
“เกรียง ไกรกำเนิดใกล้…เกียรติตน
ศักดิ์ ศรีอยู่คู่คน…เนิ่นช้า
พิมพ์ ใจรับใช้ชน…สอนสั่ง ศิษย์นา
ทอง ที่ทาทาบฟ้า…เด่นกว้าง กลางโพยม”
*ขอน้อมคารวะแด่ครูคนแรกของผม ผู้ที่คอยสอนผมมาตลอดชีวิต ก่อนที่จะเข้าเรื่องกันต่อไป
เป็นเรื่องปกติที่บ้านของผม.. หลังจากตีนฟ้าเริ่มปิดลง แสงตะเกียงเจ้าพายุก็เข้ามาทำหน้าที่แทน อาหารรสเอร็ดทยอยออกมาเรียกน้ำย่อย การพูดคุยในช่วงนี้จะเงียบเสียงลง เนื่องจากยายสอนว่า “ในช่วงที่กำลังกินข้าว โบราณห้ามพูดคุยกันในวงข้าว จะทำให้พระแม่โพสพท่านโกรธ เดี๋ยวจะไม่มีข้าวกิน” ซึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นความฉลาดสอนของคนรุ่นเก่านะครับ เพราะหากเราเคี้ยวข้าวไปด้วยและพูดคุยกันไปด้วย คงอุจาดสายตาน่าดู ดีไม่ดี มีข้าวกระเซ็นออกจากปากซะอีก
หลังจากย่อยความอร่อยกันแล้ว ผมและพี่ ๆ ก็ต้องถึงคราวทำการบ้านกันละ พ่อจะปูพื้นฐานทางภาษาไทยให้ผมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพี่ ๆ ไม่ใคร่สนใจกันนัก ตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นลูกชายคนโปรด 5555 ผมจะต้องหัดท่อง หัดเขียน แต่ละคืนไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้นพอผมเข้าไปเรียนที่โรงเรียน จึงเป็นผู้ช่วยครูดี ๆ นี่เอง กระดานชนวนกลิ่นแปลก ๆ ของผม จะได้คะแนนเต็มทุกคราวในวิชาภาษาไทย
สิ่งแรกที่พ่อสอนก็คือ พยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัว
เริ่มจากอักษรกลาง 9 ตัว พี่น้องท่านใด ประสงค์จะเรียนไปพร้อม ๆ กันก็ได้นะครับ “ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ” วิธีจำก็ไม่ยากครับ “ไก่ จิก เด็ก ตาย เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง” อักษรกลางที่ประกอบไปด้วยสระ และพยัญชนะมีเพียงตัวเดียวคือ (อ) อักษรกลางผันได้ 5 รูป 5 เสียงคือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา (ครบวรรณยุกต์)
อักษรสูง 11 ตัว “ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห” วิธีท่องจำก็ไม่ยากเลย “ผี ฝาก ถุง ข้าว ฃ้าว สาร ให้ เศรษ ฐี เฉย” รูปสามัญ เช่น (ขา) เสียงที่ได้จะเป็นเสียงจัตวา (ก๋า) ใช้วรรณยุกต์ได้เพียง 3 รูปคือ สามัญ เอก โท
ส่วนที่เหลือทั้งหมดอีก 24 ตัวเป็นอักษรต่ำ “ค ต ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ” รูปเอก เช่น (ค่า) เสียงที่ได้จะเป็นเสียงโท (ก้า) รูปโท เช่น (ค้า) เสียงที่ได้จะเป็นเสียงตรี (ก๊า) ใช้วรรณยุกต์ได้เพียง 3 รูปเช่นกัน
อักษรสูงและอักษรต่ำที่เสียงพ้องกัน สามารถนำมาผันให้ครบวรรณยุกต์ 5 เสียงได้เช่นเดียวกับอักษรกลาง เช่น คา (สามัญ) ข่า (เอก) ข้า , ค่า (โท) ค้า (ตรี) ขา (จัตวา) เทียบ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า จะได้เสียงครบเช่นเดียวกัน
หรืออีกนัยหนึ่ง อักษรต่ำบางตัวที่ถูกอักษรสูงนำ เสียงที่ได้จะเป็นเสียงอักษรสูง เช่น หงา (จัตวา) หง่า(เอก) หง้า (โท) , หยา (จัตวา) หย่า (เอก) หญ้า (โท) อันนี้จะเป็นอักษร เสียงเดี่ยว ไม่ออกเสียงอักษรนำ จะมีอีกแบบที่คล้าย ๆ กัน แต่จะออกเสียงอักษรนำด้วย เช่น ขนม (เอก-จัตวา) ถวาย (เอก-จัตวา) สนิม (เอก-จัตวา)
เห็นมั้ยพี่น้อง แค่ตรงนี้ก็สนุกแล้ว ในแต่ละคืน ผมจะสนุกสนานกับการเล่นคำแบบนี้สนุกไปเลย โดยเฉพาะ เอาอักษรต่ำกับอักษรสูงที่พ้องเสียงกันมาผันวรรณยุกต์เล่น ๆ
ออกตัวก่อนนะครับว่า….ท่านใดอย่ามาเอามาตรฐานเรื่องนี้กับผม เพราะเรื่องนี้ พ่อผมสอนมาเองกับมือ 5555
วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะ … นักเรียน 5555 ไปละ อิอิอิ
ทิดโส โม้ระเบิด