โคลงสี่สุภาพ |
ขันเอยขันมนุษย์บ้า | บวมบอ หุยฮา ! |
ฟ้าม่านดำทมึนมอ | มืดตื้อ |
ฟอกถ่าน….ถ่านจักลออ | ขาวอล่อง มีฤา |
ผงถ่านฟอดฟุ้งอื้อ | อาบหน้าตนเอง ! |
|
คนชั่วใจถ่านเหี้ยม | โมหัน หนึ่ง ฮา |
สมันเปิบมูมมามมัน | มาบ……ม้าบ ! |
ผงถ่านเปรอะตัวคัน | คะเยอยุ่ง (ลิงเอย) |
“ถ่านไม่ดำดอกคะร้าบ !” | ร่านร้อง….กิ๋วกิ๋ว ! |
|
มวลชนหัวหะห้าย | โห่หรรษ์ |
สูอิ่มเอือบอกมัน | เมือบม้าม |
หางโผล่ปิดหางหัน | แหกปาก ปราบฮือ |
“เฮ้ยนี่หางต้องห้าม | อย่าเว้ยอย่าเห็น” |
|
(เอือบอก – อิ่มแประจนท้นหัวอก เอ้อเร้อ เอ้อเต่อ ; เมือบ – แประจนถึงใจ) |
ยานีลำนำ |
กุ๋ย กุ๋ย เอ้าหุยฮา | จะขอโห่ให้ตูมตึง |
สูเอยช่างดื้อดึง | กระด้างดำในสันดาน |
สูคนหนังสือพิมพ์ | มาแปลงเพศเป็นคนพาล |
ทรยศอุดมการ | วิชาชีพอันลือชา |
อาวุธหนังสือพิมพ์ | คือปลายคมแห่งปากกา |
เป็นทวนอันคมกล้า | และโคมทองอันวาววาม |
คือปากและคือเสียง | ของมวลชนอยู่ทุกยาม |
เปิดโปงที่เลวทราม | และเทอดทูนพิทักษ์ธรรม |
สะท้อนความทุกข์ยาก | และสาเหตุที่เงื่อนงำ |
ชี้ทางเป็นแนวนำ | และเป้าหมายอันโอฬาร |
เข้าร่วมในแนวรบ | ประชาชาติด้วยมือชาญ |
ใช่ยืนสังเกตการณ์ | เอาตัวรอดอยู่ริมทาง |
ทวนทองต้องเป็นทวน | ที่กล้าแกร่งบ่เป็นกลาง |
เป็นทวนที่เข้าข้าง | อยู่เคียงคู่กับมวลชน |
โคมทองต้องส่องทาง | และสัจจธรรมแก่ใจคน |
สาดแสงอันร้อนรน | ให้ปีศาจปลาตหนี |
นี้คือจรรยาบรรณ | อุดมการทั้งมวลมี |
คือเกียรติและศักดิ์ศรี | อันสุดแสนจะแหนหวง |
คือเลือดอันเดือดพล่าน | เป็นพรายผุดในกลางทรวง |
คือใจแต่เดียวดวง | และวิญญาณหนังสือพิมพ์ |
แต่ดูสิเลวชาติ | ได้เศษบุญมาชมชิม |
หลงรสที่เลียลิ้ม | ก็ทิ้งสิ้นทุกสิ่งสรรพ์ |
ทั้งเกียรติและศักดิ์ศรี | อุดมการจรรยาบรรณ |
อั้นอึ้งตะลึงงัน | เพราะน้ำเงินที่งามเงา |
เปิบโป้สวาปาม | ตะกามซดบ่สร่างเซา |
มูมมามและมึนเมา | จนเมือบม้ามด้วยย่ามใจ |
น้ำเงินที่เขาขุน | เป็นบุญคุณเหนือสิ่งใด |
น้ำข้าวที่จางใส | ช่างโอชาจนกล้าตาย |
สูลืมประชาชน | ด้วยเห็นคนว่าคือควาย |
น้ำข้าวจากมือนาย | ช่างย้อมสูจนโหดหิน |
เปิบข้าวทุกคราวคำ | จงสูจำเป็นอาจิณ |
เหงื่อกูที่สูกิน | จึงก่อเกิดมาเป็นคน |
ข้าวนี้น่ะมีรส | ให้ชนชิมทุกชั้นชน |
เบื้องหลังสิทุกข์ทน | และขมขื่นจนเขียวคาว |
จากแรงมาเป็นรวง | ระยะทางนั้นเหยียดยาว |
จากรวงเป็นเม็ดพราว | ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ |
เหงื่อหยดสักกี่หยาด | ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น |
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น | จึงแปรรวงมาเปิบกิน |
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง | และน้ำแรงอันหลั่งริน |
