วัดนก หรือ วัดสกุณาราม ตั้งอยู่ที่ บ้านสกุณา หมู่ 5 ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา สภาพถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งในปี 2416 จึงได้รับการมาบูรณะปฏิสังขรณ์ และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2517 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือ ได้รับการกำหนดให้เป็นเขตแดนส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตพื้นที่ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่สงฆ์เพื่อกระทำสังฆกรรมได้ตามพระธรรมวินัย
วัดนก หรือ วัดสกุณาราม มีกรุพระเครื่องชื่อดังที่คนสะสมพระเครื่องเรียกคุ้นปากว่า “พระวัดนก” ที่พบเห็นส่วนมากเป็นพิมพ์พระสมเด็จ ขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.3 เซนติเมตร องค์พระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับบนอาสนะฐาน 3 ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑล 2 ชั้น ระหว่างชั้นมีขีดคั่น หรือที่เรียกกันว่า “ซุ้มประภามณฑลมีรัศมี”
องค์พระมีพระพักตร์นูนโต พระเกศสูง 2 ชั้น ปรากฏรอยผ้าสังฆาฏิอย่างชัดเจน ด้านหลังเรียบ และปรากฏรอยจารอักขระลงไปในเนื้อพระ ขณะเนื้อพระยังไม่แห้ง (จารเปียก) เป็นตัว “อุ” บ้าง ตัว “เฑาะว์” บ้าง หรือตัว “อุณาโลม” บ้าง
พระวัดนก มีหลายพิมพ์ อาทิ พระสมเด็จฐาน 3 ชั้น ข้างอุ, พระสมเด็จฐานบัว 2 ชั้น ฯลฯ เนื่องจากเป็นพระเครื่องที่ได้รับการบรรจุกรุ จึงปรากฏรอยคราบกรุให้เห็น
แต่เดิม พระวัดนก ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก จึงมีการนำ พระวัดนก ไปจัด (ยัด) ให้เป็นของพระเกจิอาจารย์อื่น ๆ ตามความไม่รู้
จนเมื่อมีข่าวชาวบ้านที่พกพระวัดนกนี้ไว้ในกล่องยาสูบ ไปเดินไปเหยียบงูแมวเซาเข้า โดนงูกัดแต่ไม่เข้า ทำให้เกิดความเชื่อและศรัทธาในพุทธคุณ เป็นเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงของพระวัดนกโด่งดังขึ้นในท้องถิ่นในทันที
อีกข่าวหนึ่ง คือ เด็กในตลาดวิเศษไชยชาญ คล้องพระวัดนกเลี่ยมขอบเงิน ไปโดนหมากัดชนิดเสื้อขาดกระจุย ตามเนื้อตัวมีรอยเขี้ยวเต็มไปหมด แต่หาเข้าเนื้อไม่
พระวัดนก มีการสร้างกัน 2 ยุค
ยุคแรก
จัดสร้างโดย หลวงพ่อแก้ว เจ้าอาวาส ระหว่างปี 2453 ถึงปี 2475 หลวงพ่อแก้ว เป็นสหธรรมิกกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จึงได้เชิญหลวงปู่ศุขร่วมปลุกเสกด้วย แม่พิมพ์จึงมีศิลปะแบบเดียวกับพระเครื่องของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
พระยุคแรก เป็นพระบรรจุกรุ เนื้อผงน้ำมัน ผสมว่าน 108 ที่มีฤทธิ์ทางเหนียวคงกระพัน ผงพุทธคุณ และผงประกำช้าง อนึ่ง วัดนกแต่โบราณเป็นที่พักช้าง ให้ช้างได้พักผ่อนอาบน้ำ ก่อนที่จะมุ่งหน้าเดินทางเข้าเมืองอยุธยาฯ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวง ลูกประกำช้าง เป็นวัสดุอาถรรพ์ช้างกลัวมาก หลวงพ่อแก้วได้นำมาผสมพิมพ์เป็นพระสมเด็จองค์น้อยที่แกะพิมพ์
จุดสังเกตที่สำคัญจะพบว่ามีรอยย่น ส่วนขอบด้านข้างจะตัดไม่ขาด (ที่เรียกกันว่าขอบ 2 ชั้น) ผิวจะย่นไปตามกาลเวลา สีขององค์พระเท่าที่ได้พบเห็นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 สีคือ เนื้อเขียวแก่ (ชาวบ้านเรียก เนื้อหินมีดโกน) ที่จริง ๆ แล้วสีเขียวเกิดจากน้ำว่านเมื่อกาลเวลาผ่านไป ซึ่งเนื้อหานี้เป็นที่นิยม ส่วนอีกสี คือ เนื้อสีเทาออกดำ (เนื้อผงใบลาน)
ยุคที่ 2
เมื่อสิ้นหลวงพ่อแก้วแล้ว หลวงพ่อเฟื่อง เจ้าอาวาสรูปถัดมา ก็ได้สร้างพระขึ้นอีกโดยใช้แม่พิมพ์เดิม สร้างตามแบบของหลวงพ่อแก้วทุกประการ แต่สร้างด้วยเนื้อสีขาวกับสีดำ
พุทธคุณจะโดดเด่นด้าน แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน ตามเรื่องราวประสบการณ์เล่าขาน รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม นับเป็นพระเครื่องที่น่าสะสมเอาไว้บูชา
*ข้อมูจาก เว็บไซต์สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย