
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงข้อมูลที่มาจากการขีด ๆ เขียน ๆ อย่างกระจัดกระจายตามหน้าสมุดบันทึกเก่าจะสามารถนำมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงได้
ด้วยความใฝ่ฝันที่อยากจะเขียนเพลงไว้คอยขับกล่อม ปลอบโยนกลุ่มนักกิจกรรมเมื่อยามที่อ่อนแอ ปลุกใจเมื่อยามที่ท้อถอย และชื่นชมเสมือนเป็นแรงใจให้มีพลังในการต่อสู้ และขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า บทเพลงที่ดีจะซึมลึกเข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้คนใช่เพียงแต่ฟังแล้วผ่านเลย
จากความตั้งใจดังกล่าว จดหมายอิเล็คโทรนิคส์ฉบับหนึ่ง จึงถูกร่อนไปยังคณะผู้จัดกิจกรรมดนตรีสร้างสุข (บริษัท กะทิกะลา) เพื่อขอสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ก่อนหน้าวันจริงเพียง 1 วัน (เพราะทราบข่าวการรับสมัครล่าช้า) และพยายามส่งย้ำในฉบับที่ 2 ว่า มาจาก “กลุ่มรองเท้าแตะ” (กันพลาดจากฉบับแรก)
สมุดบันทึกรูปนางฟ้าสีส้ม ๆ เล่มน้อย ด้านหลังติดโลโก้ร้านอิ่มอุ่น ถูกแจกจ่ายให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรม
จากหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า ก็เริ่มเห็นรอยขีดเขียนระหว่างการเข้าร่วมอบรม เพื่อบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์
หน้ากระดาษในสมุดบันทึกของฉัน จดเอาไว้ว่า…
20 ตุลาคม 2550 : The Third Place
“ค่ายเพลงสร้างสุข” กับกิจกรรมอบรมนักแต่งเพลง เริ่มขึ้นในเช้าที่บรรยากาศสบาย ๆ และเป็นกันเอง จากทีมงานกะทิกะลา
อ.ภัลลพ ศิลป์เจริญ (วิทยากรอารมณ์ดี๊ ดี) ปูพื้นฐานความรู้เรื่องส่วนประกอบของเพลง และแนวทางการเขียนเพลงเบื้องต้นให้กับผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 30 กว่าคนได้ พี่เค้าบอกว่า “ทำยังไงก็ได้ให้พวกเราเขียนเพลงได้”
นั่นน่ะสิ่ เราก็มาเพราะอยากเขียนเพลงได้เหมือนกัน 55 แต่พี่เค้าเก่งจังขนาดรายละเอียดบนขวดน้ำสสส. ยังมาร้องเป็นเพลงได้เลย
“ทำนองมาจากเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่ถูกจัดระเบียบแล้ว เรียกว่าเมโลดี้ หลาย ๆ เมโลดี้ ก็เป็นทำนอง ใส่เนื้อร้องเข้าไป กลายเป็นเพลง” (เฮ้ย!! ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ)
บ่าย วิทยากรกิตติมศักดิ์ น้าทิวา สาระจูฑะ พี่จุ้ยบอกว่าปกติแกยังไม่ตื่น วันนี้เดินทางมาให้ความรู้เรื่อง วิวัฒนาการของเพลงในแต่ละยุคสมัย นับแต่เพลงคลาสสิค จนถึงเพลงป๊อบในปัจจุบัน
ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ หัวข้อ จะฝึกฝนตนเองให้เป็นนักแต่งเพลงได้อย่างไร (แต่สิ่งที่ได้กลับไม่ใช่แค่การแต่งเพลงหรอกนะ มันคือศิลปะการใช้ชีวิตต่างหาก)
