่เมืองกาญจน์ เข็นรถเข็นไปอย่างเดียว พวกแม่ค้าโยนผักโยนอะไรให้ นึกออกไหม… และก็เอาขึ้นรถมาที่วัดทำกินกัน รถเมล์แดง รถโดยสาร รถสี่ล้อ เปลี่ยนเวรกันมา.. ตามคำเรียกร้องว่าวันนี้ใช้กี่คัน ถ้าสามคันก็เปลี่ยนคิวมา โดยไม่คิดเงิน ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่ามวลชนเอาด้วยจริง ๆ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เอาด้วยจริง ๆ ผมไปครั้งแรกเนี้ย พอบอกพี่หน่อยว่าไป “พี่…. ผมตามไปพรุ่งนี้” ผมไปอีกวัน พอไปถึงก่อนเข้าเมืองกาจญน์ ผมเห็นป้ายเบ้อเริ้ม ป้ายบอกว่า “มึงสร้างเขื่อนได้ กูก็ระเบิดได้” ทหารเมืองกาญจน์ ผมนี่ขนลุกเลย แล้วมันเยอะมาก พอผมลงรถบัส แล้วผมบอกสามล้อ “พี่ไปวัดญวน” “อ๋อ เป็นนักศึกษาเหรอ พี่เห็นด้วย มา… พี่ไปส่ง” ถึงวัดญวนผมลงและจะให้ตังค์ พี่เขาบอก “ไม่ต้องน้อง แค่นี้นิดเดียวเอง พี่ช่วยได้แค่นี้เอง” ผมว่ามันแตกต่างจากที่อื่นที่ปากมูล มันขาดคนในเมือง.. เขาไม่ได้เล่นที่บ้านนอก เขาเล่นในเมือง แล้วคนในเมืองเอา แต่ที่ปากมูลเขาเล่นที่บ้านนอก และก็ชนชั้นกลางไม่เห็นด้วย และชนชั้นกลางที่ไม่เห็นด้วยนี่แหละทำให้พลังมันไม่เคลื่อน มันอ่อนแอลงทันที เหมือนกับว่าพวกนี้มาก่อกวน แต่ตรงนั้นมันไม่ใช่ มันเหมือนมารักษาสิทธิ มันต่างกัน
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่าพีจืดก็เห็นด้วยกับการเรียกร้องเหมือนกันนะ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : มันมีที่มา… คือผมตั้งคำถาม “เอ๊ะทำไมเราต้องประท้วง ถ้าเราตายจะเกิดอะไรขึ้น” มันไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย ถ้าเกิดว่าเราสร้างคนให้การศึกษากับคนให้ความถูกต้องกับเขา และให้เขาเกิดปัญญาในการคิดวิเคราะห์ว่า เรื่องนี้ มันสมควรหรือไม่สมควร มันน่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่เราจะเป็นลักษณะอย่างงี้.. ถึงตอนนั้น ถ้าเกิดว่ามันจำเป็นต้องประท้วง ผมก็ต้องเอา แต่ว่า ถ้าประท้วงโดยที่ ไม่ใช้ศิลปะเลย ผมก็ไม่เห็นด้วย.. จริง ๆ กระบวนการศิลปะ มันพัฒนาทั้งคนที่ประท้วงและคนที่สังคมรอบนอกด้วย ถ้ามันซอฟ มันนุ่ม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : จากน้ำโจนมาพี่ก็เข้างานสายพัฒนา
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ผมไม่ได้เข้า พอจบตรงนั้น คืนนั้นก็คุยกัน ก็ลากันเสร็จกับเพื่อน มีผมอยู่เมืองกาญจน์คนเดียว ผมไม่รู้จะไปไหน เรียนจบแล้วจะกลับบ้านที่ศรีสะเกษ ที่อุบล ก็ไม่มีพ่อ-แม่นึกออกไหม ถ้าจะมาทำงานงานที่เราได้นัดสัมภาษณ์ไว้เหรอ ถ้าจะเรียน ครูสนับสนุนให้ผมออกไม่ต้องเรียน “เฮ้ย มึงไม่ต้องเรียนหรอก มึงคิดจะออกดีแล้ว ออกไปเลย ไม่ต้องไปเรียนหรอก วิชาศิลปะมันเป็น ทฤษฎี พูดถึงฝีมือ ฝีมือมึงใช้ได้แล้ว ไม่ต้องใช้ ทฤษฎี แล้ว” ผมก็ออกมา กะอยู่เมืองกาญจน์ อยู่ยังไง นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ ผมก็เลยอยู่ … อยู่เพื่อรอโอกาส เพราะว่ารัฐบาลชาติชายระงับ ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะหยิบขึ้นมาอีกเมื่อไร ก็เลยบอกเพื่อนว่าผมจะอยู่เมืองกาญจน์
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ ตัดสินใจเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมาเพื่อเก็บกระเป๋าและร่ำลาคนอื่น ๆ เพียงอย่างเดียว “พี่จะอยู่เมืองกาญจน์นะ” เป็นประโยคสั้น ๆ ที่ฝากไว้กับเพื่อน น้อง ผู้ใกล้ชิด แล้วเดินทางกลับมาที่จังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้ง
การเป็นช่างเขียน มืออาชีพ คือสิ่งที่พี่จืดปราถนา แต่ก่อนที่จะป็นถึงขั้นนั้นจะขอบูชาครูก่อน โดยตั้งปฏิญาณไว้ว่า ถ้าตนเองเดินไปแล้วเจอวัด โบสถ์ วิหาร อะไรก็ตามหลังแรกในการจนบุรี จะติดต่อไปเขียนผนังให้จนกว่าจะเสร็จโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ
ราวตีสองเศษ พี่จืดมาถึงกาญจนบุรีและเริ่มเดินเท้าจากสถาณีรถไฟ ข้ามสะพานแม่น้ำแคว เดิน เดิน เดิน… จนกระทั่งมาสว่างที่บริเวณวัดแห่งหนึ่ง
ด้วยรักและอุดมการณ์