สายเลือดกูทั้งสิ้น | ที่สูซดกำซาบฟัน |
เจ้ากรุมตะกรามกิน | เพียงน้ำข้าวก็เมามัน |
เห่าโห้งเป็นรายวัน | เพื่อแทนคุณอยู่วุ่นวาย |
สูคนหนังสือพิมพ์ | ประเภทอิ่มแล้วลืมอาย |
เลียตีนจนนายตาย | ยังอุ้มผีด้วยใจพาล |
ในมือสูถือทวน | แต่เดินทวนกระแสธาร |
ถือทวนพิทักษ์มาร | และทิ่มแทงผู้เทอดธรรม |
ทวนทองเป็นทวนทาส | และเปลี่ยนค่าจากทองคำ |
โคมทองทมึนดำ | ดังสีเลือดพวกกาลี |
สูโทษหนังสือพิมพ์ | ว่าปั้นข่าวขึ้นโจมตี |
ใส่ร้ายและป้ายสี | และใส่ไฟด้วยใจทราม |
บัดนี้สิแจ้งชัด | เพราะกรรมการได้ติดตาม |
สอบสวนกระทงความ | เรื่องโกงกินจนสิ้นพุง |
ยิ่งค้นก็ยิ่งพบ | เป็นข่าวก้องสะเทือนกรุง |
นอกมุ้งและในมุ้ง | ล้วนจับได้……(ว่าไงเกลอ?) |
สูทาสรายวันเอย | ช่างไร้อายเสียจริงเออ |
เต้นเหยงเขย่งเหยอ | ดังหมาบ้าขี้ข้าผี ! |
สาดไฟและใส่ความ | หนังสือพิมพ์ที่ทำดี |
ปกปิดที่อัปรีย์ | และบิดเบือนอย่างไร้ยาง |
กล่าวเท็จต่อทุกทิศ | และหลอกลวงต่อทุกทาง |
มุ่งหวังจะอำพราง | ด้วยเหลี่ยมเล่ห์กโลบาย |
ยิ่งดิ้นยิ่งรุนแรง | ยิ่งเรื่องแดงจนเห็นลาย |
พวกเจ้าบ่าวควายควาย | ก็ล้วนมาร “โจรการเมือง” |
เสียงแช่งจากสิบทิศ | คือเสียงคนที่แค้นเคือง |
ความแค้นนั้นลุกเรือง | ในกลางใจของปวงชน |
แต่ดูสิสันดาน | กระด้างดำยังดิ้นรน |
ถูกถุยยังหน้าทน | ประสาเปรตที่อัปรีย์ |
กู่ก้องและร้องแรก | คำรนเรียกพวกเผ่าผี |
ล้วนแล้วแต่กาลี | จะกล้ำกลืนและกินคน |
สูแค้นหนังสือพิมพ์ | ที่เทอดธรรมอย่างคงทน |
ด้วยเล่ห์และด้วยกล | จะทำลายให้แหลกลาญ |
โอมอ่าน “คาถาแดง” | ด้วยหมดพุงจะรังควาน |
ทุดถุย….เจ้าสาธารณ์ | ฉะนี้ฤาที่ชื่อไทย |
แหกปากสำรากหลอก | และกลับกลอกจนเจนใจ |
ผีเหวยจะหลอกใคร | อย่าหลงคุยเอ้าหุย……ฮา ! |
โคลงห้าพัฒนา |
คนบ่แพ้ | ภัยผี |
เปรตอัปรีย์ | ปลุกปล้ำ |
แรงคนตี | ตูมตอก |
ล้มผีขว้ำ | ขวิดตีน คาตีน ! |
จงอย่าท้อ | ไทยเหวย |
ไทยบ่เคย | ด่าวดิ้น |
ใช่ผีเลย | หลอนหลอก |
คนแท้ลิ้น | หลอกคน |
กรุงเทพฯ | โพ้น ไพรพง |
ใช่ผีลง | ล่าล้าง |
มีแต่พงศ์ | ผีดิบ |
ปล้นเมืองม้าง | มอดหาย |
|
(ม้าง – ภาษาไทยอีสาน แปลว่า ล้างผลาญ , ทำลายล้าง , มล้าง) |
ยานีลำนำ | |
อาคนหนังสือพิมพ์ | ที่รักไทยและเทอดธรรม |
สูจงอย่า เงียบงำ | เพราะกลัวภัยกระพือพาล |
ถึงจนก็ยึดมั่น | จรรยาบรรณอย่างชื่นบาน |
ศักดิ์ศรีอุดมการ | บ่ขายกินสักเพียงคำ |
ถึงตายก็ยอมตาย | เพื่อเทอดไทและเทอดธรรม |
ทำดีให้ทรงจำ | แก่ใจคนทุกดวงใจ |
มวลชนสิคือนาย | ที่บุญคุณนั้นเกินใคร |
น้อมหัวเข้ารับใช้ | ดังงัวงานที่ชาญนา |
วิญญาณหนังสือพิมพ์ | ธำรงค์ศักดิ์บ่สร่างซา |
ทวนทองในมือขวา | และมือซ้ายคือโคมไฟ |