- การเป็นคนฟังอย่างละเอียด ตั้งแต่เครื่องดนตรีมีกี่ชนิด เสียงร้อง วิธีการร้อง ของนักร้องคนนั้น เขาร้องอย่างไร
- ฟังให้หลากหลาย อย่าฟังแต่เอาความชอบเป็นหลัก ถ้าเราชอบแบบไหน เราจะเลือกรับรู้ว่า เพราะคือแบบนี้เท่านั้น
- ฟังเพลงที่ไม่ใช่เพลง ให้รู้ว่าหูยังเป็นของเราอยู่
“การแต่งเพลงมันก็สะท้อนตัวตนของคนแต่งออกมา”
“อ่านหนังสือที่เราไม่ชอบบ้าง ฟังเพลงที่เราไม่ชอบบ้าง”
21 ตุลาคม 2550 มาสายนิดหน่อย
พี่โกไข่ (พ่อของป้อมในหนังเรื่อง Season Change ไง)
“เปิดเพลงคลาสสิคให้เราฟัง แล้วอธิบายได้เป็นฉาก ๆ เลย จากแรก ๆ เหวอ ช่วงหลัง ๆ ลองหลับตาฟังก็เข้าท่าดีแฮะ”
“เมโลดี้เหมือนเส้นใหญ่ ที่นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย เหมือนการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่”
“คำร้องไม่ใช่การเขียนกลอน กวี หรือเรื่องสั้นนะ…”
“เพลงคือ เรื่องสั้น (มาก ๆ) ผ่านทำนองที่เรียบเรียงต่อกันอย่างมีเหตุมีผลมาก่อนแล้ว”
พยัต ภูวิชัย (คนที่แต่เพลงดัง ๆ หลาย ๆ เพลง) สอนการเขียน มาย แม็พ คือการวางโครงร่างของการเขียนเพลง
“อกหักแบบร็อค อัสนี + วสันต์ กับ อกหักแบบคาราบาว อกหักเหมือนกัน แต่สำนวนไม่เหมือนกันนะ”
22 ตุลาคม 2550
“วันนี้คนดูบางตาหน่อย เพราะเป็นวันจันทร์ พี่ ๆ บางคนบอกว่า เป็นเพราะสั่งการบ้านยากขึ้นคนเลยไม่มา”
“วันนี้สอนเรื่องการบันทึกเสียง จาก โอ๋ ซีเปีย อืม เข้าท่าดีแต่ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่… ยาก”
“ข้างล่างมีกองถ่ายโฆษณาโฟร์ – มด ด้วย ตัวเป็น ๆ เลย แดน บีม อีกตะห่าง เห็นแต่แฟนคลับรอตรึมเลยด้านล่าง”
พี่เป้ สีน้ำ สอนเรื่องสีน้ำ กับการเขียนเพลง
พรุ่งนี้หยุด 1 วันกับการบ้านให้ไปแต่งเพลงมา 1 เพลง
เอ… เอาไงดี… !!??
เช้าวันสุดท้าย ของ “ค่ายเพลงสร้างสุข” กระดาษที่มีเนื้อเพลงเขียนอยู่ ด้วยลายมือโย้เย้ ถูกยื่นให้ พี่ปิงปอง (ทีมงานกะทิกะลา) ใส่คอร์ดให้ เนื้อเพลงส่วนใหญ่มาจากสมุดบันทึกเล่มเก่า ๆ ที่เขียนข้อความและสิ่งที่ประทับใจไว้ จนวันนี้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเขียนเพลง
“มันคือเพลงแรกค่ะพี่… คิดว่าเพลงหน้าคงดีกว่านี้” รีบแก้ตัวทั้ง ๆ ที่ พี่เขาก็ยังไม่ได้ว่าอะไร
“เหม่อมองไป เห็นบ้านใคร อยู่บนฟากฝั่ง
เขาคงหลับฝัน วาดหวัง แต่ความยิ่งใหญ่
ใต้ผ้าห่มอุ่น ผืนพรมที่นุ่มละไม
เขาคงหลับไหล แต่คืนนี้ใครหัวใจร้าวหม่น
เพียงขลาดเขลา หรือทำร้ายเราด้วยความตั้งใจ
ได้ยินไหม เสียงใคร ที่พร่ำทุกข์ทน
1 ความฝัน 1 ล้านน้ำตาใครหล่น
ขอเพียงสักหนบ้านหลังน้อยยังคอยด้วยใจ