วัดแห่งนั้นมีชื่อว่า “วัดถ้ำเขาปูน” พี่จืด เดินเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อ ที่เพิ่งกลับจากบิณฑบาตร พร้อมบอกข้อเสนอที่ตั้งใจไว้แต่ตอนต้น หลังจากการพูดคุย และได้เห็นฝีไม้ลายมือการเขียนงาน ทางกรรมการวัดก็ตกลงยินยิมให้พี่จืดเริ่มเขียนงานในโบสถ์ได้ทันที
การใช้ชีวิตเป็นช่างเขียน ทำให้ พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ ต้องเดินทางเข้าในเมืองบ้างในบางครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งได้พบกับชาวบ้านที่เคยร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยกันโดยบังเอิญ ทำให้พี่จืดได้รับรู้ข่าวคราวของพี่หน่อย “ผู้หญิงที่เรียกได้ว่ามีส่วนทำให้ตัดสินใจมาใช้ชีวิตตรงนี้” อีกครั้งหนึ่ง และไม่ลืมที่จะขอที่อยู่ไว้เพื่อติดต่อ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ผมถามจริงพี่ …แอบชอบเขาเปล่าเนี้ย
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : มันเข้าใจผิด (555) คิดว่าเขาชอบเรา คือผมมาถามตอนหลังว่า “ก็กูหลอกมึงมา ก็ต้องดูแลหน่อย”แต่ตอนนั้นก็ไม่มีปัญหา ผมก็เขียนรูป ตอนหลังหน่อยก็ไปเยี่ยม “ไอ้นี่พูดจริงเว้ย” ก็เลยติดต่อกัน พอจบน้ำโจน ตอนนั้นหน่อย ก็กลับมาอยู่ที่สุรินทร์ ทำโครงการเรื่องป่าชุมชนเป็นเจ้าหน้าที่ สมัยก่อนป่ามีปัญหาหมดเลยนะ โครงการจัดสรรที่ทำกิน เอาชาวบ้านออก ก็ปลูกยูคาลิปตัส โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องหาพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสให้กับกลุ่มนายทุนจากต่างประเทศ ให้กรมป่าไม้เท่านี้ แต่กรมป่าไม้ต้องหาพื้นที่ยูคาลิปตัสให้อะไรอย่างนี้ คือมีนายทุนที่เมืองไทย เขตป่าสงวน ชาวบ้านเข้าไปอยู่ ๆ แล้ว พูดง่าย ๆ ว่าป่าสงวนประกาศหลังชาวบ้านเข้าไปอยู่ ๆ แล้ว
พอเอาชาวบ้านออกจากตรงนั้นมาอยู่ตรงนี้ ตรงนี้ก็ไถยกเป็นแปลงๆ ตรงนี้ปลูกยูคาลิปตัส เป็นแถวๆ ถึงไม่ไถ พอมีต้นยูคาลิปตัสก็มีผลกระทบ หน่อยก็มาทำงาน พอมาทำจริงหน่อยก็ไม่ถนัดงานที่ต้องอยู่ในชุมชน ทำงานกับผู้ใหญ่ หน่อยถนัดทำงานกับนักศึกษา เยาวชนและก็เด็กมากกว่า ก็เลยคิดเรื่องค่าย ที่นี้ก็อยากให้มีเรื่องศิลปะด้วย หน่อยก็จะได้เรื่องได้ธรรมชาติด้วย ผมก็เลยมาเป็นอาสาสมัคร เทียวไปเทียวมา พักหลังมาอยู่สุรินทร์ 15 วัน อยู่เมืองกาญจน์ 15 วัน ผมก็มาทำค่าย
อรรณพ นิพิทเมธาวี : มาจีบเขาว่างั้นเหอะ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : มาอยู่ใกล้ (555) มาขอคะแนน (555) และด้วยตัวค่ายของธรรมชาติทำให้ผมเนี้ย ได้มีโอกาศพบคนที่เป็นอาจารย์เป็นเซียน เจอพี่กมล ประธานชมรมดูนก คือผมประทับใจมากเลย “หมอหม่อม” คือเป็นคนในชนชั้นพอสมควร แต่ว่าเขาอยู่กับธรรมชาติเป็นปรกติมาก ผมประทับใจ สอนโน่น สอนนี่ ผมก็เลยเอาทักษะของศิลปะของตัวเองมาเรียนรู้กับธรรมชาติ และก็เอามาใช้กับเด็ก และก็ช่วงที่ผมมีปัญหา ช่วงที่พอทำงานอยู่ในพื้นที่ ตอนนั้นเขื่อนปากมูลกำลังขึ้น “เอ๊ะ ผมมีประสบการณ์” ก็ให้ผมไปช่วย ผมก็ออกแบบเสื้อ ออกแบบบล็อก-สรีน ก็ไปสรีนกัน สกรีนเสื้อคนที่มารอ จากเสื้อที่เราเตจรียมไปด้วย ที่เขาเอามาด้วย ผมก็นั้งคุยกะหน่อยอยู่ที่แก่งตะนะ “เอ๊ะ… ถ้าสองคนอย่างเรามาทำงานอย่างนี้ เราใช้โอกาสขอเราเปลืองรึ ไปรึเปล่า ตอนนี้มีกระแสเขื่อนตั้งเยอะ ที่ไม่เฉพาะที่นี้”
พูดง่ายๆ งานที่เรียกว่า “คัดค้าน” ทำไมต้องมาทำตรงนี้วะ แต่ว่าเราทำยังไงให้มัน สร้างความเข้าใจ และก็ใครคนหลายคนได้มีส่วนร่วม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ตอนนั้นเป็นแฟนกันรึยัง
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เป็นแล้ว.. เป็นตอนที่อยู่เมืองกาญจน์ บอกตรง ๆ “เนี้ยพี่ ผมชอบพี่… ผมขอเวลา 4 ปี คบพี่ และถ้าผมมีเงินมีทองผมจะไปขอ แล้วในช่วง 4 ปี พี่คบใครก็ได้ แต่ขอคบผมด้วยใน 4 ปี” พี่หน่อยบอก “ไอ้บ้า..เอ้ย กูเป็นพี่มึงนะ”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : (555) พี่หน่อยสาวๆ สวยเลย
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : โหยย…. หน่อยแฟนเยอะ หน่อยมีคนชอบเยอะมากเลย เท่ห์สุด ๆ กางเกงยีนส์สะพายย่าม ถ้าพวก NGOs เก่า ๆ พูดถึง “อ๋อ…ไอ้หน่อย เหรอ” ทุกคนจะ “อ๋อ…ไอ้นั้นใช่ไหม” ทุกคนจะจำได้ เพราะพี่หน่อยเป็นคนไม่เรื่องมาก และก็เลยคบกันตลอด
อรรณพ นิพิทเมธาวี : …และพี่หน่อยก็คบพี่ 4 ปี ระหว่างนั้นคบคนอื่นด้วยไหมพี่
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ก็ไม่มี ก็มีผม จริง ๆ แล้วไม่ถึง 4 ปีนะ คือไปมา – ไปมา คือมีวันหนึ่งไปจ๊ะเอ๋กับแม่พี่หน่อยโดยที่แบบบังเอิญมากเลย สมัยก่อนไว้ผมยาวนะ และก็ไม่มัด มีหนวดหลิ่ม ๆ หนวดไม่เยอะ หนวดน่าเกลียดยาวพรอมแพรม (555) ก็ตอนนั้นบอก เนี้ย…นัดมาเจอที่หน้าเพาะช่างเดี๋ยวพาไปกินเกาเหลาเนื้ออะไรอย่างงี้ อยู่ตรงหน้าเพาะช่างพาหุรัด มันมีอยู่ร้านหนึ่งอร่อยมาก กินตั้งแต่เรียนเพาะช่าง ก็กินยังไม่เสร็จ ก็นั้งกินอยู่โต๊ะเนี้ย “ห๊า..แม่!!” แม่ก็นั้งอยู่โต๊ะตรงข้ามอ่ะ “โดยบังเอิญมากเลย!!!” (พร้อมกับทำเสียงสูงด้วย) เราก็เกรงใจเขา เขาก็มองเรา “แม่หวัดดีครับ”
หน่อยก็บอกนี่ “ไอ้จืด…เพื่อน” เขาเรียก “ไอ้จืด” แต่ว่าเป็นเพื่อนนะ แต่ “ไอ้” นี่มันเหมือนเป็นน้องเป็นอะไร “เออ…หวัดดีลูก” เสร็จแล้วเราบอก “เฮ้ย ไม่ได้แล้ว” คิดว่าผมต้องไปที่บ้านแล้ว “ขออนุญาตไปบ้านได้ไหม” “กล้ารึเปล่า…พ่อเป็นทหารนะ” “กล้า” ผมก็ไป ไปผมยาวเลยนะไหว้พ่อ “พ่อหวัดดีครับ” พ่อก็ “หวัดดี” พ่อก็ปิดประตูเลย แล้วก็ผมก็นั่งอยู่ข้างนอกนั่งดูทีวี แล้ววันหลังผมไปใหม่ ผมเสียดายผมมากเลย ผมตัดผมทรงทหารเลย
อรรณพ นิพิทเมธาวี : จากผมยาว..เกรียนเลย !
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เกรียนเลย ไปอีกทีพ่อก็คุย พอสนิท ผมก็พูดกับพ่อตรง ๆ “พ่อผมขอนุญาติอย่าว่าไปนะ พรุ่งนี้ผมว่าจะมาขอหน่อย” อย่างงี้เลย ผมพูดเสร็จพ่อก็ “ไปคุยกะแม่” ผมก็ไปคุยกะแม่ “ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่ลองคุย แล้วเอ็งจะมาอะไรยังไง วันยังไง ไม่ดูวงดูวันเลยเหรอ” พรุ่งนี้เช้าก็ได้ครับ ผมไปบอกพี่ เหลือพี่เขาเรียนโรงเรียนนายสิบ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่ขอพ่อพี่หน่อย แล้วพี่คุยกะพี่หน่อยรึยัง
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : คุยแล้ว แล้วผมก็ไปเช้าอีกวัน ไม่มีอะไรเลย อ้อ พอคุยกะพ่อ พ่อบอกให้มาคุยกะแม่ แม่ก็บอก “แม่ไม่มีปัญหาอะไรยังไงหรอก เห็นเอ็งก็ เออ… ไม่ได้ถือสาว่าเอ็งยากจน ไม่มีพ่อ-แม่ แต่อย่างงี้ละกัน จะยังไงเดี๋ยวแม่จะคุยกับพ่อดู” เขาก็คุยเสร็จตอนเย็นๆ แม่ก็บอกว่า “ไปหมั้นไปอะไร ไปซื้อทอง นิดๆ หน่อยๆ” “มีสตังค์อยู่ไหม” ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ พัน -สองพันซื้อทองซักบาทสองบาทก็ยังดี ตอนนั้นก็ไม่สนใจผมก็ซื้อๆ ซื้อเสร็จเดี๋ยวพรุ่งนี้เช้ามา ก็ไปหาพี่ชายเป็นนายสิบบอก “พาไปขอสาวหน่อย” พี่กับน้องไปสามคน พ่อถามว่า “มึงขอทำไมวะ มึงขอไปทำอะไร”
พ่อถ้าพี่หน่อยเขา แบบเป็นลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นี่นะ ผมก็ไม่เป็นไรหรอกก็คบกันไปตลอดไม่ทอดทิ้ง แต่ว่าเนี้ย พ่อ – แม่ของพี่หน่อย เป็นคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แล้วก็ไปด้วยกันกับผมบ่อย ไปไหนมาไหนด้วยกัน เขาจะนินทาก็จะได้ไม่กระทบถึงศักดิ์ศรีอะไรของพ่อ มันเป็นคู่หมั่นอะไรกัน” พ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร ให้ก็ง่ายไม่เห็นมีอะไรเลย (555) พูดออกมาตรง ๆ มันก็ง่ายอย่างงี้ ไม่ต้องอ้อมค้อม
หลังจากตกลงปลงใจแต่งงานกัน พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ ก็ได้มาช่วยงานพี่หน่อย ในงานของมูลนิธิเด็กด้วย ภายใต้ชื่อ “โครงการอาหารเพลเพื่อสามเณร” ซึ่งพี่จืดมีประสบการณ์เกี่ยวกับวัดโดยตรงในสมัยเด็ก ก็มาจัดกิจกรรมต่าง ๆ และในขณะนั้นยังทำโครงการป่าชุมชนอยู่ ได้คุยกันถึงโครงสร้างของปัญหาของสังคมทั้งหมด ไม่ว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกัน มันมาจากการศึกษา จึงเกิดค่าย “เด็กรักษ์ป่า” ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงให้คนหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสรรพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรปลูกฝังในเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ในวัยเยาว์ นำไปสู่โครงการเด็กรักษ์ป่าที่เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น
อุดมการณ์เด็กรักษ์ป่า
เมื่อเริ่มร่างหลักสูตรการศึกษา ที่ว่า “การศึกษาอย่างไรจะทำให้คนรักเคารพในธรรมชาติ” พี่จืด จึงได้ค้นพบว่า ความจริงแล้ว ตนไม่เหมาะกับประเด็นร้อนอย่างงานสายเคลื่อนไหวเลย จึงเอาดีด้านค่ายเด็กและเยาวชนอย่างเอาจริงเอาจังแทนทำป่าชุมชน อาสาสมัครป่าชุมชน แม้ปัจจัยที่ได้รับตอบแทนจะน้อยนิด เช่น ค่าเดินทาง ค่ากิน และได้อยู่ใกล้หญิงอันเป็นที่รักเป็นเวลาครึ่งเดือน สลับกับต้องเดินทางไปเขียนโบสถ์ที่ค้างไว้อีกครึ่งเดือน กระทั่งราว ปี 2533 ภารกิจเขียนโบสถ์ก็เสร็จสิ้น
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ผมเขียนอยู่ 1,140 วัน ผมจำได้เลย ผมรู้สึกมันเป็นสิ่งที่พิเศษ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเลย โบสถ์หลังนั้นทำให้ผมมั่นใจ จนบอกผมไม่กลัวอะไร ไม่กลัวความเหนื่อย ไม่กลัวที่จะลำบาก ไม่กลัวทุก ๆ อย่าง งานตรงนั้นเป็นงานที่หนักที่สุด ต้องใช้พลังใจอย่างมาก พระแม่งเปลี่ยนรถทุกปี มีหญิงไปหา ผมก็ไม่ได้สนใจ ผมก็ไม่ได้มองตรงนั้น เขาทำอะไรไว้เขาก็ต้องได้รับผล เราไม่ต้องเป็นผู้ตัดสิน เรามีหน้าที่เขียนเราเขียน เราเห็นแต่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึก ก็ปล่อยวาง เราคุย เราอยู่ในสังคมของมนุษย์ปุถุชนธรรดานี่แหละ ไม่ต้องไปอะไรกะมัน ถ้าพูดเหมือนกับคนที่เห็นแก่ตัว
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไม่ยุ่งเรื่องชาวบ้าน เขาเรียกอะไร ไม่อยากเดือดร้อนพูดง่าย ๆ อย่างงั้นรึเปล่าพี่
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ก็อาจจะใช่ อาจจะเป็นวิธีเหมือนกับว่า เรากำลังบำเพ็ญเพียร ซักอย่างหนึ่ง นึกออกไหมครับ ถ้าเราไปสนใจเรื่องอื่นก็เหมือนกับว่า เรากำลังไป “ให้คุณค่ากับมาร” ไปให้คุณค่ากับมารมากเกินไป ถ้าเรามองเป็นเรื่องปรกติ เราก็ให้เกลียดมาร มารก็ไม่มายุ่งกับเรา เราก็เคารพกัน แต่ละคนมันมีพื้นที่ของการกระทำของแต่ละคนอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไปเบียดบังพื้นที่ของการกระทำนั้นของแต่ละคนมันก็เกิดปฏิกริยาการอัดกับการขัด นึกออกไหม ถ้าเมื่อไรเราอ่อนแอเรา ก็โดนเขาพลักลงตกขอบ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ดูพี่ปลงกับชีวิตเหมือนกันนะ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ผมอ่ะไม่ได้ปลง ผมเรียกว่าถ้าเกิดทางพระเขาเรียกว่า หนึ่ง มันสอนเรา เรายอมรับ และก็เรียนรู้ ถ้าภาษาผม มันเป็นอย่างงี้แหละ ทุกอย่างอะไรเกิดขึ้นมา เป็นเช่นนี้ อีกอันหนึ่งก็คือ เรื่องการศึกษา ถึงผมทำอะไรไม่สำเร็จไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ว่ามันน่าจะได้เรื่อง ได้เรื่องทำความดีกับคนอื่นอยู่บ้าง ได้ไหม อย่างนี้ถือว่าได้เรื่องไหม ถ้าพูดถึงย้อนไปหน่อย ไอ้ผมว่าฟ้าเนี้ย ผมว่ามันเป็นจริง มันจดไว้หมดบันทึกไว้หมด ผมว่าถ้าผมไม่ได้ทำกรรมดีไว้บ้าง ถ้าหน่อยไม่ได้ทำกรรมดีไว้บ้าง ไอ้เรื่องที่หน่อยเป็นทุกวันนี้ “ตาย” รับรอง
อรรณพ นิพิทเมธาวี แสดงว่าไอ้ “ฟ้า” ที่พี่ว่าคงมีฐานข้อมูล ดาต้าเบสที่ใหญ่มาก
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ใหญ่… หมดทุกคน หมดทุกอย่าง “จริง ๆ” ผมเชื่ออย่าง ผมเขียนโบสถ์ ผมขออนุญาตเลย อย่าหมั่นไส้เลย เขียนโบถส์ ถ้าผมคิดเป็นตังค์ก็ได้หลายตังค์ แต่ผมเขียนด้วยความสนุกสนานมาก จริงๆ เลยนะ ไม่ได้คิดเลย พอผมออกมาทำ “เด็กรักษ์ป่า” ผมไม่ได้มีงบประมาณตั้งแต่ปี 2537-2538 มีคนช่วย อย่างที่ดินที่ผมซื้อไป 500,0000 ผมได้เงินจากเด็กจากละคร 200,000 กว่า และก็ยืมเพื่อนมา 100,000 ยืมผู้ใหญ่ในกลุ่มบริษัทแฟนมา 100,000 กว่า และก็มีหม่อมที่เป็นแม่เพื่อนให้มา พอผมได้เงินผม ผมก็ไปคืน หม่อมไม่รับ พอหม่อมไม่รับ ผมเอาเงินมาคืนลูกชาย ลูกชายก็ว่าไม่เอา แล้วยังให้มาอีก 100,000 ผมก็เอาตัวนี่มาคืนพี่ที่แฟนเขาก็ไม่เอา และก็พวกกิจกรรมเด็ก กิจกรรมอะไรยังไง มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ พูดลำบาก ถ้าพูดถึงเรืองปัจจัยที่เป็นรายได้ ตั้งแต่หน่อยผ่าตัด เดือนธันวาจนมาถึงปัจจุบัน หน่อยใช้เงินเป็นล้านนะ มีโครงการพระพี่นางช่วย ค่าผ่าตัดค่าอะไร 150,000 บาท ถ้าเกินนั้นจ่ายเอง มันเกินมาแล้ว หน่อยมีชื่ออยู่ในคนไข้ของที่รับการผ่าตัดของ ช่วยเหลือเรื่องเงินนะ กับพระพี่นางปี 2546 มีคนใช้พระเดชพระคุณ ให้หน่อยได้ แต่หน่อยบอก “ไม่”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ทำไมพี่
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เราไม่อยากทำกรรมเพิ่ม ชีวิตคนเรามีค่าเท่า ๆ กัน ถึงจะเป็นใครอะไรยังไงและผมเองก็ไม่ได้หวัง ผมไม่ได้คิดเลยว่า ผมทำงานเพื่อสังคมมากกว่าคนอื่น สังคมต้องให้ ไม่ได้คิดฐานไม่ได้คิดอย่างงั้น เหมือนกันหมดชีวิตคนเท่าๆ กันหมด
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่จืดไม่คิดจะหา เด็กสืบทอด กลุ่มเด็กรักษ์ป่า
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : โทษนะอันนี้ไม่ต้องพูดที่อื่นอีกนะ อันนี่ผมทำ ผมทำอย่างที่ว่า กิจกรรมมีการเคลื่อนไหวอยู่เดี๋ยวนี่ ถามเลยว่า ถ้า 10 คน ถ้าไม่ถึง 5 คนมาจากเด็กรักษ์ป่า ผมให้เต๊ะ เอาคนเป็นผู้ประสานงานเก่า ไปจากเด็กรักษ์ป่าตอนนี้กิจกรรมวัฒนธรรม มีแต่เด็กรักษ์ป่า ไปทำงานให้กับสวนแสงอรุณ ไปทำงานให้เหมือนกับเด็กที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท ทั้งๆ ที่เรียนไม่จบ แชมป์ดูนก 2 สมัย ถ้าพูดถึงนะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ไปจากนี่ แต่ผมไม่ได้เครมว่าอะไร
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ทำไมไม่เครม
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เพราะกระบวนการ การตัดสินใจ เนี้ยมันขึ้นอยู่กับเขา เขาจะทำหรือไม่ทำ เราแค่เปิดประตูให้เขา ถ้าเขาไม่ตัดสินใจ เราก็เป็นแค่เป็นหน้าทีที่ดีของเรา เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต้องเปิดประตูให้เด็กเห็น และการสังเคราะห์ การตัดสินใจมันต้องเกิดมาจากตัวเขาเอง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แสดงว่าพี่ไม่ได้คิดแบบวิธีคิดแบบมาเก็ตติ้งสิ คือถ้ากลุ่มที่ดัง มีชื่อเสียง อะไรมันก็เข้ามา ทรัพยากรมันเข้ามานะ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : เราไม่คิด ถ้ามันเป็นจริง มันก็มาอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปประชาสัมพันธ์ ถ้ามันดีจริงนะ แม่ง… ทองอยู่ที่ไหนออกมามันก็เปร่งปรั่ง ช่วงมีประชาพิจารณ์ทำที่ทิ้งขยะแห่งใหม่ ตรงที่ทิ้งขยะเป็นต้นน้ำยาวไป 38 กิโลฯ มีผมกับพี่พยงค์พาเด็กเดินเก็บข้อมูล หมู่บ้านมีกี่หลัง มีความกี่ตัว เราเอาข้อมูลนี่ไปคุยกับศรีขรภูมิ คุยกับหมู่บ้าน คุยกับชาวบ้าน พาเด็กไปเล่นละคร ทุกคืน ทุกคืน เล่นแล้วเล่นอีก รวมกลุ่มมีไฮปากค์ มีอะไร สุดท้ายเข้าไปคุยกับ คณะรัฐมนตรีที่มาสุรินทร์ ตอนนั้นมี อดิศร เพียงเกษ เป็นรัฐมนตรรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แค่ข้อมูลตรงนี้ ขยะวันหนึ่ง จังหวัดเล็กๆ 70 กว่าตัน ตอนเช้านี่ออกไปกี่เที่ยว กี่เที่ยว มีหมดข้อมูลที่ชาวบ้าน ขยะมาจากโรงพยาบาล อะไรบ้าง อย่างไงบ้าง แล้วก็จากหมู่บ้านนี่อีก บ้านกี่หลังคา มีพระอยู่กี่รูป คนนั้งฟังจนเบื่อเอง สรุป ยกเลิกไป กลับมาใช้ที่เดิม รับกรรมไป
เอ กระจกเงา : มันเป็นคำถามประมาณว่า เราอยู่ในสาย ถ้าเกิดพี่ไม่เรียกว่าสายพัฒนา พี่อยู่ด้วยความชอบ ความเชื่อและความศรัทธา คำถามคือ เราจะอยู่รอดยังไงเคียงคู่กับมันยังไง
