ประวัติความเป็นมาของ พญาเต่าเรือน
จากคติความเชื่อที่ว่า พญาเต่าเรือน เป็นภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวไว้ในพระเจ้า 500 ชาติ ดังนี้
เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เจ้าได้เสวยพระชาติเป็น พญาเต่าเรือน คือ มีตัวใหญ่เหมือนอย่างเรือนหรือบ้านเล็ก ๆ มีนามว่า “มหาจิตรจุล” ได้อาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง ต่อมาไม่นานได้เกิดเหตุการณ์พายุเข้าบริเวณเกาะ เหตุให้เรือสำเภาที่ผ่านไปมาอับปางใกล้เกาะดังกล่าวนึ้น จึงมีผู้คนว่ายน้ำหนีตายมาอาศัยอยู่บนเกาะนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อหมู่มนุษย์พากันขาดอาหารและน้ำ จึงพากันคิดที่จะทำร้ายพญาเต่าโพธิสัตว์
ในครั้งนั้นพญาเต่าโพธิสัตว์คิดว่า ในเมื่อชาวบ้านต่างเดือดร้อน จนถึงขั้นต้องมาคิดฆ่าเราเพื่อความอยู่รอด พญาเต่าโพธิสัตว์จึงได้มีจิตอนุเคราะห์ ขึ้นไปบนภูเขาแล้วกลิ้งตัวเองลงมาหมายที่จะบริจาคทานด้วยเลือดและเนื้อของตนเองเพื่อเป็นอาหารของเหล่ามนุษย์ ผู้คนเหล่านั้นจึงได้อาศัยเนื้อของพญาเต่าเรือนโพธิสัตว์บริโภคเป็นอาหาร แล้วจึงเอากระดองเต่านั้น ทำเป็นเรือพาหนะ กลับสู่บ้านเมืองของตนอย่างปลอดภัย
เมื่อคนเหล่านั้นได้กลับถึงบ้านเมืองพบครอบครัวอันเป็นที่รักแล้ว ก็มาระลึกถึงบุญคุณของพญาเต่าเรือนโพธิสัตว์นั้น จึงได้พากันวาดภาพพญาเต่าเรือนไว้สักการบูชาเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งตน ต่อมาจึงได้พาก็สร้างเป็นรูปวัตถุมงคลรูปเต่าลงอักขระเลขยันต์ปลุกเสกไว้บูชาสืบทอดกันมาถึงปัจจุบันด้วยอานุภาพแห่งมหาทานอันยิ่งใหญ่แห่งพญาเตาเรือนโพธิสัตว์นั้น
ประวัติการสร้าง พญาเต่าเรือน หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
สำหรับพญาเต่าเรือน ว่ากันมาว่าหลวงพ่อเงินท่านได้สร้างเต่าเรือนขึ้นมาเพื่อทดสอบในการหลอมโลหะและทำการเทพิมพ์เพื่อเตรียมจะสร้างรูปหล่อและเหรียญจอบต่าง ๆ ของท่านขึ้นภายในวัด ประกอบกับด้วยเป็นการสร้างเต่าเรือนตามตำนานพระโพธิสัตว์เจ้า 500 พระชาติ เชื่อว่าท่านได้สร้างช่วงประมาณ ปี 2451-2562 จำนวนการสร้างนั้นไม่ชัดเจน
พุทธคุณ
พญาเต่าเรือน มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยมโชคลาภ ทำการค้าเจริญก้าวหน้าตามลักษณะของเต่าที่มีแต่เดินหน้า ถอยหลังไม่เป็น ร่ำรวยและรุ่งเรืองแบบมั่นคงยาวนานตามเต่าซึ่งอายุยืน ปกป้องคุ้มครองป้องกันภัย เหมือนมีกระดองเต่ามาคลุมตัว
ลักษณะรูปร่างและขนาด
พญาเต่าเรือน หลวงพ่อเงิน มีหลายขนาด หลายแบบ และหลายทรง ขนาดตั้งแต่เหรียญ 25 สตางค์ถึงเหรียญห้าบาท บางองค์มีขนาดใกล้เคียงกับรูปหล่อหลวงพ่อเงิน บางองค์ก็มีขนาดเล็กกว่า เนื้อเป็นโลหะผสมแก่ทองเหลือง
ประวัติ หลวงพ่อเงิน ผู้สร้างพญาเต่าเรือน
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เป็นชาวบ้านบางคลานโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 16 กันยายน 2353 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายอู๋ และ นางฟัก ในปี 2356 ลุงได้พาไปอยู่กรุงเทพฯ จนเติบโตเข้าศึกษาเล่าเรียนได้จึงได้นำไปฝากไว้ที่วัดตองปู (วัดชนะสงคราม) พออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชนะสงคราม ได้ฉายา “พุทธโชติ” ศึกษาร่ำเรียนพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐาน ท่านยังได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม และ หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า พระเกจิผู้เรืองวิทยาอาคม
ต่อเมื่อโยมปู่ของท่านป่วยหนัก ท่านจึงได้เดินทางกลับมายัง อ.โพทะเล จำพรรษาอยู่ที่วัดคงคาราม 1 พรรษา แล้วย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท้ายน้ำ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโกซึ่งลึกเข้าไปทางลำน้ำเก่า โดยนำกิ่งโพธิ์จากวัดเดิมมาด้วย 1 กิ่ง ตั้งจิตอธิษฐานว่า “… ถ้าจะเจริญรุ่งเรือง ขอให้ต้นโพธิ์นี้เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่…” กาลต่อมาปรากฏว่าต้นโพธิ์ของท่านได้เจริญงอกงามดังคำอธิษฐาน นับตั้งแต่นั้นตลอดมา วัดวังตะโก หรือ วัดหิรัญญาราม ก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ชื่อเสียงของหลวงพ่อได้ขจรไปทั่วทุกทิศานุทิศ มีคนมาขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยความเคารพศรัทธามิได้ขาด มาขอเครื่องรางของขลัง, รักษาโรคภัยไข้เจ็บ, อาบนํ้ามนต์ ฯลฯ
หลวงพ่อเงิน มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์เดือน 10 แรม 11 ค่ำ ปีมะแม เวลา 5.00 น. ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2462 ณ วัดวังตะโก ต.บางคลาน อ.บางคลาน จ.พิจิตร สิริอายุ 109 ปี
หลวงพ่อเงิน ได้สร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลไว้มากมายแต่มีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งล้วนทรงพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ ทั้งกระพันชาตรี แคล้วคลาด และโชคลาภ ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหน ปัจจุบันจึงหาได้ยากยิ่ง และค่านิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา