ก่อนอื่นต้องบอกกันก่อนว่า ยุคนั้นเป็นการแอนตี้ประเทศที่เรียกว่า “จักวรรดินิยม” (คือประเทศที่มีความเหนือกว่าในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์ และความเจริญทางด้านวัตถุค่านิยมต่างๆ) และมักใช้กำลังทางทหารและการเมือง เข้าครอบงำและชี้นำ ตลอดจนสูบทรัพยากรจากประเทศที่อ้างว่าด้อยพัฒนากว่า ถ้าประเทศไหนไม่เห็นตามหรือต่อต้าน ก็จะอาศัยกำลังทหารเข้ารุกราน โดยอ้างความแตกต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี หรือเวียตนาม ยุให้เกิดสงคราม พร้อมขายอาวุธเพื่อความมั่งคั่งของประเทศตน ประชาชนในโลกที่สามล้วนบาดเจ็บล้มตายจากสงครามที่เขาบงการทั้งสิ้น

เพลง ฆาตรกร จึงเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกของกรแอนตี้ “นักบุญใจบาป” ที่ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ได้กระทำกับประเทศโลกที่สาม

“เครื่องบิน บินมา มาพร้อมสงคราม
เสียงไห้ห่มระงมโหย
บ้านเมืองลุกไหม้ ลูกตายแม่ตาย ร่างกายพิการ
ใคร ใครกัน เป็นผู้ทำ
อเมริกา จงใจฆ่ามวลชน
ไทยจะเสรี ด้วยพลีกาย ลุกขึ้นจับปืน
จักรพรรดินิยม โค่นล้มมันลง
จงมาร่วมใจ สร้างเมืองไทยให้เสรี”

เพลงนี้จินตนาการจากผลของสงครามเวียตนาม ที่ประชาชนลูกเด็กเล็กแดงชาวเวียตนามต้องล้มตายลงจากเครื่องบินสงครามของอเมริกา ที่ขึ้นจากฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา หรือ ตาคลี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วง ขับไล่ฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย จากเพลงนี้ทำให้นึกถึงเพลง โลกที่สาม ที่กรรมาชนเล่น ซึ่งจะขอกล่าวในอันดับต่อไปแจ้งผู้ดูแล เข้าสุ่ระบบผ่าน

นี่ถ้าไม่เริ่มบันทึกประวัติเหล่านี้ก็คงจะหายไปกับความทรงจำของเราใช่ไหมครับ ฉะนั้นผมขอรำลึกต่อแล้วกัน จากเพลง คนกับควาย (สมคิด สิงสง) และเพลง เปิบข้าว (จิตร ภูมิศักดิ์) ที่คุณจิ้น กรรมาชน นำมาเรียบเรียงใหม่และแสดงเปิดวง กรรมาชน ในงานรับน้องนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในวันนั้น นับเป็นการเปิดรูปแบบทางดนตรีเพื่อชีวิตในแนวสตริงเป็นครั้งแรก ซึ่งอารมณ์ทางดนตรีเร่งเร้าความรู้สึกของวัยรุ่นสมัยนั้นมาก ส่วนเพลงรุ่นแรกที่วงกรรมาชน โดยคุณจิ้น ประพันธ์ไว้ได้แก่เพลง กรรมาชน และเพลง เพื่อมวลชน

“มองข้าวในนาแล้วพาใจเศร้าอาดูร
ดอกเบี้ยเพิ่มพูนนายทุนมันขูดรีดไถไป
โรยอ่อนรอนรอนกรรมกรทุกข์ยากทำงาน
รายได้เจือจานเหมือนดังขอทานแย่งเขากิน

กรรมกร ชาวนา จงมาร่วมกัน สรรสร้างโลกใหม่ (ซ้ำ)

ด้วยจิตและกายของเราร่วมกันบันดาล
พลังแห่งแรงงานเท่านั้นสร้างโลกให้โสภา

กรรมกร ชาวนา จงมาร่วมกัน สรรสร้างโลกใหม่ (ซ้ำ)
กรรมาชน…”

เพลงนี้เป็นเพลงซึ่งมักใช้แสดงเปิดวงในช่วงแรกๆ เนื้อหาและแนวดนตรีก็เป็นการบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของวง ตลอดจนเป็นการประกาศเจตจำนงที่ชัดเจน ในวัตถุประสงค์ของวงกรรมาชน ซึ่งเป็นวงของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ปี 1 ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ไม่มีทักษะทางดนตรี เรียกว่าแม้แต่เคาะจังหวะยังไม่ตรงจะสามารถประพันธ์เพลงอันทรงคุณค่า อย่าง เพื่อมวลชน ได้ นพพร ยศถา (นพ) เป็นหนึ่งในสมาชิกของวงคนเดียวที่มีทักษะทางดนตรีน้อยมาก เวลาเคาะจังหวะ พวกเรามักจะขันในท่าทางเงอะ ๆ งะ ๆ ของเพื่อนคนนี้ แต่เป็นคนที่ชอบเขียนบทกวีเป็นชีวิตจิตใจ พอมาประกบกับ จิ้น ซึ่งมีทักษะทางดนตรีดีกว่าเพื่อน ทำให้มีผลงานออกมาหลายเพลงทีเดียว และเพลงหนึ่งที่เรารู้จักดีคือ เพื่อมวลชน วันหนึ่งที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย ผมเห็นเขาสองคนนั่งฮัมเพลงกัน ในท่วงทำนองหวานซึ้ง ดังมีเนื้อเพลงดังนี้….

“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน
ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว
เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี

ถ้าหากฉันเกิดเป็นเมฆบนนภา
จะนำพาความร่มเย็นเพื่อท้องนา
หากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย
จักโถมกายเป็นทางเพื่อมวลชน

ชีวา ยอมพลีให้ มวลชน ที่ทุกข์ทน
ขอพลีตน ไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง…”

ปัจจุบันเขาจากพวกเราไปแล้วจากการถูกซุ่มโจมตี ในเขตชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากเพื่อนสมาชิกวงอีกคนที่ชื่อ เฉา ที่ได้เสียชีวิตในเขตเดียวกันไปก่อนหน้าเขาไม่นาน

ไม่ว่าเพื่อนจะเป็นพิราบขาว เมฆ หรือเม็ดทราย พวกเรายังเห็นเพื่อนยืนอยู่เคียงข้างพวกเราเสมอ จิตใจที่ดีงามและบริสุทธิ์ของเพื่อนจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป ขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนจงไปสู่สุขคติเทอญ