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ :คืออย่างงี้มันพูดยากจริงๆนะ แต่ผมบอกไว้ก่อนว่า มันขึ้นอยู่กับความมากน้อย ผมก็เห็นด้วยจริงๆ ผมคุยกับคุณวันแรกที่เราคุยกัน “รุ่นพี่แม่งมาหลอกให้เราคิดผิด” ผมว่าถ้าคุณทำธุรกิจได้แล้วมันเป็นทาง คุณก็ทำถ้ามันเลี้ยงตัวคุณได้ ถ้าคุณจะทำงานเอ็นจีโอคุณพอใจ มันเลี้ยงตัวคุณได้คุณก็ทำ พวกนั้นมันไม่มีปัญหาเลยว่า ทำอะไรยังไงถึงจะรอด นึกออกไหม
ความเชื่อ… ความหวัง… กำลังใจ
“คุณเชื่อเรื่องความตายไหม …”
“ความตายมีอะไรให้เชื่อพี่”
“เชื่อว่าต้องตาย”
“อา… แน่นอน”
“ความตายในแบบของคุณคืออะไร”
“หมดลมหายใจ”
“…ผมกับหน่อยเชื่อว่า… ความตายเป็นแค่ความเชื่อ”
บทสนทนาในยามดึกยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งประเด็นในการสนทนาก็เริ่ม ขยับเข้าสู่เรื่องใกล้ตัวทุกขณะ เนื่องอยู่ในช่วงของการรักษาพยาบาล พี่หน่อย อารียา โมราษฎร์ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่ได้ล้มป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง กระทั่งได้รับการเปลี่ยนไตในที่สุด แล้วพี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ ดำเนินชีวิตอย่างไรในช่วงนั้น
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ความตายเป็นความเชื่อ คือ ถ้าเกิดว่า คุณทำกรรมดี อย่างที่คุณทำผมเชื่อว่า คุณทำในสิ่งที่ดี ผมเชื่อ ถ้าคุณทำในสิ่งที่ดีนี่นะครับ ความตายเป็นแค่สะพานให้คุณไปสู่ที่ดีกว่า
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่เชื่ออย่างนั้นจริงๆ รึเปล่า หรือ แค่ปลอบใจ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : จริงๆ ผมเชื่อ หนึ่งกรรมบุญมีจริง ผมเชื่อว่าฟ้ามีตาจริง แล้วก็ผมเชื่อว่าคนจะพ้นทุกข์พ้นอะไรได้ซักอย่างต้องมีตาที่สาม มองกลับมาด้วยความเฉยๆ อย่างงี้เขาเรียกว่าธรรมมะ จริงๆ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แล้วพี่เพื่อใจไว้ยังไงรึเปล่า สุขภาพพี่หน่อยแบบนี้จะอยู่กันไม่ยืด พี่เข้าใจเปล่า
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไม่ยืด คือ ตายใช่เปล่า… ผมพูดทุกวัน พูดกันทุกวัน ต้องเตรียมตัวตายทุกวัน “ตื่นขึ้นมา อ้อ ยังมีชีวิต”
อรรณพ นิพิทเมธาวี แล้วพี่ทำใจได้เหรอ พี่ปลงมากเลย
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : คนมันต้องตาย บางที่ผมอาจจะไม่ร้องไม่เสียใจ ไม่อะไร สนุกสนานเฮฮา หน่อยก็บอกก็ต้องเป็นเรื่องปรกติ ผมว่ามันไม่ได้ปลง พอถึงช่วงหนึ่งนะสนุกมาก ถ้าคุณผ่านตรงนี้ขึ้นมาถึงตรงนี้ มันมีระดับของมัน อยู่กันแบบเป็นเพื่อนเป็นมิตร แบบเป็นพี่น้องเป็นพ่อ – แม่ เป็นได้หมดเลย พอถึงช่วงหนึ่งเราก็จะเข้าใจ
อรรณพ นิพิทเมธาวี ฟังดูพี่ปล่อยวางมากเลยนะเนี้ย
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไม่….คุณต้องทำให้ได้ แล้วคุณจะรู้สึก มองแบบพุทธ พุทธแบบมหายาน เห็นใช่ไหมแบบที่มีตาที่สาม มีสองตาและก็มีตาที่สาม ตาสองตานี่หลับ แต่ตาที่สามนี่ลืม มันหมายความว่ายังไง โอ.เค แต่ถ้าชัดเจนขึ้นมาคือเรา แต่จริงๆ มันไม่ใช่นะ เราอาจจะมาจากดอกไม้ที่คุณเห็น มาจากฝนมาจากดินอะไรทั้งหมดมารวมกับเรา ถ้าภาษาธรรมเรียก ธาตุ 4 ขันฑ์ 5 ร่างกายเราระกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ดินก็คือเนื้อหนังอะไรพวกนี้ ลมก็คือลมหายใจ เดี่ยวมันก็ไป อันนี้อันหนึ่ง ที่นี่ ที่มันมีปัญหาก็คือ “ตัวใจ” ใจมันมาหลอกเรา หลอกทั้งวิธีคิด หลอกทั้งความเชื่อ สร้างกระบวนการ เยอะแยะ ไปหมดเลย ว่าไหม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ไม่รู้ดิ ผมไม่รู้ว่าจะบรรลุอย่างงี้เมื่อไร (555)