จงเดินและก้าวเดิน | อย่างดุ่มดั้นอย่าเกรงใด |
กล้าแกร่งด้วยแรงใจ | และศรัทธาวิชาชาญ |
ปกปักษ์พิทักษ์ผล | ประโยชน์ชาติจากมือพาล |
ฝ่ามนต์ของผองมาร | อุทิศตัวบ่กลัวมนต์ |
ฟันฝ่า “คาถาแดง” | ไปข้างเคียงกับมวลชน |
ใจไทยที่อดทน | จะค้ำจุนบ่เคยจาง |
เมืองทองที่ชื่อไทย | ถึงทึบทึมทุกทิศทาง |
ผีร้ายที่ครืมคราง | อย่าหวังเลยจะกลืนคน |
อาคนหนังสือพิมพ์ | ที่เทอดธรรมจงอดทน |
แนวรบของมวลชน | นั้นแน่นหนาจงอย่ากลัว |
เส้นทางที่สูเดิน | มิใช่เดินลำพังตัว |
เพื่อนสูอีกมืดมัว | ดังผงทรายในแผ่นดิน |
มีมากดอกมวลชน | ที่ทุกข์ทนอยู่อาจิณ |
มหาโจรที่โกงกิน | สิโดดเดี่ยวในดินแดน |
มือสูมือน้อยน้อย | อันคนคอยจะดูแคลน |
ประสานให้แน่นแฟ้น | เป็นมือเดียวที่มหึมา |
มือนี้จะมีพลัง | กว่ามือใดในโลกา |
มือนี้จะทายท้า | แม้เทพไท้อย่างทรนง |
ใจสูที่ทอดถอน | แทบขาดรอนละลายลง |
รวมกันให้มั่นคง | กับมวลชนเป็นใจเดียว |
ใจนั้นจะพลันเกิด | พลังกล้าอันกลมเกลียว |
ใจนั้นจะปานเคียว | ที่คมขาววะวาววาม |
มือนั้นและใจนั้น | ผนึกกันอย่างงดงาม |
แล้วผีที่คุกคาม | จะซบสั่นอยู่ใต้ตีน ! |
…..ถูกละ ใต้ตีน… | จะซบสั่นอยู่ใต้ตีน ! |
| …………….อยู่ใต้ตีน ! |
ทุดผีที่ถือสาก | แต่หากปากว่าถือศีล |
ดวงใจที่โหดหีน- | ะชาติฤาจะกล้าหาญ |
คนไทยนั้นใจไท | และมือไทยนั้นทนทาน |
มือไทยกับมือมาร | จะสู้กันให้มันมือ |
|
….อหา ! มาสู้กันให้มันมือ……มา.!……..ให้มันมือ ! |
|
วิญญาณหนังสือพิมพ์ | นั้นลุกโรจน์กระพือฮือ |
หลอมลนด้วยเปลวบือ | จนเหลือคนที่ทนไฟ |
ใครคนหนังสือพิมพ์ | ที่ทรนงในนามไทย |
มวลชนย่อมชมใจ | และชมชื่นในผลงาน |
ใครคนหนังสือพิมพ์ | ที่ทรยศอุดมการ |
เสียงแช่งจะยาวนาน | เป็นเดนปากของปวงชน |
ใครคนหนังสือพิมพ์ | ที่ทรนงในนามคน |
ชื่อเสียงจะคงทน | ดั่งรุ้งทาบนภา………บา ! |
ใครคนหนังสือพิมพ์ | ที่ขายตัวเพื่อเงินตรา |
จารึกบนหนังหมา | ประจานนานถึงหลานเหลน |
อาสูพวกกาฝาก | จะตายทรากเป็นกากเดน |
พื้นฐานนั้นโงนเงน | จะพังพับอยู่นับวัน |
อาเพื่อน (ยังเรียกเพื่อน) | จะขอเตือนอีกครั้งครัน |
อย่าด้านและดึงดัน | อย่าดื้อดึงจนเกินไกล |
“เจ้าซื่อต่อคนคด | แต่ทรยศต่อคนไทย |
ลูกหลานจะอายใจ | ที่มีพ่อเป็นคนทราม” |
สูเอยประวัติศาสตร์ | จะจารึกประจานนาม |
ตัวอย่างแสดงความ | สกุลถ่อยแห่งกรุงไทย |
ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย | ถ้าไร้อายก็ตามใจ |
อย่ารอจนสายไป | จะครางอา…….นิจจากู ! |
|
ด้วยความปรารถนาดีจากเพื่อนเก่า! |
กวี ศรีสยาม (จิตร ภูมิศักดิ์)
ประชาธิปไตย – 9, 11, 12, 14, 15 สิงหาคม 2507
ขอบคุณที่รวบรวมไว้น่าอ่านค่ะ
ยินดีครับ
ขอบคุณที่แวะมา