งานมหกรรมดนตรีสร้างสุข : หมู่บ้านดนตรี ณ สวนลุมพินี 26-27 เม.ย. 2551
Photo by Manoch Methiyanon

ชายแดนไทย – ลาว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเส้นทางถนนดินลูกรัง ฝุ่นสีแดงฟุ้งกระจายตามหลังรถ 6 ล้อ ระยะทางประมาณ 30 กิโล ตลอดสองข้างทางยังพอมีภูเขาเล็ก ๆ พร้อมต้นไม้เขียวสดใส เสียงเพลง เสียงหัวเราะ แว่วดังแทรกเสียงเครื่องยนต์ที่กำลังเร่งเต็มกำลัง เพื่อข้ามพ้นเนินเขาเล็ก ๆ แต่นั่น…เป็นการข้ามพ้นที่ทำให้ระยะห่างของความฝันคนหนุ่มสาว กับชีวิตในโลกความเป็นจริงห่างกันออกไปด้วย

ค่ายฯ สุดท้าย….

ย้อนหลังไป 3-4 เดือนที่ผ่านมา ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง คืนไร้ดาวอันมืดมน… เหล่าคนหนุ่มสาวเดินหงอยลงมาจาก ‘ตึกกิจกรรม’ ด้วยใจอันสับสน สันสนกับมาตรฐานคุณค่าความดีงามที่สังคมบัญญัติไว้ เมื่อชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่เราสังกัดถูกลงดาบด้วยคำขาด “ค่ายหน้า…ถ้ามีเด็ก (ที่เรียนที่นี่) ไปค่ายไม่ถึง 20 คน ชมรมฯ จะโดนยุบ” เพราะเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าด้านงบประมาณกับจำนวนสมาชิก (ที่เรียนที่นี่) ที่เข้าร่วมค่ายฯ ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะนั่นเป็นการผิดหลักเศรษฐศาสตร์ชัดเจน

พวกเราไม่ได้เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวในโลกอุดมคติของผู้ใหญ่ ก็แค่คนสามัญธรรมดา ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักหนา หากแต่โลกแห่งการเรียนรู้ที่พวกเราต่างโหยหาถึง …มันมีอยู่จริงหรือ ?

“เมื่อมีก้าวแรก ก็ต้องก้าวต่อไป จนถึงปลายทาง”

วาทกรรมที่เพื่อนบางคนเอ่ยไว้คงใช้กับ กลุ่มรองเท้าแตะ ไม่ได้ เมื่อเขานิยามการเริ่มต้นของกลุ่มว่าเป็น “ก้าวแรก ครั้งที่ 2” เนื่องจากชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ถูกสั่งให้ยุบตัวลงไป แต่ไฟแห่งการทำกิจกรรมทางสังคมยังคงคุโชน มิได้มอดดับไปพร้อมกับประกาศิตคำพิพากษา

การรวมตัวจัดตั้งกลุ่มจึงเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ภายใต้เงาจันทร์ ด้วยความฝันและกำลังใจเล็ก ๆ ที่มีอยู่กับตัวเอง

เรารักค่ายฯ เราอยากทำค่าย ทำกิจกรรมทางสังคม เรียนรู้โลก เรียนรู้วิถีชนบท เรามีความสุขกับมัน แต่เมื่อความฝันและอุดมคติของพวกเราถูกติดราคา และผลก็คือ ขาดทุน เราก็อยู่แบบเดิมไม่ได้ พูดกันตรง ๆ อีกแง่ก็คือ เราจะทำงานทางสังคมที่พูดถึงอุดมการณ์ อุดมคติ การแสวงหา ความฝันคนหนุ่มสาว พูดถึงการเรียนรู้ การแบ่งปัน การให้ ระหว่างคน ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้าน พูดถึงคุณค่าเหล่านี้ ที่ล้วนแต่เป็นนามธรรมสำหรับคนที่มีมุมมอง มีวิธีคิดแบบทุนนิยม มองตัวเลขกำไรขาดทุนได้อย่างไร เราคงไม่มีความสุขหรอก เราเลยออกมาทำงานข้างนอก (สถาบัน) และอาจไม่จำเป็นจะจะต้องเป็นกิจกรรมค่ายอาสาฯ เสมอไป เราก็หาพันธมิตรใหม่ ๆ

เราคุยกันว่าน่าจะตั้งกลุ่มใหม่ เปลี่ยนชื่อเว็บไซต์ใหม่ คิดกันอยู่นานทีเดียวกว่าจะถูกใจกัน มีทั้งกลุ่มตาน้ำ กลุ่มใบไม้ กลุ่มต้นไผ่ ฯลฯ โดยมีคอนเซ็ปท์ของชื่อกลุ่มก็คือว่าต้อง เรียบง่าย ติดดินและเพื่อสังคม จนคำว่า ‘รองเท้าแตะ’ เกิดขึ้น พวกเราก็ชอบคำนี้ มันมีนัยยะหลายแบบ หลายมิติ

