
“กรรมาชน” เป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกลุ่มวงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษา ที่ตั้งวงกันขึ้นมาโดยมีสมาชิกในวงเป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยล้วน ๆ กรรมาชนเป็นวงดนตรีของ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแพทย์ ลักษณะแนวคิดมีความรุนแรงก้าวหน้าในการต่อสู้ กับอำนาจของรัฐในขณะนั้น ลักษณะของวงดนตรีเดิมเป็นวงฮาร์ตร็อก ซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมวัยรุ่นในยุคนั้น แต่กลับไม่ได้รับความนิยมมากในช่วงแรก
วงกรรมาชน ตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2517 และปรากฎตัวจนเป็นที่ยอมรับในงานรำลึกวีรชน ปี 2517 ช่วงนี้มีวงดนตรีจากมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมากมายพร้อม ๆ กับการขยายแนวคิดเรื่องเพลงเพื่อชีวิตออกไปยังที่ต่างๆ ต่อมากรรมาชนเริ่มเปลี่ยน แนวเป็นวงสตริงที่เล่นแนวมาร์ช
วงดนตรีวงนี้มีเครื่องดนตรีมากกว่าวงอื่นๆ มีนักร้องนักแสดงผนวกจินตลีลามากมาย ถึงแม้จะมีการต่อสู้โดยการปาระเบิด วงกรรมาชนก็สามารถมีพลังในการต่อสู้ไม่สลายวง จึงเป็นแกนนำที่ทำให้ขบวนการประท้วงไปได้สำเร็จ
กรรมาชน เปิดตัวด้วยเพลง คนกับควาย ของวงคาราวาน ในลีลาที่รุ่นแรงและเร้าร้อนเข้ากับอารมณ์ที่ฮึกเหิม ของกลุ่มชนในยุคสมัยหลัง 14 ตุลาฯ และค่อย ๆ พัฒนาสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อชีวิตของตนเองขึ้นมาอีกหลายต่อหลายเพลง อาทิ เพลง กรรมาชน, กูจะปฏิวัติ, แสง ซึ่งเพลงหลังได้แต่งให้กับ แสง รุ่งนิรันดร์กุล นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอีกคนหนึ่งที่ถูกลอบ
“เพลง แสง เป็นเพลงแรกที่ผมแต่งขึ้นทั้งน้ำตา” จิ้น หรือชื่อตามบัตรประชาชนว่า กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หัวหน้าวงกรรมาชนเล่าให้ฟังถึงที่มา
“ครั้งนั้นเป็นการแสดงบนเวทีหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ภายหลังการตายอย่างต่อเนื่องของเหล่าผู้แสวงหาเสรีภาพ ประชาธิปไตย จาก บุญสนอง บุญโญทยาน จนถึง อมเรศ ไชยสะอาด และ ปู่-ปรีดา จินดานนท์ ผู้เป็นซาวน์เอ็นจิเนียร์ของกรรมาชน ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2519 การแสดงวันนั้นผู้คนหนาตา และคนเล่น เล่นกันชนิดแทบจะตายตามเพื่อน ถึงขนาดเครื่องขยายเสียงหรือแอมป์ปริฟรายด์ ไหม้-ไฟลุกจึงต้องหยุดการแสดงลงกลางคัน แต่เหล่าผู้ชม-ร่วมชุมนุมไม่ยอม ให้เลิก ถึงขนาดลงขันบริจาคเงินกันเดี๋ยวนั้น ให้ออกไปซื้อแอมป์ตัวใหม่มาให้เล่นต่อ กรรมาชนสนองตอบน้ำใจ นำเงินที่ได้ ออกไปซื้อแอมป์ตัวใหม่มาแสดงต่อ และแอมป์ตัวนั้นก็ได้เป็นเครื่องไฟฟ้าตัวแรกที่มีชื่อเสียง เรียกว่า ปรีดา-อมเรศ
หรือที่สถานการณ์ ต่อต้านเรือมายาเกซของอเมริกา ที่ขนนาวิกโยธินอเมริกาขึ้นฝั่งไทย ขบวนการนักศึกษาจัด การประท้วงที่หน้าสถานฑูตอเมริกา กรรมาชนได้ขึ้นเล่นบนหลังคารถสองแถว ซึ่งขณะนั้นมีนักดนตรีเพียง 3-4 คน ทำให้ วงฅาราวานขึ้นเล่นสมทบรวมด้วยกันทั้ง 2 วง จนถึงรุ่งเช้าต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วงนี้สลายตัวยกพวก เข้าป่าไปเป็นฝ่ายศิลป์”

ลักษณะเพลงของ กรรมาชน
เพลงของวงนี้ส่วนใหญ่นำผลงานมาจากเพลงเก่าที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้ช่วงที่อยู่ในทัณฑสถาน ผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ เหล่านี้ได้ถูกนำมาเปิดเผยในช่วงปี 2517 ในกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต ในแนวเพื่อประชาชน ทำให้งานเพลงพวกนี้น่าจะออกเผยแพร่ด้วย
เพลงที่จิตรแต่งส่วนใหญ่จะแต่งช่วง 2503-2505 เป็นเนื้อเพลงที่มีแนวความคิดเช่นเดียวกับที่ขบวนการนักศึกษา ต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคนั้นพอดี โดยเฉพาะความคิดหลักของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกจับกุมคือแนวต่อต้านสิทธิ จักรวรรดินิยมหรือมีแนวโน้มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ จิตรจึงถูกเพ่งเล็งมาตลอดตั้งแต่ จิตร ภูมิศักดิ์ มีผลงานทำหนังสือใน มหาวิทยาลัยเป็นต้นมา