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ :ผมก็ไม่บรรลุนะ แต่ว่าถ้าเกิดคุณเจอ ถ้าคุณไปตีโพยตีพาย มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ลมมันพัดตอนนี้ อะไรก็ปลิวไปหมด กะละมัง ปี๊บถัง ก็ปลิวไปหมด คุณก็วิ่งตามเก็บให้วุ่น เก็บยังไงก็เก็บไม่หมด แล้วถ้าคุณนั้งนิ่งๆ รอซักพัก ให้ลมมันหยุดก่อน เหมือนกันบางบอกว่าตัวตาที่สอง มองภาวะทุกอบ่าง ถ้าภาษาอีสานของคำว่าเฉยๆ คือ “ซื่อๆ” คุณร้องไห้ก็ปล่อยมันร้องไป คุณถอดร่างออกมาดูตัวเองอยู่เฉยๆ ใช้ตาที่สามดู ใช้จิตดูใจ ใช้ใจดูกาย “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ผมยินดีมากที่จะพูด ไม่เป็นไร แต่นี่มันเป็นความจริงให้ดูเฉยๆ อย่าไปมีอารมณ์กับมัน ถ้าคุณเสียใจ แล้วใจยังไปเสียใจอย่างแรง แล้วถ้าดีใจ คุณก็ดีใจกับมันจนหลุดโลกไปเลย แล้วถ้าเกิดว่าเราจะแก้ตรงนี้ คือว่า เราใช้ตาที่สามดูมันนะครับ ดูมันเสียใจไปเลย แต่ว่า เราอย่าไปมีความรู้สึกกับมันดู “ซื่อๆ” เพื่อเข้าใจ “อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : มันจะทำได้ไง ไม่มีความรู้สึก
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : นี่ไงเพราะว่า เราขาดการฝึก ถ้าเราฝึกนะครับไอ้จิตตรงนี่ก็เหมือนแมว พอหนูออกมาปุ๊บ มันจับเลยเหมือนกัน ถ้าคุณมีอารมณ์ แม่ง โกรธ แค้น ผมอยู่ตรงนี้ จริงๆ ผมถูกกระทำจากรอบข้างเยอะมาก ไม่มีปัญหาหรือ ถ้าเราแค้น นึกออกไหม แต่ผมไม่นะ ผมดูทุกอย่าง “ผมดูผม ผมดูผมเป็นไปแบบนี่” แต่ผมไม่มีอารมณ์ความรู้สึกกับผม ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น
อรรณพ นิพิทเมธาวี : การเป็นศิลปะ ศิลปิน มีส่วนวิธีคิดตรงนี้ไหมพี่
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไม่ใช่ ผมบวช ผมได้ศึกษาธรรมะ ธรรมะคือความจริง “ชีวิตต้องอยู่กับความจริง ชีวิตที่อยู่ไม่ได้กับความจริงคือชีวิตที่เพ้อฝัน” ชีวิตที่เพ้อฝันมันเกิดจากใจเรา เพราะฉะนั้นความจริง หน้าที่คุณทำไปเลย ทำไป ทำไป นึกออกไหม และอยู่กับปัจจุบัน ผมพูดบ่อยนะ ถ้าเป็นพระก็บอก “อยู่กับลมหายใจเข้า – ออก” อยู่กับปัจจุบัน ยกก็รู้ว่ายก เอามาใช้ตอนที่ให้สมาธิเราอยู่กับตัว เช่นเราจับขวดเรารู้ว่าเราจับขวด เราไม่ไปที่อื่น
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่แข็งแรงอย่างงั้นเลยเหรอ สมมุติ พี่หน่อยอยู่กับพี่ได้ไม่นาน ถึงวันนั้นพี่ทำใจได้จริงๆ เหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ :ไม่มีปัญหา
อรรณพ นิพิทเมธาวี จริงเหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : จริง…!!! (น้ำเสียงหนักแน่น) ถึงผมจะเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ ผมก็จะดูผมเฉยๆ ผมก็จะปล่อยวาง เราก็เข้าใจ ตอนนี้ผมอยู่ในป่า ตรงไหนก็ได้ เพราะผมมีความรู้สึกว่า ผมเจอต้นไม้ใหญ่ๆ นี่เป็นพ่อ นี่เป็นแม่ เพราะว่าแม่ของเราจริงมาจากลมหายใจของธรรมชาติ ถ้าเราเคารพ กตัญญูกับ แม่-พ่อ เรา เราก็ต้องเคารพกตัญญูกับธรรมชาติด้วยเพราะ หลักจริงๆ ของมนุษย์ก็คือมาจากธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นคนสร้าง นึกออกไหม ถ้าเราดูตัวอย่างผู้ที่ให้กำเหนิดเรา อันนี้ผมไม่ใช่คนญี่ปุ่นนะ แสงอาทิตย์มันให้กำเนิดสิ่งเล็กๆ ใต้ทะเล แล้วค่อยพัฒนาตามกันมาเป็นสัตว์มีเซลล์ สองเซลล์ สามเซลล์ มีขามีแขนมีอะไร นี่คือแสงอาทิตย์ ถามว่าแสงอาทิตย์ที่มันส่องแสงให้คนอื่นเนี้ย มันของเงินเดือนไหม เรียกร้องตอบแทนบุญคุณไหม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : พี่มีวิธีคิดแบบนี้ แต่พี่เชื่อเรื่องเทคโนโลยี เรื่อง IT
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ :เชื่อ!! เอามารับใช้ได้เลย เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมารับใช้ รับใช้ได้อย่างไร อย่างผมเป็นเจ้าสำนัก ผมเอามันมาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ ผมเป็นนักศิลปะ ผมเอามันเป็นเครื่องมีในการเสนอผลงาน
อรรณพ นิพิทเมธาวี : บางคนเขาบอกมันกระด้าง
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : โธ่เอยย…. ถามหน่อยเหอะ ผมดูบางรูปที่ควบคุมมัน ในบางทีผมยังมีอารมณ์เลย เขียนดี ไม่น่าเขียนได้ขนาดนั้นนึกออกไหม