หรือคนในบ้านหลังใหญ่ เขาฝันไปไกลเกินกว่า
ก้อนหินปูปลา มันไร้ค่าความหมาย
แล้วคนในบ้านหลังใหญ่ หลับสบายรึเปล่า
ในคืนที่ฟ้าไร้ดาว ในคืนทะเลร้องไห้
เคยบ้างไหมเดินย่ำไปในผืนทะเล
นอนไกวเปลฟังเสียงนิทานดวงดาว
นอนหลับไหล ใต้แสงจันทร์เกยหาดทรายขาว
ตราบรุ่งเช้า ออกย่ำเท้า ทักทายแสงแดด
เดินย่ำเท้า บนหาดทรายขาว แทนพรมผืนอุ่น
จะเคยไหมหนอ …คนในบ้านหลังใหญ่”
Download เนื้อเพลง คอร์ด Guitar – Click*
จากความวุ่นวายของเหล่าสมาชิกค่ายที่มีอยู่ตลอดช่วงเช้า ในการทำทำนองบ้าง การเกลาเนื้อบ้าง สิ่งที่พยายามเรียกว่าเพลงก็เริ่มฟังดูเป็นเพลงขึ้นมาบ้าง ก่อนที่ช่วงบ่ายบรรดาสมาชิกค่ายจะออกมานำเสนอผลงานเพลงของตนเอง ร้องเพลงของตนเอง ด้วยความภาคภูมิใจ โดยมี พี่โกไข่ อ.พยัคฆ์ และพี่จุ้ย ช่วยเสนอแนะและให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง
ตลอดระยะเวลา 4 วันในค่ายดนตรีสร้างสุข
ทำให้ได้รู้ว่า… บางคนเหมาะที่จะเป็นนักแต่งเพลง มากกว่าจะเป็นนักร้อง
ทำให้ได้รู้ว่า… การเขียนเพลงไม่ได้ยากเลย มันยากแค่เพียงก้าวแรก เมื่อเพลงแรกผ่านพ้นไป เพลงที่ 2-3 ก็จะตามมา
ทำให้ได้รู้ว่า… ใครบางคนมีบทเพลงแรกในชีวิตเกิดขึ้นที่นี่ รวมทั้งเพลง ๆ นี้
ธิดามนต์ พิมพาชัย
ขอขอบคุณ
– คำพูดหนึ่งของ พี่กระรอก กับคำพูดที่ว่า “ไอ้คนที่มันคิดมันคิด แต่ในห้องแอร์” แรงบันดาลใจให้เขียนเพลงนี้ขึ้น เพราะถ้ามองในมุมกลับนายทุน (ผู้น่าสงสาร) บางคนอาจไม่รู้คุณค่าของผืนทะเลเลยก็ได้นะ
– ทุกคำแนะนำ และกำลังใจทุกดวง จากทีมงานกะทิกะลา พี่จุ้ย วิทยากร
– สสส. กับโครงการดี ๆ ที่ทำให้มีเพลงแรกในชีวิต
– อาหารจากร้านอิ่มอุ่นที่คอยเติมพลังสมองให้ในทุก ๆ วันค่ะ
– รอยยิ้มของเพื่อนร่วมค่ายในวันนั้นทุกคนค่ะ วันหนึ่งข้างหน้า ใครบางคนในนั้นอาจกลายเป็นนักแต่เพลงที่มีชื่อเสียงก้องโลกก็ได้ พยายามเข้านะ
หมายเหตุ
– เนื้อเพลงเป็นเวอร์ชั่นที่แก้ไขเนื้อแล้วนิดหน่อย ภายหลังจากโดนสวดซะเกือบท้อ (แฮ่ ๆ ไม่ท้อหรอก)
– กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ กิจกรรม ของ แผนงานดนตรีสร้างสุข โดย สสส. ซึ่งกลุ่มรองเท้าแตะ ก็มีจัดค่ายดนตรีกะเค้าด้วย
สู้ต่อไปครับ คูเมี๋ยว
กำลังใจอีกอื้อ อยู่ด้านหลัง หันกลับมาก็เจอแล้ว
หุหุหุ …
เป็นกำลังใจให้นู๋เหมียวนะจ๊ะ
อืม เป็นนักแต่งเพลงนี่ก็น่ารักดีเนอะ อยากได้ลองไปเรียนแต่งเพลงบ้างจัง
พี่พยัต ภูวิชัย ไม่ได้แต่งเพลงแค่มี ครับ แค่มี แต่งโดย กมลศักดิ์ สุนทานนท์ ที่แต่งเพลงเล่าสู่กันฟังของเบิร์ด
พี่พยัต เขียน ยังยิ้มได้ ของพลพล และอีกเพลงที่ผมชอบ กาสะลองของลานนา ถ้าเจอแก ฝากคิดถึงด้วยครับ