Photo by Annop Nipitmetawee

เมื่อเรือข้ามมาถึงบ้านปากจก เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี สิ่งที่พบคือวามเสียหายและสูญเสียของพี่น้องที่นี่ เชื่อว่าไม่มีอะไรในประวิตศาสตร์บ้านเราที่จะนำความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้อีกแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน “ชาวมอแกน” หรือ “ชาวมอเก็น” ซึ่งข้อมูลที่บ่งบอกถึงความต่าง ๆ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอย่างไร แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตุคือ พวกเขารอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเขาบอกว่า “สมัยพ่อของพ่อ ของพ่อสอนว่า น้ำลดผิดปกติให้ขึ้นที่สูง” นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พวกเขารอดมากกว่าคนเมืองที่อยากรู้อยากเห็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

หลังจากที่ได้ฟังการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านท่าแป๊ะโย้ย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ยังไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยเหลือเท่าที่ควร นอกจากคนที่รู้จักเกาะนี้หรือได้รับข่าวจากทีวี เพื่อน หรือ ญาติที่อยู่บนเกาะนั้น ความช่วยเหลือกลับไปอยู่ที่ในเมือง หรือศูนย์รวมความเจริญ เขาไม่มีโรงเรียน อนามัย ซึ่งนี่ก็จำเป็นเหมือนกัน โรงเรียนก็เปิดเทอมแล้วอาจารย์ก็มีแค่สองคน แถมอาจารย์ที่เป็นอาสาสมัครชาวต่างชาติ ยังมาเสียชีวิตไปอีก พลอยให้อาจารย์ที่นั้นต้องวิ่งลอกสอนซึ่งก็เหนื่อยไปตามๆ กัน เขาเองก็อยากได้ครูอาสามาช่วยแบ่งเบาภาระกิจ

นี่ยังไม่นับวิถีที่เปลี่ยนไป เพราะช่วงนี้เขายังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากข่าวการบริโภคอาหารทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เขายังไม่สามารถออกทะเลหาเลี้ยงชีพได้ ปลาในกระชังที่ลงทุนไปเกือบ ๆ ปีก็หายไปในพริบตา บางครอบครัวก็ต้องไปกู้ยืมเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ส่วนสวนมะพร้าว สวนเม็ดมะม่วงหิมพาน ก็ได้รับผลกระทบไปตามกัน เรือที่กลับจากการหาปลาในเช้าวันนั้นก็พังจนเกือบซ่อมไม่ได้ บางคนทั้งเรือทั้งเครื่อง บางคนเรือไม่เป็นไรแต่เครื่องยนต์ก็ยังหาไม่เจอ ซึ่งแต่ละรายการมันก็มีมูลค่าสูงอยู่ทีเดียว เพราะเขาไม่ได้สร้างตัวเองมาเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เขาใช้เวลาเกือบตลอดชีวิตในการสร้างตัว สำหรับการทำการฟื้นฟูหลายๆ ด้านอาจต้องทำพร้อมกัน ทั้งบุคคล ท้องถิ่นและชุมชนให้เขากลับมามีกำลังใจและพลังในการสู้ชีวิตต่อไป

แต่ที่น่าอบอุ่นที่สุดคือพลังมวลชนที่หลั่งไหลลงมาจากทั่วสารทิศตามจุดผู้ประสบภัยต่าง ๆ และที่น่าปลื้มที่สุดคือ ยังมีเยาวชนที่มี “จิตสำนึกสาธารณะ” เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทุกคนมาอาสาเป็นอาสาสมัคร ซึ่งมันกำลังเป็นนิมิตหมายที่ดี ว่าไปจริง ๆ แล้ว พวกเขาต้องการผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณ ซึ่งที่ผ่านมามันไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จะกระตุ้นพวกเขาออกมาจากมุมมืดได้ ไม่ใช่แค่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเดียวแล้วกลับ แต่การมาแต่ละครั้งมันควรจะได้อะไรกลับไปมากกว่าการมาช่วย

และที่สำคัญตัวอาสาสมัครเองหรือคนทำงานเองก็จะได้รับการเรียนรู้ได้โดยตรง เพื่อที่จะพัฒนากระบวนการความคิดต่อไปได้ นอกจากนี้หวังไว้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังในอนาคตต่อไป เพราะพี่ ๆ ทุกคนเขาก็มีภาระหน้าที่ต่าง ๆ กันไปแต่พวกเขาก็ยังจะวนเวียนให้กำลังใจกันต่อไปหากใครมีปัญหาอะไร เขาก็พร้อมที่จะช่วยเสมอ

เอ กระจกเงา
15 มกราคม 2548, เขาหลักรีสอร์ท (ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ – สสส.)