อรรณพ นิพิทเมธาวี : มันก็มีความรู้สึก มีมิติ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : มี!!! มันหน้าที่คนละอย่างในแง่มุมอีกแบบหนึ่งมันทำไม่ได้ มันหลากหลายมากขึ้น หนึ่งเรื่องความเจ็บป่วยทำให้เราเห็นโอกาสหลังความทุกข์อ่ะนะ จำได้อยู่นะ และก็อันที่สองที่ผมว่า ในทุกข์ของหน่อยนี่นะมันไม่มีปัญหาเรื่องที่สอง ผมเห็นว่าสังคมนี่ มันช่วยเหลือกันและมันมีพลัง ผมว่าน้อยคนที่จะได้รับโอกาศอย่างหน่อย ตอนนี้คนป่วยด้วยโรคไตมีประมาณ 2,000 กว่าคนที่รอการเปลี่ยนไตอย่างงี้ และที่รอฟอกไตอยู่ ใน 2,000 คนที่จะมีโอกาศอย่างหน่อย มีไม่ถึง 5 คนหรอก ผมหมายถึงว่าคนในสังคม เช่นมีคนเขียนจดหมายมาให้กำลังใจ มีคนบริจาคเงินให้อะไรพวกนี่อะนะ พวกนี้ทำให้หน่อยแบบ ได้ทำทั้งสองอย่าง หนึ่งได้ดูแลตัวเอง กับสองหน่อยได้ปัจจัยตรงนั้นมา
อรรณพ นิพิทเมธาวี : อ้าวแล้วช่วงที่หงุดหงิด มันทำกิจกรรมได้เหรอ
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ช่วงที่ภาวะจริงๆ ที่ ช่วงที่หน่อยจะ ต้องเข้าสู่วิธีการฟอกจริงๆ ช่วง 3 เดือนที่เราหยุดทุกๆ อย่างหลังจากฟอกแล้วก็ ยังมีเราทำ หน่อยก็ช่วยได้ แต่ไม่ได้ไปโน้นมานี่อยู่ในหมู่บ้านไปทำกลุ่มแม่บ้าน ไปฟอกกลับมาก็ชาวบ้านเอาผ้ามาก็มาวิจารณ์กัน มาบอกลายกัน เพราะตอนนี้มันเป็นโอกาศดีของหน่อย และก็ที่สำคัญหน่อย ได้โตอย่างก้าวกระโดด จากความไม่สบายตรงนั้น ไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า “เป็นอะไรมา” หน่อยบอก “หนูเป็นไตวายเรื้อรัง” “อ้าวไม่เป็นไร ไอ้ไตวายอ่ะมันเป็นเรื่องของกาย” “กายป่วยใจเราอย่าป่วย” ให้เรากับมาดูใจแของเรา ถ้าใจของเราเข้มแข้ง ก็สามารถที่จะทำให้ร่างกายปรับตัวได้ แต่ถ้ากายเราอ่อน ใจเราอ่อน นี่ก็คือจบ ผมว่าใจอ่อน กายแข็งแรง มันก็ทำให้กายเราอ่อนไปด้วยได้ กายป่วยแต่ใจอย่าป่วยด้วยและกันหน่อย และก็เนี้ยหน่อยหลวงพี่เทพบอก “เนี้ยหน่อย ถ้าเราถือโอกาสตรงใช้ให้มันมีคุณค่า ใช้ได้เลยนะ” “ได้ยังไงหลวงพี่” “ไอ้ความเจ็บไข้ได้ป่วยของหน่อย ทำให้มองว่า การกินมันมีอยู่สองอย่าง หนึ่งการกินที่เอารสชาติ พวกนี่สร้างทุกข์ทั้งหมดเลย ต้องเผ็ด ต้องเปรี้ยว ต้องเค็ม ต้องอะไรทั้งหมดเลย แล้วหน่อย กินเพื่อมีชีวิต”
ผมคุยกะคุณนี่หนักที่สุดแล้วนะนี่ลึกที่สุด และก็รู้สึกสนุกถ้าคนมองผมข้างนอก เหี้ย..แม่งง.. เป็นเทวดา ผมถูกด่ากลางวง “มึงเป็นเทวดาเหรอ” ผมบอกถ้าผมเป็นเทวดาได้แจ๋วเลย อะไรไอย่างนี้ ประมาณนี้ ในสุรินทร์เขาไม่ชอบผมนะ คบกันมาหลายปีคือผมพยามพูดความจริง ในความจริงที่ว่า และก็ไม่ยอมรับฟัง
อรรณพ นิพิทเมธาวี : อีก 3-4 ปีว่าจะเลิกนับถือศาสนา ไม่มี “ศาสนา” แต่ “มีศีลธรรม” อะไรอย่างงี้
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ไปนับถือศาสนาไหนล่ะ อืมมม …ศาสนาธรรมชาติ
อรรณพ นิพิทเมธาวี : ใครเป็นศาสดา
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : ธรรมชาตินี่แหละ เป็นศาสดา เป็นหมาก็ได้ เมื่อวานผมอ่านหนังสือ ของหลวงพ่อเต๋อ มีพระรูปหนึ่งอยู่วัดมหา อยู่วัดชนะสงครามทะเลาะกับเจ้าอาวาส ไม่ยอมกัน เป็นทุกข์ ก็ได้ยินว่าหลวงพ่อเต๋อเนี่ยทำให้คนคลายทุกข์ได้ ก็เลยไปไหว้หลวงพ่อ บอกหลวงพ่อ “ช่วยคลายทุกข์ให้หน่อย” ท่านก็บอกว่าทุกข์เรื่องอะไร เขาก็เล่าให้ฟังอย่างโง้น อย่างงี้ ทะเลาะ ท่านบอกว่า “ง่ายเรื่องพวกนี่ ทำตัวเหมือนหมาซิ” “ทำยังไง” “หมาอ่ะถ้ามันทะเลาะกัน ถ้าตัวเล็กหน่อยก็นอนถ่างขา ตัวใหญ่ก็มาดมๆ แล้วก็ร้องหงิงๆ แล้วก็เลิก มันก็ไม่ทะเลาะกันอีก”
อรรณพ นิพิทเมธาวี : แปลว่า
พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ : “ยอม”
ปัจจุบัน พี่จืด เข็มทอง โมราษฎร์ หรือ “ครูจืด” ยังคงเป็นทั้งครูของเด็กๆ และสามีที่คอยดูแล “พี่หน่อย” ไม่เคยห่าง ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่บ้านหลังเดิม และช่วยกันหล่อหลอมให้เด็กๆ เติบโต เรียนรู้ ผ่านธรรมชาติและงานศิลปะ
วันนั้นการพูดคุยไม่ได้จบเพียงที่ทุกท่านเห็น… แต่ม้วนเทปที่ผมเตรียมไปมันหมดแล้ว แต่เพียงเท่านี้ผมว่ามันก็มากพอที่จะมองเห็นตัวตนที่มั่นคง นิ่งสงบ ของผู้ชายมีหนวดที่มีอะไร “ข้างใน” มากมายเหลือเกิน และนี่เป็นการสนทนาที่ผมประทับใจมากที่สุดครั้งนึงในชีวิต… หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้สึกคล้ายผมเช่นกัน
24 กรกฎาคม 2547