กลุ่มรองเท้าแตะ มันก็คล้าย ๆ กับสมาคมศิษย์เก่าของชมรมค่ายฯ ที่รวบรวมพี่ ๆ น้องๆ เพื่อน ๆ ที่เคยออกค่ายด้วยกัน เรียนจบไปแล้วบ้าง ยังเรียนอยู่บ้าง หลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ พนังงานบริษัทเอกชน เอ็นจีโอ ศิลปิน นักศึกษา ฯลฯ มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยกัน แบ่ง ๆ กันไปตามเวลาที่ว่าง ที่สะดวกของแต่ละคน เช่น ไปร่วมจัดค่ายอาสาฯ กับองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ จัดงานกิจกรรมในกรุงเทพฯ ก็มี อย่างงาน 30 ปี 6 ตุลา เป็นต้น ทำสื่อทางเลือกของเราเอง ก็คือเว็บไซต์ที่เผยแพร่งานเขียนของคนรุ่นใหม่ ข้อมูลเรื่องสังคม เพลงเพื่อชีวิตและค่ายอาสาพัฒนาชนบท

เว็บไซต์เรามีคนเข้าดูเฉลี่ยวันละ 150 – 200 คน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชิงศิลปะวัฒนธรรม แนวคิดก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ที่ดูเหมือนจะเน้นเรื่องงานทางสังคมเป็นพิเศษ แต่ที่น่าสนใจก็คือความสามารถในการเชื่อมร้อยเรื่องหนักๆ อย่างเรื่องสังคม กับงานศิลปะ วรรณกรรม ได้อย่างกลมกลืน

เรามีคอลัมนิสต์ที่เขียนงานประจำและไม่ประจำ งานเขียนมีความหลากหลายของประเด็น เราที่เน้นคนรุ่นใหม่ 

มันเป็นทุนทางสังคมที่ผมและเพื่อนสร้างไว้ตอนเราทำค่าย เพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคนเขียนบทความในเราฟรี ไม่ได้เงินค่าจ้างอะไร เราไม่มีงบประมาณสนับสนุน แต่ทุกท่านเขียนเพราะอยากเขียน เขียนเพราะมีเรื่องอยากจะบอก อยากเล่า และทุกคนไว้วางใจใช้สื่อของพวกเราเผยแพร่งาน

อีกงานที่ถนัด คือ งานด้านวัฒนธรรม เราสนใจศิลปะ เพลง หนัง ภาพถ่าย บทกวี เราเชื่อว่า ‘แนวรบทางวัฒนธรรม’ คืออาวุธที่ทรงพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลง แล้วการทำค่ายอาสาฯ แต่ละครั้งเราก็ใช้ศิลปะนี่แหละ เป็นสื่อในการบอก การสอน การเรียนรู้ของสมาชิก อย่างการร้องเพลงค่าย กิจกรรมการอ่านวรรณกรรม แม้กระทั่ง โดยเฉพาะเพลงที่เล่น ที่ร้องกันในค่ายฯ รอบกองไฟตอนกลางคืน มันมีความหมายมาก เพราะมันสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ สลับกับการเล่นดนตรี เหมือนคอนเสิร์ตเล็ก ๆ เลย เนื้อหาของบทเพลงและบทสนทนา คำถาม คำตอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการเรียนรู้ชีวิตและสังคมที่เข้าถึงจิตใจได้อย่างดี เราจึงเชื่อว่า ศิลปะเยียวยาสังคมได้

มีคนเคยพูดไว้ว่า “ศิลปะเปลี่ยนความคิดคนได้ แม้จะเพียงไม่กี่องศา แต่ก็ทำให้ทิศทางที่จะมุ่งไปนั้นมีความหมาย” แตกต่างจากคนที่คอยแต่เฮตามคนอื่นไปเรื่อย อย่างเช่น กิจกรรมกับเด็ก มันเป็นคนละเรื่องกันระหว่างเรื่องเด็กจะเอนท์ติด-ไม่ติด กับเด็กมีรสนิยมทางศิลปะหรือเปล่า มีกระบวนการทำให้มนุษย์คนหนึ่งมองหาความงามของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ แล้วถ่ายทอดออกมา กิจกรรมย้อมผ้า เขาอาจจะได้ย้อมผ้าแล้วไม่สวย แต่ก็รู้ว่ากว่าผ้าจะถูกย้อมแล้วสวยมันต้องใช้เวลา เพราะฉนั้นวันหนึ่งเขาก็จะไม่ดูถูกคนอื่นหรือตัดสินอะไรง่ายเกินไป

งานค่ายอาสาฯ เราก็ยังทำอยู่ ทำร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ แต่มันพัฒนารูปแบบไป เราจะจัดค่ายในพื้นที่ที่ประสบปัญหาจริงในสังคม ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากทิศทางการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมสุดขั้ว เป็นลักษณะค่ายอาสาแบบลึกซึ้งมากกว่าตอนทำค่ายในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ค่ายเด็กไร้ชาติ ที่เจาะลึกถึงปัญหาการไร้ตัวตนของคนชาบขอบแนวลำน้ำสาละวิน หรือ ค่ายคนรักษ์เล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นประเด็นเรื่องกลุ่มทุนการท่องเที่ยวไล่รุกที่ดินชาวบ้าน รุกที่ป่าชายเลน ทำลายวิถีชีวิตชุมชน

อรรณพ นิพิทเมธาวี