เราทุกคนคงมิอาจปฏิเสธได้ว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่คนเรานั้นล้วนปรารถนา แต่สิ่งที่ต่างคือความสุขของแต่ละคนนั้นมีนิยามที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเราทุกคนล้วนแสวงหาช่องทางหรือวิธีการที่จะตอบสนองกับความปราถนานั้น และภายใต้กระแสสังคมปัจจุบันที่แนวคิดทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคม ทำให้ผู้คน ดิ้นรน แก่งแย่ง แข่งขัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา ที่พวกเขามองว่าสามารถที่จะสร้างหรือบันดาลความสุขสุขได้
แต่ความสุขนั้นก็เป็นความสุขในเชิงวัตถุ หรือที่หลายคนเรียกว่า ความสุขที่เกิดจากการให้คุณค่าเทียมนั่นเอง และบางครั้งการดิ้นรนขวนขวายก็นำมาซึ่งความทุกข์ อันเกิดจากการไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของตน ซึ่งผูกติดไว้กับตัววัตถุมากจนเกินไป ทำให้โดยสภาพสังคมปัจจุบัน ผู้คนเริ่มห่างเหินกับความสุขมากขึ้นไปทุกขณะ เพราะต้องดิ้นรนกับชีวิต ความเป็นอยู่ ให้ทันกับความต้องการ (ที่ไม่มีวันเพียงพอ)
ดนตรี… นั้นแตกต่างจากศาสตร์แขนงอื่น ๆ และเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างความสุขให้แก่ผู้คนในสังคมได้ เพราะ ดนตรี คือ สื่อที่ทรงพลัง เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจง่าย เข้าถึงผู้คนทุกชนชั้น และที่สำคัญคือแม้ดนตรีจะมีความหลากหลายทั้งประเภทและเนื้อหาแต่ดนตรีก็มีอะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อมประสานกันได้ หรือพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ ดนตรีนั้นไร้พรมแดนนั่นเอง
แผนงานดนตรีสร้างสุข ก็เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าดนตรีสามารถสร้างความสุขให้แก่คนในสังคมได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งหน่วยงานภาครัฐ (สสส.) กลุ่มคนที่ทำงานทางด้านดนตรี และกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ โดย สสส.เป็นผู้สนับสนุนทุนในการดำเนินงานตลอดทั้งโครงการ ผลที่เกิดจากการดำเนินโครงการภายใต้ระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดโครงการที่เกี่ยวกับดนตรี จำนวน 21 โครงการในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และมีจัดมหกรรมทางดนตรีใหญ่ขึ้นที่สวนลุมพินีในชื่อว่า “มหกรรมดนตรีสร้างสุข – ให้ @ สวนลุมพินี” ในวันที่ 26-27 เมษายน 2551 ซึ่งเป็นการนำผลิตผลจากการดำเนินโครงการต่างๆมาร่วมกันแสดงอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดแผนงานดนตรีสร้างสุขในปีที่ 1 (แผนงานกำหนดระยะเวลาไว้ 3 ปี)
แม้มหกรรมดนตรีสร้างสุขที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาเรื่องฝนฟ้าที่ไม่ค่อยเป็นใจนัก เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูฝนและมีพายุเข้าจึงเกิดฝนตกเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้ง 2 วันที่มีการจัดงาน ทำให้กิจกรรมบางอย่างต้องหยุดชะงักลง เพราะสถานที่ที่ใช้ในการจัดงานเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง แต่รอยยิ้มเสียงหัวเราะที่เกิดจากผู้คนที่มาเยี่ยมชมกิจกรรมก็ไม่เคยขาดหาย และแผนงานดนตรีสร้างสุขในปีแรกก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะได้สร้างและพัฒนาเยาวชนที่เห็นความสำคัญของดนตรี ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีพื้นที่ในการแสดงออก เกิดเป็นเครือข่ายดนตรีสร้างสุขเกิดขึ้น
และที่สำคัญคือได้ก่อให้เกิดกระแสให้คนในสังคมหวนกลับมาให้ความสำคัญกับคำว่า “ความสุข” ในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
พิษณุเดช สุคำภา