Photo From Designated Areas for Sustainable Tourism Administration (Public Organization)

ม่านฝนที่โปรยสายลงมาตั้งแต่ช่วงบ่าย ยังคงพรำอยู่ต่อเนื่อง ผมนั่งขูดมะพร้าวบนกระต่าย เสียงดัง ฟืด ฟืด ฟืด เป็นระยะ ๆ แม่สอนว่าเวลาขูดมะพร้าวอย่าใจร้อน อย่าเร่ง ให้สร้างจังหวะเรื่อย ๆ และอย่าขูดให้หนักมือเกินไปเพราะจะทำให้มะพร้าวเป็นชิ้นใหญ่ คั้นน้ำไม่ได้ ที่สำคัญ มะพร้าวที่ทำขนมจะขูดให้ติดเศษกะลามาไม่ได้ เพราะน้ำกะทิจะไม่สวย

แม่ปอกฟักทองลูกแก่จัด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่ในน้ำปูนใสไว้ หลังจากคั้นกะทิเสร็จ แม่ก็เคี่ยวกับน้ำตาลปึก พร้อมชิ้นฟักทองทั้งหมดที่หั่นไว้ น่าแปลกจังเลย ที่กรรมวิธีเช่นนี้กลับเรียกว่า “ฟักทองแกงบวช” ผมช่วยแม่ทำอาหารคาวไว้อีก 2 อย่าง เราจัดทั้งหมดแยกไว้จากอาหารมื้อเย็น

หลังอาหารมื้อเย็นนั้นแล้ว ผมครึ่งนั่งครึ่งนอนฟังพ่อเล่าประวัติความเป็นมาของวันสำคัญดังกล่าว เนื่องจากวันพรุ่งนี้ เป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันที่ครบถ้วนของคำว่า “พระรัตนตรัย” คือพระพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จนเป็นผลให้มีพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งคือ พระโกณทัญญะ พ่อบอกว่า สาวกของพระพุทธเจ้าก็คือพระสงฆ์นั่นเอง ปัญจวัคคีทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ พระอัญญาโกณทัญญะ, พระวัปปะ, พระภัทธิยะ, พระมหานามะ, พระอัสสชิ หลังจากวันอาสาฬหบูชาผ่านไปอีกหนึ่งวันก็เป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ก็เป็น “วันเข้าพรรษา” ซึ่งในวันนั้นพระภิกษุจะอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มฝนแห่งใดแห่งหนึ่ง

แม่ปลุกผมตั้งแต่เช้ามืด มองลายมือยังไม่เห็น ไล่ให้ไปอาบน้ำต่อจากพี่ชายทั้งสาม หลังจากน้ำเย็นรดผ่านศีรษะไป 2 ขัน ความสดชื่นก็มาอยู่เป็นเพื่อนเช่นเดิม ยายเตรียมของไว้เต็มหาบแล้ว กลิ่นข้าวสวยร้อน ๆ โชยออกมา ช่างยั่วยวนกระเพาะยิ่งนัก ยายให้ลูกหลานเตรียมดอกดาวเรืองไว้กราบพระคนละชุด ยายบอกว่า “หากเราไหว้พระด้วยดอกดาวเรือง เราจะเจริญรุ่งเรือง”

เช้าวันนั้น บรรยากาศในวัดเต็มไปด้วยความสนุกสนานสำหรับวัยซนเช่นพวกผม หลังจากไหว้พระเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่ก็ไปเตรียมจัดสำรับไว้ถวายพระ บ้างก็ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณวัด เราออกมาวิ่งเล่นกันที่ลานวัดได้เพียงครู่ ฝนก็พรำลงมา จนพระฉันอาหารเสร็จ ให้พรเรียบร้อย ก็มีข่าวดีสำหรับชาวบ้านอีกแล้ว ช่วงบ่ายจะมีการหล่อเทียนพรรษา และจะมีการแข่งขันวิ่งโถกเถก!!!

ผมรีบกลับบ้านคว้ามีดได้ก็ตรงเข้าสวนทันที จุดหมายที่กอไผ่รวก ตัดมา 2 ลำ ริดกิ่งให้เรียบร้อย กะความยาวประมาณ 2 ช่วงตัวต่อลำ หากิ่งไม้เหนียว ๆ เช่นมะขามมา 2 ชิ้นยาวประมาณ 1 คืบ ขั้นแรกวัดความยาวจากโคนมาประมาณ 50 เซนติเมตร เจาะรูทั้ง 2 ลำให้เหมือนกัน นำไม้ชิ้นเล็กมาสอดใส่ให้แน่นพอดี ซึ่งตรงนี้ใช้เป็นที่เหยียบเวลาเราขึ้นโถกเถก เพียงเท่านี้ ผมก็มีอุปกรณ์แข่งขันเรียบร้อย นี่แหละ “ไม้โถกเถก”

หลังจากพิธีหล่อเทียนพรรษา ซึ่งดูค่อนข้างเยิ่นเย้อในหมู่เราจบสิ้นลง การแข่งขันก็เริ่มขึ้น โดยมีการแบ่งประเภทเป็นเด็กและผู้ใหญ่ แข่งแบบวิบากรอบเดียวจบ สนามก็ใช้ลานหน้าวัดนั่นแหละ มีการขึงเชือกเป็นลู่ไว้ให้ ความยากง่ายก็มีเป็นช่วง ๆ ซึ่งบางครั้งก็มีสิ่งกีดขวางเป็นขอนไม้กั้นไว้บ้าง เป็นบ่อโคลนเล็ก ๆ บ้าง ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องผ่านให้ได้ ใครชนะเลิศได้ 20 บาทจากผู้ใหญ่บ้าน โอ้โห!!! ตั้ง 20 แน่ะ

เราแข่งกันทั้งสิ้น 12 คน เพียงแค่ช่วงปล่อยตัวก็โกลาหลแล้ว เซล้มไปชนกันบ้าง ไม้โถกเถกล้มไปฟาดโดนคนอื่นบ้าง มีทั้งเสียงหัวเราะและด่าทอ เราไม่ได้สนใจอะไร มุ่งหน้าเดินอย่างเดียว แต่เจ้าประคุณเอ๊ย! ช่วงไหนก็ไม่ว่าหรอก มาเจอช่วงบ่อโคลนนี่มันสุดทนจริง ๆ กว่าจะยกไม้โถกเถกขึ้นได้แต่ละข้าง โคลนมันช่างดูดได้รุนแรงยิ่งนัก แม้จะเพียง 3 ก้าว แต่ผมก็ใช้เวลากับตรงนี้ นานเกินไป

ผมเข้าเส้นชัยคนที่ 3 แต่ 20 บาทที่จะได้ก็อันตรธานไปอยู่กับคู่แข่งซึ่งเข้าเป็นคนแรกเสียแล้ว พ่อเข้ามาหาผมบอก “ทำดีแล้วลูก การกีฬา อย่าไปสนใจผลของมันมากนัก” ผมไม่มีอารมณ์สนุกด้วยแล้ว ทั้งเหนื่อยแถมไม่มีรางวัลอะไรเลย วันนั้นผมได้ขี่คอพ่อกลับบ้าน โดยมีขนมหวานชิ้นใหญ่ พอให้ลืมเรื่องการแข่งขันไปได้บ้าง….

ทิดโส โม้ระเบิด