คำว่า เพลงเพื่อชีวิต เป็นคอลัมน์หนึ่งซึ่ง พิชิต จงสถิตย์วัฒนา ได้เขียนไว้ในหัวข้อที่ว่าเมื่อคุณโตขึ้นคุณจะเป็นทาสเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเขาได้เรียบเรียงมาจากเรื่อง Blues People ของ Leroi Jones เป็นการวิเคราะห์ วิจารณ์งานเพลงของพวกนิโกรคนดำที่ได้รับความทุกข์ยากประเภทเพลงบลู และ พิชิตได้เสนอว่าสักวันหนึ่งจะได้ยินเสียงชาวนาไทยร้องเพลงพื้นบ้านที่ว่า

“ฝนไม่ตกมา เดือนหนึ่งแล้ว
ฝนไม่ตกมา เดือนหนึ่งแล้ว
ข้าวของเรากำลังจะตาย
เมื่อไรจะทำฝนเทียมให้เราบ้าง”

หรือภาพสะท้อนความขมขื่นของชาวนาที่สะท้อนต่อคนกลางที่ว่า

“เราขายข้าวไม่ออก
คุณกดราคาเราไว้เราจน
เราต้องการเงินคืน”

แนวความคิดของ พิชิต จงสถิตย์วัฒนา นี้ ได้เป็นตัวแทนสะท้อนความต้องการของปัญญาชนในยุคนั้นว่า เขาต้องการเพลงที่มีรูปแบบเพื่อชีวิต และในที่สุดเพลงเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนก็ปรากฎขึ้นในสังคมได้อย่างจริงจัง การเกิด เพลงเพื่อชีวิต จึงมีเป้าหมายให้เนื้อเพลงที่แผ่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนไปถึงการปลุกใจให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

แนวความคิดของนักศึกษาในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานนั้น พวกเขาตระหนักในเรื่องของการรับใช้มวล ชนการต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นในเนื้อร้องของเพลงเพื่อชีวิต จึงสะท้อนอุดมการณ์ของยุคที่นักศึกษาช่วงแรกมีความหวังที่จะปฏิบัติตนเพื่อประชาชน คือปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมิใช่กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ข้อนี้คือหัวใจสำคัญในการต่อต้านอำนาจของรัฐ

ที่จริงแนวความคิดเรื่องความไม่พอใจการเอารัดเอาเปรียบ การเรียกร้องความยุติธรรมถูกต้องมีมานานแล้ว พร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเรียกชื่อต่างกันตามยุคสมัย ยิ่งสังคมสับสน ทุกข์ยากมาก ศิลปะ บทเพลงก็ซับซ้อนเรียกร้องมากขึ้น เช่นเดียวกันและวัฒนธรรมเหล่านี้ก็หลั่งไหลถ่ายทอดและพัฒนาไปตามยุคสมัย เพลงสะท้อนชีวิตสังคมของ ไทยดั้งเดิม ได้แก่ เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แนวความคิดในเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตแผ่ขยายอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะ ในหมู่นักศึกษา นักเรียน นักเขียนทั่วไป มีการวิพากษ์วิจารณ์มีการตีพิมพ์งานแปลวรรณกรรมต่างชาติ โดยเฉพาะงาน วงวรรณกรรมสังคมนิยม เช่น ปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง ปรัชญานิพนธ์ของลัทธิมาร์กซิส โดยองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากหลักลัทธิเลนินก็ยังมีวรรณกรรมของไทยที่เกี่ยวกับ ศิลปเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ของ ทีปกร, ศิลป วรรณคดีกับชีวิต ของ บรรจง บรรเจิดศิลป์, ข้อคิดจากวรรณคดีของอินทรายุทธ, ชีวทรรศน์นักประพันธ์  ข้อคิดจากนักเขียนต่างประเทศ เช่น หลู่ซิน (Lu Xun), เหล่าเส่อ (Lao She) , อิลยา เอห์เรน เบิร์ก (Ilya Ehrenburg) และนักเขียนของไทย เช่น เสนีย์ เสาวพงศ์, จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ

ดังนั้น แนวคิดหลัง 14 ตุลาคม 2516 ของเยาวชนรุ่นใหม่จึงมีแนวรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะแนวคิด เรื่องศิลปวรรณกรรม ของประชาชน เมื่อวงดนตรีคาราวานเสนอเพลง “คนกับควาย” ความหมายของเพลงเพื่อชีวิต เพื่อประชาชนจึงเกิดขึ้นและได้รับความสนใจ แพร่หลายอย่างรวดเร็ว

สรุปได้ว่าเพลงของคาราวานเข้ากับยุคสมัยพอดี เพลงประเภทเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนของนักศึกษาจึงเริ่มขึ้น ในบริบทสังคมที่พวกเขากำลังแสวงหาสิ่งใหม่ เพื่อเป็นสื่อในการเรียกร้องแก้ไขปัญหาในสังคม

ภายหลังชัยชนะของขบวนการนักศึกษาปัญญาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาปัญญาชน ต่างเร่งขยายอุดมการณ์ ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและเข้าถึงประชาชน ด้วยวิธีการออกค่ายอาสาพัฒนา การเคาะประตูบ้านเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบทและการชี้นำให้ต่อต้านนายทุน

กิจกรรมนักศึกษาในช่วงนี้ มีทั้งจัดนิทรรศการทางวิชาการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง การอภิปราย ปัญหาบ้านเมือง การออกหนังสือเรื่องสั้น ล้วนแต่เป็นการเปิดเผยความแปลกใหม่ที่เป็นเรื่องต้องห้ามในรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการจัดนิทรรศการ สังคมนิยมแนะนำประเทศจีน การจัดนิทรรศการเรื่องเกี่ยวกับ “ศิลปเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน” ของ “ทีปกร” (นามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์) ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องให้แง่คิดใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของ ปัญญาชนในยุคนั้น

กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตและกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว จัดงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะชีวประวัติของนักเขียนรุ่น จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ได้ถูกนำมาเปิดเผยให้เห็นถึงเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ บุคคลผู้นี้ ได้กลายเป็นวีรบุรุษของงานด้านศิลปเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยการใช้วัฒนธรรมเพลง