คุณเคยออกค่ายไหม?
ค่ายอาสาฯ ที่คอยนำพาคนหนุ่มสาวออกไปเติบโตทางความคิด ด้วยการเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน… แล้วคุณยังจดจำเสียงขับขานบทเพลงภายใต้บรรยากาศรอบกองไฟยามค่ำคืนได้รึเปล่า?
บทเพลงที่ถูกขับร้องในค่ายอาสาฯ หรือที่เรียกกันว่า “เพลงค่ายฯ” นั้น นอกจากจะมีความไพเราะในท่วงทำนองแล้ว ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ เพลงค่ายฯ โดดเด่นกว่าเพลงแนวอื่น ๆ น่าจะอยู่ตรงที่เนื้อหาสาระที่เกี่ยวโยงกับความเป็นไปในสังคมรอบตัว
บางบทเพลงถามหาความยุติธรรมในสังคม และเคยถูกใช้ในเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ บางบทเพลงเปิดโปงความเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังสังคมที่ฉาบฉวย บางบทเพลงให้กำลังใจ และจุดประกายให้ผู้คนออกมาทำอะไรเพื่อสังคม
ด้วยเนื้อหาสาระที่เข้มข้น สื่อด้วยภาษาที่ง่ายและงดงาม แม้กาลเวลาจะผ่านเลยมากี่ยุคสมัยแต่เพลงค่ายฯ อย่างเพลง เธอวันนี้ หรือเพลง ประชาธิปตน และอีกหลาย ๆ เพลงก็ยังไม่เคยตาย กลับถูกนำมาร้อง เล่น เพื่ออธิบายสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหนุ่มสาวค่ายอาสาฯ ที่มีเพลงค่ายฯ เป็นเบ้าหลอมการเติบโตทางความคิด หลายๆ คนจึงต่อยอดมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน
แล้วคนรุ่นใหม่รู้จักเพลงค่ายบ้างรึเปล่า?
แม้จะมีเนื้อหาที่รับใช้สังคม แต่เพลงค่ายฯ ก็ถือยังว่าถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะกลุ่มนักกิจกรรม หรือคนทำค่ายเพียงเท่านั้น เนื่องจากช่องทางที่จะเผยแพร่ไปตามสื่อต่าง ๆ เป็นไปได้ยากลำบากยิ่ง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับคนหนุ่มสาวยุคใหม่ที่เป็นทั้งความหวัง และพลังของสังคมในอนาคต คำว่า ค่ายอาสาฯ เพลงค่ายฯ หรืออุดมการณ์ ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลจากวิถีชีวิตประจำวันของคนรุ่นนี้มากนัก
กับชีวิตที่ถูกจองจำให้ว่ายวนแต่บนโลกที่อยู่ในตำรา หนุ่มสาวหลายคนในปัจจุบันไม่เคยได้ออกไปสัมผัสผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง แม้แต่ด้านศิลปะ และดนตรีก็ถูกจำกัดการรับรู้ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ เพียงเอย่างเดียว บทเพลงที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น หรือที่เรียกว่า “แนวเพลงตลาด” ส่วนใหญ่คือเสียงลอยผ่านมาตามช่องทางสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ MP3 จนไม่อาจจะชี้ชัดลงไปได้ว่า แท้จริงแล้วบทเพลงดังกล่าวเป็นเพลงที่พวกเขาต้องการฟังจริง ๆ หรือไม่?
ทำนองที่ติดหู เนื้อร้องที่ติดปาก เกิดจากการถูกบังคับให้เสพซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเนื้อเพลงส่วนใหญ่ก็ไม่มีเนื้อหาสาระอันใดไปมากกว่า คำพร่ำเพ้อพรรณาถึงความสิ้นหวัง ความท้อแท้ ต้องการกำลังใจ และโหยหาความรักที่มีเพียงคน 2 คนบนโลกพระจันทร์ ละเลยปัญหาและข้อเท็จจริงที่ว่า “เราอยู่ในสังคมใบใหญ่ ที่มีผู้คนมากมาย และเต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนรอบด้าน” จะมีสักกี่เพลงที่หลุดกรอบออกมาพูดถึงสังคม พูดถึงความ อยุติธรรม และผู้ทุกข์ยาก ทั้งที่ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อยู่คู่กับสังคมมาช้านาน แต่ถูกปฏิเสธการรับรู้มาโดยตลอด
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของดนตรี และความศรัทธาในพลังของคนหนุ่มสาว จึงเกิดความพยายามที่จะนำข้อเท็จจริงต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านบทเพลง ฝากฝังให้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่เชื่อมโยงคนหนุ่มสาวยุคใหม่เข้าหาสังคม การรวบรวมบทเพลงที่ขับร้องในค่ายอาสาฯ ทั้งเก่า และใหม่ของนักกิจกรรม พร้อมเล่าขานที่มาที่ไปของเพลงจึงเกิดขึ้น โดย มูลนิธิกองทุนไทย ร่วมกับ กลุ่มรองเท้าแตะ กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจผูกพันทั้งด้านดนตรี และค่ายอาสาฯ จัดทำอัลบั้ม “เพลงค่ายฯ (ที่ว่าง…ระหว่างเส้นลวด 6 สาย)” โดยมี สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล (โฮป แฟมิลี่) ศิลปินผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงเพื่อชีวิต และใช้เสียงเพลงสร้างสรรค์สังคมมาโดยตลอด มาเป็นผู้ควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน
อาจเรียกได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่คนไม่เคยสัมผัสชีวิตเด็กค่ายฯ มาก่อนจะมีโอกาสได้ฟังเพลงค่าย และรับรู้เรื่องราวในค่ายผ่านบทเพลงร่วมกัน
“…มองดูรอบกาย มองดูสังคม เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ…” – เพลงเธอวันนี้ เพลงค่ายฯ…ที่เรียกร้องให้นักศึกษาปัญญาชน หันมาใส่ใจกับปัญหาสังคม แทนการเสพสุขสบายแต่เพียงถ่ายเดียว
“…ทุนนิยมนั้นยังคงกอบโกยไม่มีวันสร่าง หนทางจะสร้างสุขยังสลัว ความทรงจำนั้นยังคงติดตรึงไว้ในความกลัว กลัวเงินกินใจคน…” – เพลงประชาธิปตน เพลงค่ายฯ… ที่ตั้งคำถามต่อระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มัวเมาผู้คนให้สรรเสริญอำนาจของเงินตรามีคุณค่าเหนือกว่าความดีงาม
“..มีเงิน มีเลื่อยมีไม้ ยังไม่เป็นบ้าน แรงงาน ของคนสิสร้างทุกสิ่งสรรค์ได้ เกรียงไกร ผู้ใช้แรงงานสร้างโลกโสภา” – เพลงคนสร้างบ้าน เพลงค่ายฯ… ที่เชิดชูคุณค่าของชนชั้นกรรมาชีพ ผู้อยู่เบื้องหลังซากสิ่งปลูกสร้างแห่งการพัฒนา แต่กลับไม่เคยได้รับการกล่าวขวัญจากผู้คนในสังคมเดียวกัน
บทเพลงที่มีคุณค่าเหล่านี้ถูกนำมาบันทึกลงในอัลบั้ม เพลงค่ายฯ (ที่ว่าง…ระหว่างเส้นลวด 6 สาย) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะชน และคนรุ่นหลัง นอกจากบทเพลงเก่า ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงใหม่ ๆ ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงต่อสังคม ซึ่งแต่งโดยนักกิจกกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย และบางบทเพลงได้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการออกค่าย เช่น
“อยากรู้จริงหนาว่าใครเปิดไฟให้ดาว ระยิบกระพริบพราวพร่างพรายกระจายเกลื่อนฟ้า” – เพลงใครเปิดไฟให้ดาว เพลงค่ายฯ… ที่เขียนขึ้นมาจากจินตนาการของเด็กน้อยคนหนึ่งจากค่ายร้อยหวันพันธุ์ป่า กับคำถามต่อสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติรอบ ๆ ตัวอย่างดวงดาวว่า “ดาวจะมีแม่ไหม? ดาวมีหัวใจรึเปล่า? ทำไมดาวลอยได้? ดาวทอแสงได้ไง? แล้วใครเปิดไฟให้ดาว?” ในขณะที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนต่างมุ่งมองไปข้างหน้า ไม่มีแม้แต่เวลาจะหันมองรอบตัวสักนาทีเดียว
“กล้าไหมถามใจเธอเอง สุขทุกข์ก็ตัวเธอเอง ชีวิตนี้เป็นของเธอเอง ก้าวเดินไปตามฝันเธอเอง…” – เพลงก้าวเดินตามฝัน เพลงค่ายฯ… ที่ให้กำลังใจกับคนหนุ่มสาวผู้มีความใฝ่ฝัน ไม่ให้ท้อแท้กับปัญหาและอุปสรรค แต่จงเข้มแข็ง และเดินไปคว้าฝันมาด้วยความอดทน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 13 บทเพลง โดยแต่ละบทเพลงถูกถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของนักกิจกรรมทั้งรุ่นเก่าและใหม่ อย่าง ลูกโซ่ (ปริตอนงค์ ถวัลย์วิวัฒนกุล) และ ศร (วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล) ปิยะนุช บุญประคอง (พี่นุช-สองวัย) และนักกิจกรรมท่านอื่น ๆ ผ่านการเรียบเรียงเสียงดนตรีใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
“พวกเราอยากให้คนหนุ่มสาวฟังผลงานชุดนี้แล้ว… อยากออกค่ายอาสา อยากทำอะไรเพื่อคนอื่น อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฟังผลงานชุดนี้แล้ว เข้าใจและให้คุณค่ากับความผันของคนหนุ่มสาวอย่างเรา ๆ บ้าง และผมเชื่อจริง ๆ ว่ามันจะเป็นเช่นนั้น เชื่อว่าพลังของดนตรี ทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นได้” ความในใจ…จากปกซีดีอัลบั้มเพลงค่ายฯ
หวังว่าผลงานชุดนี้จะกลายเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่มีส่วนร่วมในแนวรบทางวัฒนธรรม อย่างน้อยให้ผู้ที่ได้ฟังแล้วเกิดการต่อสู้ภายในจิตใจของตนเอง พาตัวเองก้าวข้ามพันธนาการ และข้อจำกัดต่างๆ ออกไปฟังเสียงจาก ที่ว่างระหว่างเส้นลวด 6 สาย จากปลายนิ้วสัมผัสใกล้ ๆ ภายใต้บรรยากาศรอบกองไฟที่ลุกโชนในค่ายฯ สักครั้ง หรือเพียงแต่ลุกขึ้นไปทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่นบ้าง…
หรือถ้าความปราถนาดีต่อสังคมของคณะผู้จัดทำ เพลงค่ายฯ (ที่ว่าง…ระหว่างเส้นลวด 6 สาย) จะกลายเป็นอานิสงค์ผลักดันเกิดกระแสเพลงเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่ได้ ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะบ้านเราจะมีบทเพลงดี ๆ ที่เรียกว่าเพลงเพื่อประชาชน ที่มีเนื้อหารับใช้สังคมจาก เพลงทางเลือก สู่บทเพลงที่คนเลือกจะรับฟัง มากยิ่งขึ้น
แล้วคุณล่ะ… อยากฟังเพลงค่ายบ้างรึยังคะ?
ThaiNGO.org
16 มกราคม 2551