ดังนั้นเมื่อนักศึกษาช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้นำผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเน้นหนักในแนวต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ยกย่องชนชั้นชาวนา กรรมกรอยู่แล้ว สถานการณ์ปี 2517-2519 ก็เป็นช่วงที่นักศึกษาต้องการเปลี่ยน แปลงสังคม ในประเด็นหลักเช่นนี้เหมือนกัน ความคิดอุดมการทางการเมืองจึงสอดคล้องกันมาก
งานของกรรมาชนที่นำ เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ มาแสดงเป็นเพลงประจำวง จึงได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพราะมีเนื้อเพลงบาง เพลงตรงไปตรงมา ไพเราะ จิตรแต่งไว้ทั้งเนื้อร้องและทำนอง แต่บางเพลงมีเนื้อร้องที่เป็นบทกวี มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ที่น่าสนใจ กรรมาชนก็นำมาใส่ท่วงทำนองให้เป็นเพลง งานของกรรมาชนจึงเด่นมีคุณค่าเพราะได้เพลงดี ๆ ของ จิตร มามากมาย
กรรมาชนเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงในการใช้เนื้อเพลง และท่วงทำนองที่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ฟังอย่างสูง ลักษณะดนตรีใช้รูปวงสตริง ซึ่งสามารถใช้เครื่องดนตรีเล่นเพลง ปลุกใจทำนองเพลงมาร์ช ทำให้จังหวะเร้าใจเข้ากับบรรยากาศทางการเมืองที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี
ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผลงานเผยแพร่ออกมาในรูปของเทปแคสเซ็ท 2 ชุดคือ ชุดที่ 1 กรรมาชน/คนกับควาย, ชุดที่ 2 แสงดาวแห่งศรัทธา/ฟ้าใหม่
กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ “จิ้น” เกิดที่กรุงเทพ เรียนมัธยมที่ โรงเรียนเตรียมอุดม แล้วมาต่อที่คณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2516 เริ่มเล่นดนตรีครั้งแรก จากการเล่นในวงดุริยางค์ของโรงเรียน และเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็เข้าร่วมในวงดนตรี “ลูกทุ่งวิดยา-มหิดล” จนกระทั่งในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคมปี 2517 ได้มีโอกาสไปออกค่ายในโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมขึ้น หลังจากกลับมาจึงรวมวงในรูปแบบใหม่ โดยมี องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนและได้เล่นเปิดวงครั้งแรกในงาน 14 ตุลาคม 2517 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้ชื่อวงว่า กรรมาชน อันนำมาจากชื่อหนังสือที่แจกหน้าหอใหญ่ในงานนั่นเอง
กรรมาชน ได้มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวในขณะนั้นเป็นอย่างมาก เข้าร่วมในการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งตัวของจิ้นเองก็ได้ร่วมด้วยทุกครั้ง รวมทั้งมีการแต่งเพลงเพื่อนำมาเล่นในวง เช่น เพลงแสง อันเกิดจากกรณีลอบสังหาร แสง รุ่งนิรันดร์กุล ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งในสมัยนั้น
กรรมาชนได้มีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องกระจัดกระจายกันออกไป จิ้นเองก็ เป็นคนหนึ่งที่จำเป็นต้องหลบหนีเข้าเขตป่าเขา และได้มีโอกาสศึกษาดนตรีชั้นสูงร่วมกับศิลปินปัญญาชนคนอื่น ๆ ที่ประเทศ จีนจนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลงได้เดินทางกลับประเทศไทย
ในช่วงเวลานั้น จิ้นก็ยังไม่ได้ละทิ้งงานดนตรีที่ตัวเองรักแต่อย่างใด ภายหลังที่เข้าเมืองแล้วก็ได้รวมเพื่อนพ้องเก่าๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันทำผลงานเพลงขึ้นมาอีก ในราวปี 2532 โดยใช้ชื่อว่า วงพันดาว มีเทปออกมา 1 ชุด โดย จิ้นได้แต่งเพลงในชุดนี้ด้วยคือ เก็บข้าวโพด, มาตุภูมิ, ฮุยเลฮุย ปัจจุบันนอกจากทำงานในหน้าที่ ที่ตัวเองถนัดในฐานะเภสัชกรแล้วก็ยังไปมาหาสู่เพื่อนพ้องที่เข้าใจ และยังเป็นแขกรับเชิญบ้างเป็นครั้งคราว